วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

จากตุลาวิปโยคถึงพฤษภาอำมหิต

จากตุลาวิปโยคถึงพฤษภาอำมหิต
http://tgdr.blogspot.com/
๖ ตุลาคม ๒๕๕๓ วันรำลึก ๓๔ ปีเหตุการณ์รุมเข่นฆ่านักศึกษา และประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยกำลังตำรวจตระเวนชายแดน และขบวนการปกป้องสถาบัน อาทิ ลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง และนวพล จนบัดนี้ยังไม่สามารถชี้ตัวผู้สั่งการได้ จึงเรียกว่า ๖ ตุลามหาวิปโยค

๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ วันที่กำลังทหารจากกรมทหารราบที่ ๑๑ พร้อมรถหุ้มเกราะ และพลแม่นปืน รวมแล้วจำนวนนับหมื่น (ประเมินตามงบประมาณที่ทางการ ศอฉ. สั่งจ่ายสำหรับการนี้ ๓,๒๐๐ ล้านบาท) เข้าสลายการชุมนุมเรียกร้องให้ยุบสภา และจัดเลือกตั้งใหม่ โดยใช้วาทกรรมแสบสันว่าเป็นปฏิบัติการ “กระชับพื้นที่”

ทำให้มีประชาชนรากหญ้าที่เรียกว่าพวกเสื้อแดงตายไปเกือบร้อย บาดเจ็บอีกเกือบสองพัน สูญหาย และยังถูกจับกุมคุมขังโดยไม่มีการสั่งฟ้องหลายร้อยคน ซ้ำยังมีที่ถูกติดตามไล่ล่าชีวิต และไล่บี้ธุรกรรมอีกมากมาย

เหตุการณ์ครั้งนี้นอกจากคนที่เป็นฝ่ายลงมือฆ่ายังลอยนวลแล้ว คนที่เสียชีวิต และถูกจับกุม ไล่ล่า กลับถูกกล่าวหา ป้ายสี ไม่เพียงแต่ในข้อหา “เผาบ้านเผาเมือง” ที่ตามมา ยังมีความพยายามมุสาอย่างหน้าด้านๆ ว่า คนเสื้อแดงฆ่ากันเองเสียด้วย

นับประสาอะไรกับการละเลยที่จะเอ่ยถึงว่าใครเป็นคนสั่งฆ่า ผู้บัญชาการทหารบก (คนก่อน) บอกว่าไม่ได้สั่ง รอง ผบ.ทบ. (คนก่อน) ที่บัดนี้ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการเองก็ไม่รู้ไม่ชี้ เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี และรองฯ คนที่กำลังสร้างความชอบธรรมทางการเมืองด้วยการลาออกไปลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นตัวแทนราษฎรในท้องที่ของตน

ต่างก็ทำตัวซื่อบื้อตาบอดตาใสกับความรับผิดชอบในเหตุการณ์สลายชุมนุมที่มีคนตายจำนวนมาก และเบี่ยงเบนความสนใจไปอยู่กับข่าวการจับกุมกลุ่มชายฉกรรจ์ ๑๑ คนจากรีสอร์ทในจังหวัดเชียงใหม่สำหรับกันตัวไว้เป็นพยาน

ต่อข้อกล่าวหาที่ว่ามีการว่าจ้างจากนายเก่าของเนวิน ชิดชอบ เป็นเงินสินจ้างจำนวน ๒๐ ล้านบาท (ซึ่งนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ บอกว่าดูถูกความสำคัญของลูกชายเพราะวงเงินน้อยไป) เพื่อให้ดำเนินการลอบสังหารนายเนวิน และคนสำคัญในรัฐบาลเทพประทานอื่นๆ รวมทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ

จึงมิใช่สิ่งที่อยู่นอกเหนือการคาดหมายแต่อย่างใด หากจะมีการสรุปว่าเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ มาเกิดซ้ำรอยวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ อย่างไม่ผิดเพี้ยนในรูปแบบ จะต่างกันบ้างก็แต่ในรายละเอียดของเนื้อหา

เรื่องรูปแบบนั้นอยู่ที่ทั้งสองกรณีเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตย คือการขอให้ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ แต่การร้องขอนายกฯ พระราชทาน และอ้างหลักการตัวแทนราษฎร ๗๐/๓๐ นั่นย่อมไม่ใช่แน่นอน

ดังนั้นการที่พล.ต.จำลอง ศรีเมืองไปร่วมงานรำลึกวีรชน ๖ ตุลา ที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จึงเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์อย่างร้ายแรง ในฐานะที่พล.ต.จำลองอยู่ยืนข้างฝ่ายเข่นฆ่านักศึกษาในคืนวันที่มีการยกกำลังเข้าทำลาย หากพล.ต.จำลองต้องการไถ่บาป จักต้องประกาศออกมาให้แจ่มแจ้งระหว่างการร่วมงาน

มิฉะนั้นความรับผิดชอบในการบิดเบี้ยวข้อเท็จจริงต่างๆ ในเหตุการณ์ ๖ ตุลามหาวิปโยคตกอยู่แก่ผู้เชื้อเชิญพล.ต.จำลองไปร่วม และเจ้าของงาน คือ ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีคนปัจจุบันที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้สนับสนุนรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ตัวยงคนหนึ่ง

ฉันใดก็ฉันนั้น เหตุการณ์ซ้ำรอยที่อาจมาจากคนสั่งการ หรือกลุ่มคนสั่งการคนเดียวกัน หรือในระนาบเดียวกัน ต่างแต่รายละเอียดในเนื้อหา ข้อที่ว่าผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงมีนาคมถึงพฤษภาคม ๕๓ ส่วนใหญ่เป็นประชาชนรากหญ้า

และตำนานคนเมือง (Urban Legend) ที่เล่าต่อๆ มาต่างกันว่า ว่านเครือของผู้สั่งการที่ออกไปบงการภาคสนามครั้งนี้เป็นหญิง (หรือเพศฉกชิง) แต่ครั้งนั้นเป็นชาย เป็นต้น

ความเคียดแค้นโกรธเคืองของบรรดาญาติพี่น้อง และมิตรสหายผู้ตาย ผู้ถูกจับ ผู้ถูกไล่ล่า และผู้เสียหายอื่นๆ แม้กระทั่งผู้ถูกกล่าวหาอย่างนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านเว็บไซ้ท์ “ฅนไทยยูเค” ถึงการที่สามารถจับตัวคนไล่ล่าตนได้และสารภาพว่านายสุเทพจ้างมานั้น

หากนายอริสมันต์จะประกาศจองกฐินนายสุเทพบ้างก็คงไม่ใช่เรื่องเหลือบ่าเกินกว่าวิสัย “ขอคืน” แบบไทยๆ จะเป็นไปได้ แต่สำหรับการจองผ้าป่าสามัคคีระหว่างขบวนการเสื้อแดงทั้งมวลต่อขบวนการอำมาตย์ และสมุนทั้งหมด ยังมองไม่เห็นทาง และไม่มีทีท่าในขณะนี้

ซึ่งหากยังคิดกันว่าเสื้อแดงคือทักษิณ หรืออดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกคณะรัฐประหาร คมช. ปล้นความชอบธรรมด้วยการยึดอำนาจ และสดมภ์ความยุติธรรมด้วยการพิพากษาโดยไม่ได้อ้างอิงหลักกฏหมาย แต่อาศัยคำอธิบายในพจนานุกรมแล้วละก็

การจองผ้าป่าคงยิ่งเป็นไปได้ยากในเมื่อมีข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดี๋ยวนี้สวมใส่เสื้อสีชมพูแล้ว


จะเป็นได้ก็แต่เพียงการตระโกนร้องฟ้องฟ้าฟ้องดิน และฟ้องสากลโลก ดังข่าวลือที่ว่าจะมีการชุมนุมเดินถือป้ายประจานว่า “ I hia สั่งฆ่า, I hia สั่งฆ่า” บนถนนฮอลลีหวูด ใจกลางย่านท่องเที่ยวของนครลอส แองเจลีสในอาทิตย์นี้

ในเมื่อการจองกฐินยังเป็นไปได้ยาก และการจองผ้าป่าสามัคคียิ่งเป็นไปไม่ได้ การออกมาโวยวายของคนยิ่งใหญ่ระนาบอภิสิทธิ์ และสุเทพอย่างนายเนวินเรื่องมีคนว่าจ้างเอาชีวิตก็น่าจะเป็นการจัดฉาก หรือสร้างสถานการณ์ให้เกิดความสำคัญท่ามกลางข่าวลือทางการเมืองเรื่องสลับขั้ว เปลี่ยนส่วนผสมก็เป็นได้

พิจารณาจากข้อสังเกตุของนักวิจารณ์ในหนังสือพิมพ์ข่าวสดเกี่ยวกับผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๕ และผู้บังคับการตำรวจภูธรเชียงใหม่ กรณีจับกุม ๑๑ ผู้ต้องสงสัยจากภูฟ้ารีสอร์ท เชียงใหม่ กับกรณีผู้บังคับการตำรวจภูธรพระนครศรีอยุธยาดำเนินการจับกุมผู้ผลิตรองเท้าแตะซึ่งพิมพ์รูปเทพเทือกกับอภิสิทธิ์ไว้บนพื้น ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ทั้งๆ ที่จังหวัดอยุธยาไม่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.

มิหนำซ้ำการกระทำอันทางการตำรวจยุคนี้กล่าวหาว่ามีความผิด เป็นไปในลักษณะเดียวกันยังกับแกะแบบมาจากสมัยที่พันธมิตรเพื่อพรรคใหม่จัดทำรองเท้าแตะตีพิมพ์รูปทักษิณ และคุณหญิงอ้อบนพื้น แล้วไฉนการกระทำเพื่อพันธมิตรฯ ไม่มีความผิด แต่กับเสื้อแดงมีความผิด

เห็นจะเป็นเพราะอารมณ์ฝังใจอย่างที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี แสดงออกมาทันทีหลังจากเกิดเหตุระเบิดรายวันครั้งแรก ฟันธงทันควันว่าเป็นกระบวนการก่อกวนโดยเสื้อแดง

หากจะว่ากันถึงความรู้สึกรู้สาของคนเสื้อแดงเวลานี้คงไม่มีที่ไหนแสดงได้ดีไปกว่าแถลงการณ์ของศูนย์ประสานงานกลาง นปช. เชียงใหม่ ที่ออกมาต้อนรับ ม.ล. ปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดคนใหม่ที่ได้รับแต่งตั้งไปดำรงตำแหน่งอย่างน่าครุ่นคิดว่าจะเป็นการแต่งตั้งเชิงสัญญลักษณ์ข่มนาม ดังหนังสือแสดงความยินดีต้อนรับที่ว่า

“ท่านผู้มีสายเลือดขององค์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ทรงริเริ่มก่อตั้ง และทรงเป็นปฐมเสนาบดีพระองค์แรกของกระทรวงมหาดไทย” แม้นว่า “จะมีข่าวว่าท่านสนับสนุนต่อบางกลุ่ม ไม่ชอบใจต่อบางกลุ่ม จะเพราะเหตุผลที่ไม่อาจกล่าวถึงอย่างไรก็ดี” ก็ตาม

การแสดงจุดยืนดังปรากฏในแถลงการณ์ว่า “รักและเคารพต่ออดีตนายกรัฐมนตรีคนเชียงใหม่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร” กับท่าทีต่อต้านรัฐประหารอย่างแน่วแน่ที่ว่า “สิ่งที่จะเป็นคุณประโยชน์ของการรัฐประหารมีอยู่อย่างเดียว คือการปลุกจิตสำนึกของประชาชนผู้รักชาติได้ตระหนักว่าระบอบประชาธิปไตยมีคุณค่ามากมายแค่ไหน ประชาธิปไตยสามารถสร้างเศรษฐกิจที่ดีกว่าได้อย่างไร เหมือนอย่างกับที่บอกกันว่าประชาธิปไตยสามารถกินได้”

รวมไปถึงถ้อยคำในแถลงการณ์ที่ว่า “เมื่อเราประชาชนยืนยันหลักการประชาธิปไตย เดินทางไปทวงถามสิทธิ์ของเราโดยการเรียกร้องให้มีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งกันใหม่ ตามแนวทางที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลทรราชย์ของนายอภิสิทธิ์ไม่แค่เพียงไม่สนองตอบเท่านั้น แต่กลับเข่นฆ่าสังหารชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ไปอย่างมากมายหลายร้อยคน บาดเจ็บ และถูกจับกุมคุมขังในคุกอีกหลายพันคน”

เหล่านี้มิใช่เพียงวาทกรรมที่ต้องคัดลอกมาตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้เข้าไปส่องสว่างอยู่ในแก่นกลางหัวกบาลของพวกตาบอดตาใสทั้งหลาย หากแต่เป็นถ้อยคำสะท้อนความรู้สึกฝังลึกอยู่ในก้นบึ้งของจิตใจคนรากหญ้าเสื้อแดง ที่หากได้รับการกระทำเมินเฉยซ้ำซากมากไปกว่าระยะเวลาจาก ๖ ตุลาถึง ๑๙ พฤษภาแล้วละก็

ในภายภาคหน้าอาจกลายเป็นปฏิญญาอันจริงจังเสียยิ่งกว่าปฏิญญาโคมลอยที่เคยมีการกล่าวอ้าง ส่วนว่ามันจะส่งผลกระทบในทางร้าย หรือรุนแรงต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของการเป็นรัฐชาติเชื้อไทยได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าจำนวนผู้คนที่ซึมซับกับแก่นแท้เนื้อหาความจริงที่ถูกปิดบังเบื้องหลังปฏิญญานั้น

ดูจากการเพิ่มจำนวนของคนเสื้อแดงเพราะตาสว่างไม่เสแสร้งตาบอดตาใสอีกต่อไป ก็น่าจะเป็นเกณฑ์ชี้นำอนาคตได้ไม่ยาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น