วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2559

จี้ รมว.ยธ เปิดทุกฝ่ายร่วมปรับแก้ กม.บัตรทอง หวั่นรวบรัดตัดการมีส่วนร่วม


กก.หลักประกันสุขภาพจี้ รมว.ยุติธรรม เปิดทุกฝ่ายร่วมปรับแก้กฎหมายบัตรทอง หวั่นรวบรัดทำกันเองเฉพาะกลุ่มตามธงที่ตั้งไว้ ชี้จะก่อปัญหาไม่จบสิ้น ด้าน รมว.สธ.เผยระหว่างประชุมบอร์ด สปสช. มอบอนุ กก.ยุทธศาสตร์ ศึกษาประเด็นที่ต้องแก้ไขกฎหมายบัตรทอง แล้วเสนอให้บอร์ดพิจารณาอีกครั้ง
7 เม.ย. 2559 สืบเนื่องจากกรณีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (สคช.) และนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ รมว.ยุติธรรม หารือร่วมกับ รมว.สาธารณสุข และ รมว.การคลัง เพื่อพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 และ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งได้เชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือในวันที่ 11 เม.ย.ที่จะถึงนี้
ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเมื่อวันที่ 4 เม.ย.ได้มีการหารือในประเด็นนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ตระหนักดีถึงความสำคัญที่จะเกิดขึ้นหากมีการปรับแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในการปรับแก้กฎหมายฉบับนี้ ในฐานะของกรรมการคนหนึ่งก็ขอเรียกร้องให้ที่ประชุมวันที่ 11 เม.ย.โดยเฉพาะขอเรียกร้องไปยัง พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรมว่า การจะปรับแก้กฎหมายใด ขอให้ดำเนินการโดยยึดหลักการมีส่วนร่วม ไม่ใช่ปรับแก้กันเองตามที่ต้องการ หรือตามการชี้นำของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
“ขณะนี้ค่อนข้างกังวลว่าการปรับแก้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ จะดำเนินการแบบรวบรัด ทำกันเองเฉพาะกลุ่มตามธงที่ตั้งไว้แล้ว ตัดขาดการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะก่อปัญหาไม่จบสิ้น เรื่องหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นเรื่องสำคัญ เกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชน การเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมจะทำให้เกิดการพัฒนาปรับแก้กฎหมายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริงมากกว่า” ภญ.ยุพดี กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข และประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ในที่ประชุมว่า การมีส่วนร่วมเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงคณะกรรมการที่จะมีการปรับแก้ไข 2 พ.ร.บ.ที่จะตั้งโดย รมว.ยุติธรรม รมว.สาธารณสุข และ รมว.การคลัง ด้วย ทุกคนต้องการฟังข้อมูลทั้งนั้น ไม่ใช่การปิดหูปิดตา เลือกฟังข้อมูลเฉพาะกลุ่ม แต่เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกกลุ่ม ในส่วนของบอร์ด สปสช.ก็มีส่วนร่วมตรงนี้ด้วย และบอร์ดก็เพิ่งมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ ดังนั้นก็ขอมอบให้คณะอนุกรรมการชุดนี้ ช่วยดูจุดแข็ง จุดอ่อน ประเด็นที่ควรต้องปรับปรุงแก้ไขในกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แล้วนำเสนอให้บอร์ดพิจารณาอีกครั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น