วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2554

บทนำจากรายงาน ICG - 

"ประเทศไทย: ความสงบก่อนพายุอีกลูกจะมาเยือน?"

หมายเหตุ: บทนำจากรายงานของ International Crisis Group ชิ้นนี้เผยแพร่เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2554 รายงานฉบับเต็มสามารถอ่านได้ที่ "Thailand:The Calm before Another Storm?")
 ประเทศไทย: ความสงบก่อนพายุอีกลูกจะมาเยือน?
1. บทนำ
ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปภายหลังจากการสลายการชุมนุมขบวนการเคลื่อน ไหวต่อต้านชนชั้นนำเมื่อเกือบหนึ่งปีที่แล้ว แม้ว่ารัฐบาลจะได้พยายามสกัดกั้นการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงแต่มวลชน ยังคงให้การสนับสนุนอย่างเข้มแข็ง และความแตกแยกทางการเมืองก็ยังคงดำรงอยู่ แผนปรองดองแห่งชาติที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะประกาศไว้มิได้นำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ใดๆ ภายหลังการสลายการชุมนุมได้มีการก่อเหตุวางระเบิดซึ่งคาดว่าเป็นการกระทำของ คนเสื้อแดงที่โกรธแค้นและดูเหมือนว่าจะเป็นฝืมือของผู้ที่ไม่มีความเชี่ยว ชาญมากนัก การต่อสู้แบบใต้ดินมิได้ปรากฎขึ้นจริงอย่างที่หลายฝ่ายวิตกกังวล ในอีกด้านหนึ่ง กลุ่มชาตินิยมเสื้อเหลืองได้หันมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ ทั้งที่การเคลื่อนไหวของพวกเขาก่อนหน้านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลชุด นี้ได้ก้าวขึ้นสู่อำนาจ กลุ่มเสื้อเหลืองอ้างว่าการเลือกตั้งไม่มีประโยชน์ในสภาวะที่การเมือง “สกปรก” และเรียกร้องให้คนไทยไม่ลงคะแนนเสียงให้กับพรรคการเมืองใดๆ การทำให้ทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้งยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทาย แม้ว่าการเลือกตั้งจะเสรี ยุติธรรมและสันติ การแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของกลุ่มชนชั้นนำจะเป็นประเด็นที่นำไปสู่การ ชุมนุมประท้วงรอบใหม่ของกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งอาจจะผลักให้เกิดการเผชิญหน้า ทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2553 ได้นำไปสู่การปะทะทางการเมืองระหว่างรัฐบาลและผู้ชุมนุมประท้วงที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่และมีผู้ที่ต้องสูญเสียชีวิตถึง 92 คนการใช้กำลังสลายการชุมนุมของรัฐบาลอาจจะทำให้คนเสื้อแดงอ่อนแอลง แต่ไม่อาจทำลายการเคลื่อนไหวที่ยังคงได้รับการสนับสนุนจากผู้คนหลายล้านคน โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสาน การจับกุมแกนนำและการปิดสื่อและช่องทางการสื่อสารยิ่งจะเป็นการตอกย้ำถึงความอยุติธรรม แม้คนเสื้อแดงบางกลุ่มจะเลือกตอบโต้ด้วยความรุนแรง แต่ว่าแกนนำได้ยืนยันในแนวทางสันติวิธี การต่อสู้ครั้งต่อไปจะเป็นการต่อสู้ในสนามเลือกตั้งซึ่งคนเสื้อแดงจะสนับสนุนแนวร่วมพรรคการเมืองของพวกเขา คือ พรรคเพื่อไทย
การต่อสู้ที่ยืดเยื้อระหว่างกลุ่มชนชั้นนำและผู้สนับสนุนอันประกอบไปด้วยสถาบันกษัตริย์ กองทัพ และศาล กับกลุ่มที่เป็นแนวร่วมของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เริ่มต้นขึ้นเมื่อกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ได้ก่อตัวขึ้นในปี 2549 ทักษิณถูกขับออกจากอำนาจด้วยการรัฐประหารในเดือนกันยายน2549 แต่เหตุการณ์นั้นก็ได้ผลักให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านอีกขั้วหนึ่ง คือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ กลุ่มคนเสื้อแดง การปิดสนามบินในกรุงเทพฯ ของ พธม. ในปี 2551 ได้ก่อให้เกิดสภาวะทางตันซึ่งยุติลงเมื่อศาลได้มีคำพิพากษายุบพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็น “หุ่นเชิด” ของทักษิณและนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งทหารให้การสนับสนุน สองปีต่อมา ขบวนการเคลื่อนไหวชาตินิยมสุดขั้วของคนเสื้อเหลืองก็เริ่มขัดแย้งกับพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยเป็นพันธมิตรของพวกเขา พธม. ได้ชุมนุมประท้วงที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อต่อต้านนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ซึ่งพวกเขากล่าวหาว่าล้มเหลวในการปกป้อง “ดินแดนไทย” ในประเด็นความขัดแย้งเรื่องเขาพระวิหารกับประเทศกัมพูชา ข้อเรียกร้องของกลุ่มพธม. ให้ผู้นำที่มี “คุณธรรม” มาทำหน้าที่แทนนายกฯ อภิสิทธิ์ได้ก่อให้เกิดคำถามว่า พธม. กำลังเรียกร้องการรัฐประหารเช่นนั้นหรือ
นายอภิสิทธิ์ได้ประกาศว่าจะยุบสภาในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคมภายหลังจากรัฐสภาผ่านกฎหมายลูกอันเกี่ยวเนื่องกับการแก้ไขกฎเกณฑ์ในการเลือกตั้ง เขาเร่งดำเนินการให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็วท่ามกลางกระแสข่าวลือเกี่ยวกับการรัฐประหาร พรรคประชาธิปัตย์คาดว่ากติกาการเลือกตั้งใหม่ รวมถึงโครงการแจกจ่ายเงินก่อนการเลือกตั้งจะสามารถทำให้พรรคได้ที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) มากขึ้นและสามารถกลับมาเป็นรัฐบาลได้อีกสมัยหนึ่ง ในขณะที่ทักษิณยังคงได้รับความนิยมจากประชาชนจำนวนมากและมีแนวโน้มสูงว่าพรรคเพื่อไทยอาจจะได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับหนึ่ง การถกเถียงกันในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลนั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นไปอย่างเข้มข้น นปช. ได้ขู่ที่จะกลับคืนสู่ท้องถนนถ้าหากพรรคเพื่อไทยได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งแต่ว่าไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล ความพยายามใดๆ ของฝ่ายชนชั้นนำในการบิดเบือนผลการเลือกตั้งจะเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่การประท้วงและความรุนแรงได้ แต่ถ้าสถานการณ์เกิดขึ้นในทางตรงกันข้าม ถ้าพรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงเพียงพอและได้จัดตั้งรัฐบาล พธม. อาจจะกลับมามีพลังอีกครั้งขึ้นและพวกเขาก็คงจะไม่อดทนกับรัฐบาลที่เป็น “หุ่นเชิด” ของอดีตนายกฯ ทักษิณ
แม้ว่าการเลือกตั้งจะไม่สามารถยุติความแตกแยกทางการเมืองและสถานการณ์หลังการเลือกตั้งดูเหมือนจะมืดมนประเทศไทยยังควรที่จะเดินหน้าอย่างเต็มที่ไปสู่การเลือกตั้ง ข้อตกลงในเรื่องกฎกติกาการเลือกตั้งและการสังเกตการณ์การเลือกตั้งทั้งจากองค์กรภายในและนอกประเทศอาจจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและลดความรุนแรงในการเลือกตั้งลงได้ ถ้าหากว่าการจัดตั้งรัฐบาลดำเนินไปได้สำเร็จลุล่วง รัฐบาลที่มาจากเสียงประชาชนจะมีความชอบธรรมมากขึ้นในการริเริ่มสร้างความปรองดองทางการเมืองในระยะยาวให้เกิดขึ้นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น