วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2554


นายกฯพระราชทาน เป็นได้แต่เพียง "มะเขือเผา"

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์  


นายกฯสัญญา ธรรมศักดิ์ เผชิญการต่อต้านท้าทายอย่างหนัก ทั้งจากกลุ่มที่อยู่ในเครือข่ายสถาบันเอง และอยู่นอกเครือข่าย จนแทบจะริเริ่มอะไรที่เป็นของตนเองไม่ได้ สถานการณ์บังคับให้นายกฯพระราชทานไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากพยายามประนีประนอมกับข้อเรียกร้องของทุกกลุ่ม ผลก็คือ "มะเขือเผา" นั่นคือจะรักษาโครงสร้างอำนาจของชนชั้นนำไว้ตามเดิมก็ไม่ได้ หรือนำสังคมไปสู่การปรับเปลี่ยนให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นก็ไม่ได้


อย่างไรก็ตาม หากประเมินนายกฯสัญญา ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง ก็อาจกล่าวได้ว่าท่านล้มเหลว แต่ถ้าประเมินนายกฯสัญญาจากภารกิจเฉพาะหน้า คือระยะเปลี่ยนผ่านเพื่อรอให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ต้องถือว่าท่านได้ประคองบ้านเมืองให้พ้นจากสถานการณ์จลาจล ไปสู่ "ระเบียบ" ใหม่ได้ แม้อย่างทุลักทุเลเต็มทีก็ตาม ฉะนั้นหากจะประเมินนายกฯพระราชทานผู้นี้กันจริงๆ แล้ว ต้องย้อนกลับไปศึกษาว่า ในท่ามกลางข้อจำกัดของสถานการณ์ ท่านได้เตรียมบ้านเมืองเข้าสู่ "ระเบียบ" ใหม่ได้ดีหรือไม่อย่างไร


นาย สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับความเคารพนับถืออย่างกว้างขวาง ไม่เฉพาะแต่ในหมู่ตุลาการเท่านั้น ภายใต้ระบอบเผด็จการผูกขาดถึง 16 ปี มีบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชนกว้างขวางถึงเพียงนี้อยู่ไม่กี่คน ทั้งยังได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจนได้ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรีอีกด้วย ฉะนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า จะหาใครเป็นผู้นำในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ได้เหมาะไปกว่าท่านได้ยาก เป็นสมาชิกของเครือข่ายสถาบันคนเดียว ที่เป็นที่ยอมรับมากที่สุดในสังคม จึงอยู่ในฐานะที่จะเชื่อมต่อเครือข่ายของสถาบันกับเครือข่ายอื่นๆ ที่อยู่ข้างนอก โดยเฉพาะเครือข่ายอีกมากที่เกิดขึ้นจากการลุกฮือของประชาชนใน 14 ตุลา โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษา และนักวิชาการ


แต่สังคมไทยเปลี่ยนไปอย่างรวด เร็วและกว้างขวางกว่าการเชื่อมต่อโดยรักษาอำนาจนำของเครือข่ายสถาบันจะเป็นไปได้ (เช่นจะเชื่อมต่อราชการพลเรือนและทหารกับกรรมกรและชาวนาเช่าที่ดิน ซึ่งเกิดสำนึกทางการเมืองขึ้นแล้วได้อย่างไร) ท่านจึงเป็นได้แต่เพียง "มะเขือเผา"


แม้ในสถานการณ์ที่เอื้ออำนวยต่อนายกฯพระราชทานที่สุดดัง เช่น 14 ตุลา นายกฯพระราชทานก็ยังเป็น "มะเขือเผา" สถานการณ์ปัจจุบันแตกต่างจาก 14 ตุลาอย่างเทียบกันไม่ได้ นายกฯพระราชทานจะทำอะไรได้ ไม่ว่าจะเป็นการสถาปนาอำนาจนำของเครือข่ายสถาบัน กลับคืนมาให้เหมือนเดิม หรือนำประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตทางการเมืองในช่วงนี้ ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน ยังจะเหลือใครอีกที่ได้รับความไว้วางใจกว้างขวางจากทุกฝ่ายเท่าอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อดำรงตำแหน่งนายกฯพระราชทาน อาจารย์ประเวศ วะสี หรือ คุณอานันท์ ปันยารชุน หรือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ หรือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือคุณสนธิ ลิ้มทองกุล!


ในส่วนข้อเสนอให้ "เว้นวรรค" การเมืองภายใต้นายกฯ พระราชทาน เพื่อชำระการเมืองไทยให้ปลอดพ้นจากการทุจริตในการเลือกตั้ง และการฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้น นับเป็นความไร้เดียงสาทางการเมืองอย่างสุดประมาณ


แก่นแท้ ของนายกฯพระราชทาน ไม่ใช่การส่งซุปเปอร์แมนลงมาขจัดกวาดล้างความชั่วร้ายทางการเมืองให้สิ้นซาก เพื่อรองรับนักการเมืองบริสุทธิ์ (และไร้เดียงสา) ซึ่งจะมาจากการเลือกตั้งในภายหน้า แต่เพื่อสร้างหรือปรับดุลยภาพของความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยต่างๆ ในเครือข่ายสถาบัน และนอกเครือข่ายกันเสียใหม่ ให้อยู่ร่วมกันได้ โดยยอมรับอำนาจนำของเครือข่ายสถาบัน ไม่ใช่การสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่สะอาดบริสุทธิ์ในโลกอุดมคติ


เพื่อบรรลุจุดประสงค์นั้นได้ นายกฯพระราชทาน ต้องประนีประนอมกับเครือข่ายต่างๆ ทั้งที่อยู่ในเครือข่ายสถาบัน และนอกเครือข่ายจำนวนมาก ซึ่งล้วนมีผลประโยชน์ผูกพันอยู่กับระบบที่เอื้อต่อการทุจริตหลายรูปแบบ ไม่ว่าตัวนายกฯพระราชทานจะมีความดีและความซื่อสัตย์อย่างไรก็ตาม ย่อมต้องหลับตาให้แก่การทุจริตฉ้อฉลซึ่งหน่วยต่างๆ ทั้งในและนอกเครือข่ายสถาบันหาผลประโยชน์อยู่ทั้งสิ้น นายกฯพระราชทานคนใดจะไปขัดขวางการหากำไรจากการสั่งซื้ออาวุธของกองทัพ อย่างเก่งก็เพียงปรามอย่าให้มากหรือประเจิดประเจ้อเกินไปเท่านั้น


นายกฯพระราชทานที่ไร้เดียงสาทางการเมืองขนาดนั้น เห็นจะมีแต่นายธานินทร์ กรัยวิเชียร


นายกฯ ธานินทร์ กรัยวิเชียร คิดว่า "บารมี" ของสถาบันเพียงอย่างเดียว ก็เพียงพอที่จะนำไปสู่การปรับระบบเพื่อประกันความมั่นคงของโครงสร้างอำนาจ เดิมได้ แทนที่นายกฯคนนี้จะใช้เวลาของตนในการผนึกเครือข่ายของสถาบัน และขยายไปสู่เครือข่ายภายนอก กลับรอนเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกลงจนเหลือแคบนิดเดียว ในที่สุด กำลังใหญ่ที่สุดของเครือข่ายสถาบัน คือกองทัพ ก็ก่อรัฐประหารซ้อนและขจัดเขาออกไป


ตรงกันข้ามกับนายกฯธานินทร์ คือพลเอก เปรม ติณสูลานนท์


นายกฯ เปรม ติณสูลานนท์ ใช้ประโยชน์จากการต้องอิง "บารมี" ของสถาบันได้ดีที่สุด เขาผนึกกองทัพเข้ามาเป็นฐานสนับสนุนที่สำคัญ อาศัย "บารมี" ของสถาบัน ขจัดกลุ่มกระด้างกระเดื่องในกองทัพออกไป ยิ่งกว่านี้ยังประนีประนอมกับเครือข่ายภายนอก เช่น นักการเมืองและพรรคการเมืองต่างๆ จนสามารถประคองนายกฯพระราชทานไปตลอดรอดฝั่ง 8 ปี ในช่วงนั้นก็สามารถสถาปนาอำนาจนำของเครือข่ายสถาบัน ให้เด่นชัดและหนักแน่นมากขึ้นไปพร้อมกันด้วย แต่เครือข่ายนอกสถาบันก็เติบโตขึ้นภายใต้รัฐบาลของพลเอกเปรมด้วย สุดกำลังที่จะประนีประนอมหรือ co-opt ได้หมดหรือได้ไหว อย่างไรก็ตาม พลเอก เปรมฉลาดพอจะรู้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ-สังคมของประเทศ เปลี่ยนไปจนเกินกว่าจะผดุงระบบการเมืองแบบนายกฯ พระราชทาน (ในลักษณะที่เขาได้ใช้ประโยชน์มา 8 ปี) ได้ต่อไปแล้ว จึงยอมสละตำแหน่งในที่สุด


น่าสนใจที่จะเปรียบเทียบนายกฯพระราชทานสองคนสุดท้าย


นายกฯ อานันท์ ปันยารชุน รู้ดีว่าจะอิง "บารมี" ของสถาบันเป็นที่ตั้งอย่างเดียวไม่ได้แล้ว เขาเลือกจะผนึกกำลังกับบางกลุ่มในเครือข่ายของสถาบัน โดยเฉพาะในปีกเสรีนิยม และอาศัยเครือข่ายของกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ เชื่อมโยงไปยังกลุ่มคนชั้นกลางในเขตเมือง จนกลายเป็นขวัญใจของคนชั้นกลางไปในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้เขามีพลังต่อรองอันแข็งแกร่งกับทุกกลุ่มในเครือข่ายของสถาบัน รวมทั้งกองทัพด้วย นายกฯอานันท์จึงเป็นนายกฯพระราชทานที่แปลกที่สุด กล่าวคือต้องพึ่งพิง "บารมี" ของสถาบันน้อยลงตามลำดับ โดยเฉพาะในช่วงอานันท์ 1 เพราะเงื่อนไขทางการเมืองทำให้นักการเมืองซึ่งอยู่นอกเครือข่ายของสถาบันไม่ มีปากมีเสียง ยิ่งนายอานันท์ "ทำงานเป็น" ก็ยิ่งได้รับความนิยมจากสื่อและคนชั้นกลางในเขตเมืองมากขึ้น


นับว่าประจวบเหมาะกับสถานการณ์ในช่วงนั้นของสังคมไทยด้วย คนชั้นกลางซึ่งเติบโตและขยายตัวอย่างมากกลายเป็นฐานสนับสนุนอันแข็งแกร่งของ นายกฯพระราชทานผู้นี้ เหล่าผู้คนนอกเครือข่ายสถาบันเหล่านี้ถูกเชื่อมต่อเข้ามายังเครือข่ายในฐานะ มิตร และยอมรับอำนาจนำของเครือข่ายสถาบันอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ


แม้กระนั้น นายอานันท์ก็ไม่สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายของนักการเมืองเข้ากับเครือข่ายของ สถาบันได้ เมื่อนักการเมืองกลับเข้ามานั่งในสภาสมัยอานันท์ 2 มรสุมทางการเมืองก็เริ่มตั้งเค้า กระเทือนไปถึงความแตกร้าวในเครือข่ายสถาบันเองด้วย ไม่ว่าจะเป็นวงการทหารหรือวงการตุลาการ


แต่ภาวะชั่วคราวเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ของรัฐบาลอานันท์ 2 มีส่วนอย่างมากที่สร้างความอดทนให้แก่ศัตรู นายอานันท์จึงถอนตัวออกไปจากการเมืองได้โดยไม่บอบช้ำ


แต่เมื่อนายกฯพระราชทานคนสุดท้าย คือพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นรับตำแหน่ง สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว คนนอกเครือข่ายสถาบันที่ตื่นตัวทางการเมือง ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะคนชั้นกลางในเขตเมืองเท่านั้น หากรวมถึงคนชั้นกลางระดับล่างอีกมาก นายกฯสุรยุทธ์ประสบความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าที่จะเชื่อมต่อคนหน้าใหม่ๆ เหล่านี้ให้เข้ามาสนับสนุนอำนาจนำของเครือข่ายสถาบัน แม้เขาจะพยายามใช้เส้นสาย (connection) ส่วนตัว เพื่อเชื่อมต่ออย่างเต็มที่ โดยเฉพาะกับคนที่ถูกจัดว่าเป็น "คนจน" และกลุ่มร่วมพัฒนาชาติไทย (ซึ่งผิดเป้า)


ในที่สุด นายกฯสุรยุทธ์ก็ต้องหันมาผนึกกำลังกับหน่วยต่างๆ ในเครือข่ายให้แข็งแกร่ง กลายเป็นการ "ตั้งป้อม" เผชิญหน้ากับคนชั้นกลางระดับล่าง และนำเครือข่ายสถาบันออกไปเผชิญกับการต่อต้านของปรปักษ์โดยตรงเป็นครั้งแรก ในขณะเดียวกัน การ "ทำงานไม่เป็น" ของเขา บวกกับวิธีการผนึกกำลังของเครือข่ายที่ค่อนข้างไร้เดียงสา คือสมยอมกับข้อเรียกร้องของหน่วยต่างๆ โดยเฉพาะกองทัพ ที่อยู่ในเครือข่ายสถาบัน อย่างไร้อำนาจต่อรองโดยสิ้นเชิง ก็ยิ่งบ่อนทำลายพันธมิตรเดิมของเครือข่ายสถาบันลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นทุน คนชั้นกลางในเขตเมือง หรือนักวิชาการ


ว่ากันที่จริงแล้ว นายกฯพระราชทานไม่เคยแก้ปัญหาทางการเมืองของประเทศได้เลยสักคน เพราะที่จริงแล้วภารกิจของเขาไม่ใช่การแก้ปัญหาทางการเมือง แต่รักษาโครงสร้างอำนาจทางการเมืองไว้ให้คงเดิมหรือโน้มไปยิ่งกว่าเดิมต่างหาก


ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยมีปัญหาทางการเมืองอย่างหนัก และเราเคยพยายามแก้มาแล้วด้วยการปฏิรูปการเมืองในทศวรรษ 2530 จนเป็นผลให้เกิดรัฐธรรมนูญ "ฉบับประชาชน" ขึ้น แม้ไม่ประสบผลสำเร็จอย่างที่มุ่งหวัง แต่สิ่งที่การเคลื่อนไหวครั้งนั้นสอนเราก็คือ ปัญหาทางการเมืองทั้งหลายนั้นแก้ได้โดยสังคมเอง (แม้ต้องผ่านเส้นทางทุรกันดาร) หากล้มเหลวก็ต้องเรียนรู้ข้อผิดพลาด และแก้กันต่อไปโดยสังคม จะอาศัยอำนาจนำของสถาบันใดๆ แก้ให้ไม่ได้ ความคิดเรื่องนายกฯพระราชทานจึงเป็นอะไรอื่นไปไม่ได้ นอกจากความไร้เดียงสาทางการเมือง หรือความฉ้อฉลทางการเมืองเพื่อมุ่งประโยชน์เฉพาะกลุ่มเท่านั้น



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น