ผู้อำนวยการเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเผยจะมีตัวแทนจาก 22 ประเทศ เดินทางเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งในประเทศไทย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม ระบุการมีต่างชาติเข้ามาจับตาดูจะช่วยกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกระตือรือร้นในการทำงานมากขึ้น นักวิชาการอิสระยื่นศาลปกครองเปิดไต่สวนฉุกเฉินยกเลิกพระราชกฤษฎีกายุบสภา อ้างออกโดยผิดกฎหมาย 18 พรรคส่งตัวแทนลงสัตยาบันไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ซื้อเสียง ปฏิบัติตัวอยู่ในกรอบกฎหมาย ตำรวจ ทหารยืนยันวางตัวเป็นกลาง ไม่ยุ่งการเมือง
ที่สำนักงานศาลปกครอง นายสมคิด หอมเนตร นักวิชาการอิสระ พร้อมพวกรวม 3 คน ได้ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้ระงับหรือเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งและพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร โดยขอให้ศาลเปิดไต่สวนฉุกเฉินและกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ก่อนมีคำตัดสินด้วย
กฤษฎีกายุบสภาขัดกฎหมาย
นายสมคิดกล่าวว่า ที่มาฟ้องต่อศาลเพราะเห็นว่าพระราชกฤษฎีกายุบสภาออกมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในบ้านเมือง
“ผมขอทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนไทยคัดค้านพระราชกฤษฎีกายุบสภา เพราะเล็งเห็นว่าจะก่อให้เกิดความเสียหาย ความเดือดร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 59, 60, 61 และ 62”
22 ชาติส่งตัวแทนสังเกตการณ์
นางสมศรี หาญอนันทสุข ผู้อำนวยการเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้ง เปิดเผยว่า จะมีตัวแทนจากประเทศต่างๆ 22 ประเทศ เข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งในประเทศไทย เพื่อศึกษาและเรียนรู้พฤติกรรมการเลือกตั้งของไทย เชื่อว่าการเข้ามาสังเกตการณ์จะช่วยให้เกิดความตื่นตัวในการป้องปรามการทุจริตเลือกตั้ง และช่วยให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกระตือรือร้นในการทำงานมากขึ้นด้วย
“การเลือกตั้งที่ผ่านๆมาค่อนข้างมีปัญหา โดยเฉพาะความน่าเชื่อถือของ กกต.จังหวัดที่ส่วนมากเป็นคนของนักการเมือง จึงทำให้เกิดการกลั่นแกล้งกัน”
“มาร์ค” พบ กกต. ขอความชัดเจน
ที่สำนักงาน กกต. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางอัญชลี วานิช เทพบุตร เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าพบ กกต. เพื่อสอบถามความชัดเจนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีรักษาการในช่วงที่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง
ไม่กล้ารับงานกลัวผิดกฎหมาย
นายอภิสิทธิ์กล่าวระหว่างการหารือว่า มีฐานะเป็นนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคการเมืองรู้สึกสับสนในการปฏิบัติตนระหว่างมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ เช่น การร่วมเวทีแสดงวิสัยทัศน์ ไปเปิดงาน ไปมอบนโยบาย ไปมอบรางวัลต่างๆทำได้หรือไม่ หรือกรณีการใช้ทรัพยากรและบุคลากรของรัฐ เช่น หน่วยรักษาความปลอดภัย รถกันกระสุนใช้ได้หรือไม่
“ต้องเรียนตรงๆว่าผมไม่กล้าที่จะรับงานอะไรเลย เพราะกลัวจะมีปัญหาตามมา จึงต้องมาขอความชัดเจนจาก กกต.”
ประธาน กกต. แนะทำตัวปรกติ
นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. ตอบข้อหารือว่า เมื่อยังเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ งานในหน้าที่ก็ยังทำได้ตามปรกติหากไม่ได้มุ่งไปเพื่อหาเสียง
“การไปเปิดงาน ไปมอบรางวัล ในฐานะนายกรัฐมนตรีทำได้อยู่แล้ว แต่ที่เป็นปัญหาคือเรื่องการรักษาความปลอดภัย หากไม่ได้ไปปฏิบัติหน้าที่ แต่ไปหาเสียง อาจต้องแก้ปัญหาด้วยการจ้างทีมรักษาความปลอดภัยรับจ้างมาทำหน้าที่แทน เรื่องรถกันกระสุนก็ควรใช้เฉพาะในเวลาราชการ การพูดหาเสียง พูดถึงนโยบายของพรรค ควรทำนอกเวลาราชการ ส่วนกรณีที่มีรัฐมนตรีลากิจไปหาเสียงก็อยู่ที่ดุลยพินิจของนายกฯว่าแค่ไหนจะเหมาะสม หากลากิจแล้วก็ลงพื้นที่หาเสียงได้”
18 พรรคลงสัตยาบันไม่ใช้ความรุนแรง
ที่ศูนย์สันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดให้มีการลงสัตยาบันและอบรมจรรยาบรรณในการหาเสียงเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้ง และกฎระเบียบที่กำหนด ไม่นำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ไม่กระทำการใดที่เป็นการซื้อเสียง ไม่ใช้กลไกหรือทรัพยากรของรัฐเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง รณรงค์หาเสียงด้วยสันติวิธี ไม่ข่มขู่คุกคาม ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่รบกวนการรณรงค์หาเสียงของพรรคอื่น ไม่ใช้ถ้อยคำและภาษาที่รุนแรงหรือใส่ร้ายผู้อื่นให้เสียชื่อเสียง และยอมรับผลการเลือกตั้งอันถือเป็นเสียงและความต้องการของประชาชน โดยมีพระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหามกุฎราชวิทยาลัย นายอรุณ บุญชม รองประธานผู้ทรงคุณวุฒิ จุฬาราชมนตรี ผู้แทนจุฬาราชมนตรี พระอัครสังฆราช ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวานิช พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. และนายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานสภาผู้แทนราษฏร ร่วมเป็นสักขีพยาน
ทั้งนี้ มีตัวแทนพรรคการเมืองเพียง 18 พรรคที่ร่วมลงสัตยาบัน เช่น พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน พรรคมาตุภูมิ พรรคการเมืองใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย
เพื่อไทยยังไม่เปิดตัวแคนดิเดตนายกฯ
นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ทันทีที่พรรคมีมติเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจะเปิดเผยรายชื่อต่อสื่อมวลชน เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะเก็บเอาไว้
นายกว้าง รอบคอบ รองหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า วันที่ 12 พ.ค. นี้ จะมีการประชุมพรรคเพื่อเลือกกรรมการบริหารใหม่แทนคนที่ลาออกไปสังกัดพรรคการเมืองอื่น ส่วนพรรคจะส่งผู้สมัคร ส.ส. หรือไม่นั้นคงต้องรอฟังจากที่ประชุมพรรค
“มาร์ค” จัดโปรแกรมเดินสายหาเสียง
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า วันที่ 12 พ.ค. นี้ พรรคจะเปิดตัวนโยบายด้านการศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจะมีการถ่ายทอด Live on FACEBOOK เป็นครั้งแรกผ่านหน้าเพจของหัวหน้าพรรคด้วย
“นายอภิสิทธิ์ในฐานะหัวหน้าพรรคจะเริ่มเดินสายลงพื้นที่หาเสียงไปในทุกพื้นที่ โดยวันที่ 13 พ.ค. ไปหาเสียงที่จังหวัดราชบุรี วันที่ 14 พ.ค. ร่วมเปิดตัวผู้สมัครของพรรคในกรุงเทพฯ วันที่ 15 พ.ค. หาเสียงที่จังหวัดนครสวรรค์และพิษณุโลก วันที่ 16 พ.ค. หาเสียงที่จังหวัดอุบลราชธานี วันที่ 17 พ.ค. ไปที่จังหวัดกาญจนบุรี”
รมว.กลาโหมย้ำทหารอย่ายุ่งการเมือง
พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เน้นย้ำนโยบายกับหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหมและทุกเหล่าทัพว่าห้ามไปยุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หากพบว่ามีกำลังพลไปเกี่ยวข้องจะต้องถูกลงโทษ และให้สื่อของกองทัพเปิดพื้นที่ให้พรรคการเมืองหาเสียงอย่างเท่าเทียมกันทุกพรรค
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ยืนยันว่า กองทัพไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงทางการเมือง ส่วนการทำงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ก็มีหน้าที่ติดตามสถานการณ์ด้านการข่าว บูรณาการด้านการปฏิบัติ หากพบสิ่งผิดปรกติก็แจ้งให้ตำรวจดำเนินการ
ผบ.ทบ. ให้การเมืองแก้ปัญหากันเอง
“เรื่องทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ถ้ายังแก้กันไม่ได้ก็อย่าไปหาคนอื่นมาแก้ ต้องแก้ไขกันเอง อย่าโยงทหารเข้าไปเกี่ยวทุกเรื่อง เลือกตั้งทุกครั้งก็เกิดความรุนแรงทุกครั้ง เกิดจากใครก็ต้องไปหากันให้เจอ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวและว่า ประเทศเราเป็นประชาธิปไตยกันมากี่ปีแล้ว ยังจะมาถามหาประชาธิปไตยกันอีก ส่วนตัวไม่เข้าใจว่าบ้านเมืองเราไม่เป็นประชาธิปไตยตั้งแต่เมื่อไร ทหารพยายามไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่ก็ยังมีคนพูดว่าทหารจะปฏิวัติ จะปฏิวัติทำไม ไม่ใช่เวลา และจะไม่ขอพูดเรื่องนี้อีกเพราะพูดมามากแล้ว
ตำรวจใช้ 5 มาตรการป้องกันปัญหา
พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) เปิดเผยว่า ได้ออกมาตรการ 5 ด้าน เพื่อป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในช่วงเลือกตั้ง ประกอบด้วย
1.ให้ตำรวจทุกคนเป็นกลางทางการเมือง ไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใด ทั้งเรื่องพฤติกรรมและการแต่งกาย
2.ให้ทุกหน่วยงานจริงจังกับการสืบสวนสอบสวนเอาผิดผู้ซื้อสิทธิขายเสียง
3.ให้ พล.ต.ต.สุรชัย ควรเดชะคุปต์ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ สืบสวนจับกุมข้าราชการทุกหน่วยที่วางตัวไม่เป็นกลาง หรือทำให้การเลือกตั้งไม่มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม
4.ให้ทุกหน่วยหาข่าวเกี่ยวกับการขนเงินสดหรือขนอาวุธตั้งแต่บัดนี้ไปจนกว่าการเลือกตั้งเสร็จสิ้น หากพบการกระทำความผิดให้จับกุมดำเนินคดีทันที และ
5.ให้สืบสวนจับกุมมือปืนรับจ้างทั้งในประเทศและที่มาจากต่างประเทศ เพราะปัจจุบันพบว่ามีมือปืนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามารับงานในไทยด้วย
********************************** |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น