เว็บไซต์ ‘ทีนิวส์การเมือง’ อ้าง ‘เดโมเครซีแรงกิ้ง’ ระบุปี 57 อันดับปชต.ไทยทะยานที่ 63 ขึ้นจากปีก่อน 11 อันดับ ที่แท้เป็นข้อมูลเปรียบเทียบ ปี 55-56 สมัยยิ่งลักษณ์ กับ ปี 52-53 สมัยอภิสิทธิ์
เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ ‘ทีนิวส์การเมือง’ เผยแพร่ข่าว โดยพาดหัวว่า “น่าซูฮก !!! อันดับปชต.ไทยทะยานที่ 63 ดีดขึ้นมา 11 อันดับ -รั้งที่ 3 ในอาเซียน” พร้อมระบุว่า ผู้สื่อข่าว(ทีนิวส์การเมือง)รายงานว่า เว็บไซต์เดโมเครซีแรงกิ้ง ได้เผยแพร่การจัดอันดับประชาธิปไตย 112 ประเทศ ทั่วโลกกว่า ประจำปี 2557 โดยในปีนี้ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 63 ดีขึ้นจากปีที่แล้ว 11 อันดับ ส่วนประเทศที่ได้คะแนนความเป็นประชาธิปไตยสูงสุด คือ นอร์เวย์ มีคะแนน 87.8 คะแนน ตามด้วย สวิตเซอร์แลนด์ 85.9 คะแนน ฟินแลนด์ (85.8) ส่วนสหรัฐอเมริกาอยู่ในอันดับที่ 16 ได้ 76.9 คะแนน
อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบแหล่งที่มา เว็บไซต์เดโมเครซีแรงกิ้ง ตาม URLhttp://democracyranking.org/wordpress/ranking/2014/data/Scores_of_the_Democracy_Ranking_2014_a4.pdfพบว่าอันดับดังกล่าว เป็นการขยับขึ้นจาก 2009-2010(พ.ศ.2552-2553) ซึ่งไทยได้ 50.1 คะแนน เป็น 54.0 ในปี 2012-2013(พ.ศ.2555-2556) ทำให้อันดับขยับขึ้นมา 11 อันดับ จนกระทั่งอยู่ที่ 63 เป็นอันดับที่ 3 ของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเป็นรองสิงคโปร์ ที่อยู่ในอันดับที่ 39 ได้ 65.3 คะแนน และฟิลิปปินส์ อันดับ 50 ได้ 59.2 คะแนน
นอกจากนี้พบว่าการเสนอภาพตารางการจัดอันดับของทีนิวส์การเมืองนั้นเสนอเฉพาะอันดับที่ 60-72 ทำให้ไม่เห็นรายละเอียดของปีที่ใช้เป็นฐานอ้างอิงการจัดลำดับดังกล่าว
ทั้งนี้ Voice TV รายงานด้วยว่า สมาพันธ์จัดอันดับประชาธิปไตย หรือ Global Democracy Ranking Association ที่จัดอันดับประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ ทั่วโลก 112 ประเทศ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเวียนนาของออสเตรีย องค์กรนี้จัดอันดับประชาธิปไตยทั่วโลกเพื่อส่งเสริมคุณภาพของประชาธิปไตยในสังคม และทำให้ทั่วโลกมีความเข้าใจในความหมายและคุณค่าของประชาธิปไตยมากขึ้น
โดยการจัดอันดับจะดูจาก 6 ปัจจัยหลัก ปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็คือระบบการเมืองในประเทศนั้นๆ แต่อีก 5 ปัจจัยที่ Global Democracy Ranking ให้น้ำหนักรองลงมา เป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากระบบการเมือง และประชาธิปไตย นั่นก็คือความเท่าเทียมและเสรีภาพทางเพศ ระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษาและการเสริมสร้างความรู้ในสังคม ระบบสาธารณสุข และการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ประเทศไทยเพิ่งได้รับการจัดอันดับครั้งแรกในปี 2010 แล้วก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้อยู่ในอันดับที่ 63 จาก 112 ประเทศ ถือว่ามีประชาธิปไตยอยู่ในระดับปานกลาง ไม่ต่ำและไม่สูง เนื่องจากข้อมูลที่ใช้ในการจัดอันดับอยู่ในช่วงปี 2013 ซึ่งยังไม่เกิดการรัฐประหารขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น