วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2554

แทรกแซงกกต. เลือกตั้งทางตัน

ลุ้นคำตอบเลือกตั้งชี้ "ชะตากรรม" ประเทศไทย

จากปรากฏการณ์ ส.ส.โดดร่ม ทำให้การประชุมสภาล่ม 3 วันติดๆ ทั้ง ในคิวของการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณารายงานบันทึกผลการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) เมื่อวันที่ 29 มีนาคม

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย ในวาระที่ 2 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม และการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 31 มีนาคม

องค์ประชุมไม่ครบ สภาล่ม 3 วันซ้อน ประจานพฤติกรรม ส.ส.สันหลังยาว

ทั้งนี้ เมื่อไล่เรียงถึงสาเหตุสภาล่ม ส.ส.ส่วนมากต่างก็อ้างว่าติดภารกิจต้องลงพื้นที่พบปะเยี่ยมเยียนประชาชน

โดย เฉพาะในภาวะที่ภาคใต้กำลังประสบภัยพิบัติน้ำท่วม ดินถล่ม หลายจังหวัดได้รับความเสียหาย ประชาชน ประสบความเดือดร้อนอย่างหนัก เป็นธรรมดาที่ ส.ส. ในพื้นที่ก็ต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ

ส่วนภาคอื่นๆแม้ไม่ได้เกิดเหตุภัยธรรมชาติ แต่บรรดา ส.ส.ก็วางโปรแกรมลงพื้นที่จัดกิจกรรมพบปะชาวบ้านกันถี่ยิบ

เพราะทุกคนทุกพรรคต่างก็รู้กันดีว่าเสียงปี่กลองการเลือกตั้งกระชั้นเข้ามาทุกที

ยิ่ง เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมาประกาศย้ำแล้วย้ำอีกว่า จะนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อยุบสภาไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคมนี้

ก็ยิ่งชัดว่าจะต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นแน่ๆ ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนหรือต้นเดือนกรกฎาคม

ส.ส.ทุกพรรคจึงต้องรีบกลับไปหาชาวบ้านหาเสียงกันตั้งแต่เนิ่นๆ เร่งสร้างคะแนนนิยม เพื่อหวังได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาใหม่

เพราะขืนมัวแต่ชักช้า อาจไม่ทันกาล ตกขบวนได้ง่ายๆ

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่นักการเมืองและพรรคการเมือง ต่างเตรียมความพร้อมที่จะเดินไปสู่สนามเลือกตั้งกันอย่างคึกคัก

แต่ก็มีเสียงถามไถ่กันให้แซดจากทุกวงการของสังคมว่าจะได้เลือกตั้งกันจริงหรือไม่

เพราะในขณะที่นายกฯอภิสิทธิ์และแกนนำรัฐบาลออกมายืนยันว่าจะมีการยุบสภาและมีการเลือ​กตั้งแน่

แต่ก็มีคนบางฝ่ายออกมาปั่นกระแสเรื่องการปฏิวัติรัฐประหาร พยายามชี้นำให้มีการใช้วิธีการนอกระบบ สกัดไม่ให้มีการเลือกตั้ง

พยายามปล่อยข่าวลือเพื่อชี้นำให้มีการปฏิวัติรัฐประหาร สร้างความสับสนให้กับสังคม

จนกระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ต้องออกมาประกาศย้ำอย่างหนักแน่นว่า

ทหารจะไม่ทำปฏิวัติรัฐประหาร เพราะปัญหาการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง หนทางที่ดีที่สุดของประเทศในปัจจุบัน คือมุ่งไปสู่การเลือกตั้ง

ทหารถือเป็นประชาชนต้องรักษาระเบียบของการเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์​เป็นประมุข

พร้อมสั่งกำชับกำลังพลทุกหน่วยให้สนับสนุนและปฏิบัติตามระเบียบของกฎหมายเลือกตั้งโด​ยเคร่งครัด และให้วางตัวเป็นกลางในการเลือกตั้ง

ไม่รับมุกพวกที่ยุให้ปฏิวัติรัฐประหาร

แม้บิ๊กกองทัพจะออกมาปฏิเสธแนวทางการใช้วิธีการนอกระบบ ไม่เอาด้วยกับการยึดอำนาจ เพราะไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องของประเทศ

แต่ พวกที่ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง โดยเฉพาะแกนนำม็อบเสื้อเหลืองก็ยังไม่ละความพยายามที่จะสกัดขัดขวางไม่ให้มี การเลือกตั้งเกิดขึ้น

ด้วยการเสนอให้ใช้วิธีการพิเศษที่ไม่เป็นสากล อาทิ เสนอให้ใช้มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน

หรือไปไกลถึงขนาดที่เสนอให้มีการงดใช้รัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลข​ึ้นมาบริหารประเทศ

โดย อ้างว่าถึงแม้จะมีการเลือกตั้งก็ไม่ได้แก้ปัญหาวิกฤติของประเทศ จึงควรใช้วิธีการพิเศษเพื่อจัดการให้ทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอยเสียก่อน

"ทีม ข่าวการเมืองไทยรัฐ" ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของฝ่ายที่ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งที่ออกมาเสนอ วิธีการพิเศษต่างๆ เพื่อสกัดไม่ให้มีการเลือกตั้ง

เราขอชี้ว่า ขบวนการความเคลื่อนไหวเหล่านี้ เป็นการชักใบให้เรือเสีย เป็นมลพิษของระบอบประชาธิปไตย

แน่ นอน แม้จะมีผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองประเมินวิเคราะห์ กันว่า ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายทางการเมืองที่ยืดเยื้อ เรื้อรังมาหลายปี

แม้มีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้นก็อาจจะไม่ได้แก้ปัญหาวิกฤติความขัดแย้งให้หมดไป บ้านเมืองยังอยู่ในวังวนเดิมๆ

แต่เมื่อเราเลือกเดินในระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องให้ประชาชนเจ้าของประเทศเป็นผู้ตัดสินผ่านกระบวนการเลือกตั้ง

โดยผลของการเลือกตั้งจะให้คำตอบว่าประชาชนต้องการอย่างไร สังคมไทยจะเดินไปทางไหน

พูดง่ายๆก็คือการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นตัวชี้วัดจิตวิญญาณประชาธิปไตยของคนไทยทั้ง​ประเทศ

ที่สำคัญ ผลที่ออกมาจะให้คำตอบว่า บ้านเมืองของเราจะเดินไปข้างหน้าต่อไปได้ หรือวิกฤติถึงขั้นแก้ไขกันด้วยการเลือกตั้งไม่ได้แล้ว

ส่วน ขบวนการของพวกที่ไม่อยากให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ออกมาเสนอวิธีพิเศษต่างๆ เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ก็คือเป็นพวกที่รู้ตัวว่าต่อสู้แข่งขันในสนามเลือกตั้งไม่ได้

แต่อยากเข้าไปมีส่วนในอำนาจรัฐ ก็เลยต้องพยายามหาทางลัด เพื่อให้ตัวเองมีโอกาสได้แทรกเข้าไป

หวังเสพอำนาจ เสพผลประโยชน์ ก็เท่านั้นเอง

ฉะนั้น ไม่ว่าสถานการณ์การเมืองจะเป็นอย่างไร แต่เมื่อประเทศไทยยังปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ทีมของเราก็ยังยืนยันว่า การเลือกตั้งจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด

แต่ก่อนจะเดินไปถึงการเลือกตั้ง องค์กรที่ถูกจับตาเป็นพิเศษก็หนีไม่พ้นผู้คุมกฎการเลือกตั้ง นั่นก็คือ

คณะ กรรมการการเลือกตั้ง หรือ 5 เสือ กกต. ที่ประกอบด้วย นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. และ กกต. อีก 4 คน ได้แก่ นายประพันธ์ นัยโกวิท นายสมชัย จึงประเสริฐ นางสดศรี สัตยธรรม และนายวิสุทธิ์ โพธิแท่น ที่เป็นด่านแรกในการกลั่นกรองตรวจสอบนักการเมืองก่อนเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร และเข้าสู่อำนาจรัฐ

มีหน้าที่โดยตรงในการจัดการเลือกตั้งให้เกิดความบริสุทธิ์และเที่ยงธรรม

โดยเฉพาะในสถานการณ์การเมืองที่ประเทศอยู่ในภาวะแตกร้าว เกิดวิกฤติความขัดแย้งเรื้อรังมาหลายปี

ผู้คุมกฎเลือกตั้งก็ยิ่งต้องทำหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง และเที่ยงธรรม

โดย ยึดกฎหมายเป็นหลักปฏิบัติ โดยเฉพาะถ้าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 3 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

ก็จะเป็นภูมิคุ้มกันในการทำหน้าที่ของ กกต.ได้เป็นอย่างดี

ที่สำคัญ ตัว กกต.เองในฐานะที่เป็นผู้บริหารจัดการเลือกตั้ง ต้องทำตัวให้นิ่ง ไม่ใช่ทำตัวเป็นเครื่องหมายคำถามเสียเอง

อย่างไรก็ตาม ในการทำงานของ กกต.แม้จะมีกฎหมาย ประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ เป็นภูมิคุ้มกันในการทำหน้าที่

มีอำนาจจัดการเลือกตั้งตามกฎหมาย แต่ก็มีบุคลากรของตัวเองไม่เพียงพอที่จะลงไปดูแลการเลือกตั้งได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ท​ั่วประเทศ

ยัง จำเป็นต้องอาศัยบุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ มาช่วยในการจัดการดูแลการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการครู ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ตำรวจ ทหาร

รวม ไปถึงกระบวนการในการสืบสวนสอบสวนเรื่องร้องเรียนทุจริตในการเลือกตั้ง ก็ต้องดึงบุคลากรจากหน่วยงานอื่นๆ ทั้งตำรวจและอัยการเข้ามาช่วยทำสำนวน

พูดง่ายๆว่า ยังต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจ

ตรง จุดนี้ก็อาจทำให้ เกิดปัญหาตามมา เพราะข้าราชการจากหน่วยงานต่างๆที่เข้ามาช่วยงาน กกต. ต่างก็มีสังกัดบังคับบัญชา อยู่ใต้อำนาจของฝ่ายการเมือง

หรือแม้ กระทั่งเจ้าหน้าที่ของ กกต.เอง โดยเฉพาะ กกต.เขต และ กกต.จังหวัด ที่มีการคัดเลือกกันเข้ามา ก็อาจมีบางส่วนที่มีความสัมพันธ์โยงใยอยู่กับนักการเมืองในพื้นที่

ปมประเด็นเหล่านี้ ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดปัญหากระทบต่อการทำหน้าที่ให้เกิดความบริสุทธิ์และ​เที่ยงธรรม

ซึ่งเป็นเรื่องที่ 5 เสือ กกต.ต้องระมัดระวังและเตรียมการป้องกันเอาไว้

เพราะต้องไม่ลืมว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญในการช่วงชิงอำนาจรัฐ

เหนือ อื่นใด ในการต่อสู้ที่เข้มข้นภายใต้บรรยากาศขัดแย้ง ฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำจ้องที่จะนำปัญหาความไม่ เที่ยงธรรมในการเลือกตั้งมาขยายผลอยู่แล้ว

ถ้า กกต.คุมเกมไม่ดี ปล่อยให้มีการแทรกแซง จนเกิดความไม่สุจริตในการเลือกตั้ง ก็อาจกลายเป็นชนวนให้เกิดวิกฤติซ้อนวิกฤติขึ้นมาอีก

ดัง นั้น การที่ กกต.จะฟันฝ่าอุปสรรคไปได้ จึงต้องอาศัยความสุจริตและความเที่ยงธรรมเป็นตัวตั้ง ต้องไม่วอกแวกต่อแรงกดดันจากฝ่ายใดทั้งสิ้น

ที่สำคัญภาคประชาชนเองก็ต้องให้ความร่วมมือกับ กกต. นอกจากออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยไม่ขายสิทธิขายเสียงแล้ว

ก็ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแสการทุจริต เป็นกำแพงพิงหลังให้ กกต.

เพราะถ้า กกต. ไปไม่รอด การเลือกตั้งเจอทางตัน

ประชาธิปไตยเมืองไทย ก็คงเดินหน้าไปไม่ได้.


"ทีมการเมือง"
ไทยรัฐออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น