วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้อง คสช. ส่ง 'ธเนตร' ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล


ผู้อำนวยการเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยจัดหาการรักษาทางการแพทย์ที่จำเป็นแก่ ธเนตร อนันตวงษ์ ผู้แชร์ผังอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งถูกดำเนินคดี ม.116 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และควบคุมตัวในค่ายทหาร โดยเรียกร้องให้ส่งไปรักษาอาการลำไส้ใหญ่อักเสบ-ไส้เลื่อนที่โรงพยาบาล
15 ธ.ค. 2558 ฮิวแมนไรท์วอทช์ เผยแพร่ใบแถลงข่าวเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. เรียกร้องให้รัฐบาลไทยจัดหาการรักษาทางการแพทย์ที่จำเป็นให้กับ "ธเนตร อนันตวงษ์" ผู้วิจารณ์รัฐบาล คสช. และถูกจับกุมในสภาพของผู้ป่วยและถูกควบคุมตัวในค่ายทหารมาตั้งแต่ 13 ธ.ค. โดยที่เจ้าหน้าที่กล่าวหาเขาในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จาการแชร์ข้อมูลในเฟซบุ๊คที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นของกองทัพ
ทั้งนี้เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 13 ธ.ค. ซึ่งมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจับกุมตัวธเนตร อายุ 25 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสิรินธร ใน กทม. จากอาการป่วยลำไส้ใหญ่อักเสบ และไส้เลื่อนบริเวณถุงอัณฑะ ในเวลาประมาณ 18.00 น. มีเจ้าหน้าที่ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ได้แจ้งครอบครัวของธเนตรทางโทรศัพท์ว่าอาการของเขาแย่ลง และขอให้นำยามาให้เขา แต่ทั้งครอบครัวของธเนตรและทนายของเขาก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เขาไปเยี่ยมเขาเป็นการส่วนตัว
"รัฐบาลทหารของประเทศไทยได้ไปถึงความโหดร้ายระดับใหม่ด้วยการควบคุมตัวนักกิจกรรมถึงเตียงโรงพยาบาล และควบคุมตัวเขาในค่ายทหาร และตัดทอนเขาจากการได้รับการรักษาพยาบาลที่จำเป็น" แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการแผนกเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว "ธเนตร อนันตวงษ์มีความจำเป็นต้องย้ายตัวไปยังโรงพยาบาลทันที"
อนึ่ง พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ได้ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวธเนตรบริเวณเคาน์เตอร์จ่ายเงินของโรงพยาบาล ไม่ได้ควบคุมตัวที่เตียงคนไข้ (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)
คำแถลงของฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า การรักษาทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอสำหรับธเนตรที่อยู่ภายใต้การควบคุมตัวในค่ายทหาร ได้สร้างความกังวลต่อสุขภาพและสวัสดิภาพของเขา โดยเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ฮิวแมนไรท์วอทช์ และคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) ได้ยื่นจดหมายถึงรัฐบาลไทยไปแล้วเมื่อวันที่ 24 พ.ย. โดยแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อสภาพภายใน มทบ.11 ภายหลังจากการเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวของ สุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ "หมอหยอง" และ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา ซึ่งทั้งสองคนถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในวันเดียวกัน สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) ก็เรียกร้องให้ปิดเรือนจำชั่วคราวภายใน มทบ.11 และเรียกร้องให้มีการสอบสวนที่เป็นอิสระต่อกรณีความตายดังกล่าว
นอกจากนี้ คำแถลงของฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุด้วยว่า รัฐบาลเองก็ปฏิเสธข้อเสนอของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่ต้องการเข้าไปเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวและตรวจสอบสภาพภายใน มทบ.11 และพื้นที่ควบคุมตัวของกองทัพแห่งอื่นๆ
ทั้งนี้ ธเนตรเป็นนักกิจกรรมต้านรัฐประหารคนที่ 2 ที่ถูกจับในรอบสัปดาห์ก่อน หลังจากแชร์ภาพอินโฟกราฟฟิกในเฟซบุ๊ค กล่าวหาว่านายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และสมาชิกคนอื่นๆ ในรัฐบาล คสช. ร่วมคอร์รัปชั่นในโครงการอุทยานราชภักดิ์ที่สร้างในพื้นที่ของกองทัพเพื่อเฉลิมพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวกับสื่อมวลชนเมื่อ 9 ธ.ค. ว่าเขาสั่งการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ที่แชร์ภาพในอินโฟกราฟฟิคในเฟซบุ๊คดังกล่าว และจากการรายงานของสื่อมวลชนในวันเดียวกัน พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย คสช. ระบุว่า การกด "ไลค์" บนเฟซบุ๊คต่อภาพอินโฟกราฟิคนี้ก็จะถูกดำเนินคดีด้วยเช่นกัน
นอกจากการจับกุมธเนตร และฐนกร ศิริไพบูลย์ ซึ่งถูกจับเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. แล้ว คสช. เองก็ประเมินว่าจะมีผู้ถูกดำเนินคดีด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 นับร้อยคน จากการโพสต์แชร์อินโฟกราฟฟิคดังกล่าว
"ตั้งแต่มีการรัฐประหารในไทย เป็นเรื่องไม่ยากที่จะถูกโยนเข้าคุกสำหรับผู้ที่วิจารณ์รัฐบาลทหาร" แบรด อดัมส์กล่าว และกล่าวต่อว่า "ถึงตอนนี้ สิ่งที่คุณทุกคนจะโดนก็คือเพียงกดปุ่ม "ไลค์" บนหน้าเฟซบุ๊คของคุณ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น