วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

บันทึกต้องจำ

บันทึกต้องจำ
http://tgdr.blogspot.com/
ตองสิบ
วันที่ ๑๐ เดือน ๑๐ ปีค.ศ. ๑๐ กลายมาเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของคนอเมริกัน โดยเฉพาะในวัยที่กำลังจะเข้าสู่พิธีวิวาห์ (ดูบทความเรื่อง “10/10/10 : They Love Just thinking About It” นสพ. นิวยอร์คไทม์ วันที่ ๙ ตุลาคม ๕๓ ตามลิ้งค์นี้www.nytimes.com/2010/10/09/us/09date.html?th&emc=th)

แต่มันมีความหมายล้ำลึกมากกว่าสำหรับญาติวีรชน และคนเสื้อแดงในบ้านเรา

ไม่เพียงเพราะ ๑๐/๑๐/๑๐ หรือ “ตองสิบ” เป็นวันรำลึกถึงความโชคร้ายของคนไทยที่รักประชาธิปไตยต้องสังเวยชีวิตเพราะเรียกร้องต้องการสิทธิเสียงพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย กลับถูกกระทำโดยพวกเจ้าของแผ่นดินซึ่งมีทั้งอำนาจ ศฤงคาร และบารมี ทั้งปลิดชีพ ทั้งไล่ล่า แล้วยังกล่าวหายัดเยียด อันเป็นวิธีทำลายล้างผู้เห็นต่างมานักต่อนัก

หากแต่มันเป็นอีกวันหนึ่งที่พวกเขา (ของเรา) ชาวเสื้อแดงได้ออกมาแสดงความรู้สึกเคียดแค้น และปลดปล่อยความกดดันในหัวใจ ชนิดที่ผมไม่เคยพบเห็นมาก่อนตลอดเวลาปริ่มๆ จะสี่สิบปีที่มุ่งมั่นใส่ใจในความเป็นมา และจะเป็นไปของการเมืองในประเทศไทย

มันเป็นการแสดงออกในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะอย่างทางการ ดังเช่นการอภิปรายในหอประชุมเล็กธรรมศาสตร์ตลอดช่วงบ่าย หรืออย่างปัจเจกวิสัยในการชุมนุมบนถนนราชดำเนินทั้งสิบเลนตั้งแต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปถึงสี่แยกคอกวัว ตั้งแต่บ่ายยันค่ำ

ต่อไปนี้เป็นบันทึกอย่างปัจเจกวิสัยที่ (ผมเอง) ต้องจำ

ผมออกเดินทางเมื่อราวใกล้เพลหมายใจจะไปแวะหาอาหารกลางวันกินแถวถนนมหรรณพ แล้วค่อยเดินทางต่อไปยังสนามหลวงเพื่อเข้าชมงานแจกรางวัลบทกวีรากหญ้าซึ่งกลุ่มศิลปินเพื่อประชาชนตั้งชื่อให้ว่า “ฟรีไร้ท์อะวอร์ด” (รางวัลงานเขียนอิสระ) ต่อด้วยฟังการอภิปรายหัวข้อ “ประชาธิปไตยใต้ร่มเงาเผด็จการ เมื่อนายเป็นผู้เลือกกบ”

ผมตั้งใจจะไปฟังอภิปรายครั้งนี้เพราะมีผู้พูดถูกใจทั้งนั้น ตั้งแต่ผู้ดำเนินการอภิปรายที่เคยคุ้นเคย (หมายถึงผมจำเขาได้อะนะ) อย่างคุณจอม เพชรประดับ และแขกรับเชิญที่น่ารับฟัง ทั้งท่านพันเอก ดร. อภิวันท์ วิริยะชัย และอาจารย์ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ แล้วยังมีคนเขียนหนังสือ และบทกวีที่เคยชื่นชม อย่างคุณเพ็ญ ภัคตะ และคุณวัฒน์ วรรลยางกูร

ผมเริ่มเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ไปต่อเรือประจำทางของ “ครอบครัวขนส่ง” แล่นละล่องในคลองแสนแสบหมายใจจะขึ้นป้ายปลายทางผ่านฟ้า แต่ก็เป็นที่น่าเสียใจว่าวันนั้นเรือแล่นไปได้เพียงป้ายประตูน้ำเพราะมีการปิดกั้นเส้นทางเพื่อก่อสร้าง หรือซ่อมแซมอะไรสักอย่างแถววังสระประทุม กระปี๋บอกว่าไม่มีทางไปต่อได้เพราะเขาทดน้ำออกจนขอดคลองตั้งแต่จุดนั้นไป

ผมเลยต้องขึ้นไปต่อรถเมล์สีแดงสาย ๖๐ ตามที่กระปี๋เรือแนะนำ โหยโชคดีได้นั่งรถเมล์ฟรีที่เขียนป้ายไว้ข้างรถว่า “จากภาษีของประชาชน” ถึงจะเบียดเสียดน่าดู แต่ก็ครึกครื้นตื่นตาด้วยว่ามีผู้โดยสารใส่เสื้อสีแดงร่วมเดินทางไปด้วยมากมาย

ลงป้ายอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีเวลาเหลือพอแวบเข้าไปหลังเทศบาลเดินหาอาหารรับประทาน กินเย็นตาโฟเจ (ตามสมัยนิยมช่วงนั้น) เดินต่อไปกินกะเพาะปลาอีกชามแล้วค่อยจับแท็กซี่ไปธรรมศาสตร์ เจอคนขับช่างคุยที่บอกว่าไม่อยากเป็นสีอะไรเพราะไปเจอแนวทางดีกว่า จากคำสาธยายประมาณว่าแกถึงขั้นบรรลุได้เลย นั่นก็คือหนทางแห่งลัทธิเซ็น ฟังแล้วผมยังดวงตาไม่เห็นธรรมแต่ก็อนุโมทนาในใจ

ช่วงการอภิปรายขอไม่เล่ามากนักในเนื้อหาเนื่องจากมีเรื่องวิชาการผสมอยู่เยอะ เอาแต่น้ำๆ ที่คล่องคอแล้วกัน ก็ทั้งรายการไม่ว่าจะเป็นภาคดนตรี อ่านบทกวี และการอภิปรายในตัวของมันเอง ถ้าคั้นเอากากออกเหลือแต่ของเหลวข้นๆ จากแกนละก็

ว่ากันถึงการเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์รากหญ้าที่เรียกร้องต้องการประชาธิปไตยทั้งนั้น

เสร็จการอภิปรายเมื่อราวบ่ายสี่โมงครึ่ง เลยถือโอกาศออกไปเข้าห้องน้ำแล้วไปยืนเปลี่ยนอิริยาบถอยู่หน้าหอประชุม อ้าว...เห็นแกนนอน บก. ลายจุด ยืนคุยกับพี่น้องเสื้อแดงห้าหกคนอยู่ริมรั้งใกล้ทางออก จึงได้ยืนดู ต่ออีกประเดี๋ยว

พอคุณสมบัติ บุญงามอนงค์เริ่มเดินออกไปตามทางเท้าหน้ารั้ว มีคนเดินตามราวสิบกว่า เดาว่าคงจะเดินไปสมทบยังที่ชุมนุมรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแน่ๆ ทราบว่ากำหนดจุดเทียนสีแดงไว้อาลัยวีรชนกันเวลาห้าโมงเย็น ผมเลยถือโอกาศเดินตามแกนนอนไปด้วยคน

ที่จริงแกนนอนแกดูเหมือนจะเดินเดี่ยว คือไม่มีผู้ติดสอย ยกเว้นช่างภาพ (น่าจะเป็นของว้อยซ์ทีวี) แบกกล้องวิดีโอล้อมหน้าล้อมหลังไปตลอดทาง และยกเว้นคนห้อยตามอย่างผม กับคนเสื้อแดงกลุ่มเล็กๆ แต่บก. ลายจุดก็โดนสวดจมหูบนเว็บบอร์ดว่าเปลี่ยนจากนอนไปเป็นนำบ้างหรือไง ที่ไปเจรจากับตำรวจเรื่องขอให้เปิดช่องรถผ่าน

ก็อย่างนี้แหละครับคนเสื้อแดง ล้วนอิสระเสรี ใครจะมาสั่งซ้ายหันขวาหันเหมือนอย่างพวกเสื้อเหลืองไม่ได้ การวิพากษ์แกนนอนบนเว็บจึงเป็นกระสายธรรมดาๆ เพราะงานตองสิบนี่เป็นรายการ “พวกเรามากันเองโดยไม่มีแกนนำ” อย่างที่ผู้ลงข้อความวิพากษ์ท่านนั้นเขียนไว้

บรรยากาศรายรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยทั้งครึกครื้นและคร่ำเคร่ง คนเสื้อแดงยืนนั่งกันเต็มขึ้นไปบนฐานอนุสาวรีย์ฯ มีเชือกผ้าสีแดงผูกเป็นใยปกคลุมทั่วบริเวณจากเสาอนุสาวรีย์ฯ ทั้งสี่หลัก บนลานมีแถวตำรวจชุดน้ำเงินพร้อมโล่ห์ปราบจลาจลตั้งเป็นแนวยาวทุกด้าน

หน้าร้านศรแดงมีรถกระบะสูงของตำรวจติดลำโพงชุดขนาดใหญ่ พร้อมตำรวจยศสูงกว่าไอ้เณรขึ้นไปยืนรักษาการณ์อยู่บนนั้น ข้างๆ ห่างเพียงสี่ห้าเมตรมีรถปิ๊กอัฟเสื้อแดงใช้เครื่องขยายเสียงขนาดย่อมเปิดปราศรัยถึงการทำร้ายประชาธิปไตย และการเอาเปรียบของอำมาตย์ ชนิดที่ตำรวจบนรถบัญชาการถ้ารับฟังบ้างไม่มากก็น้อย เชื่อว่าจะมีสิทธิ์ได้ตาสว่าง

แม้แต่ตามแถวตำรวจซึ่งหลังห้าโมงเย็นมีคนเสื้อแดงแทรกปนอยู่เต็มจนมองไม่เป็นแถว แถมผู้ชุมนุมจับกลุ่มยืนวิพากษ์เหตุการณ์ทหารฆ่าประชาชนเมื่อ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ กันเป็นหย่อมๆ กรอกหูตำรวจในแถวเหล่านั้น

เชื่ออีกเหมือนกันว่าถ้าพวกเขาตำรวจ“ไอ้เณร” ฟังแล้วคิดกันบ้างละก็ จะมีคนตาสว่างเพิ่มขึ้นอีกมากหลายทีเดียว

ใกล้ค่ำย่ำสลัวเสียงร้องรำทำเพลงยิ่งกระชับฮึกเหิม ถ้อยคำทำนองเสนาะที่เปล่งพร้อมกันดังลั่นเป็นระยะๆ “ไอ้เหี้ยสั่งฆ่า ไอ้เหี้ยสั่งฆ่า ๆ ๆ” จากฟากโน้นมาฟากนี้ แถมมีเวอร์ชั่นใหม่ “ไอ้เหี้ยสั่งฆ่า อีดอกสั่งยิง ๆ ๆ” เพิ่มมาอีก เรียกเสียงฮาพอประมาณ

โคมไฟฟ้าสีแดงเริ่มลอยขึ้นฟ้าทีละดวง จนกระทั่งมองเห็นเป็นทิวล่องไปทางสะพานผ่านฟ้าเมื่อเวลาโพล้เพล้ เสียงเทียนแวววับมองเห็นแต่ไกลเต็มไปทั่วบริเวณตั้งแต่ฐานอนุสาวรีย์ลงมา ผมจึงเริ่มออกเดินไปตามลานวงเวียนเพื่อชมการประดับเทียน

ส่วนมากจะปักเทียนเป็นกลุ่มๆ บ้างมีโปสเตอร์ข้อความต่างๆ ประกอบ บ้างวางเคียงข้างด้วยดอกไม้ พิเศษกว่าใครรายหนึ่งปักเทียนล้อมรอบร่างนอนนิ่งของชายคนหนึ่ง มีกระดาษเขียนข้อความต่างๆ ปิดไว้ทั่ว ข้อความหนึ่งบอกว่า “รอเหี้ยมาตายคู่” แต่ข้อควรกล่าวถึงอย่างยิ่งก็คือ ผมเห็นชายคนนี้นอนนิ่งเป็นตายมาตั้งแต่ยังไม่ห้าโมง

อีกทั้งดูเหมือนจะขาดไม่ได้คล้ายจะเป็นเทร็นด์ใหม่ที่เริ่มตั้งแต่การไปรวมตัวโดยไม่มีแกนนำที่ราชประสงค์เมื่อวันครบรอบสี่ปีรัฐประหาร สี่เดือนพฤษภาอำมหิต ๑๙ กันยายนที่ผ่านมา คือปรากฏการณ์ของจิตกรรมบนผิวถนน

เขียนข้อความจากก้นบึ้งหัวใจของผู้สูญเสีย ประจานความเลวทรามต่ำช้าของคนที่สั่งฆ่าประชาชน

ถึงแม้ว่าข้อความจะไม่ได้ระบุชื่อใครสักคน แต่ก็เชื่อได้เช่นกันว่าทั้งคนเขียน คนอ่าน และคนที่บันทึกภาพเก็บไว้ ล้วนมีคำตอบอยู่ในใจแล้วว่าเป็นใคร เหมือนดังที่วัฒน์ วรรลยางกูร ถามผู้ชมในหอประชุมเล็กธรรมศาสตร์ว่ารู้ไหมใครสั่งฆ่า เสียงตอบพร้อมเพรียงดังสนั่นว่า “ไอ้เหี้ย”

ผมผละจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อเวลาเพียงหกโมงครึ่ง หมายใจจะได้จับรถกลับก่อนฝูงชนแน่นป้ายรถเมล์เพราะวันนี้ไม่มีเรือ ระหว่างเดินตามแนวถนนราชดำเนินถึงหลานหลวง มีคนเสื้อแดงซึ่งไม่ยืดเยื้อที่จะเลิกราเดินมาในทางเดียวกันหลายกลุ่ม

ได้ยินชายสูงอายุเสื้อแดงคนถึงบอกกับกลุ่มตำรวจในเครื่องแบบปกติสีกากีที่นั่งๆ ยืนๆ ตรงหน้าพลับพลาเจษฎาบดินทร์ว่า “เอ้ากลับกันได้แล้ว” เสียงตอบกลับจากตำรวจนายหนึ่งไม่ทึ่งแต่ชวนคิดว่า “ยัง เขายังไม่ให้กลับ”

เสื้อแดงอีกกลุ่มคุยกันโขมงโฉงเฉงขณะเดินข้ามสะพานผ่านฟ้าลีลาส น่าจะเป็นได้ว่ามีใครกล่าวเปรยออกมาว่าชุมนุมครั้งนี้สลายตัวกันแต่หัวค่ำ จึงได้ยินเสียงหนึ่งดังโพล่งขึ้นมาว่า “เห็นไหม กูมาเองได้ ก็กลับเองได้”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น