วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555

โครงการรับจำนำข้าวจุดตายของเผด็จการไทย?

โครงการรับจำนำข้าวจุดตายของเผด็จการไทย?



                 ในช่วงหลายสัปดาห์ ที่ผ่านมา การปลุกกระแสคัดค้านโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้ดำเนินไป อย่างเต็มที่ เริ่มต้นจากพรรคประชาธิปัตย์ พ่อค้า และผู้ส่งออกข้าว องค์กรพัฒนาเอกชน ช่วยโหมกระพือด้วยสื่อมวลชนกระแสหลัก รุมกระหน่ำโครงการรับจำข้าวของรัฐบาลด้วยข้อบกพร่องและข้อมูลทุจริตที่ขยาย เกินจริง ไปจนถึงข้อมูลเท็จและข่าวลือต่างๆ

         ท้ายสุดคือการเคลื่อนไหวของนักวิชาการและนักศึกษากว่า 140 คน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกันลงชื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ละเมิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 84 (1) นี่อาจเป็น “การข้ามเส้น” เพราะการคัดค้านก่อนหน้านี้เป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์ แต่การที่นักวิชาการกลุ่มนี้จงใจ “เปิดประตู” ให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามา เป็นการแสดงเจตนาชัดเจนว่าต้องการล้มโครงการรับจำนำข้าว เพื่อให้มีผลกระทบต่อเนื่องเป็นการล้มรัฐบาลในขั้นต่อไป

         โครงการรับจำนำข้าวมีเป้าหมายเพิ่มรายได้ให้กับชาวนาไทยผ่านการแทรกแซง กลไกตลาดด้วยการพยุงราคาขั้นต่ำ ถึงแม้รัฐบาลจะใช้วิธีการ “รับจำนำ” คือให้ชาวนาสามารถกลับมาไถ่ถอนคืนได้ในเงื่อนไขที่กำหนด แต่รัฐบาลตั้งราคารับจำนำไว้สูง ผลก็คือชาวนาไม่มาไถ่ถอนคืน ข้าวในโครงการจึงตกอยู่ในมือรัฐบาล เท่ากับว่ารัฐบาลเป็นผู้รับซื้อข้าวโดยตรงจากชาวนาโดยไม่จำกัดจำนวนในราคา ที่ประกาศไว้นั่นเอง นี่คือมาตรการพยุงราคาสินค้าเกษตรที่มีอยู่ในตำราหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานทุก เล่ม และปฏิบัติกันมานานแล้วในกลุ่มสินค้าเกษตรทั้งในประเทศไทยและหลายประเทศทั่ว โลก

        โครงการนี้มีผลทำให้ราคาตลาดปรับตัวสูงขึ้น เพราะรัฐบาลกลายเป็นผู้รับซื้อรายใหญ่ ข้าวจำนวนมากไปอยู่ในมือรัฐบาล บีบให้พ่อค้าต้องเสนอราคารับซื้อสูงตามไปด้วย ผลก็คือชาวนาทั่วไปแม้ไม่ได้เข้าร่วมโครงการก็จะขายข้าวในราคาที่สูงขึ้นตาม ไปด้วย ดังจะเห็นได้ว่าปัจจุบันข้าวเปลือกในตลาดเอกชนมีราคาสูงถึงตันละ 11,500-12,500 บาท เทียบกับสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งราคาอยู่ที่ตันละ 8,000-9,000 บาท และเหลือเพียงตันละ 6,000-7,000 บาท ในช่วงเก็บเกี่ยว

       ข้อมูลกระทรวงพาณิชย์เองแสดงว่าการรับจำนำข้าวปีการเพาะปลูก 2554/55 มีชาวนาได้รับประโยชน์โดยตรงประมาณ 2 ล้านครัวเรือน เป็นเงิน 142,200 ล้านบาท และชาวนาที่ไม่ได้เข้าโครงการก็ได้ประโยชน์ด้วยประมาณ 57,000 ล้านบาท

      นักวิชาการที่ออกมาคัดค้านโครงการนี้อ้างเหตุผลว่า “นี่เป็นการรับจำนำ” ก็ต้องทำเหมือนโรงจำนำในเมืองคือ ต้องตั้งราคาจำนำที่ต่ำกว่าราคาตลาด เพื่อบังคับให้ชาวนากลับมาไถ่ถอนคืน นักวิชาการพวกนี้แกล้งทำเป็นไม่เข้าใจว่าการจำนำสิ่งของมีค่าในเมืองมีจุด มุ่งหมาย “แก้ปัญหาขาดสภาพคล่องชั่วคราว” ในยามเงินขาดมือ เช่น โรงเรียนเปิดภาคการศึกษา คนงานตกงาน เป็นต้น เมื่อผู้จำนำมีสภาพคล่องดีขึ้น (เช่น ได้รับเงินเดือน หรือได้งานทำ) ก็นำเงินมาไถ่ถอนสิ่งของกลับไป ส่วนโครงการรับจำนำข้าวนั้นไม่ใช่การ “แก้ปัญหาขาดสภาพคล่องชั่วคราวของชาวนา” หากแต่เป็นการเพิ่มรายได้ในปีการเพาะปลูกนั้นๆโดยตรง แม้จะเป็นรูปแบบจำนำ แต่ในทางปฏิบัติคือการพยุงราคาให้สูง
หากรัฐบาลตั้งราคารับจำนำให้ต่ำกว่าราคาตลาดตามที่นักวิชาการพวกนี้เรียก ร้องก็จะเป็นการทำร้ายชาวนาและเอื้อประโยชน์แก่พ่อค้าและผู้ส่งออกโดยตรง เพราะราคาตลาดจะตกต่ำลงมาใกล้เคียงกับราคาจำนำในทันที เนื่องจากพ่อค้ารู้ว่าชาวนาไม่มีทางเลือกอื่นและต้องขายให้พ่อค้าเท่านั้น

        ส่วนข้อกล่าวหาว่าโครงการมีการทุจริตนั้นไม่ใช่ข้ออ้างที่จะยุติโครงการ เพราะถ้ายึดหลักการว่าโครงการใดมีการทุจริตก็ต้องยกเลิกให้หมด เท่ากับว่ารัฐบาลต้องยกเลิกหมดเกือบทุกโครงการในประเทศไทย เพราะโครงการอีกมากมายก็อาจมีการทุจริตได้ ไม่เว้นแม้แต่การจัดซื้อจัดจ้างและโครงการวิจัยพัฒนาของพวกนักวิชาการใน มหาวิทยาลัยของรัฐด้วย ทางออกจึงไม่ใช่การเลิกโครงการ แต่เป็นการปรับปรุงการดำเนินการให้รัดกุม โปร่งใส มีการรั่วไหลให้น้อยที่สุด ปราบปรามจับกุมและลงโทษผู้ที่ทุจริตอย่างเด็ดขาด

      ส่วนการขาดทุนของโครงการรับจำนำอันเกิดจากข้าวเสื่อมคุณภาพและการระบาย ข้าวออกในราคาต่ำนั้นอยู่ที่ฝีมือการบริหารสต็อกข้าวของกระทรวงพาณิชย์ว่าจะ สามารถระบายข้าวออกไปได้อย่างรวดเร็วและในราคาที่ไม่ต่ำจนเกินไปได้หรือไม่ ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ระบายออกจำนวนเพียงเล็กน้อยให้กับตลาดภายใน ประเทศ และมีข้อผูกพันขายข้าวผ่านรัฐบาล (จีทูจี) อีก 7 ล้านตัน ในช่วงปี 2555/56 สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำคือเร่งระบายข้าวออกไปเพื่อเปิดสถานที่เก็บให้กับข้าว ฤดูใหม่ปี 2555/56 และให้ได้เงินหมุนเวียนกลับมาบริหารโครงการต่อ

       ตัวเลขการขาดทุนสำหรับโครงการรับจำนำข้าวปีการผลิต 2554/55 นั้นหลายฝ่ายคำนวณได้ใกล้เคียงกัน ตั้งแต่ตัวเลขขั้นต่ำ 50,000 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลัง ไปจนถึง 80,000 ล้านบาท โดยสมาคมโรงสีข้าวไทย ซึ่งไม่ได้เกินกว่าความเสียหาย 90,000 ล้านบาท ในโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนตัวเลขขาดทุนถึงกว่า 200,000 ล้านบาท ที่นักวิชาการบางค่ายกล่าวหากันนั้นก็คือตัวเลข “ยกเมฆ” ที่สมมุติว่าสต็อกข้าวปัจจุบันของรัฐบาลนั้นเน่าเสียทั้งหมด ซึ่งเป็นไปไม่ได้

       ที่แย่ไปกว่านั้นคือการที่นักวิชาการกลุ่มนี้ไม่ได้เพียงแค่แสดงความคิด เห็นต่างทางวิชาการเท่านั้น แต่ถึงกับใช้วิธีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่รู้ดีว่าศาลรัฐธรรมนูญก็คือกลไกของพวกเผด็จการที่ใช้ทำลายรัฐบาลที่ มาจากการเลือกตั้ง และมีท่าทีชัดเจนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยปัจจุบัน การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการเปิดช่องให้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญใช้ตุลาการเข้ามา แทรกแซงอำนาจบริหารอีกครั้ง และอาจนำไปสู่การทำลายรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ชนะเลือกตั้งมาอย่างชอบธรรม ดังเช่นที่ได้ทำลายรัฐบาลพรรคพลังประชาชนไปแล้วนั่นเอง

        การที่ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ สื่อมวลชนกระแสหลัก พ่อค้าผู้ส่งออกข้าว องค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการปัญญาชนที่บูชาเผด็จการจารีตนิยมต้องเคลื่อนไหวอย่างหนัก ก็เพราะหากนิ่งเฉยปล่อยให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยทำโครงการนี้ต่อเนื่องได้ สำเร็จ พรรคเพื่อไทยก็จะชนะเลือกตั้งรอบหน้าด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นเพิ่มขึ้นอีกมาก นั่นเอง

 
        แต่การที่คนพวกนี้อ้างเอาโครงการรับจำนำข้าวเพื่อดึงศาลรัฐธรรมนูญเข้ามา นั้น พวกเขาก็กำลังเร่งนำความพินาศมาสู่พวกเผด็จการไทยให้เร็วยิ่งขึ้นไปอีก คือการผลักให้ชาวนาทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนาในภาคกลาง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย ให้หันมาสนับสนุนรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและเป็นแนวร่วมของคนเสื้อแดงอย่างรวด เร็วและได้ผลที่สุด

แล้วเราจะได้เห็นภาคจบของมหากาพย์เรื่องนี้กันเสียที!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับที่ 381 วันที่ 13-19 พ.ศ. 2555
หน้า 9 คอลัมน์ ปวงประชา โดย รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น