วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

สาวไส้ ปชป. แฉเบื้องหลังปั่นกระแส พระวิหาร …พรรค-มี-ปม !!

พระนครสาส์น


สาวไส้ ปชป. แฉเบื้องหลังปั่นกระแส พระวิหาร …พรรค-มี-ปม !!
ข่าวพาดหัว เม้าท์แมลงสาป — 19 April 2013



       “ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” เอาไว้เมื่อ 4 ก.พ.2556 โดยในตอนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ มีการ วิเคราะห์ถึงประวัติศาสตร์ของ “พรรคประชาธิปัตย์” อย่างน่าสนใจ

       “พระนครสาส์น” ขอนำบทสัมภาษณ์ส่วนนั้น มาเผยแพร่อีกครั้ง …

     … ดร.ชาญวิทย์ ยังฉายภาพการเมืองในอดีตของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ผูกมัดให้พรรคประชาธิปัตย์ในยุคปัจจุบันต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เอาจริงเอาจังกับการสู้คดีในศาลโลกว่า เป็นเพราะคนระดับตำนานของพรรคประชาธิปัตย์ 2 คน คือ “ควง อภัยวงศ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนแรก และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวข้องกับความพ่ายแพ้บนศาลโลก เมื่อปี 2505

       “ควง คือส่วนหนึ่งของการยึดดินแดนเสียมราฐและพระตะบอง แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดพิบูลสงคราม เพราะควงเป็นลูกของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) เป็นเจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้าย ก่อนยกดินแดนให้กับฝรั่งเศส ทำให้เรื่องนี้พรรคประชาธิปัตย์ยอมไม่ได้ และถ้ายอมก็แปลว่าเป็นความผิดของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่ตอน พ.ศ. 2505 ทำหน้าที่เป็นทนายความ เขาบอกคนไทยว่าจะชนะ 500 เปอร์เซ็นต์”

       อย่างไรก็ตาม หากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ถึงที่มา-ที่ไปทั้งหมด เกิดขึ้นในยุคที่ฝรั่งเศสเข้ามาล่าอาณานิคมแถบอินโดจีน ยึดฝ่ายซ้ายของไทย คือ ลาว กัมพูชา เวียดนาม ในปัจจุบันให้เป็น “อินโดจีนฝรั่งเศส”






        วันหนึ่งในปีรัตนโกสินทร์ศก 112 ชาติฝรั่งเศสส่งเรือรบ 2 ลำ ฝ่าป้อมพระจุลที่เมืองปากน้ำ หันปากกระบอกปืนขู่จะยิง “วังหลวง” พร้อมทั้งส่งกองกำลังทหารยึดเมืองจันทบุรีและเมืองด่านซ้าย (จ.เลย) ไว้ในครอบครอง

        จนกระทั่ง พ.ศ. 2450 รัชกาลที่ 5 จึงได้ยินยอมลงนามสัญญากับประธานาธิบดีฝรั่งเศส ยกดินแดนเสียมเรียบ พระตะบอง และศรีโสภณให้กับฝรั่งเศส เพื่อให้คืนเมืองจันทบุรีในปี 2447 รวมถึงแลกตราดและด่านซ้ายกลับคืนมา

      ซึ่งในสัญญาดังกล่าวกำหนดให้มีการปักปันเส้นเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีนฝรั่งเศส ทั้งนี้ คณะกรรมการร่วมปักปันฝ่ายฝรั่งเศส นำโดย “พันตรีแบร์นาร์ด” ขณะที่ “ฝ่ายสยาม” ส่งบุคคลระดับพระน้ำพระยาเข้าเป็นคณะกรรมการ เช่น พลตรีหม่อมชาติเดชอุดมกับพลเอกเจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์

        ต่อมาฝรั่งเศสได้จัดทำแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน ซึ่งขีดเส้นตัวปราสาทพระวิหารว่าเป็นส่วนหนึ่งของกัมพูชาให้แก่ฝ่ายสยาม แต่ยังไม่ทันที่แผนที่ดังกล่าวได้รับการรับรอง คณะกรรมการดังกล่าวกลับสลายตัวไปก่อนที่แผนที่ชุดดังกล่าวจะจัดพิมพ์เสร็จ การปักปันเขตแดนจึงยังเป็นเรื่อง “ค้างคา”

        แม้การปักปันเขตแดนยังไม่จบสิ้นอย่างเป็นทางการ แต่ “สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ” ซึ่งเป็นอภิรัฐมนตรีในรัชกาลที่ 7 ได้ทรงขออนุญาตฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ เพื่อขึ้นไปทอดพระเนตรปราสาทพระวิหาร ที่อยู่ภายใต้ธงฝรั่งเศส จึงเท่ากับเป็นการยอมรับว่าปราสาทเขาพระวิหารเป็นของฝรั่งเศสแล้ว

ชาญวิทย์

       สถานการณ์ล่วงเลยถึงยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กระทั่งการเมืองเข้าสู่ยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2482 มีการชูลัทธิ “ชาตินิยม” เปลี่ยนชื่อจากประเทศสยาม เป็นประเทศไทย พร้อมกับจุดกระแสเรียกร้องดินแดน “มณฑลบูรพา” และ “ดินแดนฝ่ายซ้ายของแม่น้ำโขง” คืนจากฝรั่งเศส

      ชนวนดังกล่าวก่อให้เกิดการรบพุ่งระหว่างฝรั่งเศสกับไทย ในปี พ.ศ. 2483
อันเป็นเวลาเดียวกับที่สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มปะทุในสมรภูมิยุโรป


      ฝรั่งเศสเวลานั้นอยู่ในสภาพสะบักสะบอม เพราะถูกเยอรมนีภายใต้การนำของ “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” ยกทัพนาซีเข้ายึดครองกรุงปารีสได้สำเร็จ

        ขณะที่ไทยก็ฉวยโอกาสส่งกองกำลังทหารรุกข้ามพรมแดนไปยังกัมพูชาและลาว ในวันที่ 5 มกราคม 2483 สุดท้ายสงครามยุติลงด้วยการไกล่เกลี่ยของประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 28 มกราคม ปีเดียวกัน โดยฝรั่งเศสและไทยลงนามสงบศึกในสนธิสัญญาโตกิโอ ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้ไทยได้ดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงคืน คือเสียมเรียบ จำปาศักดิ์ ศรีโสภณ พระตะบอง และดินแดนในกัมพูชาคืน จากฝรั่งเศส

       รัฐบาลจอมพล ป.นำดินแดนที่ได้รับคืนมาแบ่งเป็น 4 จังหวัด คือจังหวัดพระตะบอง จังหวัดพิบูลสงคราม จังหวัดนครจำปาศักดิ์ และจังหวัดลานช้าง

       แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง “ญี่ปุ่น” กลายเป็นฝ่ายปราชัย พ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วน “จอมพล ป.” ถูกจับข้อหาเป็นอาชญากรสงคราม ทำให้รัฐบาล “ปรีดี พนมยงค์” ที่เข้ามาบริหารประเทศในช่วงหลังสงครามยุติ ได้คืนดินแดนที่รัฐบาลจอมพล ป.ยึดมาทั้งหมดคืนให้แก่ฝรั่งเศส ตามสนธิสัญญาวอชิงตัน เพื่อแลกกับไทยไม่ต้องตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม

      แต่การเมืองไทยพลิกผันอีกครั้งในปี พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหารภายใต้การนำของ “พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ” ได้ยึดอำนาจรัฐบาล “พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาสวัสดิ์” พร้อมกับเชิญ “ควง อภัยวงศ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

       แม้ไทยจะคืนดินแดนและตัวปราสาทพระวิหารคืนให้แก่ฝรั่งเศสไปตั้งแต่รัฐบาลปรีดีเข้าบริหารประเทศ แต่หลังการยึดอำนาจ 2490 รัฐบาล “ควง” และ “พล.ท.ผิณ” ได้ลักลอบส่งทหารไทยขึ้นไปปักธงชาติไทยอยู่ในบริเวณดังกล่าวอีกครั้ง

       6 ปีต่อมาหลังจากฝรั่งเศสคืนเอกราชให้กัมพูชา ในปี 2496 “พระเจ้านโรดมสีหนุ” ก็ยื่นฟ้องต่อศาลโลก ในปี พ.ศ. 2502 ให้ตีความว่าปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาหรือไทย ที่สุดศาลโลกมีมติ 9 ต่อ 3 ให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา เป็นปฐมบทของข้อพิพาทไทย-กัมพูชา อันกินเวลามา 51 ปี…
มี
“ปม” นี่เอง !!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น