เปิดตัว Article 112 : Awareness Campaign เพื่อความตื่นรู้ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2554 หลังงานเสวนาเรื่อง “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ของคณะนิติราษฏร์ ที่คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีกิจกรรมเปิดตัวโครงการ “มาตรา112: รณรงค์เพื่อความตื่นรู้ในกฎหมายหมิ่นฯ” เป็นกลุ่มกิจกรรมที่มีเป้าหมาย เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาจากกฎหมายอาญามาตรา 112 และส่งเสริมให้การถกเถียงถึงผลกระทบที่รอบด้านจากกฎหมายมาตรานี้ กลุ่มอาร์ติเคิล112ฯ เกิดจากการรวมตัวของประชาชนจากหลากหลายอาชีพและหลายจุดยืนทางการเมือง เช่น นักคิด-นักเขียน (สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ วัฒน์ วรรลยางกูร สฤณี อาชวานันกุล) ศิลปิน-นักวิจารณ์ภาพยนตร์ (ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ชัยศิริ จิวะรังสรรค์ ชมวรรณ วีรวรวิทย์ คันฉัตร รังษีสาญจน์ส่อง) นักสหภาพแรงงาน (พรมมา ภูมิพันธ์ จิตรา คชเดช) นักรัฐศาสตร์และสังคมวิทยา (ดร. ศรีประภา เพชรมีศรี ดร. อนุสรณ์ อุณโณ ดร.นฤมล ทับจุมพล ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เวียงรัฐ เนติโพธิ์) ผู้กำกับภาพยนตร์ (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล อโนชา สุวชากรพงศ์ วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง อภิวัฒน์ แสงพัทธสีมา ลี ชาตะเมธีกุล ธัญสก พันสิทธิวรกุล) และอื่นๆ โดยทั้งหมดนี้เริ่มจากการระดมชื่อให้ครบ 112 รายชื่อตามตัวเลขของ มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ (ดูรายชื่อได้ตามไฟล์แนบ) ในวันเดียวกันกลุ่มอาร์ติเคิล112ฯ ยังได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า กลุ่มอาร์ติเคิล 112 เห็นถึงความละเอียดอ่อนในการกล่าวถึงกฏหมายหมิ่นฯในสังคมไทย แต่จากสถิติการดำเนินคดีในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีการกล่าวหาและจับกุมผู้ต้องหา ในคดีหมิ่นฯ มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก กล่าวคือ จากเดิมที่มีคดีเฉลี่ยราว 10 คดีต่อปี แต่นับแต่ปี 2548-2552 กลับมีคดีจำนวนมากถึง 547 คดี ซึ่งถือเป็นจำนวนที่สูงมากอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทยมี โครงการ ดังกล่าว จึงมุ่งรณรงค์ในเป้าหมาย 3 ประการ ได้แก่ หนึ่ง การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตราว่าด้วยพระมหากษัตริย์ สอง ส่งเสริมให้เกิดการถกเถียงถึงผลกระทบที่รอบด้านจากกฎหมายหมิ่นฯ เป็นประเด็นสาธารณะ และประการสุดท้าย เพื่อให้สมาชิกในกลุ่มและผู้สนใจร่วมกันหาทางออก บนพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในระบอบประชาธิปไตย แถลงการณ์ โครงการ “มาตรา 112 : รณรงค์เพื่อความตื่นรู้ในกฎหมายหมิ่นฯ” Article 112 : Awareness Campaign (27 มีนาคม 2554) วันนี้ ประชาชนอย่างน้อย 112 คน ซึ่งประกอบไปด้วยบุคคล หลากหลายสาขาอาชีพ เช่น นักเขียน ศิลปิน นักสหภาพแรงงาน นักวิชาการ สื่อมวลชน นักกฎหมาย ข้าราชการ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “มาตรา 112: รณรงค์เพื่อความตื่นรู้” หรือ Article 112: Awareness Campaign โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิญชวนให้สังคมไทย ร่วมกันสร้างพื้นที่สนทนาเกี่ยวกับการใช้กฎหมาย หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท หรือที่เรียกกันว่า “กฎหมายหมิ่นฯ” ชื่อโครงการดังกล่าวมาจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” อย่าง ไรก็ดี มักพบว่าการฟ้องคดีหมิ่นฯ หรือที่เรียกกันว่า ข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” มักพบในความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า ข้อหานี้มีความ ร้ายแรง ทั้งร้ายแรงด้วยอัตราโทษ และร้ายแรงเพราะมักถือว่าผู้ถูกกล่าวหามีความ “ไม่จงรักภักดี”ต่อพระมหากษัตริย์และเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งสามารถตีความได้อย่างกว้างขวาง เพราะกฎหมายถูกนำไปไว้ในหมวด ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร อันเปิดช่องให้ใครก็ได้สามารถแจ้งความกล่าวโทษให้ดำเนินคดีข้อหานี้ได้ ส่งผลให้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพง่ายต่อการถูกใช้เป็นอาวุธเพื่อกลั่นแกล้งทางการเมือง โครงการมาตรา 112 : รณรงค์เพื่อความตื่นรู้ฯ ได้ทำการศึกษาแล้วพบว่า มีการกล่าวหาและจับกุมผู้ต้องหา ในคดีหมิ่นฯ มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก กล่าวคือ จากเดิมที่มีคดีเฉลี่ยราว 10 คดีต่อปี แต่นับแต่ปี 2548-2552 กลับมีคดีจำนวนมากถึง 547 คดี ซึ่งถือเป็นจำนวนที่สูงมากอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย ทั้งนี้ยังพบว่า ในหลายคดีผู้ถูกกล่าวหาถูกฟ้องเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ หลายคดีถูกฟ้องเพราะเป็นตัวกลางทางอินเทอร์เน็ต หรือเป็นสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวตามหน้าที่ แสดงให้เห็นว่ามีการใช้กฎหมายและตีความกฎหมายไปในลักษณะที่กว้างขวาง ผิดต่อหลักการของกฎหมายอาญา ที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัด ระหว่างกรณีการวิพากษ์วิจารณ์กับการดูหมิ่นนั้นแตกต่างกันอย่างไร การหมิ่นประมาทกับการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต แตกต่างกันอย่างไร ส่งผลให้สังคมไทยโดยรวมตกอยู่ในความหวาดกลัวต่อการแสดงความคิดเห็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สาธารณะ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีหน้าที่รักษากฎหมายหวาดกลัว ที่จะอนุญาตให้ผู้ถูกจับกุมได้รับสิทธิในการประกันตัว หลายคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐโน้มน้าวให้ผู้ต้องหาทำเรื่องให้เงียบโดยไม่ให้แจ้งข้อมูลกับสื่อมวลชน ทั้งยังโน้มน้าวให้ยอมรับสารภาพโดยข่มขู่ว่าคดีลักษณะนี้สู้ยากแต่หากยอมรับก็จะได้ลดโทษกึ่งหนึ่ง หลายครั้งการดำเนินคดีและกระบวนพิจารณาเป็นไปโดยลับ ทำให้ไม่อยู่ในวิสัยที่จะตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของกระบวนการได้ โครงการ มาตรา112 : รณรงค์เพื่อความตื่นรู้ฯ เห็นถึงความละเอียดอ่อนของความสัมพันธ์ของกฎหมายมาตรานี้กับสังคมไทย และด้วยเหตุนี้ สมาชิกของเครือข่ายจึงมุ่งรณรงค์ในเป้าหมาย 3 ประการ ได้แก่ หนึ่ง การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตราว่าด้วยพระมหากษัตริย์ สอง ส่งเสริมให้เกิดการถกเถียงถึงผลกระทบที่รอบด้านจากกฎหมายหมิ่นฯ เป็นประเด็นสาธารณะ และประการสุดท้าย เพื่อให้สมาชิกในกลุ่มและผู้สนใจร่วมกันหาทางออก บนพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในระบอบประชาธิปไตย โดยมีบุคคลต่างตามรายชื่อแนบท้ายนี้ร่วมลงนามในแถลงการณ์ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: อีเมลล์ article112lm@gmail.com สามารถติดตามกิจกรรมของเครือข่ายได้ที่: http://article112.blogspot.com |
ดาวน์โหลดคลิ๊ปคนเสื้อแดง
วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2554
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น