วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2554

ไร้ข้อสรุป ทหารเสือ ยิงช่างภาพอิตาลี


ที่ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) มีการประชุมแสดงความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปและตรวจสอบหาความจริงจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 โดยนำกรณีของนายฟาบิโอ โปเลนกี (Mr.Fabio Polenghi) ที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 บริเวณเกาะกลางถนนหน้าศูนย์วิจัยโรคเอดส์ ถนนราชดำริ ขึ้นมาพิจารณา มีตัวแทนจากดีเอสไอ กองทัพภาคที่ 1 เข้าให้ข้อมูล และมีตัวแทนจากสถานทูตอิตาลีร่วมรับฟังการชี้แจงข้อเท็จจริง สรุปได้ดังนี้

พ.ต.ท.วีรวัชร์ เดชบุญภา พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ชี้แจงว่า มีการสอบสวนทหาร ผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงคนขับมอเตอร์ไซค์ที่นำนายฟาบิโอส่งโรงพยาบาลแล้ว และชี้แจงว่าช่วงที่นายฟาบิโอถูกยิงเป็นเวลา 10.59 น. ของวันที่ 19 พ.ค. 2553 สถานที่ที่ถูกยิงอยู่บริเวณฝั่งตรงข้ามของอาคารบางกอกเคเบิ้ล บริเวณเกาะกลางถนน โดยนายฟาบิโอกำลังมุ่งหน้าไปทางราชประสงค์ หลังจากถูกยิงมีหลายคนช่วยลากร่างนายฟาบิโอเข้าบาทวิถี ร่างตกพื้นหลายครั้ง จากนั้นมีคนขับจักรยานยนต์มารับนายฟาบิโอเพื่อนำส่งโรงพยาบาลตำรวจต่อไป แต่เสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล

จากการสอบสวนจากประจักษ์พยานไม่สามารถบอกได้ว่ากระสุนมาจากทางใด และกระสุนไม่ได้ค้างอยู่ในศพ ผลการชันสูตรบอกเพียงว่าถูกกระสุนปืนความเร็วสูง กระสุนเข้าด้านหลัง ห่างจากบ่า 27 เซนติเมตร ทะลุหัวใจออกไปทางหน้าอกด้านซ้าย แนววิถีกระสุนทางราบ ลักษณะเฉียงเล็กน้อย การยิงน่าจะมาจากฝั่งแยกสารสินจนถึงศาลาแดง

ส่วนกล้องของนายฟาบิโอที่หายไปนั้น จากคลิปวิดีโอที่นำมาเปิดแสดงในที่ประชุม พบว่าชายคนหนึ่งที่เข้ามาลากตัวนายฟาบิโอจากบริเวณเกาะกลางถนนไปไว้ในบาทวิถีเป็นคนเอาไป จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถติดตามผู้ที่เอากล้องไปได้ แต่ได้ลงรูปหน้าผู้ต้องสงสัยลงในเว็บไซต์ของดีเอสไอเมื่อประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา พร้อมตั้งรางวัล อีกทั้งส่งไปให้สถานีโทรทัศน์ทีวีไทยช่วยออกประกาศอีก 1 ครั้ง แต่ยังไม่ได้เบาะแสแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ดีเอสไอยังไม่ได้ส่งรูปหน้าผู้ต้องสงสัยดังกล่าวไปให้ทะเบียนราษฎรเพื่อเทียบเคียงใบหน้า นอกจากนี้สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้ยืนยันว่าจากพฤติกรรมของผู้ต้องสงสัยดังกล่าวไม่น่าเชื่อว่าเป็นนักข่าวหรือช่างภาพจริง

นายอุบาลโด ชาวาลญอลี (Mr.Ubaldo Ciavaglioli) หัวหน้าฝ่ายวีซ่า ตัวแทนจากสถานทูตอิตาลี ได้สอบถามบุคคลที่มาลากร่างนายฟาบิโอว่าเป็นใคร พนักงานสอบสวนดีเอสไอชี้แจงว่า บริเวณสถานที่เกิดเหตุมีทั้งนักข่าว ผู้ชุมนุม และคนที่ขี่จักรยานยนต์ ซึ่งเป็นคนทำงานในบริเวณศูนย์วิจัยโรคเอดส์ เมื่อเห็นผู้บาดเจ็บจึงขี่จักรยานยนต์มารับเพื่อนำส่งโรงพยาบาล

พ.อ.ไตรเทพ ศรีพันธุ์วงศ์ ตัวแทนจากกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ ชี้แจงว่า หลังจากศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) สั่งกระชับพื้นที่ในเช้าวันที่ 19 พ.ค. 2553 ตนได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่เวลา 03.00 น. โดยแบ่งกำลังออกเป็น 8 ส่วนตามจุดต่างๆคือ แยกศาลาแดง, สามย่าน, สวนลุมพินี, ด้านตะวันออกของสวนลุมพินี, สีลม, สะพานไทย-เบลเยียม และในเวลา 06.00 น. ได้นำรถสายพานลำเลียงจากสีลมมุ่งหน้าไปยังราชประสงค์

ซึ่งในเวลาที่ช่างภาพชาวอิตาลีถูกยิงเสียชีวิตนั้น กำลังพลน่าจะกำลังเคลื่อนไปที่โรงพยาบาลจุฬาฯ และไปถึงบริเวณแยกสารสินเมื่อเวลา 12.30 น. จึงหยุดเคลื่อนกำลังพล เนื่องจากเหตุการณ์ข้างหน้าค่อนข้างอันตราย มีเต็นท์บังอยู่จำนวนมาก ต่อมาเวลา 13.00 น. มีการยิงปืนเล็กยาวเข้าใส่ทหาร และยิง M-79 เข้ามาอีก 3 ลูก ลงบริเวณบ่อน้ำในสวนลุมพินี บริเวณรั้วและถนน จนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บ ส่วนทหารเสียชีวิต 1 นาย และบาดเจ็บ 6 นาย หลังจากนั้นได้หยุดประจำจุดดังกล่าวตลอดทั้งวัน จนเวลาล่วงมาถึงเช้าวันที่ 20 พฤษภาคม 2553

พ.อ.ไตรเทพชี้แจงต่อว่า ปืนที่ทหารใช้ประจำกายในวันนั้นส่วนมากเป็นปืนลูกซองบรรจุกระสุนยางและกระสุนจริง ส่วนปืนเล็กยาวใช้กระสุนปืน blank เพื่อใช้ยิงขู่เท่านั้น ส่วนลูกซองเริ่มใช้ในเวลา 12.30 น. หลังจากทหารเข้าไปตรวจบริเวณภายในสวนลุมพินีเพื่อเคลียร์พื้นที่ได้พบระเบิดปิงปอง ระเบิดขวด ระเบิดแสวงเครื่องจำนวนมาก และพบปลอกกระสุนปืน M-79 จำนวน 3 นัด ตรงจุดถังน้ำฝั่งตรงกันข้ามสถาบัน AUA ซึ่งน่าจะเป็นจุดที่ยิง M-79 เข้าใส่ทหาร

พ.ท.ณัฎฐภูมิ หลาวทอง หน.ฝบก.พล.ม.2 กอ. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า วันที่ 19 พ.ค. 2553 สถานการณ์อยู่ในช่วงอันตราย เนื่องจากกำลังพลที่มีอยู่ไม่เพียงพอจึงขอกำลังเสริม ทำให้มีหน่วยปฏิบัติการพิเศษขึ้นไปรักษาการอยู่บนตึกบางกอกเคเบิ้ล ซึ่งได้เข้ามาประจำการตอนบ่าย

ทางอนุกรรมการ คอป. สอบถามว่า เป้าในการยิงวันนั้นเป็นบุคคลที่ใส่เสื้อดำใช่หรือไม่ เพราะนายฟาบิโอใส่เสื้อดำในวันนั้นด้วย

พ.อ.สุทัศน์ นาคพันธ์ ฝอ.2 ทภ.1 ชี้แจงว่า ศอฉ. ไม่มีคำสั่งให้ยิงคนที่ใส่ชุดดำ เพียงแต่บอกว่าการใช้อาวุธปืนนั้นให้ใช้เพื่อป้องกันตัวเอง กรณีที่ตนเองเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิต และใช้สำหรับป้องกันประชาชนผู้บริสุทธิ์

นายนิก นอสติทซ์ นักข่าวอิสระชาวเยอรมัน ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์กับทหารที่เคลื่อนกำลังพลจากสีลมไปราชประสงค์ ยืนยันว่า ได้เดินทางไปร่วมกับรถสายพานลำเลียง ในช่วงที่เคลื่อนกำลังพลไปนั้นมีการยิงปะทะกันทั้ง 2 ฝ่าย แม้แต่ทหารเองก็ยิงตอบโต้ออกไปเช่นกัน แต่จำไม่ได้ว่าเวลาประมาณเท่าไร และหลังจากนั้นประมาณ 20 นาทีได้รับโทรศัพท์ว่ามีช่างภาพอิตาลีถูกยิงเสียชีวิต

นายอุบาลโด ชาวาลญอลี สอบถามถึงผลสรุปของคดีการเสียชีวิตของนายฟาบิโอว่าจะดำเนินการเสร็จเมื่อไร

พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ อนุกรรมการ คอป. ชี้แจงว่า ยังไม่สามารถยืนยันได้ เนื่องจากสถานการณ์ผ่านมานานแล้ว ดังนั้น การหาข้อมูลของอนุกรรมการจึงเป็นเพียงวิธีการคล้ายกับการทำวิจัย แล้วดึงไปสรุปว่าเกิดอะไรขึ้น และจะทำกรอบเสนอแนะขึ้นมาเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นอีก รวมทั้งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย

พ.ท.ไตรเทพให้ความเห็นในตอนท้ายว่า จากการมาร่วมชี้แจงกับอนุกรรมการ และข่าวที่ออกไปนั้นทหารมักกลายเป็นจำเลย จนไม่อยากอ่านข่าว แต่ขอยืนยันว่าทหารไม่อยากทำร้ายประชาชน ทหารคือลูกหลานประชาชน ซึ่งส่วนตัวยังไม่เข้าใจว่าการซักถามและข่าวที่ออกไปจะสามารถสร้างความปรองดองได้อย่างไร

ที่มา : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน ปีที่ 12 ฉบับที่ 3029 
ประจำวันพฤหัสที่ 7 เมษายน พ.ศ.2554 
คอลัมน์ ข่าวสารไร้พรมแดน โดย ทีมข่าวการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น