วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554


จากฎีกาแดง ถึงมาตรา 112

จากฎีกาแดง ถึงมาตรา 112

เรื่องจากปก
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         “เสื้อแดงแม้จะมีจำนวนมาก ในระยะหนึ่งมีอำนาจสูงก็จริง แต่ถ้าไม่เข้าใจสถานภาพของตัวเองก็พังได้ เพราะการเมืองภาคประชาชนต้องรู้จุดยืนว่ายืนอยู่ที่ไหน เมื่อเสร็จเลือกตั้งเราต้องหวนกลับไปทำการเมืองภาคประชาชน ถ้าขลุกอยู่แต่ระบบรัฐสภา เรื่องนั้นก็จะยุ่ง ก็จะเหมือน 14 ตุลา ที่นักศึกษาเข้าไปยุ่งกับปัญหาทุกอย่างของประเทศ...เมื่อคนเสื้อแดงมีประสบการณ์มาแล้ว เราอย่าไปยุ่ง”


นายวีระ หรือวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ให้สัมภาษณ์กับ “มติชน” หลังชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นของพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่าส่วนหนึ่ง มาจากพลังของ “คนเสื้อแดง” ที่มีความศรัทธาใน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือ “กระแสทักษิณ” จนถึงปรากฏการณ์ “อะเมซิ่งยิ่งลักษณ์”
ฎีกาคนเสื้อแดง


ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยหรือการได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงไม่อาจปฏิเสธที่จะต้องแบกรับความหวังของคนเสื้อแดงและผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยกว่า 15 ล้านเสียง ซึ่งไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและข้าวยากหมากแพงเท่านั้น แต่ยังต้องแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้มีประชาธิปไตยที่แท้จริง และคืนความยุติธรรมให้กับประชาชนในเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” อีกด้วย
จึงไม่แปลกที่คนเสื้อแดงจะทวงถามเรื่องฎีกาที่มีรายชื่อจำนวน 3,532,906 คน ขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณต่อสำนักราชเลขาธิการ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2552 ซึ่งนายวีระครั้งเป็นประธาน นปช. เป็นผู้นำในการถวายฎีกาดับทุกข์ทั้งแผ่นดิน โดยมีพิธีพราหมณ์บวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนยื่นถวายฎีกา แต่กว่า 2 ปีในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่มีความคืบหน้า จึงทวงถามรัฐบาลยิ่งลักษณ์และ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่กำกับกรมราชทัณฑ์ เรื่องการตรวจสอบรายชื่อในใบฎีกา


คืนความยุติธรรม


นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นเรื่องฎีกาว่า เป็นหน้าที่ของส่วนราชการที่ควรรายงานความคืบหน้าต่อประชาชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจและรับรู้ตรงกันว่าขั้นตอนไปถึงไหนแล้ว และเหลือระยะเวลาอีกเท่าไรกว่าจะตรวจรายชื่อครบ


“สิ่งที่ประชาชน 3 ล้านรายชื่อเข้าชื่อถวายฎีกานั้นจะปล่อยให้เงียบหายไปเฉยๆ ไม่มีความคืบหน้า คงจะไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง กระบวนการทั้งหมดควรได้รับการเปิดเผย และเป็นหน้าที่ของฝ่ายราชการ ที่ดูแลที่น่าจะให้ข้อเท็จจริงและรายละเอียดได้”
นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ แกนนำ นปช. ที่ร่วมยื่น รายชื่อถวายฎีกาด้วย กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนมีความคลางแคลงใจว่าเหตุใดชื่อของประชาชน 3 ล้าน รายชื่อที่ร่วมกันขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณจึงยังไม่มีความคืบหน้า กินเวลานานมากเกินไปหรือไม่ เพราะเป็นความต้องการโดยบริสุทธิ์ใจของประชาชนที่หวังพึ่งพระบารมีและพระราชอำนาจ


เมื่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ไม่ยอมทูลเกล้าฯเดินเรื่องให้ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ควรทำเรื่องนี้ให้เป็นไปตามขั้นตอน เพราะฝ่ายกฎหมายได้ตรวจสอบแล้วว่าไม่จำเป็นที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะต้องถูกจำคุกก่อน วันนี้ประชาชนเริ่มมีความหวัง ถ้ารัฐบาลสามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอนก็จะเป็นเรื่องดี ส่วนจะยื่นก่อนหรือหลังวันที่ 5 ธันวาคมก็ให้เป็นไปตามขั้นตอน เพื่อให้ความยุติธรรมกับประชาชน แต่ยืนยันว่าจะไม่ก้าวล่วงพระราชอำนาจแน่นอน


อ้างต้อง “จำคุก” ก่อน?


แต่เว็บไซต์ทีนิวส์อ้างรายงานข่าวจากสำนักพระราชวังถึงการยื่นถวายฎีกาดังกล่าวว่า ให้ยึดตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีความชัดเจนตามมาตรา 4 ที่ระบุว่า ผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ต้องมีตัวตนอยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือถูกกักขังไว้ในสถานที่หรือที่อาศัยที่ศาลหรือทางราชการกำหนด


การยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้กับผู้ใดจึงต้องดำเนินการตามขั้นตอนและยึดกฎหมายวิธีการพิจารณาคดีความอาญาเป็นบรรทัดฐาน หากพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เป็นไปตามกฎหมาย ก็ไม่ควรที่เสนอมา ขณะเดียวกันกฎหมายยังกำ-หนดคุณสมบัติด้วยว่าผู้ยื่นถวายฎีกาต้องเป็นบุตร ภรรยา หรือญาติสนิทรวมอยู่ด้วย แต่จากการตรวจสอบจากกรมราชทัณฑ์ที่ส่งเรื่องให้ พล.ต.อ.ประชาพิจารณาทำความเห็นเสนอนั้นมีนามสกุล “ชินวัตร” เพียง 3 คน แต่ไม่ใช่บุตรและภรรยา หนึ่งในจำนวน นั้นคือ นายพายัพ ชินวัตร น้องชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งสมัยที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ทำหนังสือให้นายพายัพ มาแสดงตัวยืนยัน แต่นายพายัพไม่ติดต่อกลับมา


ล่าสุดนายพายัพกล่าวถึงกรณีที่นายพีระพันธุ์ระบุว่าตนไม่ได้ยืนยันกลับมาจึงเดินเรื่องต่อไม่ได้ว่า ยืนยันที่จะร่วมเข้าชื่อเพื่อถวายฎีกา ถ้าหากต้องการหลักฐานอะไรเพิ่มเติมก็พร้อมจะมอบให้ อย่างน้อยก็มีสิทธิในฐานะประชาชนคนหนึ่งและในฐานะเป็นญาติ ซึ่งญาติทุกๆคนก็พร้อมจะร่วมลงชื่อด้วย แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะร่วมยื่นหรือไม่ก็เป็นสิทธิ เนื่องจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่
ต้องปฏิเสธอำนาจเผด็จการ


แต่นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ต้อง สนใจเสียงคัดค้าน เพราะพระราชกฤษฎีกาพระราชทาน อภัยโทษ พ.ศ. 2550 ที่ออกในรัฐบาลเผด็จการทหาร ซึ่งยึดอำนาจจากประชาชนนั้นไม่มีความชอบธรรม หากสนใจว่าบุคคลที่ควรได้รับการอภัยโทษนั้นต้องเคย ถูกดำเนินคดีหรือต้องรับโทษก่อนก็เท่ากับรัฐบาลประชาธิปไตยชุดนี้ยอมรับรัฐบาลเผด็จการทหาร


ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่คณะรัฐมนตรีหรือสภาผู้แทนราษฎรจะต้องไปแก้พระราชกฤษฎีกาดังกล่าว แต่กระทรวงยุติธรรมต้องพิจารณาว่าควรทำอย่างไร เพราะคดีที่ตัดสินให้จำคุก พ.ต.ท.ทักษิณนั้นไม่ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย
ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวถึงเรื่องฎีกาว่า ให้ทุกอย่างเป็นไปตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะทำเรื่องต่างๆที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ตกค้าง เป็นการนำมาพิจารณาตามขั้นตอน ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาเรื่องก่อน ไม่มีการเร่งรัดเป็นกรณีพิเศษ
เชื่อคนวางยาปล่อยข่าว


ที่น่าสนใจคือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้นำเอกสารมาแจกกับผู้สื่อข่าวและ ชี้แจงว่า การขอพระราชทานอภัยโทษ รัฐธรรมนูญ มาตรา 191 ระบุว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระ ราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ” และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 259-267 ผู้ที่ทูลเกล้าฯถวายเรื่องราวหรือผู้ถวายฎีกาคือ 1.ผู้ต้องโทษคำพิพากษา (ม.259) 2.ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องฯ (ม.259) และ 3.คณะรัฐมนตรี (ม.261 ทวิ)


สำหรับผู้ที่หลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาและศาลได้อ่านคำพิพากษาลับหลังให้ลงโทษจำคุกมีสิทธิได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่นั้น ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดตัดสิทธิห้าม และการพระราชทานอภัยโทษเป็นพระราชอำนาจเฉพาะพระองค์ ไม่มีกฎหมายบัญญัติกรอบอำนาจของพระมหากษัตริย์ ว่าจะอภัยโทษในกรณีใดบ้าง คดีประเภทใดอภัยโทษได้ คดีประเภทใดอภัยโทษไม่ได้ หรือการอภัยโทษต้อง มีเงื่อนไขใดบ้าง หรือต้องจำคุกมาแล้วนานเท่าใด


ส่วนมาตรา 4 และ 5 ก็เป็นกรณีเฉพาะรายที่ขอเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา จึงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อผู้ตกทุกข์ได้ยาก โดยออกพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์และตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาการอภัยโทษเป็นรายกรณี ไม่ใช่กรณีเหมารวม อีกทั้งพระราชกฤษฎีกาก็มีศักดิ์ทางกฎหมายน้อยกว่าพระราชบัญญัติ


อำนาจนอกระบบ


ร.ต.อ.เฉลิมจึงเชื่อว่าเรื่องฎีกามีการปล่อยข่าวและพยายามปลุกระดมให้ต่อต้านรัฐบาล เป็นแผนของคนบางกลุ่มที่มีวาระซ่อนเร้น เพราะไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เนื่องจากเป็นพระราชอำนาจ และทำไมกรมราชทัณฑ์เพิ่งจะมาขยันตอนนี้ 2 ปีกว่าไปทำอะไร ต้องมีความเป็นธรรมบนพื้นฐานความถูกต้อง
สอดคล้องกับนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่าขณะนี้มีกลุ่มที่ต้องการจะล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งอาจทำการปฏิวัติรัฐประหารอีกครั้งเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอีกก็เป็นได้ แต่หากประชาชนรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งและเหนียวแน่น ใครที่คิดจะล้มรัฐบาลก็คงไม่กล้าทำอย่างแน่นอน


แต่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เป็นหนึ่งในผู้ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 กลับไม่เห็นด้วยกับการขอพระราชทานอภัยโทษ เพราะเท่ากับ “ยอมรับผิด” ทั้งการดำเนินคดีต่างๆกับ พ.ต.ท.ทักษิณก็ต้องถือว่าเป็นโมฆะทั้งสิ้น เพราะผิดกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้อง (due process) ซึ่งนายสมศักดิ์เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณต้องถือว่าเป็นนายกฯที่ได้รับการเลือกตั้งตามกระบวนการที่ถูกต้องคนสุดท้าย ตามหลักการ พ.ต.ท.ทักษิณจึงสามารถกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีวันนี้พรุ่งนี้ได้เลยทันทีด้วยซ้ำ


อ้างกดดันสถาบัน!


ขณะที่นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้ความเห็นผ่านรายการ “คนเคาะข่าว” ทาง ASTV News1 ตอบโต้ ร.ต.อ.เฉลิมที่ว่ากฎหมายไม่ได้ห้ามฎีกาผู้หลบหนีคดีนั้น ความจริงกฎหมายไม่ได้ห้ามตั้งหลายอย่าง แต่คนที่มีอารยะ มีสามัญสำนึก ต้องรู้ว่าอะไรควรไม่ควร รู้จารีตประเพณีก็ไม่ทำ อย่างการพระราชทานอภัยโทษตามจารีตประเพณีที่ทำมาแต่อดีต คนคนนั้นต้องติดคุกมาก่อนและมีความสำนึกในความผิด
นายพิชายให้ความเห็นว่า เจตนาจริงๆคงไม่ได้ต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณได้อภัยโทษ ถึงไม่เป็นไปตามกระบวนการที่ควรจะเป็นด้านหนึ่งต้องการสร้างภาพข่าวให้กว้างขวาง อีกด้านหนึ่งอาจหวังผลทางการเมืองในแง่ของความต้องการกดดันสถาบัน


ความเห็นดังกล่าวจึงไม่ต่างจากบทวิเคราะห์ใน ASTV ผู้จัดการออนไลน์ คอลัมน์ “ผ่าประเด็นร้อน” ที่พาดหัวว่า “หยุดเอาเปรียบ-หยุดก้าวล่วง-หยุดกดดันพระราชอำนาจ!!” ซึ่งระบุว่า ร.ต.อ.เฉลิมกำลังทำทุกทางเพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณพ้นผิดและกลับเข้ามามีอำนาจทางการเมืองโดยเร็วที่สุด โดยอ้าง “พระราชอำนาจ” เพื่อตัดตอนไม่ให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์หรือ “หุบปาก” และสรุปว่าหากมีการถวายฎีกาในนามของคณะรัฐมนตรีโดยอ้างรายชื่อของคนเสื้อแดงนับล้านสนับสนุนก็ไม่ต่างจากการใช้วิธี “กดดันบีบคั้นให้ใช้พระราชอำนาจ”


ม.112 เครื่องมือการเมือง!


ขณะที่เว็บไซต์วิกิลีกส์ได้เผยแพร่โทรเลขสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย โดยระบุบันทึกของนายราล์ฟ แอล บอยซ์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยปี 2550 ที่มีข้อความถึงรัฐบาลสหรัฐในหัวข้อ “คู่มือของการรอดพ้นจากคดีหมิ่นพระบรมฯจากกรณีของชาวสวิส” ที่อ้างกรณีนายโอลิเวอร์ จูเฟอร์ ชาวสวิสที่ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี ข้อ หากระทำการดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ได้รับพระราชทานอภัยโทษอย่างรวดเร็วหลังถูกจำคุกเพียง 13 วันว่า ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้ถูกนำมาใช้เป็น “เครื่องมือทางการเมือง” ซึ่งชาวอเมริกันเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีนี้ รัฐบาล


สหรัฐควรจะต้อง “เงียบเอาไว้”


นายบอยซ์ระบุอีกว่า สำนักพระราชวังนั้นอ่อน ไหวและอึดอัดมากกับมาตรา 112 ที่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดในทางการเมือง และยังทำให้มีปัญหาต่อความสัมพันธ์กับประเทศอื่นอีก เพราะการกล่าวหาผู้อื่นโดยใช้กฎหมายหมิ่นฯเป็นอาวุธที่น่าเกรงขามอย่างหนึ่งในทางการเมืองไทย ทั้งที่มีพระราชดำรัสจะพระราชทานอภัยโทษแก่ทุกคนที่ทำผิดข้อหานี้ อย่างกรณีนายจูเฟอร์หรืออัยการที่ยกฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ


ปลดล็อก ม.112 เพื่อสถาบัน!


การออกมาเคลื่อนไหวเรื่องฎีกาของคนเสื้อแดง จึงเป็นธรรมดาที่กลุ่ม “อำนาจนอกระบบ” จะใช้ “ขาประจำ” ออกมาปลุกระดมว่าเป็นการ “กดดันและก้าวล่วง” เพื่อให้ใช้ “พระราชอำนาจ” เพื่อสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งรุนแรงในการล้มรัฐบาลเพื่อไทยและทำลายขบวนการคนเสื้อแดงหากรัฐบาลและคนเสื้อแดงประมาทหรือประเมิน “อำนาจนอกระบบ” ต่ำเกินไป


นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ เขียนบทความใน “มติชน” หัวข้อ “ความคลุมเครือ-ที่มาของอำนาจนอกระบบ” ว่าพัฒนาการทางการเมืองไทยน่าจะเดินมาถึงแพร่งสำคัญที่ต้องเลือกว่าจะไปทางใด โดยเฉพาะเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ความจงรักภักดี และมาตรา 112 จึงผิดหวังที่รัฐบาลนี้เลือกที่จะเล่นเกมการเมืองเก่า คือยืนยันความสัมพันธ์ทางการเมืองกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ไม่ชัดเจนดังเดิม ด้วยการประกาศความจงรักภักดีอย่างท่วมท้นของตน และอย่างที่ฝ่ายค้านวางเส้นทางให้เดิน คือไม่คิดจะทบทวนมาตรา 112 ไม่ว่าในแง่เนื้อหาหรือในแง่ของการปฏิบัติ


เพราะหากยังมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอยู่ต่อไปก็ต้องชัดเจนว่าการกระทำการอย่างใดจึงจะถือว่าละเมิดกฎหมาย ไม่ปล่อยให้ขึ้นอยู่กับการตีความของเจ้าหน้าที่และผู้ฟ้องร้องตามอำเภอใจ และเพราะกฎหมายมาตรานี้ถูกนำมาใช้เพื่อกลั่นแกล้งกันทั้งในเชิงบุคคลและในเชิงการเมืองอยู่เสมอ จึงจำเป็นต้องสร้างกระบวนการกลั่นกรองการฟ้องร้องที่ละเอียดรอบคอบและโปร่งใส ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมาทั้งนักรัฐประหารและนักการเมืองต่างช่วยกันทำความเสื่อมเสียให้แก่สถาบันตลอดมา และใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือ


การจะหยุดการทำร้ายสถาบันจึงต้องทบทวน มาตรา 112 เพื่อให้ทุกฝ่ายไม่สามารถทำร้ายศัตรูของตนโดยใช้มาตรานี้เป็นเกราะกำบังอีกต่อไป การประกาศว่าจะทบทวนมาตรา 112 จึงไม่ได้หมายความว่าไม่มีความจงรักภักดีต่อสถาบัน ตรงกันข้ามกลับเป็นการขจัดความคลุมเครือในเรื่องนี้ ทำให้เกิดความมั่นคงแก่สถาบัน เพราะในความคลุมเครือของรัฐอภิสิทธิ์นั้นย่อมไม่มีความมั่นคงแก่สถาบันใดๆทั้งสิ้น


สถาบันกับมือที่มองไม่เห็น


ดังนั้น แม้พรรคเพื่อไทยจะได้ชัยชนะอย่างถล่มทลายจนได้เป็นรัฐบาลเพราะ “มือที่มองเห็น 15 ล้านเสียง” แต่ก็ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการต่อสู้เพื่อให้บ้านเมืองมีประชาธิปไตยที่แท้จริง อย่างที่ในหนังสือ “อะเมซิ่งยิ่งลักษณ์” เตือนไว้ว่า “มือที่มองไม่เห็น” และ “กองกำลังทราบฝ่าย” เพียงแค่พักยกเลียแผลใจเพื่อรอเวลาหาจังหวะแทรกซ้อนครั้งใหม่จาก “นวัตกรรมรัฐประหาร” ที่คนไทยตามไม่ทัน
และอำนาจแทรกซ้อนที่น่ากลัวที่สุดและเปราะบางที่สุดคือการใช้สถาบันมาปลุกระดม ซึ่งขบวนการ “ดึงฟ้าต่ำ” ก็เป็นบทเรียนที่เจ็บปวดของ พ.ต.ท.ทักษิณ รวมถึงการใช้ทำลายคนเสื้อแดงที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ยัดเยียดข้อหาว่าเป็นเครือข่าย “ขบวนการล้มเจ้า” จาก “ผังกำมะลอ” ที่อุปโลกน์ขึ้นเอง รวมถึงมาตรา 112 ที่กลายเป็น “เครื่องมือทางการเมือง” ในการกำจัดผู้ที่มีความเห็นต่าง แม้แต่สื่อ นักวิชาการ และชาวต่างชาติก็ถูกกล่าวหาและถูกคุมขังมากมาย จนประเทศไทยกลายเป็นตัวประหลาดในสายตาของประชาคมโลก


ถึงเวลาแล้วหรือไม่? ที่สังคมไทยจะต้องเปิดใจยอมรับการทบทวนมาตรา 112



ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 
ฉบับที่ 327 วันที่ 10 - 16 กันยายน พ.ศ. 2554 หน้า 16 – 17 
คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น