วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2559

สนช. มติเอกฉันท์ ส่งคำถามพ่วง 'ให้รัฐสภาเลือกนายกฯ ช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี'



7 เม.ย. 2559 เว็บสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติส่งคำถาม “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าเพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่ตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” เป็นหนึ่งคำถามพ่วงประชามติ ส่งถึง กกต.
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติ 142 เสียง ให้ส่งประเด็นคำถาม ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ และมติ 152 เสียง  เลือก “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าเพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่ตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”  เป็นหนึ่งคำถามพ่วงประชามติ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 7 ส.ค. 59 
โดยคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระบุว่า การเห็นควรให้ตั้งคำถามดังกล่าว เนื่องจากกรรมาธิการรวบรวมความเห็นฯ ได้เน้นและให้ความสำคัญกับความเห็นในประเด็นคำถามที่ทาง สปท. ซึ่งมีหน้าที่ในการปฏิรูปประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ได้ส่งความเห็นเข้ามา ซึ่งสอดคล้องกับที่ร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรีแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิรูป ให้สภาทราบทุก 3 เดือน เพื่อให้มีกลไกในการดูแลการปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี เกิดความสำเร็จ และก่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
อย่างไรก็ตาม ในการเสนอความเห็นประกอบการตั้งคำถามพ่วงประชามติ ได้มีคณะกรรมาธิการของ สนช. 9 คณะ สมาชิก สนช. 8 คน และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ได้ส่งความเห็นเข้ามาที่กรรมาธิการรวบรวมความเห็นฯ โดยพบว่า ความเห็นส่วนใหญ่มีหลักการที่คล้ายคลึงกัน คือ ในช่วงระยะเวลา 4-5 ปี ควรกำหนดให้รัฐธรรมนูญมีบทเฉพาะกาล ให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่  ส่วนคำถามที่แตกต่างออกไป เช่น ท่านเห็นด้วยหรือไม่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ไม่ใช่บัตรเลือกตั้งหนึ่งใบตามร่างรัฐธรรมนูญ / ท่านเห็นด้วยหรือไม่หากให้มีการปฏิรูป 5 ปี ก่อนการเลือกตั้ง / ท่านเห็นด้วยกับการให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถเป็นอิสระได้ โดยไม่สังกัดพรรคการเมือง เป็นต้น 
ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ว่า "หากคำถามพ่วงประชามติมีความขัดแย้งกับเนื้อหารัฐธรรมนูญ เช่น ในร่างรัฐธรรมนูญไม่ให้อำนาจ ส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี แต่คำถามพ่วงประชามติกลับต้องการให้ ส.ว.มีอำนาจดังกล่าว จะต้องทำอย่างไร" ว่า "ก็ต้องนำร่างรัฐธรรมนูญมาแก้ตามคำถามพ่วงประชามติที่ผ่านโดยยึดคำถามพ่วงประชามติเป็นหลัก เพราะการทำประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญเป็นการพิจารณาทั้งฉบับ แต่เมื่อมีคำถามเฉพาะเจาะจงในเรื่องหนึ่ง ประชาชนก็มีสิทธิตอบเจาะจงได้ ซึ่งเป็นหลักธรรมดา"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น