วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วิกฤตประเทศยังคงอยู่


วิกฤตประเทศยังคงอยู่


"จาตุรนต์"ชี้วิกฤตประเทศยังคงอยู่ หนุนเพื่อไทย
แก้ รธน.ทั้งฉบับ เหตุแก้รายมาตราใช้เวลาอย่างน้อย 15 ปี




14 กรกฎาคม 2555 - ที่โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการพรรคไทยรักไทย แถลงเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองว่า การวินิจฉัยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นกระบวนการเดียวกับรัฐประหาร เพียงแต่ยังไม่จัดการรัฐบาลโดยตรง แต่จัดระบบกติกา ดังนั้น หากกระบวนการนี้ยังต่อเนื่องไปอาจเกิดอะไรกับรัฐบาลก็ได้ ซึ่งคำวินิจฉัยเมื่อวานเป็นการอ้างประชาชนขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นคำวินิจฉัยที่มีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เป็นการฉวยโอกาสแก้ไขตามอำเภอใจ ไม่มีเหตุผล ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญรองรับ ศาลอาศัยความซับซ้อนสร้างความสับสนที่จะทำให้เกิดปัญหาใหญ่หลวงตามมาอีกมาก

"กระบวนการทั้งหมดตั้งแต่มีการร้องแก้ไขมาตรา 291 เป็นกระบวนการขัดขวางให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย นอกจากนี้ ยังทำให้รัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น สร้างเกราะคุ้มกันรัฐธรรมนูญปิดโอกาสปิดช่องทางแก้ไขปัญหาพื้นฐานของประเทศ คือความไม่เป็นประชาธิปไตย จะทำให้ปัญหาวิกฤตที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในเนื้อหาสาระรัฐธรรมนูญยังคงเป็นวิกฤตต่อไป และในอนาคตจะเลวร้ายยิ่งขึ้น โดยคำวินิจฉัย จะมีผลผูกพันต่อไป ด้วยการนำความคิดเห็น จากคำว่า "ควร" และ "เหมาะสม" มาประกอบคำวินิจฉัยจนกลายเป็นบทบัญญัติ แม้ว่าบุคลากรของศาลระบุศาลจะตัดสินแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี แต่เป็นการปิดทางแก้ปัญหาความขัดแย้งทางสังคมด้วยสันติวิธี" นายจาตุรนต์ ระบุ

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า "จากคำวินิจฉัย ข้อแรก ศาลรัฐธรรมนูญได้แก้ไขมาตรา 68 ผู้ทราบหรือเห็นเหตุการณ์ว่ามีใคร พรรคการเมือง ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ให้ร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง สามารถยื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ เป็นการตีความในรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ตรงเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ เท่ากับเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อเพิ่มอำนาจให้สิทธิ์ผู้ร้อง เพิ่มอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัย พร้อมทั้งอาศัย มาตรา 68 ตรวจสอบวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้ขยายอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบ วินิจฉัยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ได้ และตรวจสอบเมื่อไรก็ได้ ทั้งนี้ เป็นการขยายอำนาจทำให้ศาลรัฐธรรมนูญก้าวกาย แทรกแซง การทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ มีลักษณะทำลายหลักการ แบ่งแยกอำนาจ สถาปนาอำนาจตนเองให้อยู่เหนืออำนาจรัฐสภา อย่างไรก็ตาม หากจะดำเนินการตามศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุให้ทำประชามติก่อนนั้น มี 3 วิธี คือ ทำประชามติก่อนโหวตวาระสาม ทำประชามติหลังโหวตวาระสาม และทำประชามติ หลังจากที่ส.ส.ร.แก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระสามที่ค้างอยู่ในระเบียบวาระประชุม นั้นเห็นว่าไม่ควรรีบตัดสินใจถอดร่างออก"

"สิ่งที่ประเทศนี้ควรจะทำและได้รับคือการแก้ไข รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ และตนสนับสนุนให้พรรคเพื่อไทยแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้เป็นประชาธิปไตย เพราะหากแก้ไขเป็นรายมาตราต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15 ปี และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ออกฤทธิ์"นายจาตุรนต์ ระบุ

เมื่อถามว่า จะมีการเสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า "ตนเคยกล่าวไปในการปราศรัยหาเสียงแล้ว แต่ต้องศึกษาในรายละเอียดถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นว่าร้ายแรงแค่ไหน ในขั้นเร่งด่วนนี้ ควรจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อจำกัดอำนาจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ"

เมื่อถามต่อว่า ก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยไม่ยอมรับในองค์อำนาจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อคำวินิจฉัยซึ่งส่วนหนึ่งเป็นความเห็น จะยอมรับหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า "ตามรัฐธรรมนูญระบุว่าคำวินิจฉัยของศาล มีผลผูกพันต่อทุกองค์กร ดังนั้น แม้ว่าจะไม่ยอมรับ ไม่เห็นด้วย ก็ต้องปฏิบัติตาม หากเห็นว่าไม่ดีไม่ถูกก็ต้องพูด หากเห็นว่าคำวินิจฉัยจะสร้างปัญหาต้องให้ความรู้ประชาชน"
Video by Speed WNC10
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น