วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554


ตอกย้ำม.112มีปัญหา


        เรื่องจากปก
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
         ปีที่ 12 ฉบับที่ 3058 ประจำวัน ศุกร์ ที่ 20 พฤษภาคม 2011
            http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10746
         “อานันท์-ส.ศิวลักษณ์-วรเจต-สมศักดิ์” เห็นตรงกันเรื่องกฎหมายหมิ่นสถาบัน มาตรา 112 มีปัญหาที่การบังคับใช้ ชี้มีช่องโหว่ให้บางกลุ่มบางพวกใช้ข้ออ้างรักในหลวงเพื่อทำลายคนอื่น ควรปรับแก้ให้เหมาะสม โดยเฉพาะสิทธิในการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน และเรื่องบทลงโทษที่ไม่ควรมากเกินพอดี

ค่ำวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) พูดคุยกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศในประเทศไทยถึงการทำงานในช่วงที่ผ่านมา ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย


นายอานันท์ระบุว่า ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยเกิดจากโครงสร้างทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียม ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และทรัพยากร สิ่งที่ คปร. เสนอต่อรัฐบาลคือ ให้ปฏิรูปกองทัพ ลดอำนาจและบทบาทลง เพิ่มการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และปฏิรูปที่ดิน เพื่อลดอำนาจรัฐ เพิ่มความเข้มแข็งให้ประชาชน ในโอกาสที่มีการเลือกตั้งประชาชนควรตั้งคำถามเรื่องการปฏิรูปประเทศกับผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมืองเพื่อผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ


มาตรา 112 มีปัญหาการบังคับใช้


ผู้สื่อข่าวจากไฟแนนเชียล ไทม์ส ถามว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 ควรมีการปฏิรูปด้วยหรือไม่ นายอานันท์กล่าวว่า ตัวกฎหมายไม่มีปัญหา สิ่งที่เป็นปัญหาคือการบังคับใช้ การให้ใครก็สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้กลายเป็นช่องว่างให้ใช้กฎหมายและสถาบันกษัตริย์เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง หากแก้จุดนี้ได้ปัญหาที่เกิดขึ้นก็จะลดลง


กฎสากลใช้กับสถาบันทุกที่ไม่ได้


“คนต่างชาติอาจมองว่าคนไทยรักและเทิดทูนสถาบันกษัตริย์แบบแปลกๆ แต่นี่เป็นวัฒนธรรมของเรา คนอื่นควรเคารพความหลากหลาย ไม่ควรตัดสินใจว่าอะไรดีไม่ดี เพราะผมก็ไม่เคยคิดไปตัดสินสถาบันกษัตริย์ที่อื่นๆ การจะใช้กฎสากลกับระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในทุกที่ๆนั้นไม่ถูกต้อง เพราะแต่ละที่มีรายละเอียดต่างกัน แต่ก็ควรมีมาตรฐานหนึ่งที่ยอมรับร่วมกัน”


สถาบันไม่เคยเรียกร้องขออำนาจ


ส่วนประเด็นคำถามเรื่องการปฏิรูปอำนาจสถาบันกษัตริย์นั้น นายอานันท์กล่าวว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญไทยให้อำนาจสถาบันกษัตริย์ใช้อำนาจผ่านสถาบันอื่นๆ เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ แต่คนกลับไปมองว่าสถาบันกษัตริย์ใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ซึ่งจริงๆไม่ใช่” นายอานันท์กล่าวและว่า อำนาจของพระมหากษัตริย์ไม่ได้มาจากการเรียกร้อง แต่ได้มาเองผ่านทางประชาชนและรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ ซึ่งไม่ได้มีอำนาจมากไปกว่าสถาบันกษัตริย์ของประเทศอื่นๆที่มีอยู่ในโลก


วันเดียวกันที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีการจัดการอภิปรายเรื่อง “การจัดการความรุนแรงในสังคมไทย : กรณีการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112” โดยคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่มี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เป็นประธาน และมีกรรมการในคณะอนุกรรมการหลายคนร่วมรับฟัง เช่น นายสมชาย หอมลออ นายจอน อึ๊งภากรณ์


ไม่เคยพูดกันเรื่องบทบาทของสถาบัน


นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักคิด นักเขียน ซึ่งตกเป็นจำเลยคดีหมิ่นสถาบัน กล่าวว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมีความละเอียดอ่อน ต้องเข้าใจว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีไว้ทำไมในระบอบประชาธิปไตย แต่คนไทยไม่เคยพูดเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะไม่มีคนที่มีความกล้าหาญ ทุกคนกลัว ไม่อยากยุ่ง


มาตรา 112 ทำลายมากกว่าส่งเสริม


“มาตรา 112 ทำลายสถาบันมากกว่าสนับสนุนสถาบัน เพราะมีคนอ้างรักในหลวงแล้วเอากฎหมายนี้ไปเล่นงานคนอื่น และหลายคนที่ถูกจับเป็นผู้ที่หวังดีต่อสถาบัน อย่างกรณีนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่ข้อเสนอของเขาเต็มไปด้วยสติปัญญาและหวังดีต่อสถาบัน ส่วนคดีของผมนั้นเรื่องยุติไปแล้ว เพราะเรื่องขึ้นถึงพระเนตรพระกรรณ จึงมีพระราชดำรัสให้ยุติคดี แต่เวลานี้พระองค์ทรงพระประชวร และมีการกีดกันอย่างมากไม่ให้เรื่องต่างๆขึ้นไปถึงพระองค์”


หากยังมีอยู่เป็นอุปสรรครักษาสถาบัน


นายสุลักษณ์ย้ำว่า หากยังมีมาตรา 112 อยู่จะเป็นอุปสรรคอย่างมากในการรักษาสถาบัน ยกเว้นแต่จะมีการปรับปรุงให้เหมาะสม เช่น เรื่องการร้องทุกข์กล่าวโทษควรแก้ให้เป็นอำนาจของผู้เกี่ยวข้องอย่างสำนักราชเลขาธิการ หรือองคมนตรี โดยพิจารณาในรูปของคณะกรรมการ


ผู้ถูกดำเนินคดีได้รับผลกระทบทางสังคม


นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นจำเลยคดีหมิ่นสถาบัน กล่าวว่า การถูกดำเนินคดีไม่ได้เป็นผลกระทบจากกฎหมายเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบทางสังคมตามมาด้วย เพราะทั้งตนและคนในครอบครัวถูกเพ่งเล็งจากฝ่ายต่างๆ จนทำให้รู้สึกวิตกกังวล


“ก่อนหน้านี้มีคนขี่จักรยานยนต์เข้ามาถามหาผมในหมู่บ้าน 2 ครั้ง คนหนึ่งแลกบัตรกับยามหน้าหมู่บ้านไว้ เมื่อเอาชื่อไปเช็กในทะเบียนราษฎรพบว่าเป็นข้าราชการทหาร จึงทำให้หวาดระแวงมาก เพราะหลายคนเตือนว่าระวังโดนอุ้ม ผมไม่เท่าไร แต่คนรอบข้างกลัวกันมาก”


ใช้กระบวนการกฎหมายที่ไม่ปรกติ


นายสมศักดิ์กล่าวว่า ถูกดำเนินคดีเพราะมีนายทหารพระธรรมนูญยศพันตรีไปแจ้งความกับตำรวจ โดยมีข้อกล่าวหายาว 3 หน้ากระดาษ เมื่อได้อ่านแล้วต้องบอกว่าเซ็ง เพราะหลักฐานที่นำมาแสดงนั้นอ่อนมาก หากเป็นความผิดต่อไปในห้องเรียนเรื่องการเมืองไทยคงพูดอะไรไม่ได้เลย สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการที่ไม่ใช่ normal legal process (กระบวนการปรกติในทางกฎหมาย) เกิดจากกองทัพออกมาพูด ออกมากดดันทุกวัน ซึ่งถือเป็นการกดดันทางการเมือง และเป็นการเมืองที่มีอาวุธ


ต้องพูดถึงได้-วิจารณ์ได้ ไม่หมิ่น


“สิ่งที่นักสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนน่าจะช่วยได้คือ การทำให้สังคมตระหนักว่าการพูดถึงสถาบันเฉยๆไม่ใช่การหมิ่น การวิจารณ์ก็ไม่ใช่การหมิ่น แต่ประเทศไทยมาถึงจุดว่าถ้าใครพูดอะไรเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์หรือราชวงศ์ที่ผิดจาก official version จะถูกหาว่าหมิ่นได้ทันที”


นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มาตรา 112 มีปัญหาทั้งเรื่องการบังคับใช้และตัวบทกฎหมาย การกำหนดโทษไว้สูงมีผลต่อการได้รับการประกันตัวของผู้ถูกกล่าวหา การกำหนดโทษก็ไม่สมควรแก่เหตุ โดยให้จำคุกต่ำสุด 3 ปี สูงสุด 15 ปี ไม่มีโทษปรับต้องจำคุกอย่างเดียว นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการตีความและการบังคับใช้ ซึ่งเกี่ยวพันกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย ทางแก้คืออาจยกเลิกไปเลยหรือปรับแก้ แต่ไม่ควรคุ้มครองสิทธิสูงกว่าคนปรกติทั่วไปมากนัก โดยให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้แจ้งความ นอกจากนี้ยังต้องยอมให้มีการกำหนดเหตุยกเว้นความผิดไว้ ถ้าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ ติชมโดยสุจริต เพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องยอมให้มีเหตุยกเว้นโทษ ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง คนที่พูดก็ไม่ควรถูกลงโทษ แต่หากเป็นเรื่องส่วนพระองค์โดยแท้นั้นไม่ควรมีเหตุยกเว้นโทษ ด้วยวิธีการอย่างนี้เท่านั้นที่สถาบันกษัตริย์จะอยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริง


จี้กรรมการสิทธิฯแสดงบทบาท


“คณะกรรมการสิทธิฯควรแสดงบทบาทในเรื่องนี้ อาจเสนอไปยังรัฐบาลว่าเป็นบทกฎหมายที่กระทบสิทธิ โทษจำคุกขนาดนี้น่าจะขัดรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ ถัดมาต้องพูดถึงสถาบันในบริบทกฎหมายทั้งหมด มีแต่แบบนี้ที่จะรักษาสถาบันให้เป็นประมุข เป็นศูนย์รวมใจของชาติไว้ได้อย่างยาวนาน”


ทั้งนี้ ยังมีนักวิชาการผู้ที่ถูกดำเนินคดีหมิ่นสถาบันอีกหลายคนร่วมแสดงความคิดเห็น ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดได้เว็บไซต์ประชา

ไท
http://www.prachatai3.info

***********************
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น