วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ตุลาการ หนอนสังคม



         นายคณิน บุญสุวรรณ นักวิชาการอิสระและอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2540 ชำแหละตุลาการภิวัฒน์ไทยไม่เหมือนใครในโลกที่ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้ แต่ถูกดึงลงมาเล่นการเมืองหลังปฏิวัติ 2549 ทางแก้คือต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้วจัดระบบศาลให้เข้าที่เข้าทาง ดังนี้
                             +++++++++  

สภาพตุลาการภิวัฒน์ในประเทศไทย

         คำว่า “ตุลาการภิวัฒน์” ที่ใช้ในประเทศไทยไม่ตรงกับในทางสากล ซึ่งในทางสากลคำว่า “ตุลาการภิวัฒน์” คือกระบวนการในการปรับปรุงแก้ไขสังคายนาระบบและกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับบรรดาผู้พิพากษาตุลาการ เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการนำไปใช้แก้ไขปัญหาร้ายแรงของประเทศได้ เช่น ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาทุจริต และปัญหาในองค์กรอาชญากรรม เช่น พวกมาเฟีย การหลบเลี่ยงภาษี และการฟอกเงินอะไรต่างๆ

        แต่ตุลาการภิวัฒน์ในเมืองไทยกลับตรงกันข้าม แทนที่จะมองตัวเองกลับไปมองคนอื่น และที่ร้ายไปกว่านั้นคือขณะที่ตุลาการภิวัฒน์ในทางสากลใช้ในการคลี่คลาย ปัญหาหรือวิกฤตที่เกิดขึ้นในทางสังคมและอาชญากรรม แต่ในเมืองไทยกลับเอามาใช้ด้วยเหตุผลทางการเมืองทั้งสิ้น

         อย่างเช่นการเริ่มต้นตุลาการภิวัฒน์ในเมืองไทยที่พูดกันในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2540 ทำให้รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณมีเสถียรภาพมาก กลไกต่างๆในรัฐธรรมนูญไม่สามารถทำอะไรรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณได้ คนพวกนี้เลยคิดกันว่าถ้าอย่างนั้นไปใช้วิธีอื่น ไม่ใช้วิธีตามรัฐธรรมนูญแล้ว ไปใช้วิธีดึงฝ่ายตุลาการขึ้นมา ซึ่งฝ่ายตุลาการโดยปรกติแล้วจะไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่อันนี้เป็นแนวความคิด เป็นตรรกะวิธีการ และเป็นยุทธวิธี พูดง่ายๆว่าจะโค่นล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ และในการโค่นล้มแทนที่จะใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกลับไปดึงเอาฝ่ายตุลาการ เข้ามาแล้วอุปโลกน์ว่าเป็นตุลาการภิวัฒน์ แต่แท้ที่จริงไม่ใช่

         ใช้ภาษาง่ายๆก็คือ มั่ว ตีขลุมเอา และที่สำคัญที่สุดคือการเอาตุลาการภิวัฒน์ในเมืองไทยมายุ่งเกี่ยวกับการ เมืองโดยตรง ทำให้เกิดความเสียหายมาก เพราะถึงอย่างไรก็แล้วแต่รัฐบาลหรือรัฐสภาก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และมีจุดยึดโยงกับประชาชน ในขณะที่ฝ่ายตุลาการไม่มีจุดยึดโยงกับประชาชน และไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนด้วย คือเป็นข้าราชการประจำแขนงหนึ่งด้วยซ้ำไป

         ที่น่าเป็นห่วงยิ่งไปกว่านั้นคือ โดยปรกติแล้วฝ่ายตุลาการต้องปฏิบัติหน้าที่ตามพระปรมาภิไธยของพระมหา กษัตริย์ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นกลางทางการเมืองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผู้พิพากษาที่เป็นฝ่ายตุลาการควรปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักอันนี้ เนื่องจากเป็นการกระทำในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองให้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งและการแย่งชิงอำนาจกัน

        จากความคิดตุลาการภิวัฒน์ที่ว่านี้ เมื่อมีการปฏิวัติรัฐประหารขึ้น แน่นอนที่สุดฝ่ายตุลาการน่าจะมีส่วนด้วย เพราะไม่เช่นนั้นแล้วคณะรัฐประหารหรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) คงไม่ตั้งให้คุณชาญชัย ลิขิตจิตถะ ที่เป็นอดีตประธานศาลฎีกา ข้ามห้วยมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนอกจากนั้นยังโอนลูกน้องตามมาด้วยคือ คุณจรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาอยู่ ก็โอนข้ามห้วยมาเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม และให้ไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีบทบาทสำคัญ

        นอกจากนี้ยังตั้งผู้พิพากษาหลายคนเข้ามาเป็นคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็เป็นอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติ ทั้งคุณอภิชาต สุขัคคานนท์ คุณสดศรี สัตยธรรม หรือมีผู้พิพากษาอีก 2-3 คน และยังมีรองอัยการสูงสุด สิ่งเหล่านี้เขาเรียกว่าเป็นตุลาการภิวัฒน์ แต่แท้ที่จริงเป็นกระบวนการที่จะโค่นล้มทำลายกันในทางการเมือง โดยใช้ฝ่ายตุลาการเป็นข้ออ้าง

        ในระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เห็นอย่างชัดเจนว่าพยายามเอาสิ่งที่เรียกว่าตุลาการภิวัฒน์มาปรับให้เป็น กลไกตามรัฐธรรมนูญโดยเพิ่มอำนาจให้มากขึ้น อย่างศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเมื่อก่อนก็ไม่มี

        แต่ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ตั้งขึ้นเป็นศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง และ กกต. ก็เพิ่มอำนาจเข้าไปอีก รวมทั้งเพิ่มอำนาจให้กับศาลรัฐธรรมนูญ และองค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญจาก 15 คน ก็ลดลงเหลือ 9 คน ซึ่ง 5 ใน 9 คน มาจากศาลทั้งนั้น คือมาจากศาลฎีกา 3 คน ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดอีก 2 คน เหลืออีก 4 คน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักนิติศาสตร์และนักกฎหมาย

       อย่างนี้แสดงให้เห็นว่าตุลาการภิวัฒน์แท้ที่จริงก็คือการแลกเปลี่ยนผล ประโยชน์ตอบแทนกัน โดยใช้บริการของศาลหรือฝ่ายตุลาการ แล้วก็ตอบแทนกันไป แต่ในที่สุดความล้มเหลวก็เกิดขึ้น เพราะทุกอย่างมีการจัดการและวางแผนกันเป็นกลไก เหมือนกับว่าเอาไปโค่นล้มทำลายฝ่ายตรงกันข้ามในทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการกับรัฐบาลหรือพรรคการเมืองที่ถูกรัฐประหารเมื่อ วันที่ 19 ก.ย. 2549 แล้วตั้งองค์กรพิเศษขึ้นมา เช่น คตส.

       คดีต่างๆเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็น คตส. หรือ ป.ป.ช. หรือองค์กรต่างๆที่ได้ทำสำนวนในการไต่สวน ก็ส่งไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลและองค์กรต่างๆเหล่านี้เรียกรวมกันว่าตุลาการภิวัฒน์ แต่แท้ที่จริงไม่ใช่ เพราะเป็นกระบวนการปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจโดยไม่ใช้กำลังทหารนั่นเอง แม้จะแพ้การเลือกตั้งเมื่อปี 2550 แต่กลับพยายามใช้ทุกวิถีทางในสิ่งที่เรียกว่าตุลาการภิวัฒน์ เพื่อพลิกกลับให้เสียงข้างน้อยได้เป็นรัฐบาล โดยไปจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร

       ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพทางการเมือง แม้รัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนและมีเสียงข้างมากท้วมท้นแค่ไหน แต่ก็ถูกคุกคามอยู่ตลอดเวลา ขณะที่หน้าที่ของศาลยุติธรรมช่วงที่ยังไม่มีตุลาการภิวัฒน์ คดีที่ค้างการพิจารณาของศาลตั้งแต่ศาลยุติธรรมก็มีมากมายมหาศาล บางคดีพิจารณาเป็นสิบๆปีกว่าจะตัดสิน อย่างเมื่อเร็วๆนี้คดีหม่อมลูกปลาผ่านมา 10 ปีกว่า ศาลเพิ่งจะตัดสินไม่นานมานี้ หรือคดีอาญา คดียาเสพติดต่างๆที่ยังคั่งค้างอยู่ ทำให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม ไร้ประสิทธิภาพ และอาจทำให้ขาดความยุติธรรมได้

       สรุปว่าการใช้ตุลาการภิวัฒน์มาอ้างในการโค่นรัฐบาลและทำลายกันในทางการ เมืองนอกจากจะประสบความล้มเหลวแล้ว ยังทำให้ภารกิจหน้าที่หลักของศาลยุติธรรมซึ่งเป็นเสาหลักและที่พึ่งสุดท้าย ในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลยุติธรรมเองและตัวผู้พิพากษาต้องประสบความเสียหายหลาย ด้านด้วย

        ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องทบทวนกัน คือถอยกลับไปเถิด อย่านึกว่าผู้พิพากษาเป็นผู้ทรงคุณธรรมและสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้ อย่างน้อยที่สุดผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน กฎหมายมหาชนเลย แต่มาอยู่ในองค์กรอิสระต่างๆ
ถึงวันนี้แทนที่จะใช้ตุลาการภิวัฒน์ในทางสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดประโยชน์ ในทางสากล กลับกลายเป็นว่าเอามาใช้ผิดที่ผิดทาง ทำให้เกิดความเสียหาย แค่งานด้านศาลเองก็ทำไม่ไหวแล้ว ยังจะรุกคืบไปทำงานด้านการเมืองอีก และไม่เคยปรากฏมาก่อนว่าศาลออกมาต่อล้อต่อเถียงกับประชาชน ขู่ฟ้องบ้างอะไรบ้าง เพราะขึ้นชื่อว่าศาลเป็นฝ่ายตุลาการ ย่อมต้องมีความเป็นอิสระ มีความเป็นกลาง แต่เวลานี้เหมือนกับฝ่ายตุลาการออกมาเล่นการเมือง โดยเฉพาะผู้ใหญ่ในศาล เช่น ผู้พิพากษาศาลฎีกา

        ผมขอถามว่าแล้วผู้พิพากษาระดับเล็กๆจะทำอย่างไร เขาก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไป เสร็จแล้วก็ต้องดูอีกว่าผู้พิพากษาระดับผู้ใหญ่ ระบบศาลจะไปอย่างไร เพราะฉะนั้นมันสร้างความกระอักกระอ่วน และที่สำคัญที่สุดคือศาลตรวจสอบไม่ได้ นอกจากนี้ยังวิจารณ์ไม่ได้อีกด้วย เราจึงไม่มีโอกาสรู้ความจริงเลย ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นใครก็แล้วแต่ ไม่มีหรอกถ้าไม่ถูกตรวจสอบจะมีความบริสุทธิ์ผ่องใส แม้แต่คนที่มีอำนาจอย่างฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็ยัง ต้องถูกตรวจสอบ

กระทบต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรมหรือไม่?

        ขอบอกว่ากระทบ เพราะหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมจะมีได้ก็ต่อเมื่อสังคมนั้นเป็นประชาธิปไตย ที่บอกว่าเป็นสังคมประชาธิปไตยเพราะที่มาของกฎหมาย คนที่ออกกฎหมายต้องมาจากประชาชนถึงจะเรียกว่าเป็นนิติรัฐได้ และคนบังคับใช้กฎหมายต้องมาตามกระบวนการของประชาธิปไตย ซึ่งผู้วินิจฉัยกฎหมายคือผู้พิพากษาตุลาการต้องเป็นกระบวนการที่มาจากระบอบ ประชาธิปไตย แต่ตุลาการภิวัฒน์ในประเทศไทยมาจากการรัฐประหาร

        ที่สำคัญเริ่มต้นก่อนการรัฐประหารด้วยซ้ำ มีส่วนร่วมในการที่วางแผนโค่นล้มรัฐบาลโดยการใช้กำลังทหารปฏิวัติด้วยซ้ำไป แล้วมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นกลไกต่างๆ สิ่งเหล่านี้ทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรมอยู่แล้ว จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่ากระบวนการตุลาการภิวัฒน์ในประเทศไทยถูกออกแบบมา เพื่อสร้างหลักนิติรัฐ นิติธรรม แต่กลับตรงกันข้าม การจะสร้างหลักนิติรัฐ นิติธรรมได้ต้องกลับไปสู่ภาวะของหลักประชาธิปไตย คือประเทศไทยหลังการรัฐประหารดันไปตั้งประธานศาลฎีกาซึ่งเป็นประมุขของฝ่าย ตุลาการมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แล้วจะเอาหลักนิติรัฐที่ไหน

คืนนิติธรรมเป็นเสาหลักประชาธิปไตย

       ต้องกลับไปสู่กระบวนการประชาธิปไตย คือทหารต้องกลับสู่กรมกอง ผู้พิพากษาต้องกลับบัลลังก์ศาล แล้วคืนกระบวนการประชาธิปไตยให้กับประชาชน ตราบใดที่ยังมีการแทรกแซงกันอยู่อย่างนี้ กลายเป็นว่ากองทัพ ศาล และพรรคการเมือง ร่วมกับนายทุนเก่า พยายามจะยึดอำนาจตลอดเวลา ที่สำคัญถ้าศาลไม่ได้เป็นที่พึ่งสุดท้ายและไม่ได้เป็นเสาหลัก มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง นับวันมีแต่จะเปลืองตัว เพราะเวลานี้คนพูดถึงศาลไม่ได้เจาะจงว่าพูดถึงศาลไหน คิดว่าเป็นศาลเหมือนกัน โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญเป็นส่วนสำคัญในการทำรัฐประหาร ที่สำคัญวางตัวเป็นหัวหอกด้วย พูดง่ายๆเวลานี้เอาศาลออกมาเล่นการเมืองหมดแล้ว นี่คือสมรภูมิทางการเมือง

การทำรัฐประหารโดยศาลยังจะมีต่อไป

       ความพยายามมีแน่นอน แต่จะล้มเหลวหมด เวลานี้เหมือนกับว่าถ้าใช้กำลังทหารในการทำรัฐประหารได้คงทำไปแล้ว แต่ในเมื่อทำไม่ได้ก็ต้องใช้วิธีอย่างนี้ ซึ่งนับวันจะทำให้ระบบศาล หรือสถาบันอนุรักษ์ สถาบันดั้งเดิม เช่น กองทัพ เผชิญหน้ากับประชาชนมากขึ้น ถามว่านักการเมืองมาจากไหน นักการเมืองก็มาจากประชาชน แล้วเสียงส่วนใหญ่ที่เลือกนักการเมืองเข้ามาทำหน้าที่ก็เป็นเสียงของประชาชน ระดับรากหญ้าทั้งนั้น ถ้าทำอย่างนี้ไปนานๆเข้ามีแต่จะเผชิญหน้ากับประชาชน

      เมื่อก่อนไม่เคยมีใครกล้าวิจารณ์ศาล วิจารณ์กองทัพ เดี๋ยวนี้วิจารณ์กันมาก ไปๆมาๆก็ขู่กัน เป็นลักษณะของประเทศที่ไม่มีความสงบ ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของระบบศาลโดยรวมเสียหายหมด ถ้าบอกว่าต้องการตุลาการภิวัฒน์จริง ควรมาตีแผ่ว่าตุลาการภิวัฒน์ที่แท้จริงคืออะไร

สมควรยุบศาลรัฐธรรมนูญทิ้งหรือไม่

        มันมาไกลเกินไปแล้ว ไม่มีประโยชน์ที่จะพูดถึงเรื่องนั้น ต้องคิดถึงการสังคายนาศาลทั้งระบบแล้วในประเทศนี้ ที่พูดกันว่าปัญหาในประเทศไทยคือการคอร์รัปชัน เรื่องนักการเมืองเลว แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว กลายเป็นระบบศาลที่เป็นตัวปัญหา ขอย้ำว่าสถานการณ์ขณะนี้ต้องสังคายนาปฏิรูปศาลทั้งระบบ โดยศาลยุติธรรมเป็นคดีอาญา คดีแพ่ง คดีทั่วไป ก็ต้องหาวิธีที่จะทำให้ผู้พิพากษาระดับสูงมีจุดยึดโยงกับประชาชน ไม่ใช่ลอยมาจากไหนก็ไม่รู้ อย่างน้อยที่สุดต้องมีการควบคุมตรวจสอบได้

       ผมขอบอกว่าศาลในประเทศไทยกลายเป็นประเทศเดียวในโลกที่ตรวจสอบไม่ได้ และไม่มีจุดยึดโยงกับประชาชน เรื่องความล้าช้าในกระบวนการยุติธรรมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเอามาตีแผ่ กัน อย่างศาลปกครองก็มีได้ แต่จะให้มีอำนาจถึงขนาดไปล้มรัฐบาลคงไม่ถูก ศาลปกครองมีไว้พิจารณาคดีปกครอง ส่วนศาลรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องมี มาถึงขนาดนี้ไม่จำเป็นต้องมีแล้ว เพราะจริงๆแล้วองค์กรที่เรียกว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็มีได้อยู่แล้ว แต่พอเป็นศาลปุ๊บก็ติดขึ้นมาทันทีในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ กลายเป็นว่าตรวจสอบวิจารณ์ไม่ได้

จะทำอย่างไรให้สังคมไทยหลุดพ้นวงจรนี้

        ตุลาการภิวัฒน์ที่ว่านี้กำลังสร้างปัญหาให้กับสังคม ถามว่าเราจะหลุดพ้นไปได้หรือไม่ ผมขอบอกว่าคงหลุดไม่ได้ตราบใดที่ศาลยังไม่ได้มองตัวเอง เพราะเวลานี้ศาลไม่เคยมองตัวเอง มองแต่คนอื่น และยิ่งได้ลูกยุจากฝ่ายกองทัพและและพรรคการเมืองบางพรรค ซึ่งต้องการดันศาลออกมาข้างหน้า ส่งผลให้สังคมไทยไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรนี้ได้ แต่ก็มีอีกทางหนึ่งคือแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 แล้วจัดการกันใหม่หมด ไล่ตั้งแต่บทบาทของศาลควรเป็นอย่างไร ความสัมพันธ์ ความเกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหารควรมีมากน้อยแค่ไหน องค์กรอิสระจำเป็นต้องมีหรือไม่ ซึ่งความจริงไม่ต้องมีก็ได้ หากมีจะยิ่งเป็นภาระให้ประชาชนมากขึ้นไปอีก วันดีคืนดีไปออกระเบียบเพิ่มค่าตอบแทนให้กับตัวเอง เงินเดือนตั้งเท่าไร เงินค่าตอบแทน เบี้ยเลี้ยง เบี้ยประชุมอีก ไม่รวมผลประโยชน์อย่างอื่นหรือสิทธิพิเศษอะไรต่างๆเยอะแยะไปหมด รถประจำตำแหน่งราคาตั้ง 3-4 ล้านบาท แล้วในที่สุดก็ทำแต่เรื่องอย่างนี้

        เวลานี้ศาลถูกตั้งฉายาหลายชื่อมาก สะท้อนให้เห็นว่าขณะนี้เหมือนกับช่วยตัวเองไม่ได้แล้ว เพราะตอนนี้มีคนได้ประโยชน์คือบุคลากรระดับสูงในศาล เมื่อเป็นแบบนี้ก็ช่วยไม่ได้ ดูแล้วน่าเป็นห่วง อย่างที่บอกว่าเป็นปัญหาพื้นฐาน ซึ่งมีมานานแล้ว ไม่เคยได้ยินหรือที่ภาษิตกฎหมายบอกว่า “ความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรมก็คือความไม่ยุติธรรม”

        นี่คือจุดอ่อนของศาลในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลยุติธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น