วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554


วาระซ่อนเร้นปัญหาไทย-กัมพูชา

       
       รายงาน(วันสุข)
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 6 ฉบับที่ 310 ประจำวัน จันทร์ ที่ 16 พฤษภาคม 2011
         โดย ถนอมศรี จันทร์ทอง
           http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10709

         มหากาพย์ “ปราสาทพระวิหาร” ระหว่างไทย-กัมพูชากลายเป็นประเด็นร้อนและบานปลายเข้าไปทุกขณะ ล่าสุดแม้เสร็จสิ้นการประชุมผู้นำ 3 ฝ่ายคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทย สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา โดยมีประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุดโดโยโน ผู้นำอินโดนีเซีย เป็นผู้ประสานงานเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้ง ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 18 ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา แต่ท้ายที่สุดก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ มิหนำซ้ำกัมพูชาเองกลับประกาศกร้าวและปฏิเสธข้อเสนอของไทยที่ให้ถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่พิพาท ซึ่งเรื่องนี้ ผศ.ดร.พิบูลย์พงศ์ พูนประสิทธิ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอทางออกได้อย่างน่าสนใจ

ผศ.ดร.พิบูลย์พงศ์เห็นว่าปัญหาข้อพิพาทปราสาทพระวิหารระหว่างไทย-กัมพูชานั้น คิดว่ากัมพูชาย่อมไม่อยากให้มีการเจรจาระดับทวิภาคี เพราะรู้ดีว่าจะทำให้เสียเปรียบประเทศไทยจากการที่เป็นประเทศที่มีศักยภาพน้อยกว่า ดังนั้น จึงพยายามทุกวิถีทางที่จะนำเรื่องนี้เข้าสู่ระดับอินเตอร์ เพราะสามารถที่จะล็อบบี้ได้ ทั้งนี้ อย่าลืมว่าจีนซึ่งมีผลประโยชน์ในกัมพูชาต้องสนับสนุนเขา รัสเซียที่เป็นประเทศคอมมิวนิสต์เหมือนกันที่มองไปในทางสอดคล้องกับจีน นอกจากนี้ยังมีประเทศฝรั่งเศส อดีตเจ้าอาณานิคม ซึ่งเป็นเมืองแม่ของกัมพูชามาก่อน
“ประเทศเหล่านี้คือ 3 เสียงในองค์การสหประชาชาติที่อยู่ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เหลือแค่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ดังนั้น ถ้าเรื่องเข้าสู่ระดับนานาชาติถือว่าประเทศไทยอยู่ในภาวะที่เสียเปรียบ”


เพราะฉะนั้นหากยังดื้อดึงจะเจรจาแบบ 2 ฝ่ายอีกต่อไป สิ่งที่ออกไปข้างนอกก็จะบ่งบอกว่าประเทศไทยมีอะไรซ่อนเร้นหรือไม่ ทำไมถึงปิดไม่ให้คนรู้ ส่วนกัมพูชาต้องการให้ประเทศอื่นรู้ว่ามีการยิงกัน ขณะที่ไทยบอกว่าไม่ได้เริ่ม แต่ก็ปิดไม่ให้ใครมาสังเกตการณ์ แล้วจะเชื่ออะไรได้ ถึงแม้จะเป็นความจริง วันหนึ่งเราจะถูกแรงกดดันจากต่างประเทศว่าไทยควรยอมให้ประเทศอื่นเข้าไปสังเกตการณ์


ใช่ คุณบอกว่าไม่ได้เริ่ม แต่ผมจะเชื่อคุณได้อย่างไร แน่นอนว่าทหารคุณก็ต้องบอกว่าไม่ได้เริ่ม หนังสือพิมพ์คุณก็ต้องบอกว่าไม่ได้เริ่ม แต่ทำไมไม่ยอมให้คนต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์ ทำไมกัมพูชาจึงยอมให้ต่างชาติเข้าสังเกตการณ์ แล้วเขาบอกว่าไม่ได้เริ่ม ซึ่งเมื่อถึงจุดๆหนึ่งประเทศไทยจะอยู่ตรงนี้ไม่ได้
ตรงนี้ผมคิดว่าเราน่าจะพยายามหาต่างประเทศที่ค่อนข้างสนับสนุนประเทศไทย อาจเป็นอเมริกา แต่อเมริกาก็บอกแล้วว่าไม่อยากเข้ามายุ่ง หรืออาจเป็นฟิลิปปินส์ หรือประเทศอื่นๆที่เราคิดว่าไม่ได้เป็นฝ่ายกัมพูชาเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ ถ้าเกิดตรงนั้นจริงๆอย่างน้อยก็จะบอกได้ว่านี่ไงเราให้ประเทศที่สามเข้ามาสังเกตการณ์แล้วนะ แต่เป็นประเทศที่เราไว้ใจมากขึ้น เพราะถ้าเรายังขืนไทยๆๆอย่างเดียว ในสายตาคนไทยเราเข้าใจ แต่ในสายตาต่างประเทศใครจะเข้าใจ


อย่างอเมริกาทำไมเราไม่เชิญเขามาดู ผมคิดว่าถ้าเรามั่นใจว่าไม่ใช่คนเริ่มยิง ทำไมเราไม่เชิญเขาเข้ามาดู เสียงอเมริกาค่อนข้างดัง และค่อนข้างสนิทกับเรา ดีกับเรา ทูตของเขาก็มีสัมพันธไมตรีที่ดีกับเรา ทำไมไม่เชิญทูตให้ไปดูว่าเหตุการณ์เป็นอย่างนี้ เขาคงไม่อยากจะดู แต่อย่างน้อยก็แสดงว่าเราต้องการประเทศที่เป็นกลางมาออบเซิร์ฟตามความเป็นจริง ผมเชื่อว่าอเมริกาจะทำ
แต่ที่ผ่านมาเราไม่เชิญอเมริกามา ทำให้มองว่าเป็นเพราะประเทศไทยกลัวอะไรหรือไม่ มีความขัดแย้งภายในหรือไม่ หรือกลัวความเป็นจริงบางอย่างหรือไม่ ผมคิดว่าตรงนี้ถ้าเราสามารถอธิบายได้และมีประเทศอย่างอเมริกาซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจเข้ามา อย่างน้อยแม้จะไม่เข้ามาเป็นตัวกลาง แต่เข้ามาสังเกตการณ์เล็กน้อยว่าเป็นอย่างที่เราพูด หากทำได้ผมเชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้ และประเทศไทยจะกลาย เป็นคนยิงเกมที่ชนะกัมพูชา คือเอาอเมริกาเข้าไปสังเกตการณ์ ไม่ต้องให้อเมริกามาเข้าข้างไทยก็ได้



ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 310 
วันที่ 14 -20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 หน้า 20 
คอลัมน์ คนการเมือง โดย ถนอมศรี จันทร์ทอง
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น