วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559

2 จำเลยคดีแจกเอกสารประชามติที่ภูเขียวขึ้นศาล ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา-ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม


2 จำเลยประชามติภูเขียวให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ยันการรณรงค์โหวตโน ไม่ใช่เรื่องผิด พร้อมยื่นหนังสือถึงอัยการจังหวัดขอความเป็นธรรมในคดีดังกล่าว
29 ก.ย. 2559 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ได้นัดสอบคำให้การของ ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ วศิน พรหมมณี สองจำเลยคดี พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61(1) ฐานแจกเอกสารรณรงค์โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
โดยจุตภัทร์ และวศิน ได้รับทราบข้อกล่าวพร้อมให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจำเลยทั้งสองกล่าวว่า ขอเรียนต่อศาลว่า รัฐธรรมนูญมีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งจะเข้ามาวางกรอบการใช้อำนาจขององค์กรของรัฐ และรับรองสิทธิ และเสรีภาพของประชาชน กฎหมายดังกล่าวจึงถือว่ามีความสำคัญโดยตรงต่อชีวิตทางสังคม การเมืองของจำเลยกับพวก การบัญญัติหรือการออกเสียงประชามติของประชาชนชาวไทยในการรับรองหรือคัดค้าน จึงต้องอาศัยการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นของประชาชนอย่างเปิดกว้าง รวมทั้งเปิดกว้างในการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นเพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยและเป็นที่ยอมรับอย่างแท้จริงจากผู้คนในสังคมอย่างแท้จริง ซึ่งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 7 ก็ได้รับรองเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมายไว้ด้วย
จำเลยทั้งสองเรียนว่า ในระหว่างการใช้เสรีภาพในการให้ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนในวันที่ 6 ส.ค. 2559 ณ อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ไม่ปรากฏเหตุการณ์ว่าจำเลยทั้งสองได้แสดงออกทางกิริยาหรือวาจาในการปลุกปั่นให้ประชาชนกระทำใดๆ อันจะนำไปสู่การก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมทั้งข้อความที่ปรากฏในเอกสารที่เจ้าพนักงานตรวจยึดนั้น ล้วนแต่เป็นข้อมูลทางวิชาการที่ตั้งอยู่ฐานของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายซึ่งสามารถพิสูจน์ความจริงได้ ไม่ได้มีลักษณะบิดเบือน หรือเป็นข้อมูลที่ลักษณะรุนแรง ก้าวราว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ให้ประชาชนไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงในทางหนึ่งทางใด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการใช้เสรีภาพที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นความผิดตามกฎหมายแต่อย่างใด
คดีดังกล่าว จตุภัทร์ และวศิน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจับกุมเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2559 เวลา 16.30 น. หลังจากเดินแจกเอกสารรณรงค์โหวตโนของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ในตลาดภูเขียวได้เพียง 300 เมตร
ทั้งนี้ วศินได้ยื่นหลักทรัพย์ประกันตัว เนื่องมีความจำเป็นในด้านการศึกษา หลังศาลภูเขียวอนุญาตให้ฝากขังตามคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน ส่วน จตุภัทร์ ยืนยันในสิ่งที่ทำว่าไม่ได้เป็นการกระทำความผิด โดยยอมถูกฝากขังเป็นเวลา 12 วัน พร้อมทั้งอดอาหารเพื่อยืนยันหลักการต่อสู้อย่างสันติวิธี ก่อนจะประกันตัวออกมาหลังจากอัยการส่งฟ้อง และศาลรับฟ้อง ประกอบกับความจำเป็นเรื่องการลงทะเบียนเรียน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีแรกในกลุ่มผู้ถูกจับกุมโดย พ.ร.บ.ประชามติ ที่ศาลรับฟ้อง
ต่อมาในเวลา 11.00 น. จำเลยทั้งสอง พร้อมทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เดินไปยังอัยการจังหวัดภูเขียว เพื่อไปยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้ถอนฟ้องคดี 

ศาลฎีกาฯ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งยึดบ้าน สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล Thu, 2016-09-29 23:47 29 ก.ย. 2559 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่ำรวยผิดปกติจากการสร้างบ้านมูลค่าประมาณ 16 ล้านบาท โดยศาลได้ไต่สวนพยานกว่า 10 ปาก ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค. – 14 ก.ย. 2559 โดย สมศักดิ์ ได้ต่อสู้คดีใน 3 ประเด็นใหญ่ คือ คำร้องคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และการที่คดีมีอายุเกินกว่า 10 ปี ถือว่าขาดอายุความหรือไม่ รวมทั้งการชี้แจงที่มาของเงิน ซึ่ง สมศักดิ์ ไม่สามารถต่อสู้ได้ทั้ง 3 ประเด็น โดยเฉพาะไม่สามารถชี้แจงที่มาของเงินที่ใช้ในการก่อสร้างบ้าน เลขที่ 5/5 หมู่ 5 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง เนื้อที่ 3 ไร่ 24.1 ตารางวา ปลูกอยู่บนโฉนดเลขที่ 14360 ได้แม้จะอ้างว่าเป็นเงินที่เหลือจากการสนับสนุนการเลือกตั้งของพรรคชาติไทยและเงินกงสี รวมถึงกรณีการพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไปแล้ว แต่การมีสถานะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้บ้านดังกล่าวมาในระหว่างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและไม่อาจนำสืบไต่สวนให้เห็นได้ว่าได้บ้านดังกล่าวมาโดยไม่ได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ เป็นผลให้การได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยมิชอบและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนอันเป็นผลต่อกฎหมายที่บัญญัติให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้มาตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 สมศักดิ์ ที่เดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมกับครอบครัว ให้สัมภาษณ์หลังฟังคำพิพากษา ว่า พร้อมยอมรับคำวินิจฉัย ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามกติกา ก็ต้องทำใจ แม้ว่าจะมีผลต่อเส้นทางทางการเมืองที่ต้องถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต ก็ไม่มีปัญหา


29 ก.ย. 2559 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่ำรวยผิดปกติจากการสร้างบ้านมูลค่าประมาณ 16 ล้านบาท โดยศาลได้ไต่สวนพยานกว่า 10 ปาก ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค. – 14 ก.ย. 2559 โดย สมศักดิ์ ได้ต่อสู้คดีใน 3 ประเด็นใหญ่ คือ คำร้องคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และการที่คดีมีอายุเกินกว่า 10 ปี ถือว่าขาดอายุความหรือไม่ รวมทั้งการชี้แจงที่มาของเงิน ซึ่ง สมศักดิ์ ไม่สามารถต่อสู้ได้ทั้ง 3 ประเด็น โดยเฉพาะไม่สามารถชี้แจงที่มาของเงินที่ใช้ในการก่อสร้างบ้าน เลขที่ 5/5 หมู่ 5 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง เนื้อที่ 3 ไร่ 24.1 ตารางวา ปลูกอยู่บนโฉนดเลขที่ 14360 ได้แม้จะอ้างว่าเป็นเงินที่เหลือจากการสนับสนุนการเลือกตั้งของพรรคชาติไทยและเงินกงสี รวมถึงกรณีการพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไปแล้ว แต่การมีสถานะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้บ้านดังกล่าวมาในระหว่างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและไม่อาจนำสืบไต่สวนให้เห็นได้ว่าได้บ้านดังกล่าวมาโดยไม่ได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ เป็นผลให้การได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยมิชอบและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนอันเป็นผลต่อกฎหมายที่บัญญัติให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้มาตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
สมศักดิ์ ที่เดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมกับครอบครัว ให้สัมภาษณ์หลังฟังคำพิพากษา ว่า พร้อมยอมรับคำวินิจฉัย ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามกติกา ก็ต้องทำใจ แม้ว่าจะมีผลต่อเส้นทางทางการเมืองที่ต้องถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต ก็ไม่มีปัญหา

วิษณุ ย้ำ ส.ว.ไม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบฯ

29 ก.ย. 2559 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรีตามความเห็นศาลรัฐธรรมนูญว่า ขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรี หลังจากการเลือกตั้งต่อจากนี้จะเริ่มต้นด้วยการเลือกนายกรัฐมนตรีตามบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่เสนอ โดยใช้เสียงกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา คือ 376 เสียง แต่หากเลือกไม่ได้ให้สมาชิกรัฐสภาเสนอให้สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ โดยใช้เสียง 376 เพื่อรับรองญัตติ และใช้เสียง 2 ใน 3 หรือ 501 คน จึงจะถือว่าผ่านญัตติ จากนั้นจึงจะสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ แต่ผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจะเป็น ส.ส. เท่านั้น และจะต้องใช้เสียง 376 เสียง เพื่อคัดเลือกนายกรัฐมนตรี
“หากที่ประชุมเห็นชอบให้เลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ ต่อมาค่อยเสนอใครก็ได้มาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. เป็นคนนอกใครก็ได้ และตัว ส.ส.จะเป็นผู้เสนอชื่อ และเป็นไปตามที่ กรธ.อธิบายว่าไม่ใช่ ส.ว. เป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี เพียงแต่มีสิทธิเสนอญัตติและมีสิทธิร่วมโหวตเท่านั้น ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังตีความว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีตามกระบวนการนี้จะเลือกกี่ครั้งก็ได้ภายใน 5 ปี หากเกิดกรณีใด ๆ ที่นายกรัฐมนตรีไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ซึ่งกรธ.ได้เขียนให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตีความออกมาอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามเรื่องทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ผ่านเสียงประชามติจากประชาชนแล้ว” วิษณุ กล่าว

10 ปี ลุงนวมทองขับแท็กซี่ชนรถถังคณะรัฐประหาร สัญลักษณ์ที่ยังมีชีวิต

ภาพรถแท็กซี่นวมทองที่ขับชนรถถังของ คมช. 

แท็กซี่ 'นวมทอง ไพรวัลย์' สัญลักษณ์การต้านรัฐประหารที่ยังมีชีวิต จากบทกวี สู่บทเพลง สู่หนัง “Democracy After Death : A Tragedy of Uncle Nuamthong Praiwan” ที่มีกำหนดฉาย  7 ต.ค.นี้ จะถึงรูปปั้นเลือด-สดมภ์-ห้องประชุม และงานรำลึก

วันนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว 11 วัน หลังจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คมช. ทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง ได้ปรากฏภาพข่าว ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ อดีตพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อ.บางกรวย วัย 60 ปี คนขับแท็กซี่ขับรถแท็กซี่โตโยต้า โคโรลล่า สีม่วง เครื่องมือทำมาหากินของเขาพุ่งชนรถถังของ คมช. ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า จนได้รับบาดเจ็บสาหัส
1 เดือนต่อมา (คืนวันที่ 31 ต.ค.49) ได้ปรากฏว่าเขา ผูกคอตายกับราวสะพานลอย บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก เยื้องกับที่ตั้งสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดยในจดหมายลาตายระบุว่า ต้องการลบคำสบประมาทของ พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษก คปค. ที่ว่า "ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้" พร้อมกับสวมเสื้อที่สกรีนข้อความเป็นบทกวี ที่ถูกใช้ในการการต่อสู้ทางการเมือง โดยด้านหลังเป็นบทกวีของศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ที่ว่า
“อันประชา สามัคคี มีจัดตั้ง เป็นพลัง แกร่งกล้า มหาศาล แสนอาวุธ แสนศัตรู หมู่อันธพาล ไม่อาจต้าน แรงมหา ประชาชน”
ภายหลังมีการเผยแพร่จดหมาย ที่เขียนด้วยลายมือ ลงชื่อ นวมทอง วันที่ 29 ต.ค.49 หรือ 1 วันก่อนที่เขาผูกคอเสียชีวิต โดยจดหมายดังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า
"สุดท้ายขอให้ลูกๆ และภรรยาจงภูมิใจในตัวพ่อ ไม่ต้องเสียใจ ชาติหน้าเกิดมาคงไม่พบเจอการปฏิวัติอีก
ลาก่อน พบกันชาติหน้า
ปล. ขอแก้ข่าว ขวดยาที่พบในรถภายหลังเกิดเหตุคืออาหารเสริมแคปซูลใบแปะก๊วยไม่ใช่ยาแก้เครียดตามที่ลงข่าว นสพ. ผมไม่เครียดแต่ประท้วงจอมเผด็จการ"
6 ต.ค. 2549 จอม เพชรประดับ ผู้สื่อข่าว ITV ขณะนั้น ได้สัมภาษณ์นวมทองหลังจากที่นวมทองขับรถชนรถถังของคณะรัฐประหาร และเมื่อปีที่ผ่านมาในวาระครบรอบ 9 ปีนี้ จอม ได้นำเสนอบทเพลงที่บันทึกเรื่องราวชีวิตและอุดมการณ์ของนวมทอง กับการเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อต่อต้านอำนาจเผด็จการ ซึ่งเป็นบทเพลงที่แต่งขึ้นใหม่เพื่อรำลึกการจากไป ครบ 9 ปี โดยกลุ่มศิลปิน มฤคา ชื่อเพลงว่า ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ ซึ่งเป็นการเผยแพร่ครั้งแรกผ่านทาง Thaivoicemedia
รวมทั้งได้รวบรวมบทสัมภาษณ์ที่ นวมทอง ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับจอม ถึงความมุ่งมั่น ที่จะเอาชีวิตตัวเองเข้าแลก เพื่อต่อต้านอำนาจเผด็จการ ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ ก่อนที่นวมทองจะผูกคอเสียชีวิตเพียงไม่กี่วัน รวมทั้งเรื่องราวของนวมทอง ที่นำเสนอผ่านสื่อต่าง ๆ ในตลอด 9 ปีที่ผ่านมา
หลังปฏิบัติการและการเสียชีวิตลุงนวมทอง เขาได้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะการต่อต้านเผด็จการและการรัฐประหาร ในโอกาสครบรอบ 10 ปี ปฏิบัติการของนวมทองนี้ประชาไทได้รวบรวมเพื่อนำเสนอดังนี้

บทเพลงนวมทอง

นอกจากเพลง ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ โดย กลุ่มศิลปิน มฤคา ข้างต้นแล้ว ยังมีการแต่งเพลงถึงลุงนวมทองอีกหลายเพลง โดยเฉพาะจิ้น กรรมาชน(กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ) ที่ระบุว่า คืนวันที่ 31 ต.ค. 2549 ขณะที่ จิ้น กำลังบันทึกเสียงบทเพลง "วันของเรา" โดย ไม่รู้เลยว่าเป็นคืนเดียวกับที่นวมทอง ได้ตัดสินใจพลีชีพเพื่อประกาศให้สังคมและคนที่สบประมาทได้รู้ว่า คนที่ยอมตายเพื่อประชาธิปไตยมีอยู่จริง จากนั้น 2 พ.ย. 2549 บทเพลงวันของเรา นำเสนอเป็นครั้งแรกในประชาไท พร้อมบทกวีที่จารจดขึ้นเพื่อคารวะต่อดวงวิญญาณของนวมทอง
"เขาชื่อ..นวมทอง
นวมทองขอพลีชีพ จุดประทีปแห่งสมัย
เกิดมาเพื่อรับใช้ พิทักษ์ไว้อุดมการณ์
เชื่อมั่นต่อจุดยืน เขาลุกขึ้นอย่างกล้าหาญ
คัดค้านเผด็จการ รัฐประหารน่าชิงชัง
เป็นเพียงสามัญชน พุ่งรถยนต์ชนรถถัง
หนึ่งคนมิอาจยั้ง เกินกำลังจะประลอง
วีรชนไม่ตายเปล่า หากปลุกเร้าเราทั้งผอง
คนซื่อชื่อนวมทอง จักเรียกร้องความเป็นธรรม"
— ด้วยจิตคารวะ
จิ้น กรรมาชน
2 พ.ย. 2549
ปีต่อมาวาระครบรอบหนึ่งปีที่นวมทอง จากไปบทเพลง "ยืนหยัด" (คลิกเพื่อดาวน์โหลดเพลงยืนหยัด) จึงถูกนำเสนอเพื่อใช้ประกาศยืนหยัดต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย และการหยัดยืนของนักสู้สามัญชนโดยไม่มุ่งหวังต่ออัศวินม้าขาว หรือชนชั้นนำกลุ่มใดใดเท่านั้น จึงจะได้มาซึ่งประชาธิปไตยโดยแท้จริง
นอกจากนี้ยังมี เพลง "นวมทอง ไพรวัลย์" ที่ศิลปินชาวเชียงใหม่ ได้ออกผลงานชื่ออัลบั้ม กิโยติน
เพลง "วีรชนนวมทอง" โดย วงไฟเย็น เนื้อร้องและทำนอง โดย วัฒน์ วรรลยางกูร เรียบเรียง โดย ขุนทอง
บ่าวแนว เมืองอุดร ในเพลง  นวมทอง ไพรวัลย์

หนังนวมทอง

ในงาน 40 ปี 6 ตุลา 2519 วันที่ 7 ต.ค.ที่จะถึงนี้ มีกำหนดการว่าจะมีการฉายหนัง “Democracy After Death : A Tragedy of Uncle Nuamthong Praiwan” ซึ่งเปิดตัวเป็นครั้งแรกในงานนี้โดยเฉพาะ ที่หอประชุมศรีบูรพา เวลา 16:00 น.
โดยเมื่อวันที่ 31 ต.ค.57 เพจ Democracy After Death ได้ปล่อยตัวอยู่หนังดังกล่าวมาบ้างแล้ว

รูปปั้นเลือด-สดมภ์-ห้องประชุม และงานรำลึก

นอกจากนี้ วันที่นวมทองเสียชีวิต คือ 31 ต.ค. ของทุกปี ก็มักจะมีกลุ่มคนเดินทางไปรำลึก ณ ราวสะพานลอย บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก เยื้องกับที่ตั้งสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งต่อมา 31 ต.ค.56 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. นำโดยธิดา ถาวรเศรษฐ, จตุพร พรหมพันธุ์ จัดพิธีเปิดสดมภ์อนุสรณ์ ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ บริเวณดังกล่าว
ภาพวันเปิดสดมภ์อนุสรณ์ ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ 31 ต.ค.56
“เราจะสร้างอนุสาวรีย์สามัญชนให้มากขึ้น ที่ต่อไปคือที่ราชประสงค์ เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่สามัญชนจะมีพื้นที่แสดงคุณงามความดี วีรกรรมของสามัญชน สามารถมีพื้นที่สาธารณะในประเทศได้” ธิดา กล่าวในวันเปิดสดมภ์อนุสรณ์นวมทอง
 
นอกจากนี้ 30 มี.ค. 2553 ระหว่างการชุมนุมของ นปช. ได้มีการปั้นรูป 'นวมทอง ไพรวัลย์' โดยศิลปินไทยเสรีชน ซึ่งผสมเลือดของคนเสื้อแดงที่ใช้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ก่อนหน้านั้น 
 
“ช่วงต้นข้อมูลยังไม่แพร่หลายว่าแกเป็นชาวพุทธที่ไม่ได้ตัดสินใจตายอย่างชั่ววูบ แต่มีสติ มีบันทึก มีเทป มีทุกอย่าง ทุกวันนี้คนเสื้อแดงก็รับรู้ อยากจะใช้คำว่า ปฏิมาสามัญชน ปกติคำว่าปฏิมา นี้ใช้เรียกเฉพาะพุทธรูป แต่มองว่านวมทองมีความบริสุทธิ์ มั่นคง มีความเสถียรของอุดมการณ์ จนไปพ้นความเชื่อแบบศาสนาพุทธว่าฆ่าตัวตายแล้วต้องตกนรก” ไม้หนึ่ง ก.กุนที ที่ถูกนิยามว่าเป็น “กวีสีแดง” หนึ่งในกลุ่มศิลปินไทยเสรีชนอธิบายผลงานชิ้นนี้ และเตรียมตั้งชื่อว่า “นวมทอง ไพรวัลย์ ประชาทิพย์พิทักษ์ไทย”
คำว่าประชาทิพย์ ปรากฏในบทกวีของเขาหลังเหตุการณ์สงกรานต์เลือด โดยเขาให้เหตุผลว่า โดยมโนคติเดิมมักบอกว่าคนดีตายแล้วขึ้นสวรรค์ แต่เขาเห็นว่าคนที่อุดมการณ์เพื่อส่วนรวม ตายแล้วก็คงไม่ไปเสวยผลบุญส่วนตัวด้วยการไปสวรรค์ แต่น่าจะยังยินดีเป็นเจ้าที่เจ้าทาง ผีทุ่งผีนา ที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน ดูแลปกป้องคุ้มครองประชาชนผู้ต่อสู้เพื่อส่วนรวม 
บทกวีที่ถูกอ่านระหว่างผู้คนเริ่มต้นลงมือปั้นรูปเหมือนดินเหนียวนวมทอง ไพรวัลย์ (30 มี.ค.53)
 
ขึ้นรูปลุงนวมทอง
ผู้กล้าท่องถนนเถื่อน
กี่วัน กี่ปี เดือน
ยังเหมือนอยู่ให้รู้เห็น
 
สงครามของคนไพร่
ผองเพื่อนไทยผู้ลำเค็ญ
ลุกฮือเพราะจำเป็น
เขาไม่เห็นเราเป็นคน
 
ขึ้นรูปลุงนวมทอง
ตระกองดินเริ่มตั้งต้น
ปฏิมาสามัญชน
ประชาทิพย์ พิทักษ์ไทย
 
สงครามหว่งชนชั้น 
เพื่อคืนวันชื่นสดใส
อำนาจ ทรัพย์กระจาย
เกลี่ยเฉลี่ยได้ทั่วถึง
 
แดงฉานชนชั้นล่าง
ชุบชีพวีรชนหนึ่ง
มวลสารคลุกเคล้าคลึง
คือเลือดไร่สามัญคน
 
ขึ้นรูปลุงนวมทอง
ตระกองดินได้ตั้งต้น
ปฏิมาสามัญชน
ประชาทิพย์ พิทักษ์ไทย
 
"ประชาทิพย์ พิทักษ์ไทย"
ไม้หนึ่ง ก.กุนที
 
 
ภาพการปั้นรูปเหมือนดินเหนียวนวมทอง ไพรวัลย์ (30 มี.ค.53)
ภาพสำนักงานของมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย ได้จัดพิธีเปิดห้องประชุมลุงนวมทอง ไพรวัลย์ เมื่อ 31 ต.ค.58  
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมรำลึกถึงนวมทอง ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ทางการเมือง ตลอด เช่น 19 ก.ย.2557 นักศึกษาศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท) ติดป้ายดำรำลึก 8 ปี รัฐประหาร 19 กันยา บริเวณสดมภ์อนุสรณ์ ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ พร้อมข้อความ “นายประชาธิปไตย ของไทย ชาตะ 24 มิ.ย.2475 มรณะ 19 ก.ย. 49 และล่าสุด...?” โดยใช้แซนด์วิชเป็นที่ถ่วงป้ายไว้
ภาพกิจกรรมของ ศนปท.เมื่อ 19 ก.ย.2557
31 ต.ค. 2558 กลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรมรำลึก 9 ปี การเสียชีวิตของนวมทอง พร้อมข้อเสนอปฏิรูปกองทัพ โดยมีการเดินเท้าจากอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มายังบริเวณกองบัญชาการกองทัพบก เพื่ออภิปรายเสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพ จากนั้นเดินเท้ากลับมายังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ท่ามกลางการควบคุมสถานการณ์โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร
กิจกรรมของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ เมื่อ 31 ต.ค. 2558

บุญชู ไพรวัลย์ ภรรยานวมทอง ไพรวัลย์ ร่วมกิจกรรมรำลึกที่สะพานลอยหน้าไทยรัฐ ซึ่งจัด นำโดย กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เมื่อ 31 ต.ค.55
กิจกรรมรำลึกที่สะพานลอยหน้าไทยรัฐ ซึ่งจัด นำโดย กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เมื่อ 31 ต.ค.55 ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการจัดสร้างสดมภ์อนุสรณ์ 

วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2559

ทนายยิ่งลักษณ์ร้องประยุทธ์-รมว.คลังทบทวนกระบวนการปมจำนำข้าว


28 ก.ย. 2559 นพดล หลาวทอง ทนายความ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้ทบทวนและวินิจฉัยสั่งการให้การสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดและคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบ
นพดล กล่าวว่า กระบวนการสอบข้อเท็จจริงและสอบสวนของคณะกรรมการทั้งสองชุด ไม่เป็นไปตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 8 วรรค 2 ที่วินิจฉัยว่า ยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิดเพียงผู้เดียวกว่า 2 แสนล้านบาท เนื่องจากโครงการรับจำนำข้าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐไม่ได้เกี่ยวกับการค้ากำไรส่วนบุคคล  เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรฐานรากให้เกิดความแข็งแรง เพราะชาวนาเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของประเทศ หากให้นางสาวยิ่งลักษณ์รับผิดคนเดียวจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมายอีกทั้งมติของคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ที่ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับผิดชอบใช้ค่าเสียหายทดแทนจำนวน 3.57 หมื่นล้านบาท จำนวน 20 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าความเสียหาย ขาย 1.78 แสนล้านบาท จาก การดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวฯ ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ เพราะยังไม่สามารถคิดสัดส่วนความเสียหายที่ต้องรับผิดได้ นอกจากนี้ในปัจจุบัน ยิ่งลักษณ์ เป็นอดีตเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่อาจนำพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ. 2539 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้ ดังนั้นกระบวนการตรวจสอบที่มีความเห็นว่า ยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิดจากที่ได้ดำเนินการมาทั้งหมดนั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบทั้งสิ้น ซึ่งที่ถูกต้องจะต้องดำเนินการตามกฏหมายละเมิดปกติที่ใช้บังคับกับบุคคลทั่วไป
“ผมมาขอความเป็นธรรมให้กับนางสาวยิ่งลักษณ์ ในกรณีโครงการรับจำนำข้าวที่ถูกดำเนินคดีในขณะนี้ ว่ากระบวนการทุกอย่างควรจะต้องตรวจสอบให้เรียบร้อยก่อน ไม่ควรยกเว้นหรือเลือกปฎิบัติกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ผมจึงต้องมายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมก่อนที่คณะกรรมการทั้งสองชุดจะมีการดำเนินการในขั้นตอนต่อไป” นพดล กล่าว

ประยุทธ์มอบ รมว.คลัง ลงนามเรียกค่าเสียหาย

อย่างไรก็ตาม วานนี้ (27 ก.ย.59) พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผย ถึงกรณีการดำเนินคดีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวว่า จะมอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้ลงนามคำสั่งทางปกครอง เพื่อเรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นกระบวนการเดียวกันกับที่กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการไว้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่ากรณีนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงคลัง และข้าราชการของกระทรวงที่รับผิดชอบ ในฐานะกรรมการตรวจสอบ และให้รัฐมนตรีลงนาม ในฐานะเจ้ากระทรวง ตนเองสามารถมอบหมายให้ลงนามแทนได้ ยืนยันว่า ดำเนินการส่งฟ้องศาล ทันอายุความ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 นี้
สำหรับกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งเรียกค่าเสียหาย จาก ยิ่งลักษณ์ 20% หรือ 35,700 ล้านบาท จากความเสียหายทั้งหมด 178,000 ล้านบาท พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นการดำเนินการ ในฐานะที่อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในโครงการนี้ และไม่ระงับยับยั้งโครงการ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง.ได้แจ้งเตือน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนความเสียหายที่เหลือ 80% หรือ 142,000 ล้านบาท ที่มีการฟ้องร้องผู้ที่กระทำทุจริตอีก 850 คดีนั้น จะมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ หรือ ศอตช. เข้าไปร่วมในการตรวจสอบหาผู้กระทำผิดในระดับผู้บริหาร ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่ต้องตรวจสอบหาผู้กระทำผิด และเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ และเอกชน
พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า การใช้ ม.44 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 56/2559 เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐ และการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด  ไม่ใช่เป็นการเข้าไปตัดสินคดีโครงการรับจำนำข้าว แต่เพื่ออำนวยความสะดวก ให้ข้าราชการมั่นใจในการตรวจสอบคดีนี้
“ผมมีหน้าที่อำนวยความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้ใช้อำนาจชี้ผิด ชี้ถูก แต่ปกป้องเจ้าหน้าที่ไว้ เพราะเขาไม่กล้า ที่ผ่านมามีการขู่ ผมต้องมีมาตรการของผมปกป้องเขา ไม่ใช่ปกป้องให้เขารังแกคน แต่ให้เขากล้าทำงานแค่นั้น ม.44 ไม่ใช่ไปตัดสินชี้ผิดชี้ถูก ไม่ได้ไปตัดสินจำนำข้าว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะฟ้องกลับ ทั้งทางอาญาและทางแพ่ง กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด นายกรัฐมนตรียืนยันไม่กังวลต่อเรื่องนี้ พร้อมย้ำว่า “ผมทำตามหน้าที่ ในการทำให้คดีความเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเท่านั้น”

ผลประเมิน 'คุณธรรม-ความโปร่งใส' สนง.ป.ป.ช. ได้ที่ 100 จาก 115 หน่วย สนง.ศาลรธน.ได้ที่ 94


29 ก.ย. 2559 จากกรณี ที่ ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เผยแพร่ผลจากโครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment : ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการประเมินหน่วยงานภาครัฐที่อยู่ในความรับผิดชอบทั้งสิ้น 115 หน่วยงาน ประกอบไปด้วย สำนักงานศาล (เฉพาะหน่วยงานธุรการ) องค์กรตามรัฐธรรมนูญ หน่วยงานสังกัดรัฐสภา หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน นั้น ซึ่งปรากฏว่า สำนักงาน ป.ป.ช. อยู่ในอันดับที่ 100 ได้เพียง 73.52 คะแนนเท่านั้น
ขณะที่ อันดับ 1.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้ 96.02 คะแนน 2. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้ 94.50 คะแนน 3. บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้ 91.41 คะแนน 4. องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้ 90.79 คะแนน 5. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ 90.39 คะแนน 6. การไฟฟ้านครหลวง ได้ 90.30 คะแนน 7. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้ 90.23 คะแนน 8. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้ 89.98 คะแนน เป็นต้น
โดย มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า สรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า เราไม่ได้ตกใจกับผลประเมินที่ออกมา เนื่องจากการประเมินดูเรื่ององค์กรที่มีคุณธรรมและความโปร่งใส เรารู้ก่อนการประเมินอยู่แล้ว แต่เราก็ไม่ได้เตรียมการนัดแนะกับหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องภายใน ว่าต้องเตรียมถูกประเมินอะไรบ้าง ดังนั้น เมื่อมีการประเมินจึงถือว่าวัดผลได้จริงและเป็นผลดีกับเราที่ทำรู้ตัวเองว่า ความจริงขณะนี้เราเป็นอย่างไร การประเมินดังกล่าว เพื่อให้แต่ละหน่วยงานรู้ตัวว่ามีจุดบกพร่องใดต้องแก้ไขให้ดีขึ้นในปีถัดไป เพื่อจะได้เป็นหน่วยงานที่มีมีคุณธรรม ความโปร่งใส เจตนาเป็นอย่างนั้น ถ้าทุกองค์กรพัฒนาขึ้นจากคะแนนประเมินมาตรฐานที่ 80 คะแนน และดีขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยโปร่งใสแน่
“อาจจะมีส่วนว่าคะแนนที่สะท้อนการประเมินสำนักงานป.ป.ช.อาจจะไม่โปร่งใส เป็นต้นว่าการขอทราบความคืบหน้าของคดี หรือการขอสืบค้นสำนวนคดีต่างๆ ว่าการเปิดเผยข้อมูลยังไม่ดีพอ แต่เรื่องคดีเป็นข้อมูลเชิงลึกที่เปิดเผยลำบาก เนื่องจากมีข้อจำกัด ถ้าไปกระทบถึงบุคคลอื่น คนให้ข้อมูลหรือคนที่กล่าวหาจะเดือดร้อน แต่ก็จะพยายามให้มีการเปิดเผยให้มากกว่านี้” สรรเสริญ กล่าว

เสียดสีศาล! ศาลทหารตีกลับคำแถลงปิดคดี ‘รุ่งศิลา’ คดีไม่รายงานตัวคสช.




เพจศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา นายอานนท์ นำภา ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับคำแถลงการณ์ปิดคดีในคดีที่ นายสิรภพ นักเขียนผู้ใช้นามปากกา รุ่งศิลา ซึ่งตกเป็นจำเลยจากการไม่เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 44/2557 เรื่องให้บุคคลเข้ารายงานตัว เพื่อให้ทำการแก้ไขคำแถลงเนื่องจากศาลทหารเห็นว่ามีเนื้อหาที่ส่อถึงการเสียดสีศาลทหาร โดยมีทั้งหมด 3 จุด และเมื่อแก้ไขเสร็จแล้วให้ยื่นใหม่อีกครั้งภายใน 7 วันซึ่งครบกำหนดในวันที่ 4 ต.ค. นี้

ข้อความที่ศาลทหารแจ้งแก้ไขในสองจุดแรกอยู่ในส่วนของคำแถลงข้อ 2.3 ที่กล่าวถึงการออกประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 และ41/2557 และ คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 44/2557เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจาก คสช. เข้ามามีอำนาจในการปกครองประเทศด้วยการทำรัฐประหารซึ่งมีความผิดฐานกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 และการยอมรับการใช้อำนาจของ คสช. จึงเป็นการยอมรับต่ออำนาจของผู้ปกครองประเทศที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเนื้อความจุดที่ศาลทหารให้มีการแก้ไขมีดังนี้

“…หากอำนาจตุลาการไม่รับใช้หลักการแห่งกฎหมายในระบอบประชาธิปไตยและประชาชน แต่กลับไปโอนอ่อนผ่อนตามหรือยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหาร ซึ่งเป็นการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมทำให้ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมถูกทำลายลงจนไม่เหลือสถาพแห่งความเป็นนิติรัฐได้…”

“…หากตุลาการยอมรับว่าคณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว ก็จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป เปิดช่องทางหรือยอมรับให้บุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการรัฐประหารยืมมือกฎหมายเข้าปกครองประเทศ ตุลาการจึงไม่ควรที่จะรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ หากแต่ต้องใช้อำนาจตุลาการในการพิพากษาวินิจฉัยให้คณะรัฐประหารต้องรับผิดตามกฎหมายเพื่อธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมและรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย และคุ้มครองประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง หากตุลาการรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับตุลาการไม่ได้รับใช้ประชาชน หันไปรับใช้อำนาจอันโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรมก็จะกลายเป็นบ่าวรับใช้อำนาจเผด็จการไปเสีย…”

ส่วนจุดที่สามที่ศาลทหารให้แก้ไขอยู่ในข้อ 3 ของแถลงการณ์ซึ่งเป็นส่วนปิดท้ายที่นายสิรภพกล่าวถึงการที่ตนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญและไม่ยอมรับอำนาจของ คสช. ที่ได้มาโดยการรัฐประหารจึงขอทำการอารยะขัดขืน และยังขอต่อศาลให้อำนวยความยุติธรรม โดยข้อความที่ศาลให้แก้ไขมีดังนี้

“…ขอศาลได้โปรดตีความและบังคับใช้กฎหมายภายใต้ความยุติธรรมในระบอบประชาธิปไตย…”

ภายหลังจากที่นายอานนท์ทราบเรื่องวันนี้จึงเข้าเยี่ยมนายสิรภพในเรือนจำพิเศษกรุงเทพในเช้าวันนี้เพื่อสอบถามและให้คำปรึกษา ทั้งนี้ทีมทนายความจะปรึกษากันถึงแนวทางก่อน แต่จะยื่นแถลงการณ์ต่อศาลอีกครั้งภายในวันจันทร์ที่ 4ต.ค.ที่จะถึงนี้
ในคดีนี้นายสิรภพได้เคยให้การต่อศาลว่าการกระทำของ คสช. ที่ทำการรัฐประหารถือว่าเป็นการกบฏ และเชื่อว่าจะกระทำการไม่สำเร็จ การออกคำสั่งของ คสช. จึงไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย นอกจากนี้ เขายังได้ยื่นฟ้องหัวหน้าคณะรัฐประหารคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ศาลอาญาในคดีดำที่ 1805/2558