วันพุธที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2558

คณะรัฐบุคคลเสนอเขียน รธน.ให้ ‘กองทัพ-รัฐบุรุษ’ รับสนองฯ แก้วิกฤตการเมือง

6 ม.ค.2558 พล.อ.สายหยุด เกิดผล ประธานคณะรัฐบุคคล กล่าวว่า คณะรัฐบุคคลได้ทำหนังสือข้อเสนอส่งไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยเสนอให้เขียนรัฐธรรมนูญให้มีผู้สนองพระบรมราชโองการจากพระประมุขเมื่อเกิดวิกฤตทางการเมืองสูงสุด และหากไม่สามารถแก้วิกฤตได้ก็ต้องรับผิดชอบโดยไม่มีความเกี่ยวข้องกับพระประมุข
กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า พล.อ.สายหยุด กล่าวว่า อยากเสนอให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเขียนในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนโดยเฉพาะเรื่องพระราชอำนาจของพระประมุข โดยขอให้เขียนโดยให้อำนาจองค์พระประมุขเข้ามาแก้ไขกรณีเกิดวิกฤตในบ้านเมือง โดยใช้พระราชอำนาจผ่านสถาบันกองทัพ หรือผู้ดำรงตำแหน่งรัฐบุรุษที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ไว้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการรัฐประหารที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งนี้ สถาบันประมุขถือเป็นสถาบันสูงสุด เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ แต่ที่ผ่านมาในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดถึงเรื่องพระราชอำนาจอย่างชัดเจน และที่ผ่านมาทุกฝ่ายต่างถกเถียงกันถึงเรื่องขอบเขตพระราชอำนาจของพระองค์มาโดยตลอด จึงขอให้กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญเขียนเป็นหลักในรัฐธรรมนูญให้ชัด
พล.อ.สายหยุด กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะรัฐบุคคลไม่เคยขอให้ทหารออกมาทำรัฐประหาร และเชื่อว่าทหารก็ไม่อยากทำเช่นกัน และการที่ต่างประเทศคิดว่าการรัฐประหารไม่ถูกต้องนั้น เป็นเพราะไม่รู้วัฒนธรรมของไทย ซึ่งในทางปฏิบัติก็ทำให้บ้านเมืองสงบได้ และมองว่าการแก้ปัญหาด้วยการทำรัฐประหารเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เมื่อทำไปแล้วก็เห็นอยู่ว่าเหวอยู่ข้างหน้า จึงจำเป็นต้องมีแนวทางที่ชัดเจนออกมาเพื่อแก้ปัญหานี้
กรุงเทพธุรกิจกล่าวถึงรายงานจากผู้สื่อข่าวว่า สำนักงานคณะรัฐบุคคลได้ออกแถลงการณ์ที่ 001/2258 เรื่อง การปฏิรูปรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ไขวิกฤตทางการเมือง ตอนหนึ่งว่า คณะรัฐบุคคลมีความเห็นว่าการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปที่กำลังดำเนินอยู่ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ สามารถป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตทางการเมือง ดังนั้นคณะรัฐบุคคลจึงเห็นว่าต้องยกร่างโดยใช้หลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ แทนที่ร่างเฉพาะรัฐธรรมนูญแค่ลายลักษณ์อักษร เเละเมื่อเกิดวิกฤตทางการเมืองอย่างที่แล้วมาสถาบันทางบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการขัดแย้งกัน สถาบันที่จะเป็นที่พึ่งของประชาชนได้คือสถาบันพระประมุข และกองทัพของจอมทัพ ซึ่งทั่วโลกเห็นพ้องต้องกันว่าสามารถปฏิบัติทางการเมืองได้
ทั้งนี้ เพราะเมื่อวิกฤตทางการเมือง ประชาชนของพระองค์แบ่งฝักแบ่งฝ่ายทำร้ายซึ่งกันและกัน จึงต้องบัญญัติให้ชัดเจนไม่คลุมเครือ 1) บางครั้งพระองค์ไม่ทรงใช้พระราชอำนาจโดยตรง แต่ใช้พระราชปรารภฯ พระราชดำริฯ หรือพระราชโองการฯ หรือพระราชอำนาจทางสังคมโดยพระบรมเดชานุภาพแห่งพระบารมีธรรม เช่น หมายเรียกหัวหน้ารัฐบาลมาเข้าเฝ้าเพื่อรายงานสถานการณ์ และวิธีแก้ปัญหาให้ทรงทราบ แต่การตัดสินใจนั้นขึ้นอยู่กับรัฐบาลและกองทัพว่าควรทำอย่างไรต่อไป
2) สถาบันกองทัพจะสนองพระบรมราชโองการฯ เพื่อให้เป็นในหลักจารีตประเพณีฯ โดยมีผู้รับสนองและรับผิดรับชอบแทนฯ 3) ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐบุรุษที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯจะรับสนองพระบรมราชโองการฯ เช่นเดียวกับกรณีตามข้อ 2 ก็ย่อมกระทำได้ และ 4) หรือจะหมายรับสั่งฯ ให้เข้าเฝ้าแทนทั้งคณะทุกฝ่ายเพื่อรับพระบรมราชโองการฯ เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมตามหน้าที่ขององค์ประมุขชาติ เพื่อให้การณ์ใด บุคคลใด หรือคณะบุคคลใดที่มีปัญหา หรืออาจจะก่อความเสียหายก็สามารถแก้ไขได้ทั้งสิ้นทั้งปวงได้โดยพลัน
มติชนออนไลน์รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า คณะรัฐบุคคลจะทำหนังสือไปยังคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อให้จำกัดความของคำว่า "กบฏ" และ "รัฐประหาร" เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ที่คิดอยากช่วยประเทศกลับถูกตัดสินว่าเป็นกบฏ และการรัฐประหารคือการมุ่งล้มล้างระบบการปกครองรวมถึงประชาชน แต่ที่ผ่านมาการรัฐประหารก็ยังคงเคารพกษัตริย์และประชาชน จึงไม่ครบองค์ประกอบ และไม่ทราบว่าจะเรียกว่ารัฐประหารได้หรือไม่
มติชนออนไลน์รายงานว่า ผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องกฎอัยการศึก ประธานคณะรัฐบุคคลกล่าวว่าถ้ายกเลิกได้เร็วเท่าไหร่ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจจะดำเนินการหรือไม่ ส่วนการนำรูปแบบเลือกตั้งแบบเยอรมันมาใช้ เชื่อว่าไม่สามารถแก้วิกฤตได้ และจะทำให้เกิดวิกฤตเช่นเดิมอีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น