วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2559

โค้งสุดท้ายประชามติ #2 การทำหนังสือระหว่างประเทศปิดประตูมีส่วนร่วมของประชาชน


เอฟทีเอวอชท์ระบุ ร่างรัฐธรรมนูญตัดการมีส่วนร่วมประชาชน-รัฐสภา ไม่เปิดเผยข้อมูล ลดการเยียวยาผลกระทบ ไม่ต้องทำกรอบการเจรจา หวั่นรัฐตามไม่ทันเนื้อหาสัญญาที่ก้าวร้าวมากขึ้น เชื่อเป็นกระบวนการที่ล้าหลังที่สุดเท่าที่เคยมีมา
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานเอฟทีเอวอทช์
การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายติดตามมาโดยตลอด เนื่องจากการลงนามอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อสาธารณะ ในรัฐธรรมนูญปี 2550 จึงระบุไว้ในมาตรา 190 เพื่อเพิ่มความรัดกุมในการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ เพิ่มการมีส่วนร่วมของรัฐสภาและประชาชน มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น การให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน รวมถึงการเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกออกไปในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานเอฟทีเอวอทช์ กล่าวว่า สิ่งที่หนักหนาที่สุดคือเรื่องของกระบวนการก่อนเจรจา คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คือตัดการรับฟังความคิดเห็น การทำข้อมูลและเปิดเผยข้อมูลให้กับประชาชน ทั้งยังกำหนดว่าไม่ต้องนำกรอบการเจรจาเข้ารัฐสภา จึงเห็นได้ว่านอกจากตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนแล้ว ยังตัดการมีส่วนร่วมของรัฐสภาออกไปด้วย
“กรอบการเจรจามีความสำคัญเพราะเป็นข้อตกลงในการบอกรัฐสภาว่า อะไรบ้างที่เป็นเรื่องสำคัญในการเจรจาครั้งนี้ อะไรบ้างที่เราจะต้องได้ และอะไรบ้างที่เราจะต้องไม่เสีย ซึ่งนี่ไม่ใช่การเปิดเผยจุดยืนของเราเพราะส่วนใหญ่เป็นกรอบกว้างๆ เพื่อให้เห็นว่าการเจรจาครั้งนี้เหมือนกับเป็นการตกลงกับรัฐสภา”
กรรณิการ์ อธิบายต่อว่า นอกจากนี้ เดิมจะต้องมีงานวิจัยรองรับการเจรจา แต่เมื่อไม่มีความจำเป็นต้องให้ข้อมูลแก่ประชาชนก่อนการเจรจาและไม่จำเป็นต้องให้ข้อมูลแก่รัฐสภาเพื่อพิจารณากรอบการเจรจา งานวิจัยจึงถูกทิ้งไปเป็นธรรมดา ซึ่งถือว่าล้าหลังที่สุดเท่าที่เคยมีมา
"จากนี้เราจะเห็นความน่ากลัวอีกครั้งหลังรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ หากเทียบเนื้อหากัน การทำหนังสือสัญญาในช่วงรัฐธรรมนูญปี 2540 มีความน่ากลัวน้อยกว่านี้ ความก้าวร้าวในเชิงเนื้อหาไม่มากเท่านี้ ปัจจุบันนี้ไปไกลเกินกว่านั้น ฉะนั้น ต้องบอกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปไม่ทันโลก"
“หากก่อนหน้านี้ใครบอกว่ารัฐบาลทักษิณเจรจาเอฟทีเอแบบไม่สนใจใคร เราก็กำลังจะได้เห็นอีกครั้ง หลังรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้”
ในประเด็นเรื่องการเยียวยาที่ถือเป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่ง เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญปี 2550 ให้ความสำคัญเพราะเห็นว่าการทำเอฟทีเอหรือหนังสือเจรจาระหว่างประเทศทั้งแต่ช่วงปี 2540 มีผลกระทบเยอะ มีคนได้ประโยชน์เป็นกระจุก แต่ผลเสียกระจาย รัฐธรรมนูญปี 2550 จึงระบุว่าต้องมีการเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ และต้องดำเนินการโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และเท่าเทียม แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับตัดถ้อยคำเหล่านี้ออก กลับเปลี่ยนให้เยียวยาเท่าที่จำเป็น
“อีกเรื่องที่ค่อนข้างน่าห่วงคือที่ระบุว่า หากรัฐสภาพิจารณาไม่เสร็จใน 60 วัน ให้ถือว่าเห็นชอบ ซึ่งช่วงเวลา 60 วันนั้นไม่พอ ในแบบเดิมมีขั้นตอนของการเริ่มต้น มีทีมที่ทำการศึกษา มีความรู้ในการอภิปรายเรื่องกรอบเป็นทุนเดิม รัฐสภาจึงมีทีมทำงานเพิ่มมากขึ้นในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะกรรมาธิการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งให้ความสนใจและติดตามแม้ว่าจะผ่านกรอบไปแล้วก็ยังคงติดตามเป็นระยะ ซึ่งหากเปลี่ยนกระบวนการเป็นในระยะเวลา 60 วัน ต่อไปจากนี้ก็จะมีแต่การผ่านแบบไร้คุณภาพออกมา
“การทำร่างหนังสือสัญญากำลังจะถอยหลังไปถึงปี 2540 หากเราเห็นว่าช่วงรัฐธรรมนูญปี 2540 มีการทำเอฟทีเอ แแล้วเอฟทีเอเหล่านั้นมีผลกระทบต่อประชาชนแค่ไหน ต่อจากนี้เราจะเห็นความน่ากลัวอีกครั้งหลังรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ หากเทียบเนื้อหากัน การทำหนังสือสัญญาในช่วงรัฐธรรมนูญปี 2540 มีความน่ากลัวน้อยกว่านี้ ความก้าวร้าวในเชิงเนื้อหาไม่มากเท่านี้ ปัจจุบันนี้ไปไกลเกินกว่านั้น ฉะนั้น ต้องบอกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปไม่ทันโลก ปัจจุบันเนื้อหาในหนังสือมันกว้างมาก ฝ่ายบริหารอย่างเดียว หรือส่วนราชการจึงไม่สามารถมองด้วยความเข้าใจที่มากพอ” กรรณิการ์ กล่าวย้ำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น