อ่านข้อเสนอแก้กฎหมาย 112 และคำอภิปรายของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลhttp://www.prachatai.com/journal/2011/03/33752 อ่านข้อเสนอแก้กฎหมาย 112 และคำอภิปรายของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลMon, 2011-03-28 00:18 วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เป็นตัวแทนกลุ่มนิติราษฏร์ในการนำเสนอประเด็นในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยระบุว่าโดยหลักการแล้วสามารถสรุปได้เป็น 7 ประการ (อ่านรายละเอียดเหตุผล และการปรับแก้โดยละเอียดได้ด้านล่างสุด) ทุกข้อมีเหตุผลรองรับในทางวิชาการ โดยที่ทางกลุ่มฯ ไม่ประสงค์จะเคลื่อนไหวในทางการเมือง แต่หากใครจะนำไปรณรงค์ต่อก็ยินดี นอกจากนี้ข้อเสนอนี้ยังเป็นข้อเสนอประนีประนอมที่สุด แม้จะไม่แก้ปัญหาให้หมดไป แต่ก็น่าจะทำให้ปัญหาบรรเทาเบาบางได้ นอกจากนี้การนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ยังเป็นการรับฟังความเห็นครั้งที่หนึ่ง ซึ่งยังจะรับฟังข้อถกเถียงทางวิชาการต่อไปอีกในครั้งหน้า ที่สำคัญ อยากเรียกร้องต่อนักวิชาการต่างๆ ให้มีปฏิกริยาต่อข้อเสนอนี้และแสดงข้อคิดเห็นไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือเห็นต่าง ข้อเสนอ 7 ประการ สรุปได้ดังนี้ 1.ยกเลิกมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เพราะบทบัญญัติที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้รับการบัญญัติขึ้นโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ปี 2519 ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย 2.เพิ่มเติมลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไว้ในประมวลกฎหมายอาญา แทนที่จะเอาไว้ในหมวดความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร 3.แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อให้สอดคล้องกับการแบ่งแยกการคุ้มครองระหว่างตำแหน่งพระมหากษัตริย์กับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในความผิดฐานอื่นๆ เช่น การปลงพระชนม์ การประทุษร้าย 4.โทษจากเดิมให้จำคุก 3-15 ปีให้เปลี่ยนเป็นไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ, ลดอัตราโทษให้เป็นจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดนี้ต่อพระมหากษัตริย์, ลดอัตราโทษให้เป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดนี้ต่อพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 5. เพิ่มเหตุยกเว้นความผิดให้การติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่มีความผิด 6.เพิ่มเหตุยกเว้นโทษความผิดฐานต่างๆในลักษณะนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ถ้าข้อที่กล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวแล้วแต่กรณี การพิสูจน์นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ห้ามมิให้พิสูจน์ 7.ผู้มีอำนาจกล่าวโทษเปลี่ยนจากบุคคลทั่วไปเป็นสำนักราชเลขาธิการ คำอภิปรายของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในที่สุดแล้วตัวบทกฎหมายเป็นสิ่งที่ขึ้นกับอุดมการณ์ทางการเมือง การตีความของศาลก็ไม่ได้แยกกันอยู่แบบโดดๆ ต่อให้เราแก้กฎหมายทั้งหลายแหล่ได้เอง ศาลจะตีความแบบให้เสรีภาพไหม ก็ไม่ ซึ่งเป็นความเห็นตรงกัน แต่มีปัญหาว่าการเสนอกฎหมายที่เป็นรูปธรรมอาจเกิดปัญหา สมมติ ถ้าใครดูหนัง JFK คงจะรู้ว่าโอลิเวอร์ สโตน มองว่ารองประธานาธิบดีเป็นคนวางแผนฆ่า โดยการปะติดปะต่อเหตุการณ์เชื่อมโยงเอาเอง เคสแบบนี้เป็นการเสนอความเป็นจริงที่เป็นข้อยกเว้นความผิดหรือเปล่า ถ้ามีการเสนอกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ในทิศทางเดียวกัน นี่จะเป็นขอยกเว้นหรือไม่ แน่นอนว่าในสหรัฐถือว่เป็นการแสดงความเห็นที่ได้รับการคุ้มครอง ประเด็นการเสนอบทลงโทษ ยังเป็นระดับที่เท่ากันกับสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กษัตริย์นั้นได้รับการคุ้มครองในฐานะประมุขของรัฐ แต่กฎหมายที่คณะนิติราษฎร์เสนอนี้ให้ความคุ้มครองพระราชินี รัชทายาทด้วย ซึ่งต้องถือเป็นสามัญชน กลับมาถึงประเด็นที่สำคัญมากๆ ลำพังตัวกฎหมายไม่มีความหมายโดยตัวเอง กฎหมายโดยตัวมันเองไม่มีอะไรหรอก ฝรั่งก็มีบทบัญญัติแบบนี้ แต่มันไม่มีความหมายอะไรเลย กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเสนอแก้โดดๆ ไม่ได้ ซึ่งเป็นข้อสรุปของอาจารย์วรเจตน์ด้วยซ้ำ ต้องแก้กฎหมายไปพร้อมอุดมการณ์ ข้อเสนอของผมคือให้ยกเลิกอุดมการณ์ไปพร้อมๆ กัน ดังที่ก่อนหน้านี้ตัวเองเคยนำเสนอข้อเสนอ 8 ข้อไว้แล้ว เพราะกฎหมายหมิ่นไม่ได้อยู่ด้วยตัวเอง แต่อยู่ในระบบคิดที่ใหญ่โตมาก ตัวกฎหมายนั้นเสนอได้ แต่ต้องเสนอให้ยกเลิกอย่างอื่นไปพร้อมๆ กันด้วย กรณีญี่ปุ่นเป็นกรณีที่น่าศึกษามาก จริงๆ แล้วในบรรดาประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขก็มักจะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ หรือไม่ก็ละเมิดไม่ได้ แต่ไม่เคยใช้สองคำนี้ด้วยกัน กรณีญี่ป่นที่เป็นต้นแบบของรัฐธรรมนูญที่ไทยลอกมานั้นเคยเขียนไว้เช่นนั้น แต่ตอนนี้ในรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นไม่มีคำนี้อยู่เลย แต่ใช้คำกลางๆ คือคำว่าสถาบันกษัตริย์ทรงเป็นสัญลักษณ์ถึงความสามัคคีของประชาน ไทยมาถึงจุดที่ว่าการใช้อำนาจที่ล้อมรอบสถาบันกษัตริย์นั้น มาถึงจุดที่ถ้าแก้ไม่ได้ก็ไม่อาจะบรรลุเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอประนีประนอมที่คณะนิติราษฎร์เสนอนี้ มีความเสี่ยง คือภายใต้อุดมการณ์หรือระบอบคิดทั้งหมด มันเป็นไปไม่ได้ หรือไม่เป็นประโยชน์นัก ข้อเสนอแบบนี้จะไม่ช่วยให้การอภิปรายกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 หรือกรณี 6 ตุลาฯ ทำได้มากกว่านี้ ตราบใดที่ทุกสองทุ่มยังมีรายการข่าวแบบนี้ ตราบใดที่ทุกโรงเรียนยังมีการสั่งสอนแบบเดิม ต่อให้เกิดปาฏิหาริย์ทำให้แก้ไขกฎหมายได้ ก็ไม่มีผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่ตนเสนอแนวทาง 8 ข้อไว้นั้น ประเด็นคือ อำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยสะสมมาถึงจุดที่ว่าหากไม่เลิกก็ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กันได้ การนำเสนอของตนเองตลอดมานั้นอยากเสนอคนกลุ่มหนึ่งอยากให้ฟัง คือนักวิชาการ แต่กลับไม่มีผลอะไรเลย ผลสะเทือนกลับไปอยู่ที่มวลชนต่างๆ และตนรู้สึกผิดที่การที่ผมพูดเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. (2553) มันทำให้คนทั่วไปกล้าพูด นำไปพูดและส่วนหนึ่งถูกจับ ทั้งที่จริงแล้วไม่ได้พูดอะไรซับซ้อนลึกลับ คนทั่วไปก็รู้และคิดได้ เราเป็นเสียงให้คนที่ไม่มีเสียงเราเพียงแต่พูดแทนเขาออกมา แต่ปัญหาคือ คนจำนวนมากพอฟังแล้วรู้สึกว่าพูดได้ เวทีเล็กทั้งหลายแหล่ก็เลยมีผลสะเทือนมาก และทำให้วงเสวนากลายเป็นม็อบไป อย่างไรก็ตาม อยากฝากถึงกลุ่มที่จะรณรงค์ต่อจากนี้ไปว่า ประเด็นสถาบันกษัตริย์นั้น ขอเสนอ2 ข้อ คือ 1.เรื่องสองมาตรฐานเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ถ้าเอาวิธีการแบบที่ทำกับสถาบัน มาใช้กับนักการเมือง เช่น มีข่าวทุกๆ สองทุ่ม และห้ามวิจารณ์นักการเมือง คุณจะทนได้แบบนี้ไหม ทำไมหมู่ปัญญาชนจึงสามารถทนเรื่องนี้ได้มากและนาน อีกประเด็นคือ บทความใบตองแห้งซึ่งเพิ่งเขียนลงในเว็บไซต์ประชาไท คือ การเคารพสิทธิของคนที่รักในหลวง วิธีคิดพวกนี้มันผิดตรงที่ว่าเราไม่ได้จะละเมิดสิทธิเขา (คนที่รักในหลวง) เคยมีคนเสนอให้ลงประชามติ ซึ่งตนยินดีมาก แต่คำถามคือ การลงประชามติจริงๆ คืออะไร ถ้ามีรัฐบาลหนึ่งมีกฎหมายห้ามหมิ่นรัฐบาล มีการอบรมสั่งสอนประชาชนให้รักรัฐบาลมาเป็นสิบๆ ปี แล้วให้ลงคะแนนเสียง แล้วจะถือว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนจริงๆ ไหมตนเองยินดีให้มีการลงประชามติ แต่ขอให้ทำตามแนวทางที่ตนเคยเสนอไว้8 ข้อ ลองใช้เป็นเวลาห้าปี แล้วมาลองลงประชามติกันดู สิ่งที่แสดงออกกันตอนนี้ไม่ใช่เรื่องการใช้สิทธิรักหรือเคารพในหลวงเลย อยากให้ตั้งคำถามกันดีๆ ว่าทำไมจึงเกิดการฆ่ากลางเมืองเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม (2553) คำถามง่ายมาก อภิสิทธิ์ไม่อยากลงจากตำแหน่ง ทั้งที่ ปชป. เคยยุบสภาด้วยเรื่องที่เล็กกว่านี้ ทุกคนยุบสภาด้วยเรื่องเล็กกว่านี้และกลับมาไม่ได้ รัฐบาลที่ยุบสภาแล้วกลับมาได้คือรัฐบาลทักษิณ ทำไมอภิสิททธิ์ไม่ยอม สุเทพ อนุพงษ์ไม่ยอม คำตอบง่ายๆ คือ กลัวพรรคเพื่อไทยชนะ ก็เพราะกลัวทักษิณขึ้นมา คำตอบก็คือกลัวว่าอำนาจความนิยมของทักษิณจะขึ้นมาเทียบกับสถาบันกษัตริย์ นี่คือคำตอบที่ชัดเจนที่สุด สมมติว่าวิกฤตการณ์การเมืองที่ผ่านมา การสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับราชวงศ์เลย แต่ปัญหาเรื่องสถาบันกษัตริย์ก็ยังเป็นปัญหาใจกลางของเรื่องอยู่ดี เพราะคนจะไม่มีทางมาฆ่ากันถ้าสถาบันไม่ดำรงสถานะขนาดนี้ วิธีการแก้ก็คือต้องยุติสถานะนี้ คือเปลี่ยนให้เป็นองค์กรประมุขธรรมดาแบบญี่ปุ่น สวิสเซอร์แลนด์ ที่สำคัญ อยากขอร้องไปถึงปัญญาชนทุกคน ขอร้องว่าอย่าหลบซ่อนตัวเองไว้เบื้องหลังการรณรงค์เรื่องการตื่นรู้ในมาตรา112 เพราะมันไม่เพียงพอ อย่าหยุดแค่นี้ การเสนอให้ตื่นรู้ มันเหมือนกับตอนนี้ไฟกำลังไหม้บ้าน แล้วเรามาสอนกันว่าวิธีใช้ไม้ขีดไฟคืออะไร นอกจากนี้การที่บอกว่าตนเสนออะไรใหญ่โต มันเป็นไปไม่ได้ มันไม่ใช่เพราะตน แต่เป็นเพราะสภาพการณ์ปัจจุบันนี้ต่างหาก ตอบประเด็นอภิปราย วรเจตน์: ในส่วนของความคิดเห็นของอาจารย์สมศักดิ์ เราก็เห็นประเด็นนี้ แต่ปัญหาคือเวลาเสนอตัวบทที่เป็นรูปธรรมก็มีข้อจำกัด ถูกรัดรึงอยู่โดยโครงสร้างของกฎหมายอาญาปัจจุบัน ลักษณะจึงออกมาแบบนี้ แต่ไม่ได้แปลว่ากลุ่มฯ พอใจกับการแก้ไขในลักษณะนี้ แต่ประเด็นเรื่องอัตราโทษเป็นประเด็นที่อภิปรายกันได้ ปัญหาใหญ่กลับไปที่ปัญหาเดิมคือ ปัญหาในแง่อุดมการณ์ว่าเรื่องนี้ต้องทำเป็นชุดใหญ่ ซึ่งก็มีเรื่องกฎหมายที่ต้องพูดถึง เช่น สถานะของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญในหมวดนี้ แต่นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ยังบกพร่องอยู่ และต้องพูดเรื่ององคมนตรี แต่ถือว่านี่คือการนับหนึ่งในการขับเคลื่อนต่อไปในทางวิชาการ ทางกลุ่มฯ จะพยายามทำงานวิชาการในลักษณะนี้ต่อไปอีก แต่ก็มีปัญหาในแวดวงวิชาการ ผมรู้สึกและประเมินว่ามันมีความมืดมนอยู่ ผมไม่คิดว่าข้อเสนอนี้จะได้รับการตอบรับในวงกว้าง ผมคิดว่าแวดวงวิชาการเองก็ไม่ต่างกับแวดวงอื่นๆ มันมีเครือข่าย มีผลประโยชน์ การจะให้ออกมาพูดในเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องยาก แต่อย่างน้อยก็เป็นการกระตุ้น แม้แต่การคัดค้านก็ตาม ปิยบุตร: ตอบ อ.สมศักดิ์ ว่า คนเราไม่ควรติดคุกด้วยคำพูด ถ้าทำได้ทั้งระบบคือเหลือแค่โทษปรับ ก็น่าจะเป็นไปได้ ส่วนเรื่องข้อเสนอให้ยกเลิก ถ้าจะยกเลิกม.112 ก็ง่ายมาก ไม่จำเป็นต้องมาคิดอะไรสลับซับซ้อน แต่สิ่งที่เสนอเราอยู่ในกรอบคือ เป็นข้อเสนอที่ประนีประนอมที่สุดแล้ว ข้อเรียกร้องถึงกลุ่มคนอื่นๆ คือคนที่ดำรงสถานะแบบผม หรืออาจารย์สมศักดิ์ มีอภิสิทธิ์บางประการ มีข้อได้เปรียบกว่าคนอื่นๆ อยู่ อาจจะไม่ใช่ข้อได้เปรียบทางเศรษฐกิจ แต่ได้จากความเคารพนับถือ เสรีภาพทางวิชาการ เอาเงินส่วนรวมไปเรียนต่างประเทศ เมื่อได้เปรียบกว่าคนอื่นๆ ก็ยิ่งต้องมีพันธะผูกพันต่อสังคมมากยิ่งกว่าปกติ ผมสังเกตว่าหลังการเสวนาเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2553 ก็มีการพูดประเด็นเหล่านี้มาก ผมคิดถึงคนอย่างคุณดา ตอร์ปิโด ก็คือคนที่เขาอยากพูดแต่พูดไม่ได้ แต่เมื่อมีคนที่ไปส่งเสริมให้เขาพูด พอพูดแล้วก็โดนทุบอีก ภายใต้สังคมปัจจุบัน ไม่มีทางอื่นใดอีกเลยที่เราจะรักษาให้คนสามัญชนคนธรรมดาให้พูดเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างสอดคล้องกับประชาธิปไตย มันมีทางเดียวคือปัญญาชนทั้งหลายต้องออกมาช่วย ไม่ต้องไปผูกผ้าเป็นแกนนำหรอก ปัญญาชนคนหนึ่ง คนเดียวมันไม่พอ มันต้องพึ่งเป็นหลักร้อยหลักพัน และต้องทำให้เป็นประเด็นสาธารณะ สถานการณ์ตอนนี้เขากำลังทยอยล่าเหยื่อ 112 ไม่ต้องกลัวว่าออกมาแล้วจะกลายเป็นลูกน้องสมศักดิ์ หรือกลายเป็นการ endorse (รับรองความชอบธรรม) ของขบวนการทางการเมือง สำหรับรอยัลลิสม์ ต่อให้พวกท่านหลอกตัวเองอย่างไรก็ตาม แต่ด้วยมันสมองของท่าน ท่านสามารถประเมินได้อยู่แล้วว่า สถานการณ์แบบที่เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้จะดำเนินต่อไปอย่างนี้ได้ในอนาคตหรือ มนุษย์อยู่ที่ไหนก็เป็นมนุษย์ มันมีสิทธิเสรีภาพ สักวันเขาก็จะรู้ว่าไม่มีใครมาอ้างสิทธิความชอบธรรมเหนือกว่าคนอื่น ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ฝ่านรอยัลิสม์ทั้งหลายกังวลใจ แต่ได้โปรดเถิด แทนที่ท่านจะเอาพลังพวกนี้ไปแปรเปลี่ยนเป็นพลังอะไรก็ได้เพื่อรักษาสถานะพิเศษ ท่านเอาพลังเหล่านี้มาปรับตัวให้เข้ากับระบอบประชาธิปไตยไม่ดีกว่าหรือ ในโลกปัจจุบัน สถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่ตกยุคสมัยไปแล้ว วิธีเดียวที่จะทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่รอดต่อไป คือการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย สอดคล้องกับประชาธิปไตย 000000000000000000000 ข้อเสนอ การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำาเร็จราชการแทนพระองค์ โดยตระหนักว่ามนุษย์ ไมว่าจะชาติกำเนิดใด ดำรงตำแหน่งสถานะใด ย่อมมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มีเสรีภาพ มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน มีเหตุผล มีความสามารถอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่างและในสังคมประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพที่จะขาดเสียมิได้ หากจะมีการจำกัดเสรีภาพดังกล่าว รัฐต้องกระทำเท่าที่จำเป็น และจะจำกัดจนถึงขนาดกระทบต่อสารัตถะแห่งเสรีภาพนั้นมิได้ กฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำาเร็จราชการแทนพระองค์ มีความไม่เหมาะสมทั้งในแง่ของโครงสร้างของบทบัญญัติ อัตราโทษ และการบังคับใช้ ประกอบกับกฎหมายดังกล่าวไม่มีการยกเว้นความผิดในกรณีที่บุคคลติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริตเพื่อรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งในปัจจุบันปรากฏชัดว่ากฎหมายดังกล่าวเปิดช่องให้บุคคลนำาไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือนำไปใช้โดยไม่สุจริตและไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ คณะนิติราษฎร์จึงเห็นควรเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาต มาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนี้ ประเด็นที่ 1 การดำรงอยู่ของมาตรา 112 ข้อเสนอ ยกเลิกบทบัญญัติมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เหตุผล 1. มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้รับการบัญญัติขึ้นโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 วันที่ 21 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็น "กฎหมาย" ของคณะรัฐประหาร บทบัญญัติในมาตรานี้จึงขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย 2. ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของบทบัญญัติต่างๆ ในประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จึงจำเป็นต้องยกเลิกบทบัญญัติมาตรา 112 ในลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เพื่อนำไปบัญญัติขึ้นใหม่เป็นลักษณะ .../... ความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประเด็นที่ 2 ตำแหน่งแห่งที่ของบทบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับเกียรติยศและชื่อเสียงของ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ข้อเสนอ 1. เพิ่มเติมลักษณะ .../... ความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไว้ในประมวลกฎหมายอาญา 2. นำบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระ มหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปบัญญัติไว้ในลักษณะ .../... เหตุผล โดยลักษณะของความผิด ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่มีสภาพร้ายแรงถึงขนาดกระทบกระเทือนต่อการดำารงอยู่ ต่อบูรณภาพ และต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ประเด็นที่ 3 ตำแหน่งที่ได้รับการคุ้มครอง ข้อเสนอ แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนี้ มาตรา ... "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษ ..." มาตรา ... "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษ ..." เหตุผล เพื่อให้สอดคล้องกับการแบ่งแยกการคุ้มครองระหว่างตำแหน่งพระมหากษัตริย์กับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในความผิดฐานอื่นๆ กล่าวคือ · ความผิดฐานปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ (มาตรา 107) · ความผิดฐานปลงพระชนม์พระราชินี รัชทายาทและความผิดฐานฆ่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (มาตรา 109) · ความผิดฐานกระทำการประทุษร้ายพระมหากษัตริย์ (มาตรา 108) · ความผิดฐานกระทำการประทุษร้ายพระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (มาตรา 110) ประเด็นที่ 4 อัตราโทษ ข้อเสนอ 1. ไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ 2. ลดอัตราโทษให้เป็นจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ 3. ลดอัตราโทษให้เป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำาหรับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เหตุผล 1. ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่มีการกำาหนดอัตราโทษขั้นต่ำในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ดังนั้น ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงยิ่งไม่ควรมีการกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำในความผิดฐานดังกล่าว 2. เปิดโอกาสให้ศาลได้ใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษน้อยเพียงใดก็ได้ตามควรแก่กรณี 3. เป็นการคุ้มครองบุคคลในตำาแหน่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้สมแก่สถานะแห่งตำแหน่ง จึงกำหนดให้มีอัตราโทษขั้นสูงที่สูงกว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างความร้ายแรงของการกระทำอันเป็นความผิดกับโทษที่ผู้กระทำความผิดนั้นควรได้รับ อันเป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุซึ่งได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ จึงกำหนดให้มีอัตราโทษขั้นสูงลดลงจากเดิม 4. โดยเหตุที่พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ ซึ่งมีสถานะแตกต่างจากพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงกำหนดอัตราโทษขั้นสูงให้แตกต่างกัน หมายเหตุ : อัตราโทษสำหรับการหมิ่นประมาทในกรณีอื่น ๆ จะต้องปรับให้รับกับข้อเสนอนี้ต่อไป ประเด็นที่ 5 เหตุยกเว้นความผิด ข้อเสนอ เพิ่มเติมเหตุยกเว้นความผิด ดังนี้ มาตรา ... "ผู้ใด ติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิดตามมาตรา ... และมาตรา..." เหตุผล รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 45 รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อการดังกล่าว ไม่สมควรเป็นความผิดทางอาญา ประเด็นที่ 6 เหตุยกเว้นโทษ ข้อเสนอ เพิ่มเติมเหตุยกเว้นโทษ ดังนี้ มาตรา ... "ความผิดฐานต่างๆในลักษณะนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ ถ้าข้อที่กล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวแล้วแต่กรณี และการพิสูจน์นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ห้ามมิให้พิสูจน์" เหตุผล แม้การกระทำานั้นเป็นความผิด แต่หากการกระทำนั้นเป็นการแสดงข้อความที่เป็นจริง และเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ก็สมควรได้รับการยกเว้นโทษ ประเด็นที่ 7 ผู้มีอำนาจกล่าวโทษ ข้อเสนอ 1. ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษว่ามีการกระทำาความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 2.ให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้กล่าวโทษว่ามีการกระทำาความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เหตุผล 1. เพื่อมิให้บุคคลทั่วไปนำาบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือนำไปใช้โดยไม่สุจริต 2.โดยเหตุที่สำนักราชเลขาธิการเป็นหน่วยงานของรัฐ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเลขานุการในพระองค์พระมหากษัตริย์ จึงสมควรให้ทำาหน้าที่ปกป้องพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล ธีระ สุธีวรางกูร สาวตรี สุขศรี ปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร ท่าพระจันทร์, 27 มีนาคม 2554. นิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร www.enlightened-jurists.com |
ดาวน์โหลดคลิ๊ปคนเสื้อแดง
วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2554
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น