วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

หลังอภิปรายน่าจะมีอะไร?คำถาม‘มีและไม่มีเลือกตั้ง’
http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10162


มาถึงวันนี้คงมีการถกกันเป็นพิเศษ พิเศษในแง่ที่ว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งจริงหรือไม่?


ค่อนข้างแปลกที่หัวข้อนี้กลายเป็นวาระได้ แม้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพิ่งจะแถลงเสร็จสิ้นหมาดๆว่าจะยุบสภา ทั้งยังกำหนดไว้ในเดือนพฤษภาคม 2554 ซึ่งหมายถึงการจัดการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนหรือต้นกรกฎาคม?
ข้อสังเกตของกลุ่มที่เชื่อครึ่งและไม่เชื่อครึ่ง ฟังดูแล้วก็มีเหตุผลไม่น้อย ตั้งแต่มองว่าเหตุใดนายอภิสิทธิ์จึงช่างพร่ำพูดเกี่ยวกับการยุบสภาค่อนข้างจะถี่ยิบเสียจนเกินไป?

อาการตรงนี้เองเป็นสิ่งน่าผิดสังเกต เพราะก่อนหน้านี้มีเหตุการณ์ครั้งแล้วครั้งเล่าซึ่งคนเขาเรียกร้องให้ “ยุบสภา” แต่นายอภิสิทธิ์ก็บ่ายเบี่ยงแถลงเป็นเหตุผลและข้ออ้างได้สารพัด ครั้นมาถึงยามนี้ดูเหมือนไม่ได้มีใครเรียกร้องเช่นนั้น แล้วเหตุใดถึงกระเหี้ยนกระหือรืออยากยุบสภาให้เร็วที่สุด!

ข้อสังเกตเช่นนี้ทำให้เป็นเรื่องยากเหมือนกันที่จะเชื่อว่านายอภิสิทธิ์กำลังหมายถึงสิ่งที่ต้องการจริงๆกับคำพูดของเขา โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยคนนี้เต็มไปด้วยประวัติการณ์ของการใช้คำพูดที่พลิกไปพลิกมาอยู่ตลอดเวลา จนเกิดปัญหาระหว่างการพูดจริงกับการพูดเท็จ กลายเป็นเรื่องซึ่งแยกออกจากกันได้ยากนัก?

ข้อสังเกตเกี่ยวกับ “พิรุธ” ในการยุบสภามีหลายประเด็นที่เรียงตัวให้เราต้องพิจารณาถึงความไม่เป็นปรกติเหล่านั้น? เริ่มจากพื้นฐานของการกำหนดเงื่อนเวลาเพื่อจัดการเลือกตั้งคงมีอยู่ 3 ลักษณะด้วยกัน ทางเลือกแรกคือการยุบสภาทันทีทันใด จากนั้นจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนเมษายน หากแต่เงื่อนเวลาตรงนี้ฝ่ายกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นว่า “คงจะไม่ทัน” เงื่อนเวลาข้อที่สอง ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายหลังแก้กฎหมายลูกเสร็จสิ้นเสียก่อน...เงื่อนไขเวลาแบบสุดท้ายคือให้มีการยุบสภาในช่วงเวลาที่ใกล้หมดวาระอายุของรัฐบาล...

แล้วสุดท้ายทั้งนายอภิสิทธิ์กับ กกต. ก็เห็นพ้องในเบื้องต้นสำหรับการจัดการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน...เมื่อมองจากเงื่อนไขของกฎหมายจึงเป็นไปได้ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน ไปจนไม่เกิน 3 กรกฎาคม 2554?

ตรงนี้เกิดคำถามเหมือนกันว่าช่วงเวลานี้จะแก้ไขกฎหมายลูกได้ทันหรือเปล่า? กกต. ให้คำตอบว่า “จะเสนอกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในช่วงเวลาของเดือนมีนาคมที่เหลือ” แต่ถ้าหากไม่ทันการแล้วมีความจำเป็นจริงๆที่จะต้องเลือกตั้ง คงต้องออกระเบียบตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ..
.
เรื่องของมาตรา 7 ตามรัฐธรรมนูญ นับเป็นประเด็นที่น่าคิดว่าจะเป็นระเบียบอย่างไรของ กกต. อันนี้เป็นข้อพิจารณาที่คนรู้กฎหมายอาจคาดไม่ได้สำหรับการตีความในอนาคตของตุลาการทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปได้ที่ระเบียบตามมาตรา 7 มีโอกาสกลายเป็น “กับดัก” ที่อาจถูกงัดมาใช้เมื่อทราบผลการเลือกตั้งซึ่งบังเอิญไม่เป็นไปตามธง ธงดังกล่าวกับระเบียบ ถ้าหาก กกต. จะออกมาเป็นเช่นนั้น ได้ถูก “บางฝ่าย” ตั้งเป็นข้อสังเกตเอาไว้ ซึ่งอาจมีผลเป็นปัญหาที่สามารถ “พลิกผลของการเลือกตั้ง”

แม้กระทั่งลงท้ายแล้วสำหรับการเลือกตั้งที่ “เพื่อไทย” กลายเป็นพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดจะต้องผิดหวังได้...เป็นไปเพราะการตีความของคณะตุลาการภิวัฒน์ ท่านสามารถเล็งเห็นได้ถึงสารพัดการกระทำที่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง แม้แต่การผิดหรือกระทำมิชอบโดย กกต. ทุกอย่างในประเทศนี้คงเป็นไปได้เสียแทบทั้งนั้น!

ข้างต้นนั้นเรากล่าวถึงเงื่อนไขและเวลาถ้าจะเกิดการเลือกตั้งขึ้นมา แล้วก็ไม่รู้เหมือนกันถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นทั้ง “ก่อน-ระหว่าง-หลัง” การเลือกตั้งจะมีปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาดหรือเปล่า โดยเฉพาะถ้าพรรคการเมืองในโอวาทของผู้บงการพ่ายแพ้ รับรองย่อมมีโอกาสสูงที่จะเกิดปรากฏการณ์อันแปลกประหลาด เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่สามารถคาดหมายกันได้ล่วงหน้า เพียงแต่ต้องเล็งให้ออกว่าหมากแต้มหรือหวยจะมีผลปรากฏออกมาอย่างไรเท่านั้นเอง?

แน่นอนทีเดียวสำหรับการประกาศยุบสภาของนายอภิสิทธิ์ “คงมีเหตุผลเบื้องลึก” ซึ่งต้องเป็นแรงผลักดันที่ไม่ปรกติอย่างชัดเจน คนในพรรคประชาธิปัตย์เองก็เปิดเผยถึงสถานการณ์ความไม่ปรกติในช่วงเวลานี้ อาจต้องจับตามองเป็นพิเศษตั้งแต่ภายหลังเหตุการณ์อภิปรายไม่ไว้วางใจและถอดถอนรัฐมนตรีจบสิ้นลงไปแล้ว ในการวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ที่ไม่ปรกติ เริ่มจากการวิเคราะห์จำแนกให้เห็นกลุ่มอำนาจที่เคลื่อนไหวอยู่ในสังคมปัจจุบัน โดยกลุ่มแรกสนับสนุนแนวคิดในการคืนอำนาจให้กับประชาชน กลุ่มที่สอง “ไม่ต้องการให้ยุบสภา” แต่อยากให้รัฐบาลดิ้นรนเพื่ออยู่จนครบวาระ สำหรับกลุ่มแนวความคิดที่สาม “ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น”

กลุ่มแนวคิดที่สามนี้ยังแยกย่อยความเห็นต่างในด้านยุทธวิธีอีกต่างหาก คือมีกลุ่มที่เรียกร้องให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหารเพื่อล้างบางนักการเมืองและพรรคการเมืองที่มีอยู่ในระบบให้หมดเกลี้ยง (กลุ่มแนวคิดนี้อาจตั้งข้อสังเกตให้สอดคล้องได้กับแนวทางการเคลื่อนไหวของม็อบเสื้อเหลือง) ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นการวิเคราะห์และเปิดเผยของนายเทพไท เสนพงศ์ เห็นว่าเป็นกลุ่มที่จะล่อให้มีการปฏิวัติ จากนั้นก็จะมีการต่อต้านโดยใช้พลังมวลชน เพราะอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในเชิงระบอบ...ข้อนี้คงต้องไปประเมินกระแสข่าวและการวิเคราะห์ในแบบเทพไทดูเอาเองว่าเชื่อถือกันได้ขนาดไหน? เนื่องจากรายการวิเคราะห์หลายครั้งของ “เต๊บไต” มักหนีไม่พ้นการครอบหมวกให้กับพรรคเพื่อไทยและขบวนการของคนเสื้อแดง?

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สามารถฟันธงได้อย่างแน่นอนเห็นจะเป็นทรรศนะและความคิดของกลุ่มอิทธิพลในอำนาจบงการเบื้องหลังที่อยากผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมือง “ย่อมจะมีแตกแยกเป็นหลายกลุ่ม” นี่เป็นข้อมูลซึ่งน่าจะยืนยันได้ถึง “การมีปัญหาเรื่องเอกภาพทางความคิด” เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วน่าจะทำให้เชื่อได้ว่า “ชนชั้นนำและกลุ่มที่อยากกระทำรัฐประหาร” เห็นจะมีปัญหาปวดเศียรเวียนเกล้าอยู่ในตัวเองค่อนข้างมาก...

โดยสมมุติฐานเช่นนี้จึงทำให้การผลักดันด้วยวิธีรุนแรง เช่น การผลักดันให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหารเห็นจะไม่ใช่เรื่องอะไรที่คิดได้อย่างใจ...เป็นไปในทำนองคุณมีสิทธิที่จะคิด มีสิทธิที่จะฝันหรือหวัง หากแต่หนทางปฏิบัตินั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง?

มีหลายคนที่เห็นด้วยกับการประกาศยุบสภาของนายอภิสิทธิ์น่าจะ “มีสิ่งซ่อนเร้นอยู่” เป็นไปได้ตั้งแต่ประกาศให้เป็นกันชนป้องกันรัฐประหารหรือหนีการรัฐประหาร กระทั่งอาจเป็น “ทางลวง” เพื่อให้สาธารณชนหลงเชื่อว่าจะมีการเลือกตั้ง แล้วเมื่อถึงที่สุดภายใต้ทฤษฎีสมคบคิดคงมีความพยายามที่จะแทรกแผนอื่นๆเข้ามา “เพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้ง” บางคนอ่านเกมถึงการสร้างความรุนแรงซึ่งก็สร้างกันไม่ยากนัก จากนั้นก็ใช้บิดเป็นเงื่อนไขอื่นสำหรับแก้ปัญหา เป็นการสร้างข้ออ้างที่ชอบธรรมจนจำเป็นต้องเลื่อนระยะเวลาของการเลือกตั้งออกไปอีก...

เทคนิคและสูตรเช่นนี้เป็นเรื่องถนัดของนายอภิสิทธิ์อยู่แล้ว แต่เมื่อเอามาใช้ในเที่ยวนี้ไม่รู้ยังจะได้ผลอีกหรือไม่ ประการสำคัญนั้น “คลื่นแทรกเหนือประชาธิปัตย์” ก็มีอยู่และพร้อมจะเข้าแทรกได้ตลอดเวลา โรคแทรกซ้อนตรงนี้บอกได้ยากเหมือนกัน

“มันคืออะไรและใช้เทคนิคอย่างไร?” แม้นายอภิสิทธิ์จะไม่พึงใจก็พูดไม่ออกเหมือนกัน?

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 304 วันที่ 26 มีนาคม – 1 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 11 คอลัมน์ คิดทวนเข็มนาฬิกา โดย บาเรือน จันทรขิน*

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น