มิติที่จะพิจารณาปัญหารากเหง้าความขัดแย้งในสังคมไทย แม้จะมาจาก “เหตุอันเดียวกัน” แต่เราก็อาจพูดได้หลายอย่าง ประการหนึ่งซึ่งน่าพิจารณาถึงและมีความน่าสนใจเห็นจะได้แก่ การป่าวประกาศเกี่ยวกับวาทกรรมแห่งศีลธรรมที่ “กลุ่มต่อต้านระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย” ได้หยิบยก ขึ้นมาเป็นอาวุธเพื่อรักษาอำนาจกับโครงสร้างของการผูกขาดที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดเอาไว้...
ศีลธรรมไม่ว่าจะเป็นในศาสนาใดๆคงเป็นถ้อยคำทางภาษาที่ “สูงส่งและศักดิ์สิทธิ์” อาจเปรียบให้เป็นพระคาถา ซึ่งสามารถสะกดหรือยับยั้งการกล้ำกรายของเหล่าภูตผีปิศาจร้ายอย่างได้ผลชะงัด เพราะเมื่อภาพของศีลธรรมถูกแสดงตนหรือชูหราขึ้นมาจากฝ่ายหนึ่ง ยิ่งตอกย้ำให้สังคมเห็นถึงภาพที่งดงามในความศักดิ์สิทธิ์นั้น นามของศีลธรรมจึงกลายเป็นความชอบธรรมต่อการยอมรับจากสังคมที่ “หิวกระหายความดีและความมีศีลธรรมอันประเสริฐ”
แน่นอนสำหรับอีกฟาก ไม่ว่าจะมีระดับศีลธรรมหรือความดีงามแค่ไหน ถ้าหากเกิดไปขัดแย้งกับกลุ่มที่มีภาพของศีลธรรมดีกว่า ฝ่ายซึ่งภาพพจน์แห่งศีลธรรมไม่หนักแน่นเพียงพอก็มีโอกาสสูงที่จะพ่ายแพ้ต้องยอมจำนน อาจกลายเป็นผู้ไม่ชอบธรรมในความรู้สึกของสังคมที่ขาดศีลธรรมอย่างจริงใจ?
เกริ่นเรื่องนี้เพื่อชี้ให้เห็นถึง “นัยและความหมายของศีลธรรม” คือศีลธรรมที่เป็นภาษากับความหมายในภาคปฏิบัติจริงเป็นความแตกต่าง หากแต่เราไม่มีมาตรวัดทางศีลธรรมเหมือนกับการตรวจวัดความเย็นและความร้อนด้วย
เทอร์โมมิเตอร์ ความจริงเป็นเรื่องเฉพาะตนที่รู้ได้เฉพาะตัวว่าเรานั้นมีศีลธรรมอยู่มากน้อยแค่ไหน? เป็นศีลธรรมจอมปลอมหรือไม่?
โดยแนวทางอธิบายเช่นนี้ศีลธรรมและความดีคงมิใช่ภาษาและวาทกรรม เป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติล้วนๆ ตรงนี้จึงเป็นช่องว่าง เพราะสังคมส่วนใหญ่มักจะใช้มาตรวัดของศีลธรรมด้วยภาพพจน์กับการแสดงออกภายนอกอย่างฉาบฉวย ลืมคำนึงไปถึงข้อเท็จจริงที่คนอสัตย์ก็สามารถแสดงให้สังคมเข้าใจถึงความมีศีลธรรมของตน การแสดงออกทางศีลธรรมให้เห็นด้วยวิธีการต่างๆจึงไม่ได้หมายถึงว่าผู้แสดงคนนั้นๆจะมีศีลธรรมหรือความดีงามอยู่จริง?
ประเด็นตรงนี้ชี้ให้เราเห็นถึงศีลธรรมฉบับจอมปลอมที่อาจได้รับความเคารพ หรือหลงเชื่อจากสังคมได้ สมมุติฐานหนึ่งที่ถูกหยิบยกเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อรักษาและช่วงชิงทางอำนาจ เป็นเรื่องซึ่งอำพรางซ่อนเร้นได้อย่างน่ากลัว เห็นจะได้แก่การใช้ศีลธรรมกับศาสนาเข้ามาเป็นเครื่องมือด้านการเมืองและรักษาอำนาจ นี่เป็นต้นตอสำคัญซึ่งเกิดขึ้นในยุโรปยุคกลางที่มีการล่าแม่มด...
บรรดากลุ่มที่ปลุกสร้างวาทกรรม “ความหวาดผวาแม่มด” (The Great Witch Panic) ต่างก็เป็นพวกนักบวชในศาสนาคริสต์ขณะนั้น ซึ่งมีการแสดงออกให้สังคมเห็นถึง “การมีศีลธรรมอันประเสริฐและศักดิ์สิทธิ์” ตัวอย่างเหล่านี้มิได้มีเฉพาะในยุคกลาง ศีลธรรมจึงนอกจากจะเป็นคำสอนหลักที่ให้มนุษยชาติสามารถดำรงคงอยู่กันได้ด้วยความสันติ ยังมีด้านมืดที่ถูกซ่อนเร้นห่อหุ้มด้วยอำนาจ บ่อยครั้งในนามของศีลธรรมย่อมถูกใช้เป็นอาวุธในการประหัตประหารหรือทำลายล้างกันได้อย่างไม่ยากเย็น ในสังคมไทยยุคปัจจุบัน ศีลธรรมและศาสนากับความดีงามในเชิงวาทกรรม รวมทั้งการผลิตซ้ำเหมือนเวทีนิทรรศการทางอำนาจแฝง ก็ถูกใช้เข้ามาเป็นปัจจัยหลักต่อการกำกับถึงทิศทางของผู้คน ให้ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของอำนาจซึ่งผูกขาดในทุกบริบท กระทั่งบริบทด้านวัฒนธรรม ความเชื่อ จิตสำนึก
ทฤษฎีการครองอำนาจนำ (Hegemony) ของอันโตนิโอ กรัมชี สามารถอธิบายถึงนัยเหล่านี้ได้ดี ไม่แปลกอะไรนักที่บ่อยครั้งการสังหารผู้ประท้วงคัดค้านในด้านการเมืองถูกกระทำผ่านพลังอำนาจที่แท้จริงในนามข้ออ้างทาง “อุดมการณ์” (Ideology)
จากแนวคิด Hegemony การที่จะครองอำนาจนำตรึงในสังคมเอาไว้ จึงต้องดัดแปลงเพื่อการปลูกสร้างด้านวาทกรรม เป็นการหล่อหลอมในเชิงอุดมการณ์ ครอบงำทัศนคติและมุมมองที่สำคัญในการมองโลก มองประเทศหรือมองสังคม แม้แต่การมองกลุ่มผู้ใช้อำนาจ ซึ่งความคิดและสัญลักษณ์ต่างๆที่ประกอบขึ้นมาเป็นอุดมการณ์ เพื่อเหตุผลในการคงอยู่ของระบบผูกขาดทั้งอำนาจกับผลประโยชน์ จะสามารถรักษาตัวเองเอาไว้ได้เหนียวแน่น ปิดบังด้านมืดเอาไว้ ก็ต้องกระทำการผลิตซ้ำที่ลึกซึ้งมากกว่า “การชี้นำ” หากเป็นครอบงำ?
“อุดมการณ์” นี่เองจึงเป็นตัวช่วยให้ผู้ปกครองสามารถปกครองพลเมืองของตนได้อย่างราบรื่น หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นที่ยอมรับของพลเมือง (เป็นการยอมรับด้วยใจไม่ใช่ด้วยการบังคับ/ใช้กำลัง) ดังนั้น นอกเหนือจากการปกครองด้วยอำนาจที่ได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แม้บางครั้งเป็นการใช้กระบวนการทางกฎหมายที่ตัวเองกำหนดขึ้นไปปล้นเพื่อสร้างความชอบธรรมเช่นนั้นขึ้นมา สิ่งที่สำคัญเห็นจะหนีไม่พ้น “ภาพลักษณ์แห่งความดีงามและความมีศีลธรรมชนิดสุดๆ”
หันมาพิจารณาย้อนหาสังคมไทย เราคงต้องยอมรับถึงกระบวนการที่ครอบงำและหล่อหลอมเป็นอุดมการณ์อยู่ในโครงสร้างส่วนบน (Superstructure) ซึ่งประกอบด้วยสถาบันทางการเมือง สถาบันอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับพลเมือง วัฒนธรรม และความเชื่อ ได้ถูกผสมผสานผ่านวาทกรรมจนปลูกฝังเอาไว้อย่างเหนียวแน่นและเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อนอย่างยิ่ง เป็นการตรึงอยู่ใน Superstructure ซึ่งสลัดให้หลุดได้ไม่ง่ายนัก
สังคมไทยมีลักษณะพิเศษในกระบวนการ Hegemony ที่อาจลึกซึ้งและวกวนมากกว่าสังคมในประเทศอินเดียด้วยซ้ำไป เป็นถึงขั้นจิตสำนึกที่ยอมจำนนและศิโรราบแบบไม่ต้องการเหตุผล ดำรงไปด้วยความเชื่อเป็นด้านหลัก รวมจนทั้งการจำนนสวามิภักดิ์ต่อวาทกรรมหรืออุดมการณ์ของศีลธรรมกับความดีงามที่อาจไม่ได้มีอยู่จริง เป็นเพียงการแสดงเพื่อให้เห็นภาพของศีลธรรมกับความดีว่ามีอยู่เท่านั้น?
กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งจึงใช้กระบวนการด้านประชาสัมพันธ์ในขั้นลึกซึ้งจนถึงวิธีปฏิบัติการด้านจิตวิทยามวลชน บ่อยครั้งยังเป็นระดับ “propaganda” เรายังอาจวิเคราะห์ได้ถึงความเป็นจริงที่ผ่านมาจากอดีตอันยาวนาน ชี้ให้เห็นว่า “สังคมไทยมีระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมบนวิถีของการล้างสมอง” คนไทยจึงมีศึกหลายด้านที่เผชิญหน้าอยู่ ด่านสำคัญของศึกคงได้แก่ “วิธีคิด” เพราะระบบความคิดของสังคมที่ปลูกฝังเอาไว้เฉพาะความเชื่อ จึงถอยห่างออกไปจากเหตุผล ข้อมูลหรือข้อเท็จจริง
เราคงปฏิเสธไม่ได้สำหรับชุดของความคิดและสัญลักษณ์ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นอุดมการณ์ที่ใช้ในการปกครองสังคมไทย กลายเป็นปัจจัยที่มีพลังและเป็นตัวกำหนดโครงสร้างของสังคมเป็นด้านหลัก เป็นกระบวนการขัดเกลาคนไทยมาจนตราบกระทั่งทุกวัน?
โดยทรรศนะส่วนตัวของผม เห็นว่าในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมานี้เอง คนไทยจำนวนไม่น้อยมีความฉลาดมากขึ้นที่จะคิดและแยกแยะส่วนผสมอันปนเปรอะในอุดมการณ์ครอบงำทางสังคม ซึ่งเป็นเนื้อในแท้จริงของ “วิถีอำนาจนิยมตามลัทธิการครองความเป็นเจ้า” วลีที่ว่า “ตาสว่างทั้งแผ่นดิน” อาจหยิบมาใช้อธิบายได้ถึงการปลดเปลื้องพันธนาการที่รกรุงรังในการผูกมัดสังคมตรึงตราสังเอาไว้ แรงขับเคลื่อนในฝ่ายประชาธิปไตยกำลังดำเนินมาถึงด่านสุดท้ายในสนามแม่เหล็กของการครอบงำ...การทำความเข้าใจกับศีลธรรมและความจอมปลอมที่ถูกใช้รักษาอำนาจ รวมถึงการมองภาพ “พวกคนดีมีศีลธรรมให้แทงทะลุ” สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นเรื่องสำคัญทั้งสิ้น...
สังคมไทยได้เดินมาถึงจุดสุดท้ายเพื่อกระทำสังคายนาหาคำตอบจากความดีและศีลธรรมที่แท้จริง เพื่อลบล้างศีลธรรมฉบับเดิมแห่งการแสดงที่ผูกอยู่กับอำนาจ โดยใช้ผ้าดำปิดดวงตาผู้คนเอาไว้ทั้งแผ่นดิน?
ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6
ฉบับ 310 วันที่ 14 -20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 หน้า 15
คอลัมน์ กรีดกระบี่บนสายธาร โดย เรืองยศ จันทรคีรี |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น