|
วันที่ 6 พฤษภาคม เวลาประมาณ 10.25 น. ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการไต่สวนพยานในคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีโยกย้ายนายถวิล โดย คำชี้แจงของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการ ปฏิเสธคำร้องของผู้ร้องในทุกประเด็น โดย ยืนยันว่าไม่ได้ใช้สถานะหรือตำแหน่งนายกฯเข้าไปแต่งตั้งหรือโอนนายถวิล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะเปิดช่องให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เครือญาติของผู้ถูกร้องขึ้นเป็น ผบ.ตร. และไม่เคยกระทำการใดๆ ในฐานะนายกฯเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง โดยจะชี้แจงคำร้องใน 8 ประเด็น คือ
- 1.ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯได้สิ้นสุดลงแล้ว พร้อม ครม. เมื่อมีการยุบสภา การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นนายกฯสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182(7) อีก ย่อมไม่มีวัตถุแห่งคดี คือ ความเป็นนายกฯให้ต้องสิ้นสุดลงซ้ำสองอีก เปรียบได้กับคนที่ตายไปแล้วเพราะเหตุใดเหตุหนึ่ง จะให้กลับมาตายเพราะเหตุอื่นอีกไม่ได้
- 2.กระทำโดยมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ ที่จะแต่งตั้งให้นายถวิลมาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯได้ โดยถือเป็นการกระทำโดยถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้นตามกฎหมายแล้ว ดังที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยไว้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์) ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการประจำ มีอำนาจในการบริหารงานบุคคลหมุนเวียนสับเปลี่ยนบทบาท ตามแนวนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาได้ แสดงว่านายกฯมีอำนาจตามกฎหมายในการโอนย้ายนายถวิล หากคำสั่งโยกย้ายจะถือเป็นความผิดได้ ต้องเริ่มต้นจากการกระทำโดยไม่มีอำนาจตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
- 3.การแต่งตั้งโอนย้ายนายถวิลเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของผู้ที่มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงไม่ใช่การก้าวก่ายหรือแทรกแซงตามความหมายของรัฐธรรมนูญมาตรา 266 และรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ตามที่ผู้ร้องยื่นคำร้อง
- 4.การโยกย้ายนายถวิล ไม่ได้ใช้สถานะหรือตำแหน่งของการเป็นนายกรัฐมนตรีในการสั่งอนุมัติโดยลำพัง แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติในการประชุม ครม.
- 5.การโอนหรือย้ายนายถวิล เป็นไปตามความเหมาะสมของฝ่ายปฏิบัติที่จะได้รับความไว้วางใจ ในการตอบสนองต่อฝ่ายบริหารในการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา หรือตามที่กฎหมายบัญญัติ
- 6.การย้ายนายถวิลไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะเปิดช่องให้สามารถผลักดันหรือเป็นผลให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ขึ้นเป็น ผบ.ตร. เพราะการย้ายนายถวิล เป็นการใช้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มี พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 บังคับใช้เป็นการเฉพาะ ซึ่งนายกฯไม่อาจใช้สถานะนายกฯได้โดยลำพัง ในการแต่งตั้ง ผบ.ตร. แต่จะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547
- 7.สำหรับกรณีที่ พล.ต.อ.วิเชียรมาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม นายกฯไม่ได้ติดต่อทาบทาม หรือมอบหมายให้ผู้ใดทาบทาม และไม่มีคำมั่นใดๆ กับ พล.ต.อ.วิเชียร และกระบวนการแต่งตั้งการดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคมของ พล.ต.อ.วิเชียร นายกฯเกี่ยวข้องแต่เพียงการเป็นประธานการประชุม ครม.เท่านั้น ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ปกติ ไม่ได้ใช้สถานะการเป็นนายกฯทาบทามหรือมอบหมายให้ผู้ใดไปทาบทาม พล.ต.อ.วิเชียร มาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคมแต่อย่างใด
- 8.นายกฯและ ครม.ยังต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่ต่อไป ไม่ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่ แม้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯจะสิ้นสุดลงเฉพาะตัว แต่ ครม.ที่พ้นจากตำแหน่งยังต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181
ทั้งนี้ ระหว่างการไต่สวน นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้กล่าวย้ำในหลายตอนว่า เป็นการมอบหมายให้พลตำรวจเอกโกวิทย์ วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี ดำเนินการ โดยตนเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และอ้างว่า ช่วงเวลาดังกล่าว ต้องเร่งแก้วิกฤตน้ำท่วม ไม่ได้ดำเนินการเรื่องนี้ด้วยตนเอง
|
|
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น