วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2554


หรือว่าประชาธิปไตยจะได้มานั้นแสนยาก

สี่ปีกว่านับแต่กระบวนการประชาธิปไตยของไทยซึ่งล้มลุกคลุกคลานตลอดมาแล้วยังถูกปล้นไปด้วยการรัฐประหารในปี ๒๕๔๙ จนบัดนี้ดูจะยิ่งถลำลึกลงไปสู่ห้วงเหวแห่งการปกครองโดยอำนาจรวมศูนย์ (Autocracy) หรือจ้าวเหนือหัวยิ่งขึ้น
มากเสียจนเล็งเห็นปลายทางสุดท้ายได้ก็แต่การระเบิดแตกหัก และจะพังทะลายด้วยกันทุกฝ่าย
ฝ่ายที่ถูกกระทำ และกินน้ำใต้ศอกมาตลอดอันเป็นประชาชนธรรมดาไร้ระดับชั้นฐานันดรทางสังคม รวมทั้งพวกที่แม้พอจะลืมตาอ้าปากก็ไม่อาจตัดใจทำเมินเฉยเสียได้ จึงหันเข้าไปรวมตัวกันเป็นขบวนการประชาชนในจำกัดความของคำว่ารากหญ้า และ ไพร่ ที่ล้วนแต่ตาสว่างในจิตสำนึกแห่งประชาธิปไตยอันแท้จริง
พวกถูกกระทำดังกล่าวนี้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งทางพลังแห่งจำนวน และคุณภาพทางความคิดที่จะไม่ถูกบิดเบือนด้วยศรัทธาบอดอีกต่อไป
แต่ก็ยังไม่อาจเงยหัวให้พ้นการเอาเปรียบ และครอบงำของผู้กุมอำนาจทางการเมือง และเศรษฐกิจ ที่ได้รับการเชิดชูโดยฝ่ายข้างน้อยที่มีสถานภาพในการยังชีพดีกว่า จึงไม่ยี่หระกับการปรับตัวเปลี่ยนแปลงศรัทธาของตนให้สอดคล้องกับสากลโลก โดยอ้างเอามายาคติทางประวัติศาสตร์มาสนับสนุนความมัวเมา
ปรากฏการณ์แห่งพลังประชาชนที่เริ่มจากการต่อต้านรัฐประหาร ๒๕๔๙ ปฏิเสธรัฐบาลที่มาจากอำนาจแต่งตั้งนอกระบบ พร้อมทั้งขอคืนรัฐบาลที่มาจากคะแนนเลือกตั้งท่วมท้นกลับมา จากนั้นพัฒนาสู่การต่อต้านอำนาจบงการบังคับใช้กฏหมายอย่างสองมาตรฐานในสถาบันตุลาการ จนกระทั่งมาเป็นกระบวนการเรียกร้องความยุติธรรมในขณะนี้
ให้ปลดปล่อยผู้ถูกคุมขังที่ถูกกระทำแล้วยังถูกยัดข้อหาร้ายแรง รวมไปถึงนำตัวผู้ลงมือกระทำการ และออกคำสั่งฆ่าประชาชนมาลงโทษ
เหล่านี้ล้วนเป็นองคาพยพอันจะทำให้คำว่าประชาธิปไตยในระบบการปกครองของไทยเต็มไปด้วย เนื้อแท้ (Genuineness) ไม่ว่าจะด้วยสร้อยห้อยท้ายว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่ก็ตาม มิฉะนั้นจะยังคงเป็นแต่ระบบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy)กำมะลอ ที่อำนาจตัดสินใจแห่งชาติมาจากอิทธิพลจำบัง หรือมือที่มองไม่เห็น ซึ่งอาศัยกำลังบังคับจากอาวุธของเหล่าทหารมาปฏิเสธเจตนารมณ์ของประชาชน
ไม่ต่างอะไรกับการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่คนๆ เดียว หรือระบบจ้าวเหนือหัวที่กำลังถูกพลังประชาชนในหมู่ประเทศอาหรับ และอาฟริกาพลีชีพเข้าโค่นล้มทำลาย ดั่งปฏิกริยาลูกโซ่จากตูนิเซีย ถึงอียิปต์ ไปสู่ลิเบีย บาหเรน เยเมน จอร์แดน ซาอุดิ อาราเบีย มอร็อคโค และอีกหลายประเทศในขณะนี้
ชัยชนะของพลังประชาชนต่อผู้ปกครองในตูนิเซีย และอียิปต์กลายเป็นต้นแบบ หรือ โมเดล” ให้แก่ประชาชนในประเทศที่การเมืองการปกครองยังไม่ถึงเกณฑ์คุณภาพประชาธิปไตย แม้แต่ในเนปาลที่เคยเป็นโมเดลด้วยตนเองมาก่อนก็ยังมองตูนิเซีย และอียิปต์อย่างชื่นชม*
บางแห่งมีตำแหน่งบริหารสูงสุดอยู่ที่ประธานาธิบดี หลายแห่งยังมีกษัตริย์ หรือราชาธิบดีเป็นผู้ปกครอง ประเทศเหล่านี้ล้วนมีรัฐสภาที่ได้มาจากการเลือกตั้ง หากแต่ว่าตัวแทนประชาชนเหล่านั้นยังไม่ได้มาด้วยสิทธิเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง
จึงไม่แปลกอะไรที่ผู้เรียกร้องต้องการให้ประชาธิปไตยแท้จริงเกิดขึ้นในประเทศไทยพากันแสดงความเห็นผ่านสื่อไร้พรมแดน** ถึงโมเดลต่างๆ กันอย่างแพร่หลายมาตั้งแต่ประชาชนตูนิเซียขับไล่ประธานาธิบดีออกไปได้ ซ้ำยังอ้างถึงกันมิขาดเมื่อมาถึงกรณีอียิปต์ แต่ขณะเขียนบทความนี้เหตุการณ์ในลิเบียยังไม่ลงเอย และยังไม่ตกผลึกในที่อื่นๆ ถึงกระนั้นเชื่อว่าจะต้องมีการถกถึงโมเดลของบาหเรน จอร์แดน หรือซาอุดิ อาราเบียจนได้ในไม่ช้า
ทำไมขบวนการประชาชนเรียกร้องประชาธิปไตยไทยจึงต้องมองหาโมเดลต่างๆ
นอกจากเป็นเพราะสภาพการเมือง การปกครองที่ว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ นี้ ล้มลุกคลุกคลานมานานเกือบ ๗๕ ปีแล้ว ระบบที่อ้างอิงกันอยู่ทุกวันนี้ว่า ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งปรากฏในรายงานคำให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ของนายแพทย์เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน
ย้ำความหมายในว่า เป็น Constitutional Monarchy ชัดเจนนั้น ขอฟันธงด้วยคนว่าไม่ใช่ประชาธิปไตยแท้จริงที่อำนาจอธิปไตยของชาติอยู่กับประชาชนเลย
ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งกับเนื้อหาที่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนโต้แย้ง นพ. เหวง บนเว็บบอร์ด อินเตอร์เน็ต ฟรีดอม ว่า ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยในขณะนี้นั้น ไมใช่เลย เป็นคนละเรื่องเลยกับConstitutional Monarchy รูปแบบในอังกฤษ ญี่ปุ่น สวีเดน เดนมาร์ก เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์” ***
ทั้งบทบัญญัติเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไทยในรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มาตรา ๘ และกฏหมายห้ามหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาตรา ๑๑๒ แห่งประมวลกฏหมายอาญา ที่นักวิจารณ์ในชาติตะวันตกเรียกกันว่า Draconian Lawรวมทั้งการบังคับใช้กฏหมายเหล่านี้ในทางปฏิบัติอย่างสองมาตรฐาน กับการพิจารณาคดีเป็นความลับ โดยที่ผู้พิพากษาตัดสินอย่างลักลั่นตามความเห็นส่วนตัว และบางสถานการณ์ที่อาจเป็นการตัดสินตามธงที่ถูกตั้งมาให้ก็ได้ ซึ่งขัดกับหลักการสากลเรื่อง Rule of Law ทั้งนั้น
ประเทศไทยจะอ้างชื่อระบบปกครองเป็นประชาธิปไตยอย่างใดก็ตาม แต่เนื้อแท้ทางปฏิบัติไม่ใช่ Constitutional Monarchy ในความหมายแท้จริงอย่างแน่นอน ใครก็ตามพยายามชี้ว่า เป็นคนละเรื่องเดียวกัน จะด้วยเจตนาดีหรือร้ายต่อขบวนการประชาชนเพียงใด ย่อมถือเป็นการบิดพริ้วทั้งสิ้น
แล้วอย่างนี้จะยังคงปรับเปรียบใช้โมเดลอะไรกันอีกไหม
แบบบาหเรนนั้นฝ่ายกษัตริย์มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลสหรัฐมากในฐานะที่บาหเรนเป็นฐานทัพเรือหลักของสหรัฐในตะวันออกกลางที่ใช้เป็นกันชนต่ออิหร่าน และรัฐบาลบาหเรนเต็มไปด้วยราชวงศ์คาลิฟา คือตั้งแต่กษัตริย์ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่างประเทศ ล้วนนามสกุลคาลิฟาทั้งนั้น
ถึงแม้นักวิจารณ์อเมริกันจะคิดว่าปัญหาขัดขวางการปฏิรูปอันปริ่มจะกลายเป็นปฏิวัติประชาชนได้ง่ายๆ อยู่ที่เป้าหมายซึ่งฝ่ายค้านเรียกร้องให้ปลด คือนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นเจ้าอาของกษัตริย์ ท่านอยู่ในตำแหน่งนี้มากว่าสี่สิบปีแล้วไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรง่ายๆ
แต่สถานการณ์ชุมนุมประท้วง ณ จตุรัสไข่มุกเมื่อวันศุกร (ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์) อันมีคนมากกว่าครั้งใดๆ กลับจัดตั้งโดยแกนนำทางศาสนาอิสลามนิกายชีไอ๊ท์ ไม่ใช่ฝ่ายค้าน
ที่จอร์แดนก็เช่นกัน การชุมนุมล่าสุดปลายอาทิตย์พี่เพิ่งผ่านมา มีขบวนการภราดรภาพมุสลิม เป็นตัวการหลัก ไม่ใช่ แกนนอน ชาวปาเลสไตล์ที่เป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศ หรือคณะอดีตทหารนอกราชการเช่นเคย
กษัตริย์อับดุลลาห์ที่สองกับราชินีเรเนียผู้ทรงศิริโฉมเลอเลิศ อาจได้รับการชื่นชมว่าทันสมัย และมีความคิดก้าวหน้า ราชวงศ์ฮ้าสชิไม้ท์ซึ่งอยู่ในอำนาจอย่างราบรื่นมากว่า ๙๐ ปี ด้วยความสามารถปกครองหมู่ชนที่แปลกแยกต่อกันสองเผ่า คือพวกชาวปาเลสไตล์บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน และเชื้อสายเผ่าเบดวนฝั่งตรงข้าม ให้อยู่ในความเรียบร้อย
ถึงกระนั้นก็หนีไม่พ้นการเดินขบวนเรียกร้องการปฏิรูปไม่เว้นแต่ละอาทิตย์ รัฐบาลของกษัตริย์พยายามผันงบประมาณสนับสนุนโครงการเพิ่มรายได้ และประกันสังคม ๕๕๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่ได้ทำให้การเรียกร้องสงบลง แต่กลับเพิ่มมากขึ้นเป็นความต้องการรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. ๑๙๕๒ เดิม ที่จัดระเบียบปกครองเป็น Constitutional Monarchy อย่างแท้จริง
ส่วนในซาอุดิอาราเบียที่มีทางว่าจะเป็นเบี้ยโดมิโนต่อไปไม่ช้าก็เร็ว กษัตริย์อับดุลลาห์ได้รับยกย่องว่าเป็นนักปฏิรูป แถมยังสนับสนุนเรื่องสิทธิสตรี แต่โครงการปฏิรูปต่างๆ ที่แถลงผ่านสื่อในประเทศภายใต้การควบคุมว่ากษัตริย์ทรงพระราชทานนั้นไม่เคยเกิดผลให้เห็นเป็นรูปธรรมจริงจัง มิหนำซ้ำการปฏิรูปทางการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยที่นักกิจกรรมคนรุ่นใหม่เรียกร้องกษัตริย์กลับไม่แยแส
ครั้นเมื่อกระแสปฏิวัติประชาชนโหมหนักในปัจจุบัน กษัตริย์ซาอุฯ พยายามผ่อนปรนด้วยการประกาศโครงการพระราชทานของขวัญแก่ราษฎรเป็นมูลค่าถึง ๓๕,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ
คำตอบที่ได้รับจากผู้นำการเรียกร้องให้ปฏิรูปคนหนึ่งตอกกลับมาว่า นี่แสดงถึงจิตสำนึกเต่าล้านปีที่ว่าเอาเงินฟาดเข้าไปเป็นใช้ได้ พวกเราต้องการสิทธิเสียงทางการเมือง ความเท่าเทียมของปวงชน ความยุติธรรมในสังคม การปฏิรูประบบกฏหมาย การแบ่งแยกอำนาจ และการกำจัดคอรัปชั่น ไม่ใช่การปฏิรูปแบบฉาบหน้า
อันที่จริงเวลานี้ประเทศในกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน และตะวันออกกลางล้วนดำเนินนโยบายสกัดกั้นไฟประชาธิปไตยที่หักโหมด้วยโครงการประชานิยมทุ่มเงินลงไปสู่สาธารณะเพื่อลดกระแสปฏิวัติประชาชนด้วยกันแทบทั้งสิ้น
กษัตริย์โมฮัมเม็ดของมอร็อคโคเพิ่งพระราชทานงบประมาณพยุงราคาสินค้า ๑,๙๐๐ ล้านดอลลาร์ ส่วนรัฐบาลของกษัตริย์คูเวตก็ประกาศแจกเงินพลเมืองชาวบ้านคนละ ๓,๕๐๐ ดอลลาร์สหรัฐในโอกาศฉลองเอกราชครบ ๕๐ ปี
แต่การทุ่มเงินประชานิยมเหล่านี้แม้จะมีจำนวนมหาศาลเพราะล้วนเป็นรัฐบาลประเทศร่ำรวยน้ำมัน ก็ไม่สามารถหันเหกระแสเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้มากนัก
ศูนย์วิจัยการเมืองอเมริกัน อาทิ สถาบันบรุ๊คกิ้งเห็นพ้องกับการสรุปสถานการณ์ของรัฐบาลโอบาม่าว่า กระแสการปฏิวัติประชาชนในหมู่ประเทศอาหรับจะยังกระหน่ำรุนแรงไม่หยุดยั้ง ประเทศที่มีประธานาธิบดีเป็นผู้นำสูงสุด เช่น เยเมน น่าจะเป็นเบี้ยโดมิโนที่ล้มอันต่อไป
ส่วนในประเทศที่มีกษัตริย์เป็นผู้ปกครองอย่างซาอุดิ อาราเบีย จอร์แดน มอร็อคโค คูเวต และเคตาร์ รัฐบาลสหรัฐกลับเชื่อว่าจะสามารถทัดทานพายุเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงโดยพลังประชาชนได้ดีกว่า นั่นอาจเป็นเพราะสหรัฐมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับผู้ปกครองในประเทศเหล่านี้ก็ได้
เช่นนี้ความหวังที่ขบวนการประชาชนในไทยจะได้รับ ลมใต้ปีก หนุนไปสู่ความสำเร็จจากประเทศประชาธิปไตยตะวันตก เหมือนที่ขบวนการประชาชนอียิปต์ได้รับจากสหรัฐอเมริกาผ่านทางฝ่ายกองทัพ นั้นน่าจะเป็นเรื่องยาก
ฉะนี้เห็นทีต้องกลับไปหาโมเดลเก่าที่เคยพาดพิงถึงกันมานานนมแล้ว นั่นคือแบบฉบับการปฏิวัติประชาชนที่เนปาล
เมื่อห้าปีที่แล้วเนปาลกลายเป็นข่าวครึกโครมของโลกจากการที่มีการปฏิวัติประชาชนยุคใหม่ได้สำเร็จ สามารถล้มเลิกสถาบันกษัตริย์ได้อย่างละม่อม เมื่อกษัตริย์กายะเนนทรายอมสละราชสมบัติในปี ค.ศ. ๒๐๐๖ หลังจากที่มีประชาชนนับล้านร่วมกันออกมาประท้วงภายใต้ความร่วมมือระหว่างการนำของพรรคการเมืองประชาธิปไตยฝ่ายค้าน และพรรคลัทธิเหมาเจ๋อตุง
ก่อนหน้านั้นประเทศเนปาลตกอยู่ในสภาพสงครามกลางเมืองนานถึง ๑๐ ปี จากการจับอาวุธเข้าต่อสู้กับรัฐบาลราชาธิปไตยโดยขบวนการเมาอิสต์ ครั้นหลังจากโค่นกษัตริย์สำเร็จแล้วปรากฏว่ามีความเห็นไม่ลงรอยระหว่างพรรคการเมืองประชาธิปไตย กับพรรคลัทธิเหมา ทำให้ยังไม่สามารถประกาศใช้รัฐธรรมนูญของประเทศได้จนกระทั่งบัดนี้
ตลอดห้าปีที่ผ่านมาการบริหารประเทศเนปาลดำเนินมาอย่างกะพร่องกะแพร่งท่ามกลางการคานอำนาจคุมเชิงกันระหว่างฝ่ายเทคโนแครทในพรรคการเมืองประชาธิปไตย และฝ่ายทหารในพรรคลัทธิเหมา ทั้งสองฝ่ายดูเหมือนจะไม่พอใจรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำหนดจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคมนี้ด้วยกันทั้งคู่
แถมมีข่าวลือหนาหูในกรุงกาตมานธุขณะนี้ว่าจะเกิดการ รัฐประหารเพื่อประชาธิปไตย ขึ้นเสียก่อนด้วย จึงปรากฏว่าชาวเนปาลวัยหนุ่มสาวที่มีความคิดก้าวหน้าฝักใฝ่ประชาธิปไตยต่างพากันอพยพออกนอกประเทศ ไปทำมาหากินในอินเดีย หรือประเทศเศรษฐีน้ำมันแถบตะวันออกกลางเป็นแถว
ตั้งแต่เนปาลมาถึงตูนิเซีย และตั้งแต่อียิปต์ย้อนกลับไปเนปาล โมเดลที่กล่าวมาเหล่านี้สอนอะไรเราได้บ้าง
บอกตามตรงว่าไม่เห็นอะไรลึกล้ำมากไปกว่าความจริงที่ว่า ผู้ปกครองที่กุมอำนาจเด็ดขาดแบบจ้าวเหนือหัว และรวยไม่รู้เรื่องในศตวรรษที่ ๒๑ นี้นั้น ยากที่จะยอมวางมือ หรืออยู่อย่างพอเพียงในอำนาจ และทรัพย์ศฤงคารด้วยตนเอง ต้องใช้พลังประชาชนเป็นล้านๆ ขับออกจึงจะได้
สัจจธรรมทางการเมืองง่ายๆ อีกอย่างหนึ่งของการปฏิวัติประชาชนก็คือ พลังประชาชนชนิดดอกไม้บานพร้อมกันเป็นล้านดอกนั้นสามารถสยบผู้ปกครองอำนาจเบ็ดเสร็จได้ก็จริง แต่ถ้าไม่มีการผสานพลังเหล่านั้นให้เป็นกระบวนการที่มีเอกลักษณ์ร่วมกัน และมีการจัดองค์กรอย่างเหนียวแน่น
ในระยะยาวก็ยากที่จะไปถึงจุดหมายแห่งความสมบูรณ์ได้เช่นกัน ดังคำของนักปฏิวัติชาวเนปาลที่บทความของเขาลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์เมื่อไม่กี่วันมานี้วลีหนึ่งว่า
เราเรียนรู้ว่ามันง่ายที่จะเริ่มต้นการปฏิวัติมากกว่าที่จะทำได้สำเร็จลุล่วง การโค่นล้มราชาธิปไตยนั้นยากก็จริงอยู่ แต่การสถาปนาประชาธิปไตยนั้นยากเสียยิ่งกว่า
Thapa, Manjushree, “Nepal’s Stalled Revolution” http://www.nytimes.com/2011/02/23/opinion/23thapa.html?_r=1&nl=todaysheadlines&emc=tha212
** การอภิปรายปัญหาระบบปกครองอันเกี่ยวเนื่องกับประมุขในสื่อสายหลักถูกจำกัด และจำกัดตนเองลงเหลือเพียง ๒.๖ จากจำนวนเต็ม ๕ เนื่องจากหวาดกลัวโทษของกฏหมายอาญามาตรา ๑๑๒
ดู ประชาไท รายงานเสวนา ดัชนีชี้วัดสถานภาพสื่อไทย ยังติดกับ ๑๑๒http://www.prachatai3.info/journal/2011/02/33298
*** http://www.internetfreedom.us/thread-14861.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น