วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2554

มี พระเสื้อเมือง แล้วมี พระกางเกงเมือง ด้วยหรือไม่?

http://gotoknow.org/blog/kelvin/218470

 
 เขมาเขมสรณทีปิกคาถา (1)
"(หันทะ มะยัง เขมาเขมะสะระณะทีปิกะคาถาโย ภะณามะ เส)
เชิญเถิด เราทั้งหลาย จงกล่าวคาถาแสดงสรณะอันเกษมและไม่เกษมเถิด


พะหุง เว สะระณัง ยันติ ปัพพะตานิ วะนานิ จะ,
อารามะรุกขะเจตยานิ มะนุสสา ภะยะตัชชิตา
มนุษย์เป็นอันมาก เมื่อเกิดมีภัยคุกคามแล้ว ก็ถือเอาภูเขาบ้าง
ป่าไม้บ้าง อาราม และรุกขเจดีย์บ้าง เป็นสรณะ
;


เนตัง โข สะระณัง เขมัง เนตัง สะระณะมุตตะมัง
เนตัง สะระณะมาคัมมะ สัพพะทุกขา ปะมุจจะติ.

นั่น มิใช่สรณะอันเกษมเลย นั่น มิใช่สรณะอันสูงสุด,
เขาอาศัยสรณะ นั่นแล้ว ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
.


โย จะ พุทธัญจะ ธัมมัญจะ สังฆัญจะ สะระณัง คะโต
จัตตาริ อะริยะสัจจานิ สัมมัปปัญญายะ ปัสสะติ
ส่วนผู้ใดถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะแล้ว,
เห็นอริยสัจจ์คือ ความจริงอันประเสริฐสี่ ด้วยปัญญาอันชอบ
;


ทุกขัง ทุกขะสะมุปปาทัง ทุกขัสสะ จะ อะติกกะมัง,
อะริยัญจัฏฐังคิกัง มัคคัง ทุกขูปะสะมะคามินัง;
คือเห็นความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความก้าวล่วงทุกข์เสียได้,
และหนทางมีองค์แปดอันประเสริฐ เครื่องถึงความระงับทุกข์
;


เอตัง โข สะระณัง เขมัง เอตัง สะระณะมุตตะมัง
เอตัง ส ะระณะมาคัมมะ สัพพะทุกขา ปะมุจจะติ.
นั่นแหละ เป็นสรณะอันเกษม นั่น เป็นสรณะอันสูงสุด;
เขาอาศัยสรณะ นั่นแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้"

เมื่อ 2551 กว่าปีที่แล้ว ประชาชนในสมัยนั้นก็ไม่ต่างจากสมัยนี้ คือนิยมที่จะกราบไหว้ บูชา ผีสางเทวดา พระภูมิเจ้าที่ ภูเขา ป่าไม้ อาราม จอมปลวก ต้นกล้วยแปลกๆ ฯลฯ พุทธองค์ท่านจึงทรง ทักท้วงว่า นั่นไม่ใช่ ที่พึ่ง (สรณะ) อันเกษม นั่นไม่ใช่ที่พึงที่ทำให้พ้นทุกข์ได้จริง การพ้นทุกข์นั้น ต้องอาศัย หลัก อริยสัจ 4  นั่นคือต้องพิจารณาให้ เห็นความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความก้าวล่วงทุกข์เสียได้  และดำเนินตามหลัก มรรค 8 อันประเสริฐ เป็นเครื่องถึงความระงับทุกข์ ฉะนี้จึงจะพ้นทุกข์ได้จริง พระพุทธองค์ทรงทำให้ผองชนสมัยพุทธกาลที่หลับไหล (ไสยะ) ตื่น (พุทธะ) ฟื้นขึ้น มาร่วม 2551 ปี แต่คนสมัยนี้กลับเลือกที่จะกลับไปหลับไหลเหมือนดังเช่นแต่ก่อน

Q : ก็แล้วอย่างไร จึงเรียกว่า หลับไหลเล่า?

A : การหลับไหล นั้นก็เช่น การเชื่อในเครื่องลางของขลัง การเชื่อฤกษ์ผานาที การกราบไหว้พระภูมิเจ้าที่ ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า ไสยศาสตร์ หรือ ศาสตร์แห่งผู้ที่ยังหลับไหลยังมิใช่ พุทธศาสตร์  หรือ ศาสตร์แห่งผู้ รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หลักฐานความเชื่อว่าด้วยเรื่อง ไสยศาสตร์นี้ยังมีหลงเหลืออยู่ให้เห็นในสังคมก็เช่นความเชื่อว่าด้วยเรื่อง


"เทพารักษ์ประจำพระนคร  ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง มีทั้งหมด 5 องค์ด้วยกัน คือ  พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง เจ้าพ่อเจตคุปต์ พระกาฬไชยศรี เจ้าพ่อหอกลอง"(3)


Q : เมื่อมี พระเสื้อเมือง แล้วมี พระกางเกงเมือง ด้วยหรือไม่?
A: ไม่มี เพราะ พระเสื้อเมือง เพี้ยนมาจากคำว่า  ผีเสื้อเมือง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ฉบับออนไลน์ ให้คำจำกัดความคำว่า ผีเสื้อเมือง ไว้ความว่า

ผีเสื้อเมือง น. เทวดาที่รักษาบ้านเมือง, พระเสื้อเมือง หรือ เสื้อเมือง ก็เรียก,  (โบ) พระเชื้อเมือง(4)


ศาสตราจารย์ ดร. อุดม วโรตม์สิกขดิตถ์ ได้นำเสนอ หลักการลดหน่วยเสียง (Haplology) ให้เหลือเสียงพยัญชนะต้น ตามด้วย อะ ไว้ในหนังสือ "ภาษาศาสตร์เหมาะสมัยเบื้องต้น" หน้า 146-147 ความว่า การลดเสียงให้เหลือเพียงพยัญชะต้น ตาม ด้วย (อะ) เช่น

"ฉันนั้น             เป็น   ฉะนั้น
ยับยับ              เป็น    ยะยับ
รื่นรื่น               เป็น    ระรื่น
ตัวขาบ             เป็น    ตะขาบ
สายดือ             เป็น    สะดือ
ต้นไคร้              เป็น   ตระไคร้
หมากขาม        เป็น     มะขาม
อันไร                เป็น    อะไร
อีกประการหนึ่ง  เป็น    อนึ่ง" (5)


ฉะนั้นคำว่า ผีเสื้อเมือง จึงเพี้ยนเสียงมาจากคำว่า พระเสื้อเมือง ตามหลักการลดเสียงสระให้เหลือเพียงเสียงพยัญชนะต้นตามด้วย อะ นั่นเอง

อนึ่ง คำว่า ผีเสื้อเมือง นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ฉบับออนไลน์ ให้คำจำกัดความคำว่า ผีเสื้อเมือง ไว้ว่ามาจากภาษาโบราณ ว่า พระเชื้อเมือง ก็ได้ด้วย

การเพี้ยนเสียงจากคำว่า พระเชื้อเมือง เป็น ผีเสื้อเมือง หรือ จาก ผีเสื้อเมือง เป็น พระเชื้อเมือง นั้นสอดคล้องกับ ศาสตราจารย์ สุทธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์ ซึ่งได้นำเสนอ กฎการกลายเสียงของพยัญชนะตามกฎของกริมส์ โดยประยุกต์ใช้กับภาษาไทย ไว้ในหนังสือ บาลีสันสกฤตที่สัมพันธ์กับภาษาไทย หน้า 196-198 ความว่า

"กฎของกริมม์ พัฒนามาจากแนวความคิดของ ราสมุส คริสเตียน ราสก์ (Rasmus Christian Rask)  นักนิรุกติศาสตร์ชาวเดนมาร์กผู้สนใจแนวการกลายเสียงของคำและเขาได้พบว่าการกลายเสียงของพยัญชนะตัวหน้าของภาษาตระกูลเยอรมันกับเผ่าอื่นไม่ได้เพี้ยนไปตามยถากรรมราสก์ เขียนเรียงความ ชื่อ การค้นหาที่มาของภาษานอร์สเก่าและภาษาไอซแลนติก (Introduction to the Grammar of the Icelandic and other Ancient Northern Languages) ส่งให้ Danish Academy of Science เมื่อ พ.ศ. 2375 และชนะการประกวดแต่ความเรียงเรื่องนี้ไม่แพร่หลายเพราะเขียนเป็นภาษาเดนนิชต่อมา ยาคอบ ลุดวิก คาร์ล กริมม์ (Jacob Ludwig Karl Grimm)  ชาวเยอรมันได้นำ กฎของ ราสก์ มาเขียนใหม่เป็นภาษาเยอรมัน ใช้ชื่อหนังสือที่เขาเขียนว่า ไวยากรณ์เยอรมัน (Deutsche Grammatik) พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2362 กริมม์ ได้สรุปการกายเสียงภาษาอินโด-ยุโรปโบราณ (Proto-Indo-European)  มาเป็นภาษาเยอรมันนิก และภาษาเยอรมันนิกเป็นภาษาเยอรมันสูงกว่า กล่าวคือ กริมส์สรุปกฎการกลายเสียงจาก ภาษาอินโด-ยุโรปโบราณ มาเป็นภาษาเยอรมันนิก เป็นรูปวงกลม ดังนี้




คือ Tenus คือเสียงพยัญชนะระเบิด โฆษะ หรือบางท่านเรียกว่า พยัญชนะหยุดอโฆษะ (Voicless Stop) อันประกอบด้วย p, t, k

A คือ Aspiratae คือเสียงพยัญชนะเสียดสี อโฆษะ หรือบาท่านเรียกว่าพยัญชนะเสียดแทรก (Voicless Spirants) ซึ่งได้แก่ f, Ø, x

M คือ Mediae คือเสียงพยัญชะระเบิดโฆษะ (Voiced Stop) ซึ่งได้แก่ b, d, g

หากนำกฎของกริมม์ นี้มาประยุกต์ใช้กับภาษาไทย เสียงกลุ่มต่างๆ อาจะเทียบกับเสียงในภาษาไทยได้ดังต่อไปนี้

T ตรงกับเสียง [ป, ต, ก] และถ้ารวมเสียงพยัญชนะครึ่งระเบิด ครึ่งเสียดแทรก เข้าด้วย ก็จะรวมถึงเสียง จ ด้วย

A ตรงกับเสียง [ซ, ฮ, ฟ] พวกหนึ่ง และเสียง [พ, ท, ค, ช] อีกพวกหนึ่ง แต่เสียงพวกหลังนี้ในภาษาไทยเกิดเป็นเสียงระเบิดอโฆษะ

พึงเข้าใจว่าเสียง

เสียง ซ รวมถึงตัว เสียง [ซ, ศ, ษ, ส] ด้วย
เสียง พ รวมถึงตัว เสียง [พ, ภ, ผ]  ด้วย
เสียง ท รวมถึงตัว เสียง [ท, ธ, ฑ, ฒ, ถ, ฐ] ด้วย
เสียง ช รวมถึงตัว เสียง [ช, ฌ, ฉ] ด้วย


M ตรงกับเสียง [บ, ด] ของภาษาไทย

เมื่อนำกลุ่มเสียงของกริมม์มาเทียบกับหน่วยเสียงของไทยตามตารางนี้จะช่วยให้เรามองเห็นแนวการกลายเสียงของคำที่ใช้ในไทย ว่ามีทั้งที่เป็นไปตามกฎของกริมม์และที่เป็นตรงกันข้าม พวกที่เป็นไปตามกฎของกริมม์ คือ (ดูจากลูกศรในวงกลม)

กลุ่มเสียง T กลายเป็นกลุ่มเสียง A
กลุ่มเสียง A กลายเป็นกลุ่มเสียง M
กลุ่มเสียง M กลายเป็นกลุ่มเสียง T


พวกที่กลายเสียงเป็นตรงข้ามกับกฎของกริมม์ คือ

กลุ่มเสียง A กลายเป็นกลุ่มเสียง T
กลุ่มเสียง T กลายเป็นกลุ่มเสียง M
กลุ่มเสียง M กลายเป็นกลุ่มเสียง A

การกลายเสียงตามทฤษฎีนี้มีพบมากระหว่างภาษาไทยต่างสมัย และต่างถิ่นกันสำหรับคำบาลีสันสกฤตที่ไทยรับมาจะกลายเสียงตามทฤษฎีนี้มักพบในภาษาถิ่นและในวรรณคดีที่ได้รับอิทธิพลมาจากภาษาถิ่น" (6)

ด้วยเหตุนี้เอง การเพี้ยนเสียงจากคำว่า พระเชื้อเมือง เป็น ผีเสื้อเมือง หรือ จาก พระเสื้อเมือง เป็น พระเชื้อเมือง (ช->ส/ซ หรือ ส/ซ->ช) นั้นเป็นไปตาม กฎการกลายเสียงของกริมม์ ด้วยเพราะ คำว่า เชื้อ เสียง [ช] จัดอยู่ในกลุ่มเสียง A  มีลักษณะเป็นเสียงระเบิด ประเภท อโฆษะ เกิดเสียงที่ เพดานแข็ง  เช่นเดียวกับคำว่า เสื้อ [ส/ซ] ก็จัดอยู่ในกลุ่มเสียง A เช่นกัน แต่มีลักษณะเป็นเสียงเสียดแทรก อโฆษะ  เกิดเสียงที่ ฟันกับปุ่มเหงือก นั่นเอง



Q : ทำไม จึงเรียก ผีเสื้อเมือง ?
A : คนโบราณเชื่อว่า ผีเสื้อ  คือวิญญาณ ของบรรพบุรุษ ที่กลับมาคอยปกปักคุ้มครอง ชนรุ่นหลัง แนวคิดนี้สอดคล้องกับ รังสรรค์ จันต๊ะ ได้แสดงทรรศนะไว้ใน บทความที่ชื่อ "เค้าบ้าน เค้าผี เสื้อบ้าน เสื้อเมือง: ระบบครอบครัวและการจัดองค์กรชุมชน ในเขตเศรษฐกิจวัฒนธรรมภาคเหนือตอนบน" นิตยสาร วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 33 ฉบับที่ 1 (1 มกราคม - มีนาคม 2550) ความว่า


"พื้นฐานสังคมแบบเครือญาติ หรือชาติวงศ์ (Clan Society) มีระบบจิตสำนึกที่ยึดถือกฎเกณฑ์พื้นฐานของการเป็นญาติพี่น้องทางสายเลือด มีความเชื่อในเรื่องอำนาจของวิญญาณบรรพบุรุษ คือเชื่อว่าเมื่อบุคคลตายไปแล้ว ผีของเขาจะยังคงเฝ้าคอยดูแลปกปักรักษา และช่วยเหลือลูกหลานอยู่ตลอดไป เรียกว่า ผีปู่ย่า ต้องอัญเชิญมาอยู่บนหิ้งในห้องนอนของครอบครัวผู้เป็น “เค้าผี” หรือผู้สืบสกุลสายผีเครือญาติเดียวกัน ซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายหญิง ในระบบชุมชนหมู่บ้าน มีผีบรรพบุรุษประจำหมู่บ้าน เรียกว่าเสื้อบ้าน และเมื่อชุมชนพัฒนาเข้าสู่ความเป็นรัฐแบบเจ้าฟ้า หรือพญาเจ้าเมือง ก็มี เสื้อเมือง ที่อัญเชิญมาอยู่ ณ หอผีที่ดงหรือที่ดอนประจำหมู่บ้าน หรือจุดใดจุดหนึ่ง อันถือเป็น พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือ ที่หน้าหมู่ (ที่สาธารณะ) ทำหน้าที่เป็นหลักหมาย หรือศูนย์รวมพลังทางจิตใจของหมู่บ้าน บางแห่งทำเป็น เสาใจบ้าน หรือ เสาหลักเมือง และพัฒนาไปเป็นพระธาตุหรือเจดีย์ประจำชุมชน ทำหน้าที่ดังกล่าวบนโครงสร้างและความหมายเดียวกัน(7)

“ไท่” เครื่องบูชาผีเรือนใน “กะลอห้อง” ของชาวไทดำเมืองแถน (เดียนเบียนฟู) ประเทศเวียดนาม (7)

จะเห็นได้ว่า พระเสื้อเมือง นั้นมีที่มาจากความเชื่อของ คนไทยสมัยโบราณที่นับถือผีเสื้อ (วิญญาณบรรพบุรุษ) ซึ่งคอยรักษาบ้านรักษา เมือง และด้วยเหตุที่ว่า ธรรมชาติ และป่าไม้ นั้นเปรียบเสมือน ชนนี (มารดา) ของบรรดา เหล่า เวไนยสัตว์ (สัตว์ที่สามารถฝึกให้เชื่องในความดีได้ อันได้แก่มนุษย์) มนุษย์ได้ใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติ และได้เรียนรู้สรรพวิชาต่างๆ ในการดำรงชีพจากธรรมชาติและป่าไม้ การเคารพ ผีเสื้อ ก็คือ การเคารพธรรมชาติ ด้วยเหตุเพราะผีเสื้อย่อมอาศัยอยู่ในเขตที่มีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและป่าไม้ ต่อมาเมื่อชุมชนพัฒนาเข้าสู่ความเป็นรัฐ จึงได้เกิด เทพารักษ์ประจำพระนคร องค์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้นมาตามลำดับ แปรผันตรงกับ การที่มนุษย์ ลดความนับถือ ผีเสื้อเมือง/ธรรมชาติและป่าไม้ ลงไปด้วย


 จากวิวัฒนาการทางสังคมนี้เอง จะเห็นได้ว่าในชั้นต้น การบูชา ผีบรรพบุรุษ/ผีเสื้อเมือง นั้น จะมีก็แต่ เครื่องบูชาผีเรือน/เครื่องเซ่นสังเวย นั่นคือ ต่อมาเมื่อสังคมมีความเจริญยิ่งๆ ขึ้นจึงได้เกิดมี  รูปเคารพ (Idol)  ขึ้นตามมาในภายหลัง





รูปภาพ เทพารักษ์ (เจว็ด) ณ วัดโชติทายการาม (8)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ฉบับออนไลน์ ให้คำจำกัดความคำว่าเจว็ด ไว้ความว่า
เจว็ด [จะเหฺว็ด] น. แผ่นไม้รูปคล้ายใบเสมา เขียนหรือแกะเป็นรูปเทพารักษ์
ประดิษฐานไว้ในศาลพระภูมิหรือศาลเจ้า มักทำเป็นรูปเทวดาถือ
พระขรรค์, โดยปริยายหมายความว่า ผู้ที่ได้รับยกย่องให้เป็นประธาน
หรือเป็นใหญ่ แต่ไม่มีอำนาจ เช่น ตั้งเป็นเจว็ดขึ้นไว้, ใช้ว่า ตระเว็ด หรือ
เตว็ด ก็มี.(4)


จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า เจว็ด นั้นมีวิวัฒนาการมาจาก ผีเสื้อเมือง นั่นเอง สำหรับสาเหตุที่ เจว็ด เพี้ยนเสียงเป็น เตว็ด  นั้น ก็เป็นไปตาม "กฎการกลายเสียงของกริมม์"(6) ด้วยเช่นกัน สาเหตุเพราะ คำว่า ว็ด เสียง [จ] จัดอยู่ใน กลุ่มเสียง T  มีลักษณะเป็นเสียงระเบิด ประเภท อโฆษะ เกิดเสียงที่ ฟันกับปุ่มเหงือก  เช่นเดียวกับคำว่า คำว่า เว็ด [ต] ก็จัดอยู่ใน กลุ่มเสียง T เพราะเป็นเสียงระเบิด ประเภท อโฆษะ เช่นเดียวกัน  เพียงแต่ เกิดเสียงที่ เพดานแข็ง  

สำหรับประเด็น ว่าด้วยเรื่องของ พัฒนาการทางด้านความเชื่อ ข้างต้น สอดคล้องกับทรรศนะที่ปรากฎ ในหนังสือ "การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของพุทธศาสนาในสังคมไทย" ซึ่งปรับปรุงมาจากวิทยานิพนธ์ เรื่อง "การประยุกต์แนวความคิดเรื่องเกมภาษาของวิตเกนสไตน์ (Ludwig Wittgenstein)ในการอธิบายเรื่องของความหมายในภาษาศาสนาศึกษาเฉพาะกรณีภาของสำนักสันติอโศก" ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ของ สุนัย เศรษฐบุญสร้าง หน้าที่ 83 ความว่า



"ศาสนาเป็นเครื่องมือที่อำนวยประโยชน์สำหรับการปูกฝังจริยธรรมเบื้องต้นเพื่อให้ผู้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบ ไม่คิดต่อต้านเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครอง หรือผู้นำทางการเมือง ตลอดจนรูปแบบการพัฒนาของสังคมที่เป็นอยู่ อันก่อให้เกิดการรักษาโครงสร้างทางชนชั้นแบบเดิมไว้ (Status Quo) (9)


นอกจากนี้แล้ว สุนัย เศรษฐบุญสร้าง ยังได้แสดง ทรรศนะที่มีนัยยะสำคัญทางศาสนาไว้ในหน้าที่ 90 ความว่า


 "การศึกษาศาสนาในเชิงความคิดอย่างเดียว ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดการบิดเบือนเอาคำสอนทางศาสนาขั้นสูงไปใช้ในเหตุผลเพื่อปกป้องสถานะที่ได้เปรียบกว่าของผู้คนบางส่วนในสังคม(Status Quo) " (9)




สำหรับ ค่านิยมการบูชาผีบ้านผีเมือง การบูชาเทพเจ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น เทพารักษ์ หรือ เจว็ด  นั้น ถึงแม้นว่าในกาลต่อมา เมื่อ พุทธศาสนา ได้เผยแผ่มายังประเทศไทย และกลายเป็นศาสนากระแสหลักของกลุ่มชนประเทศ แต่ทว่าค่านิยมในการบูชาผี บรรพบุรุษ ก็ยังคงมีหลงเหลืออยู่ในรูปของ เทพารักษ์ (เจว็ด) รวมถึงศาลพระภูมิเจ้าที่  จากนั้นจึงพัฒนา เป็นการบูชา พระพรหม พระนารายณ์ หรือ พระอิศวร อีกชั้นหนึ่ง สำหรับรูป เทพารักษ์ (เจว็ด) ในชั้นต่อมานี้ก็ถูกตีความตามหลักประติมานวิทยา (Iconography) "เพื่อปกป้องสถานะที่ได้เปรียบกว่าของผู้คนบางส่วนในสังคม (Status Quo)" (9) การตีความว่า เทพารักษ์ (เจว็ด ) ว่าคือปางหนึ่งของพระนารายณ์ ผู้ทรงอวตาร ยกตัวอย่างเช่น


"“เจว็ด” ตามความหมายในพจนานุกรม คือ “รูปเทพารักษ์ที่ประดิษฐานไว้ในศาลพระภูมิหรือศาลเจ้า มักทำเป็นรูปเทวดาถือพระขรรค์และสมุด” เจว็ดเป็นแผ่นไม้รูปร่างคล้ายใบเสมาแต่มีลักษณะสูงเพรียวกว่า มักเขียนเป็นรูปเทวดายืนบนแท่น มือข้างหนึ่งถือพระขรรค์ ส่วนมืออีกข้างหนึ่งนั้นถือสมุด บางกรณีเมื่อเชิญพระภูมิมาสถิตย์หลายองค์ก็สามารถตั้งเจว็ดหลายอันได้ในศาลเดียวกัน ตามคติพราหมณ์เชื่อว่า เทพารักษ์ทำหน้าที่พิทักษ์เหย้าเรือนและเขตที่ตั้งของบ้านผู้เป็นเจ้าของที่ดินตลอดจนผู้อาศัยให้พ้นภัยทั้งปวง คติดังกล่าวน่าจะมาจากคัมภีร์ภาติวัตปุราณะ เล่าเรื่องนารายณ์อวตารในปาง “วามนาวตาร” เพื่อปราบท้าวพลีเจ้านครบาดาล พราหมณ์จึงนับถือท้าวพลีโดยตั้งอยู่ในฐานะเจ้าแห่งที่ดิน โดยในบทโองการบูชาเทวดามีเนื้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า “โอมพระภูมิพระธรณี กรุงพลีเรืองฤทธิ์” นอกจากนี้ตำนานพระภูมิเจ้าที่ซึ่งแต่งขึ้นเพิ่มเติมในสมัยหลังระบุว่า ท้าวพลีมีโอรสทั้งหมด 9 องค์ โดยโอรสองค์โตนามพระชัยมงคล มีหน้าที่รักษาเคหะสถานบ้านเรือน ในคัมภีร์ไตรภูมิกล่าวถึงภูมิเทวดาว่าเป็นเทวดาที่อยู่ในภูมิภาคปฐพี สิงสถิตย์อยู่ตามต้นไม้และภูเขา อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตด้วยว่าอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับคติจากจีนก็เป็นได้ เนื่องจากตามคติความเชื่อของชาวจีนนั้น ก็มีเจ้าที่หรือภูมิเทวดาเป็นผู้รักษาทะเบียนมนุษย์ในอาณาบริเวณท้องที่ของตน โดยเจ้าที่จะคอยจดบันทึกบุญบาปของมนุษย์ไว้ในสมุด" (10)




ก็เมื่อระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราช (absolute monarchy) แพร่มายังไทย วรรณะกษัตริย์  ถือว่าเป็น สมมติเทพ หรือ องค์อวตาร องค์หนึ่งของพระนารายณ์  ด้วยเหตุนี้ พระนามของ พระมหากษัตริย์ไทยในสมัยก่อน จึงนิยมใช้พระนามของ พระนารายณ์ ประกอบพระนาม ยกตัวอย่างเช่น พระนาม  พ่อขุนรามคำแหงมหาราช (พ่อขุน+ราม+กำแหง ราม ก็คือ รามาวตาร/พระนารายณ์อวตารมาเกิดเป็น มนุษย์ชื่อ ราม) หรือพระนาม พระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็มีพระนามพระนารายณ์ ประกอบพระนามด้วย ฉะนั้น เมื่อ ตีความทาง ประติมานวิทยา (Iconography) ว่าเทพารักษ์ (เจว็ด) คือ พระรายรายณ์ผู้ทรงอวตาร (วามนาวตาร) ฉะนั้น การกราบไหว้ นับถือ เทพารักษ์ (เจว็ด) ก็คือการกราบไหว้ พระราชา ซึ่งเป็น สมมติเทพ  นั่นเอง กรณีดังกล่าวนี้จึงถือเป็นการตีความทาง ประติมานวิทยา (Iconography)  "เพื่อปกป้องสถานะที่ได้เปรียบกว่าของผู้คนบางส่วนในสังคม(Status Quo)" (9) อย่างมีนัยยะสำคัญนั่นเอง


รูปภาพ เจว็ด ศิลปะรัตนโกสินทร์ ทำด้วยไม้ เลขทะเบียน รส.139 สูง 115.8 เซนติเมตร เจว็ด คือรูปเทพารักษ์ที่ประดิษฐานไว้ในศาลพระภูมิหรือศาลที่สร้างขึ้นในการประกอบพิธีทางศาสนาและความเชื่อต่างๆ เช่น หากทำเป็นรูปเทวดาถือคันไถ ก็จะใช้ในพิธีแรกนาขวัญ สำหรับเจว็ดชิ้นนี้เป็นรูปเทวดาถือสมุด อีกมือหนึ่งถือแส้ มีความหมายคล้ายกับพระภูมิเจ้าที่ของจีน ซึ่งมีหน้าที่รักษาทะเบียนมนุษย์ ผู้ใดในหมู่บ้านซึ่งอยู่ในท้องที่พระภูมิดูแลรักษาอยู่ มีการทำบุญหรือทำบาปก็จะถูกจดบันทึกไว้ในสมุดทะเบียนนั้นไว้ (11)




เจว็ด (บางทีอาจเรียกว่า ตระเว็ด หรือ เตว็ด ก็มี) หรือตัวองค์พระภูมิ ถือเสมือนตัวแทน เทวดา หรือ เจ้าที่ นาม พระชัยมงคล เดิมจะเป็นภาพเทวดาบนแผ่นไม้รูปวงรีมีฐานตั้งปัจจุบันเจว็ดประจำศาลมักจะใช้เป็นรูปหล่อทองเหลือง ดูเปล่งปลั่งคล้ายทอง ในหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือถุงเงิน เชื่อว่าท่านจะคอยประทานเงินให้แก่ผู้เป็นเจ้าของที่ เดิมหัตถ์ซ้ายของเทวดาจะถือสมุด (หนังสือ) ซึ่งคนในสมัยก่อนน่าจะตระหนักว่าความรู้สำคัญกว่าเงินทองเพราะหนังสือก่อให้เกิดความรู้สติปัญญา เพื่อใช้เลี้ยงชีพต่อไปภายภาคหน้า" (12)


สำหรับสิ่งที่ เทพรักษ์ (เจว็ด) ถืออยู่นั้น ก็จะเห็นได้ว่า มีทั้งถือคันไถ บ้างก็ถือ พระขรรค์และแส้ บ้างก็ถือ พระขรรค์และสมุด/หนังสือ บ้างก็ถือ พระขรรค์และถุงเงินแต่การตีความทางประติมานวิทยา ที่ว่า

"ในหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือถุงเงิน เชื่อว่าท่านจะคอยประทานเงินให้แก่ผู้เป็นเจ้าของที่ เดิมหัตถ์ซ้ายของเทวดาจะถือสมุด (หนังสือ) ซึ่งคนในสมัยก่อนน่าจะตระหนักว่าความรู้สำคัญกว่าเงินทองเพราะหนังสือก่อให้เกิดความรู้สติปัญญา เพื่อใช้เลี้ยงชีพต่อไปภายภาคหน้า" (12)



นั้นคือทรรศนะเก่า สำหรับทรรศนะใหม่ตาม สมมติฐานของผู้เขียนนั้นมีอยู่ว่า  "หากเจว็ด ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทน ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ดังนั้นสิ่งที่ เจว็ดถือก็จะต้องแฝงนัยยะทางการเมือง" สมมติฐานนี้สอดคล้องกับ ทรรศนะของ จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา ซึ่งปรากฎอยู่ในหนังสือ อำนาจอยู่หนใด ชีวประวัติเหมือนนวนิยายของนักปกครอง 7 ท่าน หน้า 161 ความว่า 

 "มาถึงบัดนี้ท่านผู้อ่านคงจะแยกแยะความแตกต่างระหว่าง อำนาจและบารมีได้ เป็นเวลาร่วม 2000 ปีแล้วที่สัญลักษณ์ แส้ และถุงเงิน ของโรมัน หมายถึงอำนาจอยู่ตลอดมา ในทุกวันนี้อาจแปลงโฉมเป็น ปืนและเงิน พูดให้นิ่มนวลหน่อยก็คือ พระเดช พระคุณ หรือ ให้โทษได้ ให้คุณได้ นั่นเอง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงพ้นจากภาวะ เจว็ด ก็เพราะจับจุดทั้งสองนี้ได้ การตั้งกองทหารมหาดเล็ก โดยใช้ปืนแบบยุโรปกับการเข้าคุมการคลังแผ่นดิน โดยให้มีงบประมาณแผ่นดิน นี่คือ แส้และถุงเงิน ทรงทำได้สำเร็จและมีอำนาจ(13)



จะเห็นได้ว่า เทพารักษ์ (เจว็ด) พัฒนามาจาก ผีเสื้อเมือง (ผีบรรพบุรุษ) และถูกทำให้กลายเป็นสัญลักษณ์ ของ  ระบอบราชาสิทธิราชไปในที่สุด สิ่งที่ เทพารักษ์ (เจว็ด) ถือ ก็คือ พระเดช และพระคุณ แห่ง ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช นั่นเอง

***********

ทรรศนะ+บทความที่จะประกอบเพิ่มเติมในบทความ 
1ทรรศนะของมหาตมะคานธีที่มี ต่อ ศาสนาพุทธ/พระพุทธเจ้า จากในหนังสือ สามรัตนบุรุษ ของอินเดีย โดย ดร.กรุณา กุศาสัย (หนังสืออยู่บ้าน)

2. พระพรหม แบบพุทธ และแบบพราหมณ์ ในหนังสือ เทวนิยาย โดย  ส.พลายน้อย

3.พระธรรมธีรราชมหามุนี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.9).โลกทีปนี.กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2538 . พิมพ์ครั้งที่ 4 (320 หน้า)

4ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร   คัมภีร์วุตโตทัย หนังสือชื่อ  ฉันทศาสตร์ไทย 

อ้างอิง
(1) รวมเสียง และพระธรรมเทศนา ท่านพุทธทาส ภิกขุ. [cited 2008 October 23]. Available from: URL; http://www.geocities.com/putthatat/

(2) เขมาเขมสรณทีปิกคาถา. ชมรมพระพุทธศาสนา เอไอเอ. 2008 October [cited 2008 October 24]. 1 (32) ; (1 screens). Available from: URL;http://www.aia.or.th/prayer32.htm
(3) เทพารักษ์ประจำพระนคร, กรุงเทพมหานคร .เวปไซต์หอมรดกไทย. 1999 August [cited 2008 October 23]. 9 (4) ; (10 screens).  Available from: URL; http://www.tv5.co.th/service/mod/heritage/nation/bangkok/index4.htm

(4)  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ฉบับออนไลน์ [cited 2008 October 23].  Available from: URL; http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-search-all-x.asp

(5) อุดม วโรตม์สิกขดิตถ์. ภาษาศาสตร์เหมาะสมัยเบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : ต้นธรรม ; 2537.

(6) สุทธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์. บาลีสันสกฤตที่สัมพันธ์กับภาษาไทยพิมพ์ครั้งที่ 1.กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช , 2523.

(7) รังสรรค์ จันต๊ะ. เค้าบ้าน เค้าผี เสื้อบ้าน เสื้อเมือง ระบบครอบครัวและการจัดองค์กรชุมชน ในเขตเศรษฐกิจวัฒนธรรมภาคเหนือตอนบน. นิตยสาร วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 33 ฉบับที่ 1 (1 มกราคม - มีนาคม 2550). 2007 January-February [cited 2008 October 23]. 33 (18) ; (10 screens). Available from: URL; http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=Sections&op=listarticles&secid=39

(8) เที่ยวตลาดน้ำแวะนมัสการพระที่วัดโชติทายกราม . 2005 September [cited 2008 October 23]. (10 screens). Available from: URL;  http://www.212cafe.com/boardvip/view.php?user=history&id=45

(9) สุนัย เศรษฐบุญสร้าง. การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของพุทธศาสนาในสังคมไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1.--กรุงเทพฯ ; ฟ้าอภัย,2542.

(10) Little Jazz (นามแฝง). พระพรหมมาพระภูมิถอย. Little Corner. 2007 May [cited 2008 October 25]. 2 (50) ; (13 screens). Available from: URL; http://gotoknow.org/blog/littlecorner/170947

(11) ไม้จำหลัก, เจว็ด. เวปไซต์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร. [cited 2008 October 26]. (5 screens). Available from: URL; http://www.thailandmuseum.com/bangkok/maijamlak.htm

(12) เรื่องของศาลพระภูมิ. เวปไซต์มูลนิธิสายใจไทยฯ. 2003 July [cited 2008 October 26]. 5 (10) ; (0 screens). Available from: URL; http://kanchanapisek.or.th/kp4/buddish.htm

(13) จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา, อำนาจอยู่หนใด ชีวประวัติเหมือนนวนิยายของนักปกครอง 7 ท่าน.--พิมพ์ครั้งที่ 1.--กรุงเทพฯ : พัฒนา, 2533.

http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น