วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2554


ความเชื่อบนเหตุผลที่ขัดแย้งแต่กลายเป็นเอกภาพที่ไปกันได้


       โต๊ะกลมระดมความคิด
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
         ปีที่ 12 ฉบับที่ 3042 ประจำวัน พฤหัสบดี ที่ 28 เมษายน 2011
         โดย ปราณีต ขิระนะ
         ช่วงที่ผ่านมาก็เป็นสงกรานต์ หยิบเอาประเด็นนี้ขึ้นมาเขียนเป็นแง่คิดมุมมองเบาๆ แต่พิจารณาให้ลึกซึ้งมันก็เจ็บกระดองหัวใจไม่เลวเลย?

สงกรานต์ยุคก่อนโน้นส่วนมากเขาจะเริ่มต้นกันที่ลานวัด แม้จะไม่ใช่คำสั่งสอนหรือเป็นแบบอย่างอันสะท้อนแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา สงกรานต์เป็นเรื่อง “ลัทธิและความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์” ซึ่งสังคมไทยเราก็รับเรื่องนี้เข้ามาเกี่ยวข้องตั้งนานแล้ว แม้จะไม่เชื่อประวัติศาสตร์ไทยอย่างเต็มที่นัก แต่พอจะอนุมานไปได้กับประวัติศาสตร์ของกรุงสุโขทัยที่เกี่ยวข้องกับนางนพมาศ ข้อมูลเขาบอกต่อๆมาเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม สังคมไทยนั้นเราเป็นส่วนผสมตามความเชื่อของพุทธผสมกับพราหมณ์ ยังมีบางคนเอ่ยถึงอีกสายที่เป็นพุทธผสมความเชื่อตามลัทธิบูชาผี? สรุปแล้วพราหมณ์กับพุทธกลายเป็นอิทธิพลทั้งสองอย่างที่เหนือคนไทยเราชนิดที่หลายอย่างคงไม่มีใครกล้าวินิจฉัยให้แยกขาดจากกันได้?

บ้านเมืองของเรามันเลยเป็นศาสนาพุทธซึ่งอาจถือให้เป็น “พุทธในลัทธิพราหมณ์” ก็ได้เหมือนกัน อีกด้านหนึ่งนั้นยังสะท้อนถึงคุณสมบัติของการเป็นสังคมที่พร้อม “ดูดซับ” อะไรต่อมิอะไรรอบข้างเข้ามาอย่างไม่ยากเย็นนัก? ไม่รู้คุณสมบัติเช่นนี้จะถือให้เป็นจุดแข็ง มีสภาวะของความยืดหยุ่นสูง หรือเป็นอะไรกันแน่เห็นจะอธิบายชี้แจงได้ยากอยู่เหมือนกัน รายละเอียดนั้นเราคงไม่มาหาคำตอบในขอบเขตระหว่างพุทธกับพราหมณ์?

มุมมองนั้นแล้วแต่จะคิด? มีบางมุมมองซึ่งนำเสนอถึงปรัชญาของพุทธอันเป็นเรื่องที่ไม่ยึดติดกับตัวตน ทุกสรรพสิ่งดำเนินไปโดยกฎเกณฑ์อนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา คือโลกนี้ไม่เที่ยงแท้แน่นอน อย่าได้ไปยึดติดอะไรให้เกิดอัตตา
ศาสนาพุทธจึงมีปรัชญารากฐานที่ไม่เชื่อในเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า แตกต่างไปจากศาสนาพราหมณ์ซึ่งเป็นพระเจ้าตาม “พหุลักษณะ” คือมีพระเจ้าอยู่หลายองค์ ท่านท้าวมหาพรหมที่ให้ลูกสาวชื่อ “กาฬกิณีเทวี” ทรงพาหุรัด ทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา หัตถ์ขวาทรงขอช้าง หัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จนั่งมาเหนือหลังกุญชร (ช้าง) เป็นพาหนะเข้ามารับผิดชอบตามมอบหมายของพระองค์ในปีนี้ ท่านท้าวมหาพรหมก็ถือเป็นเทพเจ้าที่มีความสำคัญในศาสนาพราหมณ์เช่นเดียวกัน?

ความเป็นพุทธที่ไม่นับถือพระเจ้ากับความเป็นพราหมณ์ซึ่งบูชาพระเจ้าหรือเทพหลายองค์ หากเรามองอย่างเป็นเหตุเป็นผลมันควรจะเป็นเรื่องขัดแย้งแล้วไปกันคนละทาง แต่สังคมไทยไม่ใช่เช่นนั้น มันสามารถสนธิหรือสมาสเข้าจริตกันได้พอดี เลยทำให้บางคนพลอยเห็นประเพณีสงกรานต์กลายเป็นประเพณีของชาวพุทธ?

ความจริงแล้วต่อความเข้าใจเช่นนี้เห็นจะไม่ถูกต้องนัก ควรจะเริ่มต้นใช้ประโยคเสียใหม่ว่า “ประเพณีสงกรานต์เป็นประเพณีของคนไทย ซึ่งนับถือพุทธแล้วเชื่อเกี่ยวกับบางด้านของศาสนาพราหมณ์” ข้อคิดเห็นเช่นนี้คงไม่ใช่เรื่องใหญ่โตคอขาดบาดตาย ใครจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างกันออกไปคงจะไม่ว่ากัน?

เราคงไม่ก้าวล่วงไปพูดถึงประเด็นอื่นๆเกี่ยวกับสังคมแห่งนี้ในหัวข้อที่ว่าด้วย “ความเชื่ออันเป็นเอกภาพบนเหตุผลแห่งความขัดแย้งที่เป็นไปไม่ได้ แต่เป็นไปได้” นี่น่าจะเป็นอีกปรัชญาหรือตรรกะสำคัญ ซึ่งเราควรหยิบยกเอามาทำความเข้าใจหรืออธิบายคุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์กับความยืดหยุ่นที่ไม่มีชาติบ้านเมืองใดจะมาเปรียบเทียบได้ดังเช่นประเทศไทย?

กล่าวแต่ต้นแล้วว่าเราจะไม่พูดถึงหัวข้ออื่น เอาเฉพาะบริบทของสงกรานต์ ปัจจุบันนี้ประเพณีสงกรานต์ที่เคยรดน้ำและสาดน้ำกันอย่างมีขอบเขต มีสัมมาคารวะ ภาพเหล่านี้ค่อยเปลี่ยนแปลงไป เราจะตั้งคำถามว่ามันเป็นไปตามอิทธิพลของยุคสมัยหรือเปล่า? คือหมายถึงรายละเอียดหลายข้อของสงกรานต์ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว วัฒนธรรมของรถปิกอัพกับโอ่งใบใหญ่ที่ท้ายรถ พร้อมวัยรุ่นถืออุปกรณ์เล่นน้ำสารพัดชนิด ภาพปิกอัพกลายเป็นประเพณีเล่นน้ำสงกรานต์ไปแล้ว หรือคำถามเกี่ยวกับเสื้อหลากสีสันลายดอกซึ่งเอามาใช้สวมใส่ในเทศกาล ลองมีคนตั้งคำถามดูว่าหมายถึงอะไรและอย่างไร? ประเด็นนี้คงไม่มีคำตอบอยู่เหมือนกัน?

โดยเฉพาะเมื่อสงกรานต์ซึ่งเคยยืนอยู่ในบริบทอันเป็นประเพณีของชาวพุทธ ต่อมาค่อยเกิดสภาวะใหม่ที่กลายเป็น “เทศกาล” แล้วตอนนี้หลายจังหวัดจัดให้เป็น “มหกรรมท่องเที่ยว” ข้อนี้เห็นจะไม่โต้แย้งอะไร? มันก็เข้าทีดีเหมือนกัน

การยืดหยุ่นและซึมซับตามปรัชญาความเชื่ออันเป็นเอกภาพบนเหตุผลแห่งความขัดแย้งที่เป็นไปไม่ได้ แต่เป็นไปได้ในสังคมประเทศนี้ หากเราจะมองเฉพาะสงกรานต์ก็ไม่น่าจะเสียหายอะไรนัก? แต่ถ้ามันไปเกี่ยวเนื่องอยู่ในหัวข้ออื่นๆ ทั้งการเมือง ระบอบการปกครอง เศรษฐกิจ ฯลฯ ก็เป็นมุมมองหนึ่งถึงความมึนงงสับสนในสังคมแห่งนี้ โดยเฉพาะวิถีแห่งอำนาจที่เน้นความศักดิ์สิทธิ์และงมงายแบบพราหมณ์ กับความมีเหตุมีผลในแบบพุทธ...

ข้อสรุปคือ อำนาจนั้นทำให้ประเทศไทยเป็นได้ทุกอย่าง เห็นด้วยไหม? ขึ้นอยู่กับว่าช่วงไหน เวลาไหนไปเป็นอะไรแล้วจะได้ประโยชน์มากกว่า? ต่อไปอาจจะเป็นประชาธิปไตยหลอกๆเหมือนกับเป็นพุทธแบบลัทธิพราหมณ์นั้นไง?


***************************
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น