วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ศาลไทยมาตรฐาน ชุมนุมเหลือง สงบ ชุมนุมแดง ยุยงทำลายบ้านเมือง โดยเจิมสาก ปิ่นทอง
ไฟกำลังลุกไหม้บ้าน ควรช่วยกันสุมไฟ หรือถอนฟืนออกจากไฟ (เจิมศักดิ์ขอคิดด้วยฅน)

การชุมนุมของประชาชนที่ดำเนินมาจนถึงวันนี้ ยังไม่มีสถานการณ์รุนแรงที่น่าเป็นห่วง

ข้อเท็จจริงประจักษ์ชัดว่าแตกต่างจากการชุมนุมยึดพื้นที่ราชประสงค์ของกลุ่มคนเสื้อแ​ดงเมื่อปีที่แล้ว

แต่ในวันที่ 13 ก.พ.ที่จะถึงนี้ กลุ่มคนเสื้อแดงได้นัดชุมนุมกันอีกครั้ง ซึ่งถ้านับเนื่องเข้ากับการชุมนุมของประชาชนที่ค้างคาอยู่ ก็จะกลายเป็นปรากฏการณ์ชุมนุมต่างกลุ่มต่างสี ต่างเจตนา ต่างอุดมการณ์

เป็นการเข้ามาเพิ่มเงื่อนไขความซับซ้อนของสถานการณ์บ้านเมืองมากขึ้น อย่างน่าสนใจ

การชุมนุมของเสื้อแดงครั้งนี้ มีอะไรใหม่ๆ เข้ามาเติมสถานการณ์บ้านเมืองบ้างหรือไม่?

1) หลังจากล้มเหลวกับการปฏิบัติการใหญ่เมื่อปีที่แล้ว ที่ลงทุนปลุกระดม กระทำผิดกฎหมายบ้านเมืองร้ายแรง โดยหวังว่าหากได้รับชัยชนะ พวกตนก็จะไม่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ระหว่างที่แกนนำเสื้อแดงที่ก่อการใหญ่เมื่อปีที่แล้วกำลังถูกดำเนินคดีอยู่ นี้ แกนนำเสื้อแดงที่ยังลอยนวลอยู่นอกคุกก็ทำการเคลื่อนไหว และนัดหมายชุมนุมอีกครั้ง ในวันที่ 13 ก.พ. 2554 โดยอ้างว่า เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนเสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดี

นางธิดา ถาวรเศรษฐ รักษาการประธาน นปช. ออกข่าวว่า นปช.ได้มอบหมายให้บริษัทกฎหมายลูกจ้างของทักษิณ ชินวัตร "อัมเตอร์ดัม แอนด์ พีล็อบ" เป็นทนายฟ้องศาลอาญาระหว่างประเทศ ดำเนินคดีกับนายกรัฐมนตรีไทย "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ในข้อหาเป็นอาชญากรต่อมวลมนุษยชาติที่ทำให้คนเสียชีวิตในเหตุการณ์เสื้อแดง เผาบ้านเผาเมือง 91 ศพ

ถึงกับลงทุนให้นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ฝรั่งที่รับเงินของทักษิณอีกคนหนึ่ง ทำการวีดีโอลิงค์จากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาปลุกระดมคนเสื้อแดงที่ห้างอิมพีเรียลเวิร์ล ลาดพร้าว

2) การจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยนั้น สามารถกระทำได้ทันที ตามระบบและกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศไทย ซึ่งมีทั้งศาลอาญา ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ

แต่การออกข่าวว่าจะไปฟ้องศาลที่ต่างประเทศนั้น ทำให้น่าสนใจงว่าจะไปดำเนินการที่ศาลใด

จะฟ้องศาลโลก หรือ ศาลอาญาระหว่างประเทศ ?

ในความเป็นจริง... ศาลโลก หรือ International Court of Justice (ICJ) จะพิจารณาเฉพาะข้อขัดแย้งระหว่างประเทศ ระดับรัฐต่อรัฐ และประเทศคู่กรณีต้องยินยอมพร้อมใจรับคำตัดสินร่วมกัน จึงจะสามารถนำคดีไปขึ้นศาลโลกได้

ศาลโลกไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนืออธิปไตยของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยไม่มีลักษณะเป็น "โลกบาล" ที่จะสามารถไปชี้ขาด ลงโทษ หรือบังคับต่างๆ ได้ทั่วโลก ดังนั้น กรณีของเสื้อแดง ก็น่าจะลงเอยด้วยการไปฟ้องที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ International Criminal Court (ICC)

3) การพิจารณาดำเนินคดีของศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ International Criminal Court (ICC) ต้องเป็นไปตามธรรมนูญแห่งกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ

ข้อบังคับสำคัญ คือ ประเทศคู่กรณีจะต้องเป็นสมาชิก และคดีที่ฟ้องร้องนั้นต้องเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

(2) อาชญากรรมสงคราม

(3) อาชญากรรมอันเป็นการรุกราน

(4) อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

โดยคำว่า "อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ" หรือ "Crimes against humanity" นั้น มีองค์ประกอบความผิด 3 ประการ คือ 1.ประทุษร้ายต่อพลเรือน 2. ประทุษร้ายอย่างเป็นวงกว้าง เป็นระบบ และ 3.เป็นการฆาตกรรม

เมื่อเข้าเงื่อนไข 3 ประการนี้ จึงถือว่ามีมูลความผิดเข้าข่าย "อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ"

อาจดำเนินคดีอาญากับผู้บงการ ผู้กระทำการ ตัวการ ได้ตามกฎหมายระหว่างประเทศ

แต่ก็จะต้องพิจารณาเงื่อนไขเบื้องต้นด้วยว่า ประเทศคู่กรณีที่เกิดเหตุนั้น เป็นสมาชิกของศาลอาญาระหว่างประเทศหรือไม่

กรณีที่พยายามจะดำเนินคดีกับนายกฯ อภิสิทธิ์ ก็คงจะตั้งข้อหา "อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ" นี้กระมัง จึงดูจะเข้าเค้ากว่าข้อหาอื่น เพราะถ้าพิจารณาดูแล้ว ไม่ว่าจะเป็น กรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมสงคราม หรืออาชญากรรมอันเป็นการรุกราน ก็ไม่มีเค้าเลย

อาจจะอ้างเอาการตายของประชาชน 91 คน โดยจงใจไม่นับเนื่องถึงการตายของเจ้าหน้าที่ทหาร และประชาชนที่ไม่ใช่พวกเสื้อแดง ที่เสียชีวิตจากปฏิบัติการของกองกำลังติดอาวุธชุดดำ ซึ่งดำเนินการคู่ขนานไปกับการชุมนุมของเสื้อแดง

แต่ถึงกระนั้น นักกฎหมายทั้งหลายย่อมจะรู้ดีว่า ประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันเป็นสมาชิกศาลอาญาระหว่างประเทศ จึงไม่น่าจะสามารถพิจารณาความที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้

แม้ประเทศไทยจะเป็นสมาชิกตั้งแต่สมัยรัฐบาลชวน แต่หลังจากนั้น รัฐบาลทักษิณก็ไม่ยอมนำเรื่องเข้ารัฐสภา เพื่อให้สัตยาบัน เรื่องค้างคามาจนถึงปัจจุบัน แม้กระทั่งกรณีก่อนหน้านี้ เคยมีการเสนอให้ดำเนินคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ ในความผิดฐาน "อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ" ก็ยังเกิดข้อถกเถียงว่าไม่สามารถดำเนินการได้เพราะเหตุผลเดียวกันนี้เอง

4) นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม อ้างว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีสถานะเป็นคนสัญชาติอังกฤษ จึงสามารถฟ้องร้องเอาผิดนายอภิสิทธิ์ได้ เพราะอังกฤษเป็นสมาชิกที่ให้สัตยาบันต่อศาลอาญาระหว่างประเทศไว้แล้ว

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติ คือ กฎหมายอังกฤษนั้น ยึดหลักพรมแดน

ใครเกิดในเขตแดนของประเทศอังกฤษ ก็จะได้รับสัญชาติอังกฤษไปโดยอัตโนมัติ

นายอภิสิทธิ์ เกิดที่ประเทศอังกฤษ ก็จึงได้รับสัญชาติอังกฤษไปโดยไม่ได้ร้องขอ

แต่กฎหมายไทยใช้หลักสืบสันดาน โดยการดูว่า พ่อ-แม่เป็นคนไทย ลูกก็ให้ถือเป็นไทย ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน ดังนั้น เมื่อแรกเกิด นายอภิสิทธิ์จึงมีสัญชาติไทย และได้ 2 สัญชาติโดยอัตโนมัติ

อย่างไรก็ตาม กฎหมายไทยบังคับว่า เมื่ออายุ 18 ปี ให้บุคคลเลือกถือสัญชาติเดียว และโดยพฤติการณ์แห่งข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ก็ประจักษ์ชัดว่านายอภิสิทธิ์ถือสัญชาติไทย มิใช่อังกฤษ

เพราะเมื่อนายอภิสิทธิ์จะไปประเทศอังกฤษ ก็ปรากฏว่าต้องทำวีซ่าขอเข้าประเทศ เช่นเดียวกับคนไทย ซึ่งถ้าถือสัญชาติอังกฤษจริงก็ไม่ต้องขอวีซ่า

หรือขณะเรียนหนังสือที่ประเทศอังกฤษ ก็ต้องเสียค่าเล่าเรียนเหมือนคนต่างชาติทั่วไป

นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ก็เป็น ส.ส.มาเกือบ 20 ปี เป็นทั้งรัฐมนตรี และเป็นนายกฯ ซึ่งกฎหมายระบุชัดว่าต้องเป็นสัญชาติไทย

ดังนั้น ข้อกล่าวหาว่านายอภิสิทธิ์ถือสัญชาติอังกฤษนั้น น่าจะเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อให้การเปิดประเด็นดำเนินคดีต่อศาลอาญาระหว่าง ประเทศดูสมจริงมากขึ้นเท่านั้นเอง

นอกจากนี้ เงื่อนไขการรับฟ้องและการไม่รับพิจารณาคดีตามธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ ยังระบุไว้ด้วยว่า

"ศาลต้องวินิจฉัยว่าไม่สามารถรับคดีไว้พิจารณา เมื่อคดีนั้นกำลังอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนหรือฟ้องร้องดำเนินคดีโดยรัฐ ซึ่งมีเขตอำนาจเหนือคดีนั้น เว้นแต่รัฐไม่สมัครใจหรือไม่สามารถที่จะทำการสืบสวนสอบสวนหรือฟ้องร้อง ดำเนินคดีได้อย่างแท้จริง"

หมายความว่า ถ้ารัฐที่เป็นเจ้าของเรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินคดี ศาลอาญาระหว่างประเทศก็จะไม่รับไว้พิจารณา หรือเข้ามาก้าวก่าย สะท้อนเจตนารมณ์ของการมีศาลอาญาระหว่างประเทศ ก็เพื่อมีบทบาทเสริมการทำหน้าที่ของศาลยุติธรรมที่มีอยู่ในแต่ละประเทศ

มิใช่ว่าศาลอาญาระหว่างประเทศจะมีอำนาจอยู่เหนือศาลภายในประเทศแต่อย่างใด

เพราะฉะนั้น คดีที่มีคนตาย 91 คน กำลังอยู่ในขั้นตอนสอบสวนของกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศไทย ศาลอาญาระหว่างประเทศไม่น่าจะเข้ามาก้าวก่ายพิจารณาได้

ยิ่งกว่านั้น ธรรมนูญฯ ยังระบุมูลเหตุสำหรับการยกเว้นความรับผิดทางอาญาเอาไว้ด้วย ในกรณีที่

"บุคคลนั้นกระทำการอย่างมีเหตุผล เพื่อป้องกันตนเองหรือบุคคลอื่น หรือในกรณีของอาชญากรรมสงคราม ป้องกันทรัพย์สินที่จำเป็นต่อความอยู่รอดของตนหรือบุคคลอื่น หรือป้องกันทรัพย์สินที่จำเป็นต่อการปฏิบัติภารกิจทางทหาร จากการใช้กำลังที่ใกล้จะถึง และผิดกฎหมายในสัดส่วนที่สมควรกับระดับอันตรายที่มีต่อตน หรือบุคคลอื่น หรือต่อทรัพย์สินที่ได้รับการคุ้มครอง"

5) ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้นนั้น ทนายฝรั่งรับเงินทักษิณทั้งหลายน่าจะทราบดีอยู่แล้ว แต่น่าคิดว่า ทำไมยังจัดแถลงข่าวและยื่นฟ้อง ทั้งๆ ที่ รู้ว่าฟ้องไม่ได้ หรือฟ้องไปก็ไม่เป็นผล?

หรือจะเป็นกิจกรรมสร้างกระแส สร้างข่าว เพื่อให้เห็นว่ามีกิจกรรมเคลื่อนไหวของทักษิณและเสื้อแดง เช่นเดียวกับการกล่าวอ้างว่าทักษิณจะเดินทางไปให้การต่อคณะกรรมาธิการความ มั่นคงแห่งยุโรปที่สหรัฐฯ แต่สุดท้ายไม่ได้ไป

ดำเนินการเพียงเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ลวงหลอกคนที่ไม่รู้ข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง?

หรือหวังผลในทางการเมือง ด้วยการนำเสนอ ต่อเติมข้อเท็จจริงแห่งคดีที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมของไทย เพื่อนำมาปลุกระดมทางการเมือง อันจะเป็นการกดดันศาลยุติธรรมของไทย และดูแคลนความน่าเชื่อถือของศาลไทยไปในคราวเดียวกัน?

แต่ที่แน่ๆ คือ งานนี้ สร้างรายได้ให้กับนักกฎหมายรับจ้างฝรั่ง คนจมูกงอ หัวหยิก กระเป๋าตุง

6) นอกจากจะเปิดประเด็นเรื่องที่จะดำเนินคดีต่อศาลอาญาระหว่างประเทศแล้ว แกนนำเสื้อแดงยังพยายามสร้างกระแสเคลื่อนไหวกดดันศาลยุติธรรมของไทย ด้วยการบิดเบือนเรื่อง "สองมาตรฐาน"

อ้างว่า แกนนำเสื้อเหลืองที่ชุมนุมบริเวณหน้าอาคารสนามบินสุวรรณภูมิ แล้วถูกข้อหาก่อการร้าย กับแกนนำเสื้อแดงที่ไปยึดพื้นที่แยกราชประสงค์ ปลุกระดมให้คนเผาบ้านเผาเมือง (แล้วก็มีการเผาจริง) คู่ขนานไปกับขบวนการกองกำลังติดอาวุธ ได้รับการปฏิบัติแตกต่างกันในเรื่องการประกันตัว

แกนนำเสื้อเหลืองได้รับการประกันตัว แต่แกนนำเสื้อแดงบางคน ไม่ได้รับการประกันตัว

กลายเป็นข้ออ้างหนึ่งของการจะเคลื่อนไหวครั้งใหม่ของแกนนำเสื้อแดง (ซึ่งต้องการจะช่วยสามีของตัวเองที่อยู่ในคุก)

โดยข้อเท็จจริงแล้ว การจะให้ประกันตัวหรือไม่ เป็นดุลพินิจของศาลยุติธรรม ซึ่งจะต้องพิจารณาพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องหลายประการ

แม้ข้อหาก่อการร้ายเหมือนกัน แต่จะประกันหรือไม่ ต้องพิจารณาหลายเรื่อง เช่น

ผู้ต้องหารายใด มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือไม่

ผู้ต้องหารายใด มีพฤติการณ์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน ข่มขู่พยาน หรือขัดขวางการดำเนินคดีหรือไม่

ผู้ต้องหาแต่ละราย มีพฤติกรรมแห่งการกระทำผิด ร้ายแรงแค่ไหน อย่างไร

ต้องไม่ลืมว่า กรณีของแกนนำเสื้อเหลืองนั้น ไม่ปรากฏว่าจะได้มีการปลุกระดมให้คนเผาบ้านเผาเมือง หรือแม้แต่ยุยงให้ผู้ชุมนุมบุกเข้าไปปล้นสดมภ์ หรือลักขโมยสินค้าในร้านค้าภายในสนามบินสุวรรณภูมิ

ตรงกันข้ามกับแกนนำเสื้อแดง ที่ระหว่างการชุมนุมนั้น ทั้งปลุกระดม สั่งการ และนำการเคลื่อนไหวในลักษณะที่คู่ขนานไปกับปฏิบัติการของกองกำลังติดอาวุธ ซึ่งยิงอาวุธสงครามเข้าใส่สถานที่ราชการ ทำร้ายประชาชนที่มีความคิดเห็นต่างจากเสื้อแดง สังหารเจ้าหน้าที่ทหารด้วยอาวุธสงครามร้ายแรง ก่อวินาศกรรม ระเบิดเสาไฟฟ้าแรงสูง ยิงระเบิดใส่สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง11) สถานีรถไฟฟ้า ยิงอาร์พีจีใส่คลังน้ำมัน หรือแม้กระทั่งวัดพระแก้วก็ตกเป็นเป้าหมาย ฯลฯ

เมื่อข้อเท็จจริงของแต่ละกรณีแตกต่างกัน ศาลย่อมพิจารณาแตกต่างกัน

ดังปรากฏว่า ในบรรดาแกนนำเสื้อแดงเอง บางคนก็ได้รับการประกันตัวออกไป

เพียงแต่สามีของแกนนำเสื้อแดงคนใหม่ ยังติดอยู่ในคุกเท่านั้นเอง

7) น่าเป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมืองยามนี้ไม่น้อย

ศึกนอกประเทศกำลังระอุ แต่ศึกภายในประเทศ โดยคนไทยด้วยกันเอง ยังคงผูกปมแน่นหนักมากขึ้น

จากเดิมที่มีผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองปักหลักพักค้างอยู่ก่อนแล้ว หากวันที่ 13 ก.พ. มีผู้ชุมนุมเสื้อแดงเพิ่มเข้ามาอีก โดยที่มีเป้าประสงค์แท้จริงแตกต่างจากคนเสื้อเหลืองโดยสิ้นเชิง

หากเสื้อแดงยึดพื้นที่จราจร ทำการชุมนุมปักหลักพักค้างบ้าง

อ้างว่า เสื้อเหลืองทำได้ เสื้อแดงก็ต้องทำได้

เมื่อนั้น รัฐบาลก็คงมีทางเลือก 3 ทาง

หนึ่ง ปล่อยให้ชุมนุมกันต่อทุกกลุ่ม ใครอยากชุมนุมที่ราชดำเนินก็ได้ ใครอยากชุมนุมที่ราชประสงค์ก็เชิญ ประชาชนก็คงได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า

สอง เลือกดำเนินการกับแต่ละกลุ่มแตกต่างกันไป ซึ่งไม่ว่าจะดำเนินการกับกลุ่มใด ก็จะถูกนำไปปลุกระดมเคลื่อนไหว ขยายสถานการณ์ให้ลุกลามบานปลายทั้งสิ้น

สาม สลายการชุมนุมทุกกลุ่ม ซึ่งสุ่มเสี่ยงว่าอาจทำให้สถานการณ์บานปลาย

ในสถานการณ์เช่นนี้ ขอให้ประชาชนคนไทยได้โปรดช่วยกันพิจารณาโดยใจเป็นธรรม ด้วยตัวของท่านเองว่า เมื่อไฟกำลังลุกไหม้บ้าน เราควรจะช่วยกันสุมฟืนใส่ไฟ หรือควรจะช่วยกันถอนฟืนออกจากไฟ?

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต

สาด อ่านแล้ว อยากถ่มน้ำลายรดมันจริงๆ มันเข้าข้างจนออกนอกหน้า อย่างน่าเกลียด เป็นนักวิชาการไงของมัน

ที่มา แนวหน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น