วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555

อย่าไปปรองดองมันเลย

อย่าไปปรองดองมันเลย
โดย...สอาด จันทร์ดี


 
              ในสังคมการเมืองไทยพากันวุ่นวายใจที่ร่างพระราชบัญญัติปรองดอง 4 ฉบับ ไม่ได้รับการบรรจุเข้าสภาทั้งๆ ที่ได้เคยมีการ “ถกเถียง” กันมาก่อนแล้ว แต่จบไม่ลง เพราะมีข้อขัดแย้งใน สภารุนแรงแทบจะตีกันตาย  แถมนอกสภาก็ได้มี “ม็อบ” สันติอโศก – พันธมิตรพาคนมาบุกดังที่ทุกท่านทราบดีอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้ “นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตัดสินใจแถลงในวันสั่งนัดประชุมสภาครั้งที่ 20 แจ้งให้สภาทราบ ได้เลื่อน ร่าง พ.ร.บ. ปรองดองออกไปแบบไม่มีกำหนด และยังไม่อาจทราบได้ว่าจะบรรจุกลับเข้าสภาอีกเมื่อใด
                สื่อหลายแขนงพากันเสนอข่าวว่า พ.ร.บ. ปรองดองล่องหน คล้ายกับว่ามีความเสียดายที่สภาไม่หยิบยกเอาเรื่องความปรองดองขึ้นมาทำให้ แล้วเสร็จ
                ตัวผมกลับเป็นตรงกันข้ามไม่ได้มีความรู้สึกเสียดายอะไรเลย และไม่อยากเขียนถึงเสียด้วยซ้ำ แต่ในฐานะตัวเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมือง 10 เมษา – 19 พฤษภา 2553 ในฐานะเป็นคนเสื้อแดงที่ได้สละหยาดเหงื่อแรงงาน เอาชีวิตเข้าแลก รวมทั้งได้ทุ่มเทหัวใจทำงานให้กับกระบวนการคนเสื้อแดงอย่างเต็มที่ ใช้เวลาอยู่กับคนเสื้อแดงตั้งแต่วันโน้นมาจนถึง วันนี้ หมดค่าใช้จ่ายไปไม่น้อย ผมก็ยังไม่เคยคิดจะหนีไปจากเสื้อแดงทั้งนี้เนื่องจากการต่อสู้ของคนเสื้อแดง นั้นเป็นการต่อสู้เพื่อประโยชน์และประชาธิปไตยของคนไทยทั้งประเทศ   
                ดังนั้นผมจึงมีความจำเป็นที่จะต้องแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ปรองดอง ที่ล่องหนหายไปนั้น ตัวผมไม่ได้มีความรู้สึกเสียดาย เมื่อไม่อยากปรองดอง 

                ก็อย่าไปปรองดองมันเลย ?

                เหตุที่ผมเกิดความรู้สึกอย่างนี้ก็เพราะประโยชน์ของ พ.ร.บ. ปรองดองที่ว่านั้น  ว่าโดยเนื้อหาสาระแล้ว  ประโยชน์ตกอยู่กับทหารและนักการเมืองต่างหากเล่า ? ส่วนประชาชนตาดำๆ ที่ไปยอมตายที่ถนนราชดำเนินและราชประสงค์คราวนั้น ไม่ได้อะไรเลย 
                ผมขอถามว่า พ.ร.บ. ปรองดองทำให้ได้ค่าแรงขึ้นกระนั้นหรือ
                พ.ร.บ. นี้ทำให้ได้สวัสดิการดีขึ้นกระนั้นหรือ หรือว่าได้ปูนบำเหน็จพิเศษอะไรบ้าง  เปล่าเลย...มันไม่ได้อะไรเลย  สิ่งที่จะได้ ก็คือการเยียวยาซึ่งมีอยู่แล้ว  อันหมายถึงแม้จะไม่มี พ.ร.บ. ปรองดอง ก็ได้รับเงินเยียวยาอย่างทั่วถึง  คนที่ได้รับการเยียวยาอาจจะได้รับมากน้อยแตกต่างกันบ้างเป็นของธรรมดา แล้วแต่กรณี  ส่วนกรณีของคนเสื้อแดงที่ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐ “ยิงทิ้ง” และจับเอาไปคุมขังมากมายหลายคนนั้น แม้จะไม่มี พ.ร.บ. ปรองดองก็ยังสามารถที่จะฟ้องร้องต่อศาลขอให้เอา “คนผิด” มาลงโทษให้ได้
        ผมว่า พ.ร.บ. ปรองดองต่างหากเล่าที่จะทำให้คนผิดไม่มีความผิด ... อันหมายถึงถ้าสภาผู้แทนราษฎร ปล่อยให้สภามี พ.ร.บ. ปรองดองวันใด วันนั้นแหละจะทำให้พวก อาชญากรจอม โหดไม่ต้องขึ้นศาล ไม่ต้องมีคดีติดตัว  ทั้งนี้เนื่องจาก พ.ร.บ. ปรองดอง จะกลายเป็นการออกกฎหมาย “นิรโทษ” ให้แก่ผู้คนทั้งหลายที่ร่วมมือกันเข่นฆ่าประชาชน
        โดยข้อเท็จจริงที่ผมไม่อยากให้มี พ.ร.บ. ปรองดองก็เพราะวิตกไปว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้จะเข้าไปเคลียร์ปัญหาอันเลวร้าย ทำให้คนชั่วกลายเป็นคนดี ทำให้ที่ไม่ดีทั้งหลาย ออกมาอวดเบ่ง แล้วก็พากัน “ก๋ากลั่น” สนั่นเมือง ดังที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน
        ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยภายใต้อุ้งอำนาจของจารีตประเพณี (เผด็จการ) ได้แผ่ขยายเขตอิทธิพลไปทุกหย่อมหญ้า ที่จะสามารถหยิบเอาแต่ละเรื่องมาอธิบายให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมได้เปิดเผย  (จริงไม่จริง โปรดพิจารณาดู) ดังนี้
                 หนึ่ง :  กรณีรัฐบาลนายอภิสิทธิ์กล่าวหาว่าคนเสื้อแดงกับชายชุดดำเป็นพวกเดียวกัน แล้วโยนความผิดไปให้ชายชุดดำว่าเป็นคนลั่นไกปืนยิงคนเสื้อแดงตาย รวมทั้งโยนความผิดไปให้กองกำลังไม่ทราบฝ่าย ว่าเป็นผู้ลั่นไกปืนยิงประชาชนนั้น (นี้คือเผด็จการใช่หรือไม่ ?)
                สอง :  ต่อข้อหาดังกล่าวนี้  ผมแปลกใจอย่างยิ่งว่าทำไมจึงแก้ข้อกล่าวหาไม่ตก วิธีการที่จะแก้ข้อกล่าวหาให้ตกไปได้นั้น อยู่ที่ข้อเท็จจริง 2 ประการ
                (ข้อ 1) :  เหตุไร  ทหารจึงไม่ถ่ายเก็บภาพชายชุดดำเอาไว้
                (ข้อ 2) :  เหตุไร ทหารจึงไม่ยิงชายชุดดำแม้แต่คนเดียว
                ดังนั้น เมื่อทหารไม่ถ่ายเก็บภาพเอาไว้ และไม่ยิงชายชุดดำ จึงทำให้มีคำถามว่าแล้วที่กล่าวหาอย่างเอาเป็นเอาตายนั้น ที่แท้ก็คือการกล่าวหาปราศจากหลักฐานอยู่แล้ว  เมื่อกล่าวอ้างโดยปราศจากหลักฐาน แล้วเหตุไร  ทนายของคนเสื้อแดง จึงไม่ซักถามประเด็นนี้
               ท่านครับ ผมเขียนแสดงความคิดเห็นออกมาอย่างนี้  ก็เพื่อจะยืนยันว่าพวกเขาไม่อยากปรองดอง ก็อย่าไปปรองดองมันเลย  ปล่อยให้จับอาชญากรเข้าซังเตได้เสียก่อน ถึงตอนนั้น มันจะปรองดองเอง ...ผมเชื่อแบบนี้ครับ ?!

                สอาด จันทร์ดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น