โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ นำเสนอรายงานประจำปี 2557 เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ แบ่งออกเป็น 5 เรื่อง ได้แก่ 1.การเรียกบุคคลรายงานตัว การจับกุมและควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก 2.คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ เดินหน้าหนึ่งก้าวก่อนถอยหลังสามก้าว 3.เสรีภาพการชุมนุม การแสดงออกสาธารณะ และการตั้งข้อหาทางการเมือง 4.การฟ้องคดีหมิ่นประมาท และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพื่อปิดกั้นการแสดงออก 5.เก็บตกเหตุการณ์ก่อน-หลังรัฐประหาร การเซ็นเซอร์ตัวเอง การปิดกั้นสื่อออนไลน์ การปิดวิทยุชุมชนและอื่นๆ
ในประเด็นการเรียกรายงานตัวและคุมตัวตามกฎอัยการศึกษานั้น รายงานระบุว่ามีหลายกรณีที่ถูกควบคุมตัวเกินอำนาจตามกฎอัยการศึก 7 วัน รวมถึงมีการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยคดีอาวุธระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร
ตัวอย่างกรณีที่ถูกซ้อมทรมาน เช่น ‘ชัชวาล’ ถูกจับกุมพร้อมภรรยากลางสี่แยกในจังหวัดเชียงใหม่โดยเจ้าหน้าที่ทหารราว 50 คน พร้อมอาวุธครบมือ ระหว่างควบคุมตัวเขาถูกมัดมือไขว้หลังและถูกทำร้ายร่างกายโดยชายที่สวมหน้ากากรูปสัตว์ 2 คน จากนั้นถูกนำตัวไปบนรถตู้และถูกทำร้ายร่างกายเป็นระยะ อีกราว 3 - 4 ชั่วโมง มีการนำสายไฟพันสำลียัดเข้าไปในช่องทวารหนัก อีกส่วนหนึ่งนำมามัดที่อวัยวะเพศ เอาน้ำราดแล้วปล่อยกระแสไฟช็อต เมื่อร้องก็ถูกถุงพลาสติกดำคลุมศีรษะทำให้ร้องไม่ได้และหายใจติดขัด นอกจากนี้ยังมีการนำปืนพกสั้นยัดใส่ปากพร้อมบังคับให้สารภาพว่านำอาวุธไปซ่อนไว้ที่ใด เขาถูกควบคุมตัวนานหลายวันก่อนที่จะถูกนำตัวมาแถลงข่าวและแจ้งข้อกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเหตุยิงระเบิด M79 หลายเหตุการณ์
กรณี ‘กิตติศักดิ์’ ผู้ต้องหาคดีชายชุดดำ ถูกชาย 3 คนบุกจับกุมยังที่ทำงานโดยไม่มีหมายจับ ระหว่างการควบคุมตัว ถูกสอบสวนโดยใช้ถุงคลุมศีรษะเพื่อไม่ให้เห็นหน้าผู้สอบสวน ถูกตบหัวและตบปาก ถูกจับนอนเหยียดตัวและมีคนนั่งทับเท้าทั้งสองข้างและนั่งทับบนตัวทำให้หายใจไม่ออก เพื่อให้รับสารภาพเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันที่ 10 เมษายน 2553 พร้อมทั้งให้ขยายผลไปถึงคนอื่น โดยเขาจะได้รับการเปิดตาในเวลานอนเท่านั้น แต่ก็ยังถูกใส่กุญแจมือตลอดเวลา
ในประเด็นคดีตามมาตรา 112 นั้น รายงานระบุว่า สถานการณ์การจับกุมและการพิพากษาคดีนี้ในช่วงก่อนรัฐประหารดูเหมือนจะมีความก้าวหน้าในแง่บทลงโทษที่น้อยลง แต่ภายหลังการรัฐประหารการณ์กลับตรงข้าม หลังการรัฐประหาร พบว่ามีการเร่งรัดจับกุมและดำเนินคดี ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าทำความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จนปริมาณคดีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในเดือนพฤษภาคมก่อนการรัฐประหารมีนักโทษในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์อยู่ในเรือนจำ เท่าที่ทราบ 5 คน และค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นเป็น 24 คน ในช่วงปลายปี ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ไม่ได้รับการประกันตัวและถูกดำเนินคดีในศาลทหารซึ่งมีการพิจารณาปิดลับ อีกทั้งยังพบว่าศาลทหารลงโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้หนักกว่าศาลยุติธรรมปกติถึงเท่าตัว
ในประเด็นเสรีภาพในการชุมนุมนั้น รายงานระบุว่า มีผู้ถูกจับกุมจากการออกมาชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธอย่างน้อย 134 คน มีผู้ถูกตั้งข้อหาตามประกาศฉบับที่ 7/2557 อย่างน้อย 48 คน เป็นผู้ถูกจับกุมในกรณี “ขอนแก่นโมเดล” 24 คน เหลือคนที่ถูกตั้งข้อหาจากการแสดงออกในที่สาธารณะอย่างน้อย 24 คน แบ่งเป็น 15 คดี คดีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วมีอย่างน้อย 12 คดี ข้อสังเกตต่อคดีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วคือ ทุกคดีศาลพิพากษาให้รอลงอาญา แม้แต่กรณีที่ขึ้นศาลทหารก็ลงโทษเท่ากันหมดทั้ง 11 คดี คือ จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 นอกจากนี้จำเลยคดีนี้ส่วนใหญ่ได้ประกันตัวระหว่างการสอบสวนด้วยหลักทรัพย์ 10,000 - 40,000 บาท
ในประเด็นการฟ้องหมิ่นประมาทและการใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นั้น รายงานระบุว่า ปี 2557 มีคดีหมิ่นประมาทที่เป็นประเด็นสาธารณะ 12 คดี มีการถอนฟ้อง 6 คดี ยกฟ้อง 2 คดี รอการลงโทษ 1 คดี และอยู่ระหว่างพิจารณาคดี 4 คดี โดยจะเห็นได้ว่า บุคคลหรือหน่วยงานที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาท ล้วนเป็นองค์กรที่มีฐานะอยู่เหนือกว่าผู้ถูกฟ้องคดีในแง่ต้นทุนในการต่อสู้คดี ตัวอย่างเช่น กรณีบริษัททุ่งคำ ยื่นฟ้องชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ หรือกรณีบริษัท เนเชอรัล ฟรุ๊ต ยื่นฟ้องอานดี้ ฮอลล์ นักวิจัยด้านสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ทั้งยังมีปรากฏการณ์ว่าหน่วยงานของรัฐเข้ามาเป็นโจทก์ฟ้องหมิ่นประมาทเอกชนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของหน่วยงานหรือบุคลากรของหน่วยงาน เช่น กรณีกระทรวงพลังงาน ยื่นฟ้อง ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระ กรณีคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ฟ้อง ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ และณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการ “ที่นี่ไทยพีบีเอส” กรณีกองทัพเรือฟ้องสำนักข่าวภูเก็ตหวาน และกรณีสำนักงานศาลปกครองฟ้องสำนักข่าวอิศรา เป็นต้น
ประเด็นสุดท้ายคือเก็บตกการละเมิดสิทธิหรือเซ็นเซอร์ตัวเองอื่นๆ เช่น การคุกคามการำงานของสื่อโดยประชาชน, ประกาศต่างๆ ของคสช.ที่มีผลจำกัดเสรีภาพสื่อและประชาชนและรูปธรรมที่ทหารควบคุมการทำงานของสื่อมวลชน, กรณีสื่อเซ็นเซอร์ตัวเอง, กรณีสื่อท้องถิ่นขนาดเล็กต้องปิดตัวตามประกาศ 1/2557, การปิดกั้นเว็บไซต์ต่างๆ ตลอจนการห้ามจำหน่วยหนังสือ เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น