รมต.นิวซีแลนด์ ชี้ไม่เหมาะสม ออกความเห็นปม ‘ตั้ง อาชีวะ’ เผยกระทบสิทธิส่วนบุคคล ‘ปณิธาน’ ที่ปรึกษารองนายกฯ แนะแลกตัวผู้ร้ายข้ามแดนกับคนหนี ม.112 แจงต่างประเทศเป็นคดีอาญาไม่ใช่คดีการเมือง
7 ม.ค.2558 ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการติดตามตัวผู้หลบหนีคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หรือ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อยู่ที่ต่างประเทศว่า กระทรวงการต่างประเทศกำลังดำเนินการอยู่ แต่ด้วยบรรยากาศของรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารเขาก็ต้องระวังตัว สิ่งที่ต้องทำมากขึ้นคือการทำความเข้าใจกับต่างประเทศว่าคดีที่มีการหลบหนีเป็นคดีอาญาไม่ใช่คดีทางการเมือง แต่เป็นคดีที่เป็นคดีกระทบกระเทือนกับประเทศไทย และไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงวิชาการ และคนเหล่านั้นยังไปเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศของคุณ ก็ต้องถามประเทศนั้นว่าเขาจะช่วยอะไรได้บ้างในฐานะมิตรประเทศ เพราะบางรายมีหมายจับและได้สิทธิพิเศษในการได้พาสปอร์ตเพื่อลี้ภัยแต่ยังไปเคลื่อนไหวทางการเมืองก็เป็นการทำผิดกฎหมายประเทศนั้นด้วย
“ถ้าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ทางวิชาการทั่วไปก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเป็นการนำเอามาเป็นประเด็นการเมือง เราก็ต้องขอให้รัฐบาลประเทศนั้นๆ ช่วยดูแล เพราะคนเหล่านี้ไปดึงเรื่องของสถาบันมาเป็นประเด็นโจมตีกันไปมา โดยใช้พื้นที่ของประเทศนั้นๆ เป็นฐานที่อยู่ ก็ต้องบอกเขาว่าประเด็นนี้คนไทยจำนวนมากรู้สึกและรับไม่ได้ เราต้องแยกแยะให้ฝรั่งได้รู้และเข้าใจว่าถ้าเป็นเรื่องวิชาการหรือพูดคุยทั่วไปเราไม่เคยไปยุ่งกับเขาเลย แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไปใส่ร้าย ไปกล่าวหาว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเล่นการเมือง เราก็ต้องบอกเขาเลยว่า เรามีกฎหมายแลกเปลี่ยนกันไม่ใช่เหรอ คนพวกนี้ทำผิดกฎหมาย ขอให้คุณช่วยหน่อย คุณจะทำอะไรได้บ้าง” ปณิธาน กล่าว
ปณิธาน กล่าวถึงการขอให้ต่างประเทศช่วยส่งตัวคนกลุ่มคนดังกล่าวกลับมาว่า เรื่องนี้ต้องพิจารณาหลายอย่าง เช่น เขามีหมายจับหรือไม่ หรือถ้าไม่มีหมายจับแล้วหากเขาเคลื่อนไหวทางการเมือง คุณจะอนุญาตหรือไม่ ปกติคนเหล่านี้เข้าเมืองจะมีเงื่อนไขอยู่แล้วว่าถ้าเข้าเมืองเขาให้สิทธิพิเศษ ให้พาสปอร์ต แต่ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ถ้าเป็นแบบนี้เขาก็ต้องไปจัดการกันเอง เราไม่ไปยุ่งเพียงแต่เราเตือนเขาว่านี่เห็นหรือไม่ว่าคนเหล่านี้ทำอะไร
“แต่ในกรณีที่มีหมายจับ ก็ต้องมาเทียบคดีว่าทำได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้เพราะคดีไม่เหมือนกัน เราก็ต้องขอความร่วมมืออีกแบบหนึ่ง เช่น อาจจะเป็นลักษณะการส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือถ้าสนธิสัญญาไม่มีก็อาจจะมีการแลกเปลี่ยนวิธีพิเศษ เหมือนที่เราทำกับกัมพูชาที่ตอนนี้ยังไม่มีกฎหมาย ทำได้หรือไม่ และถ้าไม่ได้คุณจะร่วมมืออย่างไรในฐานะที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ดี คุณต้องเข้าใจก่อนว่าคนเหล่านี้ทำผิดหรือเปล่า เขาออกมาพูดหมิ่นสถาบันฯ อย่างเสียๆ หายๆ กับคนธรรมดาเขายังไม่ด่ากันอย่างนี้ ใส่ชื่อ ใส่อะไรแบบแปลกๆ คุณเห็นด้วยหรือไม่ ขนาดมีคนด่าประธานาธิบดี ด่านายกฯ คุณ คุณยังไม่ยอมเลย อย่างนี้คุณจะทำอะไรได้บ้าง และถ้าไม่เห็นด้วยจะทำอย่างไรกับคนเหล่านี้ที่หนีไปอยู่บ้านคุณ”
ปณิธาน กล่าวว่า เขาอาจจะนึกว่าเป็นเรื่องวิชาการ เป็นเรื่องวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกฎหมาย และต้องเข้าใจว่ากลุ่มที่ต้องการพูดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มีหลายกลุ่ม ถ้าเป็นกลุ่มคนหัวก้าวหน้าก็ไม่เป็นไร บางคนไม่กล้าพูดเพราะกลัวถูกเหมารวม แต่ความจริงพูดได้ เพียงแต่เราต้องแยกแยะให้ดี แต่กับกลุ่มที่ต้องการสร้างเงื่อนไขให้คนออกมาเผชิญหน้ากัน และมาเป็นเงื่อนไขในการเคลื่อนไหวโจมตีรัฐบาลก็ต้องดำเนินการ
“ท่านทรงเคยรับสั่งแล้วว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต้องดูให้ดีว่ากฎหมายนี้มีไว้เพื่ออะไร จะใช้อย่างไร อย่าเอาไปใช้เป็นเครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ บางทีก็กลัวเมื่อมีคนไปแจ้งความก็ไม่กล้าจะทำอะไร ในสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ ถึงได้การตั้งคณะกรรมการที่มีนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ เป็นประธานขึ้นมาดูว่าคดีไหนควรจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง” ปณิธาน กล่าว
ปณิธานกล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ในเรื่องของการพูดคุยกับประเทศต่างๆ คิดว่าทางกระทรวงการต่างประเทศกำลังดำเนินการอยู่และเขาก็ต้องระมัดระวังให้มากขึ้นเพราะมันมีทั้ง 2 เรื่อง คือ เรื่องทางการเมือง และเรื่องปกติทางอาญา ต่างประเทศเขามีความเข้าใจมากขึ้นและรัฐบาลที่มาจากทหารทำให้เขาระวังขึ้น
รมต.นิวซีแลนด์ ชี้ไม่เหมาะสม ออกความเห็นปม ‘ตั้ง อาชีวะ’ เผยกระทบสิทธิส่วนบุคคล
วันเดียวกัน ทอดด์ แม็คเคลย์ หนึ่งในรัฐมนตรีของรัฐบาลนิวซีแลนด์และหน่วยงานด้านตรวจคนเข้าเมือง ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อกรณีกระทรวงการต่างประเทศไทยได้สอบถามไปยังสถานทูตนิวซีแลนด์ถึงสถานภาพของ เอกภพ หรือ ‘ตั้ง อาชีวะ’ ผู้ต้องหาตามกฎหมายอาญามาตรา 112
โดยรัฐมนตรีแม็คเคลย์กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ขณะที่หน่วยงานด้านตรวจคนเข้าเมืองอ้างว่าการแสดงความเห็นใดๆจะเป็นการกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคล และกฎหมายของนิวซีแลนด์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น