เมื่อวันที่ 23 และ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘คืนความจริง’ ได้เผยแพร่วิดีโอบทสัมภาษณ์ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ถึงประเด็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการปฏิรูปจำนวน 2 ตอน ในวาระครบรอบ 1 ปีการเลือกตั้ง 2 ก.พ.57
โดยคืนความจริง ได้ยกคำพูดของ เจษฎา ที่กล่าวไว้ในเวทีอภิปราย “เลือกตั้งคือทางออก นายกฯเถื่อนคือทางตัน” เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2557 หรือ 5 วันก่อนรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่ห้องบรรยายรวม 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จัดโดย สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) ด้วยว่า
"มนุษย์ทุกคนคือพี่น้องกัน ไม่รู้เราจะขัดแย้งกันทำไมในโลกนี้ แม้ทุกคนอาจเกิดมาไม่เท่าเทียมกัน แต่สิ่งที่เราได้มาจากความเป็นมนุษย์ที่เหนือจากสัตว์อื่น คือเรามีวัฒนธรรม เรามีประวัติศาสตร์ เรามีการเรียนรู้ เราสามารถเรียนรู้การอยู่ร่วมกันได้ เราเรียนรู้จากยุคสมัยที่เรามีการปกครองที่บางคนเป็นเพราะเจ้าบางคนเป็นไพร่ เราเรียนรู้วรรณะ เราเรียนรู้มาถึงระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนเท่ากัน เราอาจมีชีวิตในสังคมที่เราไม่เท่ากัน แต่เวลาที่เรามีสิทธิเลือกตั้งทุกคนนั้นเท่ากัน และทุกท่านต่างหากที่เป็นคนกลางของสังคม เราไม่จำเป็นต้องพึ่งพานายกคนกลาง ลากตั้งมาจากไหน พวกเราเองมีสิทธิที่จะปกครองตัวเราเองได้" เจษฎา กล่าวในเวทีอภิปราย “เลือกตั้งคือทางออก นายกฯเถื่อนคือทางตัน” เจษฎา กล่าว
00000
จะสอนหนังสือลูกศิษย์อย่างไร เมื่อไม่ทำตามกติกา
เจษฎา กล่าวว่า ในประเทศที่เจริญแล้วจะไม่นิยมใช้ความรุนแรงในการหาทางออก แต่จะใช้วิธีการที่เป็นสันติมากกว่า ซึ่งการถามเสียงของคนในประเทศที่เป็นวิธีทางแบบสันติอย่างหนึ่งก็คือการเลือกตั้ง โดยสำหรับประเทศไทยนั้นได้มีการพัฒนาประชาธิปไตยกันมาไกลแล้ว จึงไม่ควรที่จะย้อนกลับไปใช้วิธีการที่รุนแรงแล้วทำให้เกิดการบาดหมางกันได้ การเลือกตั้งมันจึงเป็นทางออกเพราะอยู่ในกรอบกติกาที่มีอยู่ และเป็นสิ่งที่จะคงไว้ซึ่งประชาธิปไตยให้กับประเทศไทยไว้ได้ แต่ประชาชนบางส่วนกลับไม่ต้องการที่จะทำตามกรอบกติกาที่มีอยู่เพราะคิดว่าวิธีอื่นจะเร็วกว่ารวบรัดกว่า ซึ่งผลที่จะตามมานั้นไม่สามารถที่จะคาดการณ์ได้ มันจึงอาจนำไปสู่อะไรที่เลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่
“ในมุมของผมเองที่เป็นอาจารย์ผมจะสอนหนังสือลูกศิษย์ต่อไปอย่างไร เพราะทั้งชีวิตเราสอนให้คนเคารพกติกา ทำตามกฎระเบียบ วินัย ที่เรามีอยู่ ทำตามกฎหมาย ทำตามจารีตของสังคม แล้วถึงวันวันหนึ่งเราบอกว่าไม่เอาแล้ว ไม่ทำตามกติกาใด ๆ เลย ฉันจะเลือกวิธีนี้ แบบนี้ผมสอนหนังสือลูกศิษย์ต่อไปไม่ได้”
โมฆะการเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 สร้างปัญหาเรื้อรัง
เจษฎาได้วิจารณ์เกี่ยวกับการตัดสินโมฆะการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 ของศาลรัฐธรรมนูญว่า ถ้าต่อไปสิ่งนี้กลายเป็นบรรทัดฐานแล้วเมื่อเกิดการปิดคูหาอีกแม้จะซักคูหาเดียวการเลือกตั้งจะต้องโมฆะทั้งหมด มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นเพระมันจะกลายเป็นปัญหาเรื้อรังในอนาคต ดังนั้นการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้มันจึงสร้างบรรทัดฐานบางอย่างที่มีปัญหาในอนาคตได้
เราปฏิรูปไปพร้อมเลือกตั้งได้
เจษฎา กล่าวว่า คำว่าปฏิรูปเป็นคำที่ค่อนข้างใหม่สำหรับคนไทย ซึ่งเป็นคำที่น่าสนใจและเป็นคำที่ดี เพราะเป็นคำซึ่งแสดงว่าเราพยายามที่จะแก้ไขสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ให้ดีขึ้น ปฏิรูปเป็นคำที่ถูกเอามาใช้ในมุมมองที่เป็นนามอธรรมสูง ซึ่งหากถามผู้คนว่าจะต้องการปฏิรูปอะไร อย่างไรบ้าง คนมักจะตอบไม่ได้แต่รู้ว่าการปฏิรูปเป็นเรื่องที่ดี
เจษฎากล่าวต่อว่า ในประเด็นการปฏิรูปเป็นที่น่าสนใจว่าควรหันกลับมามองประเด็นในเรื่องกติกาอีกทีหนึ่งว่าเราต้องทำตามกติกาหรือไม่ เช่น พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น ก็เหมือนกับว่ากฎหมายประกาศแล้วว่าต้องเลือกตั้ง ซึ่งหากไม่จัดให้มีการเลือกตั้งมันก็จะผิดต่อกติกาที่มีอยู่ ในความเป็นจริงแล้วเราสามารถเลือกตั้งและปฏิรูปไปด้วยกันได้ โดยจัดให้มีการเลือกตั้งก่อนโดยหากมีฝ่ายค้านที่มองว่าการเลือกตั้งมันไม่ยุติธรรม เราควรจับเข่าคุยดีกว่าหรือไม่ว่าควรออกกฎกติกาในการเลือกตั้งอย่างไร และการเลือกตั้งที่จัดไปก่อนแล้วก็ให้เป็นการเลือกตั้งเชิงสัญลักษณ์ไปก่อนก็ยังสามารถทำได้ ไม่ใช่ว่าพอเลือกตั้งไปแล้วก็จะเป็นการยึดครองอำนาจที่ฝ่ายคัดค้านการเลือกตั้งกลัวเพราะจะเป็นแค่การเลือกตั้งเชิงสัญลักษณ์ แล้วหลังจากนั้นก็มาใช้เวลาร่วมกันในการปฏิรูป เพราะเป็นที่แน่นอนว่าการจะปฏิรูปนั้นต้องใช้เวลานานพอปฏิรูปเสร็จแล้วก็จัดการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ และยังทำให้กลไกของประชาธิปไตยมันเดินต่อไปได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องล้มทุกอย่างเพื่อไปสู่การปฏิรูปอย่างที่ว่า ในขณะนี้ประเทศไทยยอมทิ้งประชาธิปไตยไปทั้งหมด เพื่อใช้เส้นทางอื่นเพื่อปฏิรูป คำถามก็คือเมื่อใช้เส้นทางนี้มันจะเกิดความเป็นธรรมจริงหรือ เมื่อปฏิรูปเสร็จเรียบร้อยแล้วผู้คนทั้งหมดจะยอมรับหรือไม่ ไม่ต่างกับเมื่อก่อนนี้ที่บอกว่าหากเลือกตั้งไปแล้วก็จะมีคนไม่ยอมรับ วันนี้ก็เช่นเดียวกันคนอาจลงทุนลงแรงปฏิรูปกันยกใหญ่แล้วยังเป็นคำถามอยู่ว่าคนจะยอมรับหรือไม่ หากคนจำนวนมากในประเทศไม่ยอมรับในสิ่งที่ปฏิรูปมา แม้แต่รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ในตอนนี้ก็เหมือนกันถ้าถึงวันที่ต้องลงประชามติคนจำนวนมากไม่ลงประชามติรับ หรือเกิดการคัดค้านตัวรัฐธรรมนูญในภายหลังสังคมก็จะกลายเป็นสังคมที่ขัดแย้งกันไปตลอด
ไม่ใช่ประชาธิปไตยเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะตรวจสอบได้
สำหรับปัญหาเรื่องการคอรัปชั่น เจษฎา ตั้งคำถามว่า เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าการรัฐประหารจะแก้ปัญหาการคอรัปชั่น ปัญหาของนักการเมืองจะไม่ถูกถ่ายโอนไปที่อีกมือหนึ่งเท่านั้น ถ้าเราไม่ใช่ประชาธิปไตยเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะตรวจสอบได้ หากดูจากที่ผ่านมาการที่เรารู้ได้ว่านักการเมืองมีการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ หรือมีการโกง การยักยอกเกิดขึ้น เพราะมันอยู่ในบรรยากาศที่เป็นเสรีภาพเป็นประชาธิปไตยเราสามารถแสดงความเห็นได้เต็มที่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ สื่อสามารถวิจารณ์ได้ คนสามารถค้นหาข้อมูลได้มากขึ้นคนถึงได้รู้ และเมื่อรู้ก็จะหาทางออกร่วมกัน วิธีการที่จะแก้ของประชาชนทั่วไปคือการเลือกตั้ง เพราะประชาชนมองออกว่าใครดี หรือไม่ดี โกง หรือไม่โกง สามารถใช้การไปกากบาตเลือกตั้งในการตัดสิทธิและลงโทษนักการเมือง และที่สำคัญมันมีกลไกอื่น ๆ ที่คอยตรวจสอบไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระ กกต.ที่ดูแลเรื่องการเลือกตั้ง ปปช.ที่ดูแลเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น หรือแม้แต่ระบบของศาลเองที่สามารถดำเนินการได้เราจะได้มั่นใจว่านักการเมืองที่จะถูกลงโทษถูกตัดสินมีน้ำหนักจริง ๆ มีข้อมูลจริงไม่ใช่การกล่าวหากัน ซึ่งสังคมไทยเป็นสังคมที่คนกล่าวหากันได้ตลอด
มองการเมืองไทย หลัง 1 ปีโมฆะเลือกตั้ง
เจษฎา กล่าวว่า ถ้ามองวันนี้เมื่อ 1 ปี ที่แล้วยังไม่มีภาพเลยว่าจะเกิดปฏิวัติขึ้นในประเทศไทย เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เกิดการปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้น สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งทำให้ผู้คนได้เรียนรู้ในช่วงเวลา 6-7 เดือนที่ผ่านมาทำให้ผู้คนได้เริ่มเรียนรู้ในเส้นทางใหม่ การที่ผู้คนไม่สามารถที่จะพูดในสิ่งที่คิดออกมาได้เต็มที่ คนในสังคมต้องเงียบมากขึ้น เรากลับไปอยู่ในยุคสามสิบสี่สิบปีที่แล้วและกลับไปอยู่ในยุคที่ต้องฟังท่านผู้นำพูดว่าจะต้องเป็นอย่างไร มีกรอบมากขึ้น มีกฎอัยการศึกที่ประกาศออกมาอย่างไม่เหมาะสมเพราะมันยังไม่มีสงครามเกิดขึ้นในประเทศ หากแต่ก็ยังคงบังคับใช้กฎอัยการศึกมาจนถึงวันนี้ สื่อไม่สามารถเชิญนักวิชาการมาพูดและแสดงความคิดเห็นได้ ซึ่งทั้งหมดนี้มันทำให้สังคมย้อนกลับไปอยู่ในโลกที่ไม่มี่สิทธิและเสรีภาพทางการเมือง แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป
หากจะมองมุมซึ่งสวยงามอาจพูดได้ว่าเรามีความหวังมากขึ้นมี สนช. เข้ามาช่วยผ่านกฎหมายที่ค้างคาอยู่ให้เร็วขึ้น แต่เรามั่นใจได้แค่ไหนว่าการผ่านกฎหมายที่รวดเร็วแบบนั้นได้ผ่านการไตร่ตรองได้ดีแล้วหรือยัง มีความเป็นธรรมหรือไม่ กฎหมายที่ดีที่ผ่านออกมาได้อย่างรวดเร็วก็ดี แต่ก็มีหลายกฎหมายที่คนเริ่มตั้งคำถามกับสังคมว่ากฎหมายแบบนี้ดีหรือ เพราะตัวกฎหมายยังมีปัญหาอยู่และออกบังคับเป็นกฎหมายแล้ว และไม่สามารถยับยั้งอะไรได้ หรือความหวังจากการมีสภาปฏิรูป เพื่อที่สังคมจะได้มีการปฏิรูปมากขึ้น หากแต่การปฏิรูปเองก็มีความล่าช้า ยังมีการถกเถียงกันมากและไม่ได้เปิดโอกาสให้ทุกคนในสังคมจริง ๆ เข้ามาร่วมในการคิด รวมทั้งธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นมา แต่ยังไม่สามารถตอบได้เลยว่ารัฐธรรมนูญเก่ามีปัญหาอย่างไร อะไรคือปัญหา แต่ก็มีการฉีกรัฐธรรมนูญไปแล้วจนต้องมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และมีโมเดลใหม่ผุดขึ้นมามากมายที่ยังถกเถียงกัน ว่าจะมีการเลือกตั้งนายยกหรือไม่ ซึ่งดีตรงที่ไม่เห็นความวุ่นวายในสังคมคิดว่าจะได้เห็นความปรองดองของทั้งสองฝ่ายที่เห็นต่างกันรึก็เปล่า เพราะมันมีการสร้างความแตกแยกไปแล้ว เมื่อคุณปลุกระดมให้แตกแยกให้เกลียดกันแล้วโอกาสที่มาคืนดีกันมันยากมันฝังใจแน่ ๆ วันนี้กดผู้คนให้ไม่ทะเลาะกันได้ด้วยกฎอัยการศึก แต่เมื่อวันหนึ่งไม่มีกฎอัยการศึกคนก็จะกลับมาทะเลาะกันใหม่ ดังนั้นแทนที่จะใช้เส้นทางที่สันติมาตั้งแต่แรกกลับมาเลือกเส้นทางนี้เราก็จะอยู่บนเส้นทางแบบนี้ที่คุณต้องเก็บที่คุณต้องไม่พูดอะไรมาก
เจษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่รัฐธรรมนูญใหม่ถูกประกาศใช้แล้ว กฎอัยการศึกถูกเลิกใช้ไปปัญหาต่าง ๆ ที่หายไปจากการบังคับใช้กฎอัยการศึกจะกลับมาหรือไม่อย่างไร และจะรุนแรงกว่าเดิมหรือไม่จากการที่ถูกกดเอาไว้ หากว่าปีในปี พ.ศ. 2560-61 ยังคงไม่มีรัฐธรรมนูญยังไม่มีการเลือกตั้งจะกดให้ความอดทนของทั้งสองฝ่ายระเบิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าสังคมไทยจะไม่เป็นเช่นนั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น