วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2554

ยุทธศาสตร์อำพรางใต้ความต้องการจริงทางยุทธวิธี
http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10251

ในการพูดถึงยุทธศาสตร์และยุทธวิธีส่วนใหญ่เราคุ้นเคยกับทั้งสองคำนี้ คงไม่จำเป็นสำหรับอาชีพทหารเท่านั้นที่ต้องสนใจอย่างจริงจังเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ทุกอาชีพในโลกนี้เมื่อต้องการผลักดันให้เกิดความสำเร็จจำเป็นจะต้องวางเป้าหมายในทางยุทธศาสตร์ของตัวเองเสียก่อน จากนั้นหันมาค้นคิดหาปฏิบัติการในเชิงยุทธวิธี

แต่สิ่งสำคัญที่สุดในการยึดกุมไม่ใช่ตัวยุทธศาสตร์หรือตัวยุทธวิธี กลับเป็นความสัมพันธ์ต่อเนื่องหรือการเคลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงสู่กันและกันของยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ซึ่งก็คือตัวเงื่อนไขหรือสิ่งสัมพัทธ์ของการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง!


โดยปรกติในทางการทหาร ทางธุรกิจ หรืออื่นๆ ยุทธศาสตร์และยุทธวิธี นักการทหาร นักธุรกิจ ต่างเข้าใจกันดีอยู่แล้ว ซึ่งล้วนเป็นยุทธศาสตร์จริง ยุทธวิธีจริง เงื่อนไขจริงที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่สำหรับการเมือง โดยเฉพาะการเมืองของการช่วงชิงอำนาจของประเทศไทยสยาม ซึ่งมีระบอบเศรษฐกิจ การเมืองของสังคมช่วงเปลี่ยนผ่านที่ยาวนานจนถึงทุกวันนี้ จากระบอบศักดินาราชาธิปไตยสู่ระบอบทุนนิยมประชาธิปไตย ฉะนั้นช่วงเปลี่ยนผ่านดังกล่าวนี้ทุกอย่างจึงมั่วซั่วไปหมด ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี จึงมีทั้งจริงและปลอม ไม่รู้อันไหนจริงอันไหนปลอม หากนำสาระทั่วไปตามทฤษฎีมาเป็นเครื่องมือในการพิจารณาก็จะหลงทิศผิดทาง เพราะว่าการเมืองในประเทศไม่มีหลักการ ไม่มีมาตรฐาน แต่ที่แน่นอนที่สุดก็คือ ทฤษฎีผลประโยชน์ส่วนตนของกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองกับบริวารแวดล้อมอันเป็นเครือข่าย?


ส่วนผลประโยชน์สาธารณะกลับไม่มีจริง แต่ล้วนถูกใช้เป็นข้ออ้างอำพรางผลประโยชน์ส่วนตนทั้งสิ้น ยุทธศาสตร์เพื่อสาธารณะจึงเป็นสิ่งอำพรางเป้าหมายทางยุทธวิธีเพื่อมุ่งหมายผลประโยชน์เฉพาะตนจึงเป็นของจริงที่ซ่อนอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่อำพรางนั้น ถ้าเราหันมาพิจารณาถึงความเป็นจริงของยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี หรือ Strategy Tactic  อันมีบทบาทอยู่ในกลุ่มอุดมการณ์ทางการเมืองของแต่ละสีในประเทศไทย ประเด็นตรงนี้นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจและควรศึกษาถึงเป็นอย่างยิ่ง เพื่อทำความรู้จักกับตัวตนของกลุ่มก้อนทางการเมือง ตลอดจนพวกที่เล่นการเมืองข้างถนนเป็นการเมืองนอกระบบ?


ในกลุ่มการเมืองสีเหลืองมีประเด็นนี้ที่น่าติดตามอย่างจับผิด สังเกตได้จากการสื่อสารในทางการเมืองของเวทีประท้วงคราวนี้ ภาพที่แสดงต่อสังคมหรือประชาชนเห็นจะได้แก่ “ยุทธศาสตร์” ซึ่งโชว์ให้เห็นเป้าหมายเรื่อง “อธิปไตยแห่งดินแดน”


เป็นเสียงเรียกร้องให้ทั้งคนไทยกับกองทัพได้แสดงความรักชาติออกมา หากวิเคราะห์กันอย่างถึงที่สุดพบว่า “มันมิใช่เป้าหมายของอธิปไตยแห่งดินแดนเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นหรอก” เมื่อติดตามไปเรื่อยๆยังโยงเข้าไปถึง “เป้าประสงค์ต่อการล้างระบบการเมืองแบบรัฐสภาของประเทศไทยให้เกลี้ยง”


ขุดคว้านต่อไปหาเป้าหมายสุดท้ายหรือเป้าหมายที่แท้จริงของกลุ่มการเมืองสีเหลืองกลับกลายเป็นความพยายามให้เว้นวรรคประเทศไทยสาหรับระบบการเลือกตั้งในแบบรัฐสภา ปรารถนาให้เกิดวาทกรรมที่อ้างว่าระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่แท้จริงควรจะเกิดขึ้นมาแทน...แต่ไม่รู้แท้จริงอย่างไรเหมือนกัน? แล้วจะให้เกิดขึ้นแบบไหน? นอกจากวาทกรรมที่หว่านไว้อย่างกว้างๆ โดยพวกเขาชี้ถึงนักการเมืองในปัจจุบันต่างล้วนเป็นพวกสัตว์นรก นักการเมืองทุกคนและทุกพรรคไม่มีความรักชาติ มีเพียงพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชัน ซ้ำบางคนยังขายชาติ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วย่อมมีความจำเป็น “ต้องล้างบางนักการเมือง” ให้ทหารออกมาสนับสนุนการรัฐประหารแบบใหม่ เป็นวิธีที่ประชาชนจะก่อการปฏิวัติเป็นทัพหน้า ส่วนทหารยืนอยู่ข้างหลัง?


จากนั้นให้มีการจัดตั้งรัฐบาลพิเศษเฉพาะกาลขึ้นมา คัดสรรเฉพาะ “คนดีมีศีลธรรม” ทั้งเข้ามาบริหารและเป็นตัวแทนในด้านการปกครอง...สิ่งเหล่านี้พวกเขาอธิบายถึงสูตรในการเปลี่ยนแปลง บอกว่ามันไม่ใช่การรัฐประหาร หากแต่เป็นกระบวนการปฏิวัติของประชาชนเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยอันแท้จริง ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข...แล้วให้ใช้ประชาธิปไตยแบบนี้ไปสัก 3-5 ปี เว้นวรรคประเทศไทยเพื่อป้องกันความหายนะวิบัติต่างๆ นี่อาจเรียกว่าเป็นยุทธศาสตร์อำพรางของพวกเขา ตั้งแต่ข้อมูลเกี่ยวกับความเลวของนักการเมืองกับพรรคการเมือง มันจะต่ำช้าไปเสียทุกคนและทุกพรรคเชียวหรือ?
ประการที่น่าสังเกตที่สุดคงต้องถามถึง “สภาพที่เป็นเช่นนั้นอย่างที่พวกเขาป่าวประกาศปลุกระดม ความเลวร้ายที่สร้างสัตว์นรกขึ้นมา แท้จริงมันเกิดขึ้นจากใครกันแน่? ใครและฝ่ายไหนกันที่ได้ชักนำบรรดาสัตว์นรกบางกลุ่มให้ก้าวเข้ามาสถิตอยู่ในอำนาจจนสร้างปัญหาและวิกฤต กระทั่งผู้สร้างต้องออกมาร้องแรกแหกกระเชอเป็นประหนึ่งพฤติกรรมกลืนเสลดของตน”


เมื่อพิจารณาจากความเป็นจริงเช่นนี้ สำหรับประเด็นยุทธศาสตร์ของอุดมการณ์ชาตินิยมทางการเมืองสีเหลืองน่าจะมี “ปราสาทพระวิหาร” กลายเป็นเพียงม่านบังตาอำพรางเท่านั้นเอง เพราะความจริงที่ซ่อนเอาไว้คงต้องถือให้สิ่งที่โชว์อยู่นั้นเป็นยุทธศาสตร์เพื่อหวังสถาปนาระบอบเผด็จการอำนาจนิยมขึ้นมาอีกชนิด มันเป็นเพียงการเอาความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา การขยายภาพความเลวร้ายของนักการเมืองส่วนหนึ่งและพรรคการเมืองส่วนหนึ่ง ให้สิ่งทั้งหมดนี้ได้อธิบายความไม่ชอบธรรมให้เป็นความชอบธรรมแก่สาธารณชน เพื่อหวังประโยชน์ในการเปลี่ยนแปลงสถาปนาอำนาจของตนขึ้นมา?


เพียงเท่านี้ยังไม่พอ เมื่อเราขุดควานให้ลึกเข้าไปกว่านั้น จับผิดสิ่งที่พวกเขานำเสนอเห็นจะเป็น “การอ้างยุทธศาสตร์วางเป็นหลัก แต่แท้จริงเป้าหมายกลับอยู่เพียงในยุทธวิธีของตัวเอง” อธิบายง่ายๆว่าได้พยายามชูยุทธศาสตร์ประชาธิปไตยและผลประโยชน์อธิปไตยของชาติ ขณะที่ความต้องการจริงเพียงอยู่ในระดับความปรารถนาล้างพรรคการเมืองในปัจจุบัน โดยหวังให้ “คนในกลุ่มฝ่ายของตัวเอง” ก้าวขึ้นไปมีอำนาจแทน แม้จะใช้วิธีการอะไรก็ได้?
ยุทธวิธีที่ปรารถนาคงถูกซ่อนเอาไว้ด้วยยุทธศาสตร์ที่ประกาศบนเวที เท่านี้ยังไม่พอ เนื่องจากวาระซ่อนเร้นจริงมันลึกกว่านั้น หลังเวทีอาจเป็นเพียง “3G 4G ความต้องการอยากมีอำนาจโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการเลือกตั้ง อยากเป็น ส.ว. จากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร”...มันก็เท่านี้เอง คือการหวังผลจากการเปลี่ยนแปลงนอกระบบ?


เรื่องของการใช้ยุทธศาสตร์อำพรางภายใต้ความต้องการจริงในทางยุทธวิธีเรายังอาจมองอย่างเชื่อมโยงไปถึงประเด็นวิธีเล่นการเมืองที่เอาความขัดแย้งในระหว่างประเทศหรือเป็นการเมืองภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง “กับการเล่นการเมืองและวิถีอำนาจภายในประเทศ”


เสียงเรียกร้องให้ไทยรบเขมรจึงเป็นวาทกรรมซึ่งเราต้องตั้งหลักพิจารณาในหลายมิติทีเดียว แล้วที่อันตรายอย่างยิ่งเห็นจะเป็นมิติของความปรารถนาจริงในยุทธวิธีที่ต้องการให้ประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเข้าสู่หนทางของอำนาจนิยมชนิดเบ็ดเสร็จ...


ยุทธศาสตร์อำพรางภายใต้ความต้องการจริงทางยุทธวิธีจึงเป็นเพียงเรื่องของอำนาจกับผลประโยชน์ที่มีแหล่งกำเนิดความคิดมาจาก “ชนชั้นนำบงการ” ที่พยายามส่งผ่านให้เกิดเสียงเรียกร้องขึ้นมาจากกลุ่มจัดตั้ง ซึ่งสมอ้างตนในฐานะประชาชนส่วนใหญ่ บทเรียนเช่นนี้หากใครถลำลึกจะเป็นประสบการณ์เดียวกับก่อนเกิดรัฐประหารใน พ.ศ. 2549...มันจะซ้ำรอยได้อีกหรือ?


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 305 

วันที่ 2 - 8 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 11 คอลัมน์ คิดทวนเข็มนาฬิกา โดย ศิวเนตร พิศมายา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น