วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2554

โลกไซเบอร์

บทบรรณาธิการ
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
         ปีที่ 12 ฉบับที่ 3036 ประจำวัน พุธ ที่ 20 เมษายน 2011
         โดย หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน

http://www.dailyworldtoday.com/columblank.php?colum_id=51629
         กรณีเครือข่ายพลเมืองเน็ตและโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ยื่นหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งนายอภิสิทธิ์รับปากจะยังไม่นำร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพราะเห็นด้วยที่ยังมีปัญหาในหลายจุด เช่น การเอาผิดกับผู้ทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เข้าข่ายมีความผิด และเห็นว่าไม่ควรพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ก่อนการยุบสภา

ขณะที่นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ไอซีที) ได้บอกเช่นกันว่าจะนำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแก้ไขก่อน.

แต่เครือข่ายพลเมืองเน็ตและโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนก็ต้องการแสดงจุดยืนในการคัดค้าน พ.ร.บ. ฉบับนี้ รวมทั้งต้องการให้ประชาชนผู้เกี่ยวข้องทุกส่วน เช่น ผู้ให้บริการ โปรแกรมเมอร์ ผู้ใช้ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการปรับปรุงแก้ไข เพราะที่ผ่านมาประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วมในการแก้ไขกฎหมายเลย จึงอยากให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านมากขึ้น เพื่อทำให้กฎหมายออกมาดีขึ้น

โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ไม่ได้สะท้อนเสียงของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและผู้ใช้อย่างแท้จริง แต่ต้องการเพิ่มโทษมากกว่า เช่น การสำเนาข้อมูลก็มีความผิด ซึ่งขัดกับธรรมชาติของการใช้อินเทอร์เน็ต ที่ไม่ได้แยกแยะอย่างชัดเจนระหว่างการโพสต์ความคิดเห็นทั่วไปกับการตั้งใจโพสต์ข้อความยั่วยุ ปลุกระดมจากบุคคลที่มีเจตนาไม่ดี นอกจากนี้ยังเปิดช่องให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการใช้ดุลยพินิจอย่างมาก จนอาจทำให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทุกคนมีโอกาสทำผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว

โดยเฉพาะช่วงวิกฤตการเมืองที่ผ่านมาเห็นชัดเจนได้ถึงการที่รัฐถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในการใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมหรือ 2 มาตรฐาน รวมถึงการใช้อำนาจปิดเว็บไซต์มากมายที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐบาล โดยอ้างเรื่องของความมั่นคง

ที่สำคัญสังคมอินเทอร์เน็ตไม่ใช่จะมองในแง่ของกฎหมายประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น สังคมอินเทอร์เน็ตวันนี้ถือเป็นสังคมโลกที่ซับซ้อนและเปิดกว้างมากที่สุด แต่ก็มีการเคารพสิทธิส่วนบุคคลและความปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ตด้วย กฎหมายจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาทั้งหมด แม้อินเทอร์เน็ตจะทำให้เกิดผลกระทบอย่างคาดไม่ถึงในหลายๆด้านก็ตาม

แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสังคมอินเทอร์เน็ตมีประโยชน์อย่างมากมายต่อโลกยุคปัจจุบัน ทั้งแง่เศรษฐกิจและวิชาการที่เป็นห้องสมุดของประชาชนที่จะเข้าไปศึกษาหาความรู้ รวมถึงการแสดงออกในเรื่องสิทธิเสรีภาพทางการเมือง

************************


http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น