วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ทหารเล่นบทบาทคุกคามประชาธิปไตย!


       รายงาน(วันสุข)
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 6 ฉบับที่ 308 ประจำวัน จันทร์ ที่ 2 พฤษภาคม 2011
         โดย ชายชาติ ชื่นประชา
http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10551
         ทหารในประเทศด้อยพัฒนาอย่างประเทศเรา มักจะแสดงอาการให้สังคมได้รู้สึกสมเพชเวทนาอย่างไม่หยุดหย่อนเลยทีเดียว

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็ได้ออกทำงานนอกหน้าที่ พากันตบเท้าแสดงอาการพิพากษาว่ากลุ่มชนบางส่วนในสังคมเข้าข่ายหมิ่นสถาบัน ทั้งๆที่องค์กรทหารไม่ใช่ศาล ไม่น่าจะไปพิพากษาใครล่วงหน้าได้ แถมยังมีปัญหาถึงความเหมาะสมให้ขบคิดอีกด้วย


การที่ทหารในฐานะองค์กรออกมาแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวต่างๆในช่วงนี้นั้น ถูกหรือผิดแล้วแต่จะใช้เครื่องมือใดมาพิจารณา ถ้ามองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นไปตามบทบาทหน้าที่ที่ชอบอ้างกันอยู่ว่าทหารมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ต้องปกป้องอธิปไตยและรักษาสถาบันแล้ว มองเผินๆก็เหมือนไม่ได้ผิดอะไร


แต่ที่จริงต้องวิเคราะห์ไปถึงสถานภาพและบทบาทขององค์กรทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าทีที่เลยไปไกลถึงขั้นบอกว่า “อย่าบีบบังคับให้จับปืน” นั้น ตีความไปถึงขั้นได้ว่าเป็นการข่มขู่ คุกคามต่อระบอบประชาธิปไตยเลยทีเดียว
ในทางสากลแล้วหากพิจารณาองค์กรทหารในฐานะเป็นกลไกสำคัญกลไกหนึ่งของรัฐ ต้องถือว่ากลไกรัฐตามตัวแบบคือ ผู้ที่มีความชำนาญเป็นพิเศษในด้านต่างๆต้องทำตัวเป็นกลาง ใช้วิชาชีพของตนรับใช้ผู้มีอำนาจรัฐ ซึ่งก็คือตัวแทนของราษฎรที่ถูกคนทั้งประเทศเลือกสรรมาให้มาบริหารองค์กรดังกล่าว เพราะถือว่าองค์กรดังกล่าวผ่านการเลือกตั้งมาจากประชาชน


จริงๆแล้วตัวแบบที่กล่าวมาในเชิงสากลเกิดขึ้นเฉพาะในประเทศที่มีพัฒนาการของประชาธิปไตยเจริญเติบโตเต็มที่ ต้องยอมรับว่าประเทศเหล่านั้นระบบการเมืองหรือการเลือกตั้งก็ได้ตัวแทนราษฎรที่แท้จริงเข้ามาทำหน้าที่ผู้แทนราษฎร แต่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้พิสูจน์แล้วว่ากลไกรัฐสำคัญเหล่านี้ เช่น ทหาร กลับเป็นผู้เข้าทำการเปลี่ยนแปลงรัฐและยึดอำนาจเอาอำนาจรัฐมาไว้ในมือ กลไกรัฐเหล่านี้จึงมีอำนาจรัฐเหนืออำนาจประชาชน


ดังนั้น พัฒนาการประวัติศาสตร์การเมืองของไทย กลไกรัฐสำคัญโดยเฉพาะพวกถืออาวุธ จึงไม่ยอมสูญเสียอำนาจ หรือปล่อยอำนาจให้ประชาชนเข้าบริหารหรือแม้แต่จะเอาอำนาจไว้ในมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสถานการณ์บ้านเมืองยังเป็นช่วงของการต่อสู้ระหว่างอีลิตร่วมกับกลุ่มอำนาจเก่าต่อสู้กับทุนใหม่ด้วยแล้ว


กลุ่มอีลิตจะสร้างวาทกรรมแปลกๆให้กลไกรัฐ เช่น ทหาร ไม่ยอมรับอำนาจของประชาชน เช่นวาทกรรมโง่เง่าเรื่องม้ากับผู้ที่เป็นจ๊อกกี้ เปรียบทหารเหมือนม้า ผู้ที่ผ่านการเลือกตั้งเป็นแค่จ๊อกกี้ขี่ม้า ต้องถือว่าคนขี่หรือจ๊อกกี้ไม่ใช่เจ้าของ


วาทกรรมโง่เง่าเช่นนี้แหละทำให้ทหารไม่ยอมรับเกณฑ์ หรือกติกาทางการเมืองแบบประชาธิปไตยผ่านระบบการเลือกตั้ง ปฏิเสธอำนาจประชาชน และเหมารวมไปว่าการเลือกตั้งจะทำให้กลุ่มทุนเข้ามามีอำนาจทางการเมือง แต่ลืมไปว่ากลุ่มอีลิตงี่เง่าที่ได้อำนาจมาโดยวิธีพิเศษนั้น บางครั้งชั่วกว่าผู้ที่ผ่านการเลือกตั้ง


เพราะนักการเมืองแต่ละคนที่จะลงเลือกตั้งนั้น จะต้องถูกตรวจสอบ เอกซเรย์ตามกระบวนการที่เปิดเผย โปร่งใส ที่สำคัญประชาชนมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์หรือเลือกนักการเมืองนั้นให้เป็นตัวแทนหรือไม่ให้เป็นก็ได้ ตรงข้ามกับพวกอีลิตงี่เง่าที่แม้เราไม่อยากได้เป็นผู้บริหาร แต่ก็ใช้อำนาจปากกระบอกปืนเอาตัวขึ้นมาบริหารอย่างไม่เกรงใจเรานั่นเอง


การตบเท้าของทหารนั้นหากมองในข้อเท็จจริงทางการเมืองของไทย ซึ่งกำลังเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน สังคมต้องคิดเอาเองว่าตกลงเราจะพัฒนาระบอบการเมืองแบบการเลือกตั้ง แม้จะมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง แต่ต้องให้ระบบเหล่านั้นพิสูจน์และปรับตัวเอง แม้จะมีการซื้อเสียง บางครั้งได้นักการเมืองที่มีปัญหาทั้งที่มาและพฤติกรรมอยู่บ้าง แต่ก็ควรจะให้ระบบการเมืองแก้ไขโดยตัวของมันเอง


ทางเลือกที่เราไม่ควรใช้คือ การเปลี่ยนแปลงโดยวิธีนอกระบบ เช่น การยึดอำนาจ เพราะวิธีนี้ถูกใช้มานานในประเทศไทยและไม่เคยแก้ปัญหาในระยะยาวได้จริง ท้ายที่สุดเรามักจะตกอยู่ในวังวนที่พวกได้รับการแต่งตั้งจากคณะปฏิวัติ สุดท้ายมักจะชั่วเท่ากับหรือมากกว่าพวกทุนแบบนักเลือกตั้ง เพราะอย่างน้อยนักเลือกตั้งยังถูกเราถอดถอนได้


จริงๆแล้วทหารเป็นองค์กรที่มีอาวุธอยู่ในมือ ทหารต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่ถือหางฝ่ายใด ไม่ว่าจะเป็นอีลิตหรือกลุ่มทุน เพราะการแสดงออกไปอิงกับข้อกล่าวหาที่กลุ่มหนึ่งใช้โจมตีอีกกลุ่มหนึ่ง เท่ากับไปเพิ่มน้ำหนักให้กับการต่อสู้ระหว่างกลุ่ม เหมือนจะบอกว่าทหารเลือกข้างที่จะยืนอยู่กับกลุ่มอีลิต แต่ไม่เลือกประชาชน


ที่จริงแล้วทางเลือกในการพัฒนาสังคม ไม่ว่าจะเป็นทางซ้าย กลาง หรือขวา ต้องให้คนในสังคมเป็นผู้ตัดสิน ทหารแต่ละคนในฐานะอัตบุคคลก็มีสิทธิเลือกทางเดินดังกล่าวผ่านระบบพรรค หรือเมื่อวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
ทหารในฐานะองค์กรจึงไม่มีสิทธิออกมาแสดงความเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแสดงความโง่เง่า หงุดหงิด คุกคาม ว่าอย่าบังคับให้จับปืน เพราะประชาชนเขาจะตีความว่าพวกลื้อข่มขู่ คุกคาม เลือกข้าง ใช้ปืนบีบบังคับฝ่ายตรงข้ามให้ต้องสมยอม


แล้วรูปธรรมของเหตุการณ์เมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา ก็พิสูจน์ว่าพวกลื้อใช้กระสุนลั่นไกสังหารประชาชนฝ่ายตรงข้าม แต่งานในหน้าที่หลักเวลาเจอข้าศึกที่มีอาวุธและมีความสามารถ เช่น เหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือแม้แต่ชายแดนไทย-กัมพูชา กลับหัวหดและไม่มีปัญญาจัดการแก้ไขปัญหาได้สักที สงสัยจะถนัดแต่ยิงประชาชนมือเปล่า...สวัสดีทหารไทย (กลุ่มชั่วร้าย)


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 308 

วันที่ 30 เมษายน – 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 
หน้า 10 คอลัมน์ ทหารใหม่วันนี้ โดย ชายชาติ  ชื่นประชา
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น