วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554


สเต็มเซลล์กับศีลธรรมการตีความของยุคสมัย?
http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10714

       รายงาน(วันสุข)
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 6 ฉบับที่ 310 ประจำวัน จันทร์ ที่ 16 พฤษภาคม 2011
         โดย เรียวจันทร์ (ปฏักทอง)
         สเต็มเซลล์ (Stem Cell) หรือเซลล์ต้นกำเนิดที่พร้อมจะเจริญเติบโต แบ่งตัวเองขึ้นมาใหม่ แล้วเปลี่ยนแปลงเพื่อไปทำหน้าที่อย่างอื่นอย่างใด คุณสมบัติเด่นเช่นนี้จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกให้ความสนใจกันมากขึ้น โดยเฉพาะเป็นเซลล์ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจง หากสามารถเปลี่ยนไปเป็นเซลล์ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงได้...

ในการสร้างสเต็มเซลล์สามารถเกิดขึ้นได้มาจากแหล่งหนึ่งแหล่งใด ตั้งแต่เป็นสเต็มเซลล์จากตัวอ่อน จากร่างกาย หรือสเต็มเซลล์ซึ่งได้มาด้วยกระบวนการสร้างเซลล์ให้เข้าคู่กับสารพันธุกรรมของผู้ป่วย โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการปฏิสนธิ?


ในช่วงปี 2503 ถึงประมาณ 2513 นับเป็นยุคแรกเริ่มที่นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสเต็มเซลล์จากร่างกายมนุษย์ โดยใช้เนื้อเยื่อที่โตเต็มวัย แล้วนำสเต็มเซลล์เหล่านั้นไปใช้ทดลองเพื่อรักษาผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดปฐมภูมิเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2511 ต่อจากนั้นนักวิทยา ศาสตร์เดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้งในการทำความเข้าใจ ศึกษาวิจัยเพิ่มเติมองค์ความรู้สำหรับอธิบายถึงคุณสมบัติพื้นฐานของสเต็มเซลล์ ซึ่งเป็นเซลล์ที่สามารถแบ่งตัวเองขึ้นมาใหม่ได้ตลอดเวลาแบบต่อเนื่อง นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาลงลึกในปัจจัยต่างๆที่ควบคุมการแบ่งตัวเองขึ้นมาใหม่ของเซลล์เหล่านั้น


คำตอบประการหนึ่งที่สรุปได้อย่างชัดเจนก็คือ ความเข้าใจในกระบวนการแบ่งตัวของเซลล์ รวมทั้งเซลล์ตัวอ่อนหรือเอ็มบริโอ.และในการแบ่งตัวอันผิดปรกติของเซลล์มะเร็ง ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในห้องปฏิบัติการ เป็นไปตามประสบการณ์ด้านเทคนิคที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆตามลำดับเวลา...


ตรงจุดนี้เองที่นักวิทยาศาสตร์เล็งเห็นความสำคัญที่จะเอาสเต็มเซลล์เข้ามาใช้ประโยชน์ในด้านการแพทย์ ด้วยวัตถุประสงค์รักษาอาการผู้ป่วยอันสืบเนื่องมาจากเซลล์เนื้อเยื่อ หรืออวัยวะที่เกิดความเสียหายและเสื่อมสภาพลงไป โดยหวังให้สเต็มเซลล์เข้าไปพัฒนากลายเป็นอวัยวะที่ต้องการได้ จากนี้อีกเช่นกันที่มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสเต็มเซลล์อย่างแพร่หลายออกไปเป็นเวลายาวนานกว่า 20 ปี


นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ความพยายามเต็มที่สำหรับการแยกสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนของหนู เอามาเลี้ยงในห้องทดลองปฏิบัติการครั้งแล้วครั้งเล่า จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ สามารถแสดงให้เห็นว่าสเต็มเซลล์ของมนุษย์ที่แยกมาได้และเลี้ยงในห้องปฏิบัติการจนสามารถพัฒนากลายไปเป็นเซลล์ชนิดอื่นได้จริง?


ปี 2541 นักวิทยาศาสตร์ยังสามารถเพาะสเต็มเซลล์ของตัวอ่อนมนุษย์ รวมทั้งเซลล์สืบพันธุ์ แล้วยังสร้างสายพันธุ์ของเซลล์ขึ้นมาได้สำเร็จ จนปี 2544 สเต็มเซลล์ตัวอ่อนได้ถูกนำไปเพาะเป็นเซลล์เม็ดเลือด ตรงนี้ถือเป็นอีกความก้าวหน้าของการวิจัยครั้งสำคัญ


ความก้าวหน้าในงานวิจัยสเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิดคงดำเนินไปแบบไม่หยุดยั้ง อีกเหตุการณ์สำคัญได้อุบัติขึ้นคือ เมื่อปี 2547 นักวิทยาศาสตร์ชาวเกาหลีใต้ “วาง วู-ซุค” สามารถโคลนตัวอ่อนมนุษย์ 30 ตัว แล้วใช้เวลาเพียงไม่กี่วันก็พัฒนาตัวอ่อนเหล่านั้นต่อไป อีกปีถัดมาคือปี 2548 นักวิทยาศาสตร์เกาหลีใต้ในกลุ่มทำงานเดิมก็พัฒนาก้าวหน้าจนปรับปรุงและสามารถจับเอาสเต็มเซลล์เข้ากับคนไข้แต่ละรายได้สำเร็จ.. ถึงจุดนี้เรื่องของสเต็มเซลล์ได้ขยายตัวไปสู่การรักษาโรคอื่นๆได้กว้างขวาง ด้วยคุณสมบัติของเซลล์ตัวอ่อน ซึ่งสามารถพัฒนากลายเป็นเซลล์ทำหน้าที่เป็นหลอดเลือด มีการนำไปใช้รักษาโรคที่เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดได้เกือบทุกโรค


ถึงอย่างนั้นก็ตาม ปัจจุบันก็มีข้อสงสัยในวงการวิทยาศาสตร์อยู่อีกหลายประการ เป็นข้อสงสัยเกี่ยวกับกลไกการเปลี่ยนเพื่อไปทำหน้าที่เฉพาะของสเต็มเซลล์ องค์ความรู้ในขณะนี้ยังต้องวิจัยกันต่อไปอีกพอสมควร...ความหมายตรงนี้ก็คือ การรักษาด้วยสเต็มเซลล์น่าจะมีผลข้างเคียงบางประการ จึงมีสิ่งที่ต้องวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่มีความสมบูรณ์มากกว่านี้...


แหล่งของสเต็มเซลล์จะได้มาจากเนื้อเยื่อและอวัยวะในร่างกายมนุษย์หลายชนิด เป็นต้นว่าสเต็มเซลล์ในระบบเลือดก็จะเป็นวัตถุดิบสำหรับสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด นักวิทยาศาสตร์ได้เปลี่ยนความเชื่อใหม่ จากเดิมที่เคยเชื่อว่าบรรดาอวัยวะหรือเนื้อเยื่อใดก็ตามไม่สามารถที่จะเปลี่ยนไปเป็นเซลล์ชนิดอื่นได้ในอวัยวะหรือเนื้อเยื่อต่างชนิดกันนั้น การวิจัยที่ผ่านมาในระยะหลังได้แสดงให้เห็นว่า “สเต็มเซลล์ในเนื้อเยื่อชนิดหนึ่งก็สามารถเปลี่ยนไปเป็นเซลล์ในเนื้อเยื่ออีกชนิดได้ เช่น เซลล์ในระบบเลือดเปลี่ยนไปเป็นเซลล์ประสาทหรือตับได้ เซลล์ในไขกระดูกก็เปลี่ยนเป็นเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจได้”


นักวิทยาศาสตร์อาจหาสเต็มเซลล์ได้จากแหล่งแรกคือร่างกายของมนุษย์เรานั่นเอง เช่น จากระบบเลือด ระบบประสาท สำหรับแหล่งที่สองจะมาจาก “การแท้ง” ส่วนแหล่งที่สามเป็นสเต็มเซลล์ซึ่งมาจากตัวอ่อนของมนุษย์ที่มีอายุไม่กี่วัน เป็นเอ็มบริโอของการปฏิสนธิ เกิดจากไข่ปฏิสนธิกับเซลล์อสุจิ ทั้งภายนอกหรือภายในร่างกาย จากนั้นจะนำไปย้ายฝากจนเกิดเด็กหลอดแก้ว กระบวนการทำโคลนนิ่งก็สามารถจัดการเรื่องนี้ได้ สำหรับการโคลนนิ่งนั้นนักวิทยาศาสตร์จะเอาตัวอ่อนในระยะ “บลาสโตซิสต์” เอาไปพัฒนาเป็นสเต็มเซลล์ในห้องปฏิบัติการได้ทันที!


ปัญหาการใช้ประโยชน์จากสเต็มเซลล์จึงเป็นเรื่องที่ยังถกเถียงกันอยู่ หลายคนเห็นว่าไม่อาจเลี่ยงประเด็นของศีลธรรมไปได้ง่ายๆ วงการวิทยาศาสตร์เรื่องสเต็มเซลล์กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาในการกำหนดว่า “ชีวิตเริ่มต้นเมื่อไร?” สิ่งเหล่านี้มีนัยสำคัญทั้งต่อประเด็นด้านวิทยาศาสตร์และศาสนา?


หลายคนเห็นว่าทั้งตัวอ่อนมนุษย์ ทารกในครรภ์มารดาที่คลอดออกมา สิ่งเหล่านี้ล้วนมีชีวิตทั้งสิ้น เพียงแต่จะต่างกันที่อายุ จึงควรได้รับความคุ้มครองภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน นี่เป็นความเห็นที่มองว่า “ชีวิตเริ่มต้นขึ้นทันทีเมื่ออสุจิรวมตัวเข้ากับไข่” ดังนั้น ภาพทารกที่เสียชีวิตด้วยการทำแท้งของแม่ย่อมถือเป็นโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้าสลดจากพฤติกรรมของมนุษย์...เราคงจะจำกันได้กับคดีศพทารก 2,002  ศพ ซึ่งตกเป็นข่าวและคดีสำคัญเกี่ยวกับวัดไผ่เงินโชตนาราม สภาพเหล่านี้เกิดจากการทำแท้งเถื่อนทั้งสิ้น?


แต่ในการใช้สเต็มเซลล์จากตัวอ่อนคงไม่เกี่ยวกับการทำแท้งเถื่อนหรือทำอย่างถูกกฎหมาย ในทางศาสนาพุทธเห็นจะเป็น “ปาณาติปาตา เวรมณี สิกขาฯ” โดยไม่มีข้อยกเว้นอะไร เรื่องนี้จึงเป็นความขัดแย้งกันอยู่ไม่น้อยระหว่างศีลธรรมกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของมนุษย์ แม้ผู้สนับสนุนการใช้ประโยชน์ในการทำสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนจะเห็นว่า “การทิ้งเอ็มบริโอที่เหลือใช้ในคลินิกเจริญพันธุ์ไปเฉยๆ นับเป็นการเสียทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์ เพราะถ้าไม่ใช้ทรัพยากรเหล่านั้นนักวิทยาศาสตร์ก็สามารถนำสเต็มเซลล์มาใส่ในมดลูกได้อยู่ดี


อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาทางศีลธรรมของสาธารณชนได้ทำให้นักวิทยาศาสตร์พยายามค้นหาสเต็มเซลล์จากแหล่งอื่นเข้ามาทดแทน วิทยาศาสตร์จึงเพิ่มเติมสนับสนุนการวิจัยศึกษาสเต็มเซลล์ทั้งสองชนิดไปพร้อมกัน...


มนุษย์โดยทั่วไปมักต่อต้านและขัดขืนในชะตากรรมสุดท้ายได้แก่ “ความตาย” ปัญหาของสังขารและโรคภัยไข้เจ็บจึงมีการฝากความหวังเอาไว้กับการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ที่จะต่อยืดอายุออกไปได้ แต่การรักษาทุกอย่างในขณะที่ผลวิจัยยังไม่ครบสมบูรณ์ย่อมมีผลข้างเคียงได้เช่นกัน บางทีความก้าวหน้าเกี่ยวกับการรักษา หรือฉีดสเต็มเซลล์คงต้องท้าทายกับวิถีแห่งวิบากกรรมตามคำสั่งสอนในทางศาสนา?


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 310 

วันที่ 14-20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 หน้า 11 
คอลัมน์ คิดทวนเข็มนาฬิกา โดย เรียวจันทร์  (ปฏักทอง)
2011-05-16
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น