วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2554

จี้ทหารคิดใหม่เลิกยุ่งการเมืองมุ่งพิทักษ์รธน.

       เรื่องจากปก
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
         ปีที่ 12 ฉบับที่ 3040 ประจำวัน อังคาร ที่ 26 เมษายน 2011
http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10476
         นักวิชาการ นายทหาร นักศึกษา เห็นตรงกันกองทัพควรปฏิรูปโครงสร้างและแนวคิดใหม่ ควรถอยออกจากการแทรกแซงทางการเมืองเพื่อไม่ให้ความขัดแย้งขยายตัว แนะปรับอุดมการณ์เป็นมุ่งพิทักษ์รัฐธรรมนูญเพื่อรักษาชาติ ศาสน์ กษัตริย์ให้อยู่รอด

การอภิปรายสาธารณะ “คอร์รัปชันอำนาจ : บทบาทนัก (เลือกตั้ง) การเมืองไทยภายใต้อ้อมกอดทหาร” (แนวทางปฏิรูปกองทัพ บทบาทกองทัพต่อการเมืองและความขัดแย้งภายใน) ที่จัดโดยคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ มีการนำเสนอความเห็นที่หลากหลาย


นายสมชาย หอมลออ กรรมการอิสระค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) กล่าวว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าเราจะสร้างระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแบบไหนกันแน่ เพราะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันหลายกลุ่ม สิ่งที่ต้องทำให้เกิดความชัดเจนคือบทบาทของทหารและนักการเมืองว่ามีควรมีแค่ไหน อย่างไร


“หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ทหารเข้ามามีบทบาทหลายด้าน ทั้งการพัฒนาและการควบคุมการเมือง จึงเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 35 หลังจากนั้นทหารก็กลับเข้ากรมกอง แต่ในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทหารก็ออกมามีบทบาทอีก จนนำมาสู่การยึดอำนาจ ประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาเหมือนหนีเสือปะจระเข้ คือหนีจากนักการเมืองแย่ๆมาเจอทหารยึดอำนาจ ซึ่งไม่ได้มีอะไรดีไปกว่ากัน ที่ผ่านมาทหารได้บทเรียนมามากแล้ว จึงไม่ควรยุ่งกับการเมืองอีก เพราะบริบทของทหารไม่สอดคล้องกับสังคมและการเมืองปัจจุบัน หากออกมาอีกจะถูกต่อต้านมากขึ้น”


นายสมชายกล่าวว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเกิดจากการปิดกั้นทางการเมือง ทั้งที่กลุ่มการเมืองในบ้านเรามีความหลากหลายมาก จึงควรเปิดพื้นที่ให้กลุ่มต่างๆเหล่านี้ได้แสดงออกถึงแนวความคิด จะนิยมเจ้า ชื่นชอบทหาร หรืออะไรก็ได้ แต่ต้องอยู่ในกระบวนการเลือกตั้ง ไม่อย่างนั้นกระบวนการของสภาจะไม่สามารถตอบสนองและแก้ไขปัญหาของประชาชนได้


พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ อนุกรรมาธิการในกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ประชาธิปไตยของไทยเป็นแค่รูปแบบ ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยในเนื้อหาสาระ เพราะยังมีอำนาจจาก 3 ขั้วครอบงำสังคมไทยอยู่ ประกอบด้วย 1.bureaucrat คือกลุ่มอำนาจเก่า ข้าราชการ นักวิชาการ พวกนี้ไม่ได้รับเลือกตั้งแต่อยากเข้ามามีตำแหน่งทางการเมือง 2.Military คือทหาร และ 3.Capital คือกลุ่มทุน


“ยุค พ.ต.ท.ทักษิณคือกลุ่มทุนใหม่เข้ามาครอบครองประเทศ กลุ่มทุนเก่าสู้ไม่ได้จึงจับมือกับชนชั้นนำของประเทศนำมาสู่การยึดอำนาจ เมื่อได้อำนาจมาแล้วก็ไม่ได้แก้ไขโครงสร้างอะไร ทำให้การเลือกตั้งหลังการยึดอำนาจแสดงผลออกมาว่ากลุ่มทุนเก่าไม่มีทางชนะ”


พล.ท.พีระพงษ์เสนอว่า ถึงเวลาที่จะต้องปฏิรูปกองทัพใหม่ทั้งในเรื่องอุดมการณ์และโครงสร้างของกองทัพ ปัจจุบันหน่วยงานทหารเป็นเอกเทศเกินไป ทำให้มีปัญหาเรื่องงบประมาณที่แย่งกันซื้อแย่งกันใช้ ให้เท่าไรก็ไม่พอ จึงมีความจำเป็นต้องยุบรวมให้เล็กลง ในเรื่องอุดมการณ์ทหารต้องเปลี่ยนความคิดมาเป็นการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เพราะถ้ารักษารัฐธรรมนูญได้ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ก็จะรอดด้วย เพราะทั้งหมดถูกกำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ


“คำถามคือเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 49 ทหารออกมาพิทักษ์อะไร ทหารคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่มากในประเทศนี้ อะไรก็เห็นว่ากระทบต่อความมั่นคงไปหมด ตีความคำว่าอริราชศัตรูกว้างมากเกินไป แม้แต่คนที่มาชุมนุมก็ถูกมองว่าเป็นผู้ก่อการร้าย หากยังเป็นอย่างนี้มีแต่จะเสียหาย”


นายอติเทพ ไชยสิทธิ์ กรรมการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) กล่าวว่า ทหารต้องเปลี่ยนแนวความคิดใหม่ ต้องมองตัวเองเป็นพลเมืองคนหนึ่งที่อยู่ในเครื่องแบบมีอาชีพเป็นทหาร ไม่ได้มีอำนาจพิเศษหรือเหนือไปกว่านักการเมืองหรือประชาชน ทหารต้องเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ต้องเป็นกลางและไม่อ้างสถาบัน แต่สิ่งที่แสดงออกในขณะนี้คือความไม่เป็นกลาง
นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา กล่าวว่า ยุคนี้เป็นยุคทหารนำการเมือง และพยายามเข้ามาครอบงำการเมืองโดยการสร้างกองทัพให้เป็นพรรคทหารที่ไม่ต้องลงเลือกตั้ง แต่สามารถเป็นรัฐบาลเงาได้
“วันนี้ทหารแสดงให้เห็นว่าเล่นการเมืองอย่างเต็มตัว ดูได้จากการถืออาวุธออกมาตบเท้าให้ใจกับผู้บัญชาการทหารบก เพราะดูยังไงก็เป็นการกระทำเพื่อข่มขู่ประชาชนที่เห็นแตกต่าง ทั้งที่การใช้กองทัพเข้ามาจัดการปัญหาขัดแย้งที่เกิดจากความแตกต่างทางความคิดเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะยิ่งเข้ามายิ่งทำให้เกิดความขัดแย้ง จึงอยากให้ยุติบทบาททางการเมืองแล้วหันไปแสดงบทบาทในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติต่างๆที่ถือเป็นหน้าที่ของทหารในยุคปัจจุบันจะดีกว่า”


**************************
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น