วันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

รบ.ยังไม่พ้น โซนอันตราย ( รัฐบาลทรราชย์ ) ข่าวสดเช้านี้
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7381 ข่าวสดรายวัน



รบ.ยังไม่พ้น โซนอันตราย

ใน 3 เงื่อนไขที่นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กำหนดนำไปสู่การยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ถึงวันนี้ได้ผ่านไปอีก 1 เงื่อนไขคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

หลังจากการประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระสาม ทั้ง 2 ร่าง

คือร่างแก้ไขมาตรา 190 เกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ด้วยจำ นวนเสียงเห็นชอบ 397 ต่อ 19 เสียง

ส่วนมาตรา 93-98 เกี่ยวกับระบบเลือกตั้งส.ส. ซึ่งถือเป็นไฮไลต์ของการแก้ไข ผ่านความเห็นชอบด้วยคะแนน 347 ต่อ 37 เสียง

โดยฝ่ายค้านพรรคเพื่อไทยยกทีมวอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุม

เพราะไม่พอใจ นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาที่รวบรัดตัดบท สั่งเดินหน้าลงมติวาระ 3 โดยไม่ยอมฟังเสียงท้วงติงในเรื่องกระบวนการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญที่ไม่ถูกต้องมาตั้งแต่วาระแรก และวาระ 2

ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าความ พยายามของฝ่ายค้าน ในการนำความ เห็นที่แตกต่างยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จะมีผลให้ร่างแก้ไขรัฐ ธรรมนูญเป็นไปอย่างไรในบั้นปลายท้ายสุด

แต่ก่อนไปถึงขั้นนั้น ณ วันนี้ต้องถือว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกระ บวนการรัฐสภาเสร็จสิ้นลงแล้ว แม้จะยังไม่สมบูรณ์ก็ตาม

โดยเฉพาะประเด็นไฮไลต์ มาตรา 93 เรื่องที่มาของส.ส. สูตร 375+125 ที่ผ่านวาระ 2 ด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 298 ต่อ 211 งดออกเสียง 35

ต่อด้วยวาระ 3 ที่กำหนดให้ผ่านด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภา คือ 313 เสียง นั่นหมายความว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์ต้องการคะแนนเพิ่มจากวาระ 2 อีก 15 เสียง

ท่ามกลางกระแสข่าวการล็อบบี้กันด้วยผลประโยชน์บางอย่าง พุ่งเป้าไปที่สมาชิกวุฒิสภาหรือส.ว. จนในที่สุดผลการโหวตวาระ 3 ก็ออกมาในตัวเลขเห็นชอบ 347 เสียง เกินกึ่งหนึ่งมาถึง 35 เสียง

แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยังสามารถกุมสภาพในสภาไว้ได้

แน่ นอนว่าภายหลังจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3 คำถามที่จะตามมานั้นก็คือแล้วจะมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่เมื่อใด ซึ่งคนที่จะตอบคำถามนี้ได้คือนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ในช่วงหลังจากพรรคประชาธิปัตย์รอดพ้นจากคดียุบพรรคมาได้แบบค้านสายตาคนส่​วนใหญ่

ทำให้มีการมองกันว่าคือสัญญาณของกลุ่มอำนาจตัวจริง ที่ยังพร้อมหนุนหลังรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้เดินหน้าต่อไป

ตรงนี้เองทำให้มีการคาดการณ์กันว่ารัฐบาลชุดนี้อาจฉวยโอกาสอยู่ในอำนาจยาวไปจนครบเทอ​มปลายปี

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา ถึงนายกฯ อภิสิทธิ์ จะปฏิเสธกระแสข่าวดังกล่าว ย้ำว่ารัฐบาลจะไม่อยู่จนครบเทอม

แต่ก็ไม่ได้ระบุวันเวลาแน่ชัดว่าจะยุบสภาหรือจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เมื่อใด

บอกแค่ว่าขึ้นอยู่กับ 3 เงื่อนไข คือ เศรษฐกิจฟื้นตัว การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองที่เอื้อต่อการหาเสียง

นอกจากแต้มต่อของนายกฯ ที่มีอำนาจเลือกทิ้งไพ่ยุบสภา ในช่วงเวลาที่พรรคของตนเองอยู่ในจุดได้เปรียบสูงสุด เพื่อเป็นหลักประกันในการกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งหลังการเลือกตั้งครั้งใหม่

การผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ตามสูตรที่มาส.ส. 375+125 คือการเสริมเขี้ยวเล็บให้กับพรรคประชาธิปัตย์ในสนามเลือกตั้งมากขึ้น

ระหว่างนั้นยังมีรายงานข่าวด้วยว่า แกนนำประชาธิปัตย์ได้ประสานต่อรองผลประโยชน์ภายในกับพรรคร่วมรัฐบาลขณะนี้ ไว้จนลงตัว ว่าหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าจะกลับมาจับมือตั้งรัฐบาลร่วมกันอีกครั้ง

ก่อนปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาจะปะทุรุนแรงจนกลายเป็นสงครามขนาดย่อม อนาคตทางการเมืองของนายอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์ จึงดูสดใสเป็นอย่างยิ่ง

กล่าวกันว่าปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา

ที่บานปลายกลายเป็นการสู้รบปะทะกันด้วยอาวุธหนักระหว่างทหาร 2 ฝ่าย จนประชาชนในพื้นที่ตามแนวชายแดนต้องเดือดร้อนสูญเสีย

กำลังกลายเป็นปัญหาคุกคามเสถียรภาพรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์อย่างหนัก

โดยเฉพาะการที่กลุ่มพันธมิตรฯ ฉวยโอกาสนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นหัวเชื้อในการเคลื่อนไหวจัดการชุมนุม ก่อนจะยกระดับเป็นการขับไล่นายกฯ และรัฐบาลทั้งคณะ

ถึงจะมีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนไม่มาก แต่ด้วยความที่เป็น "ม็อบมีเส้น" ทำให้ยากจะคาดเดาว่าผลการตะลุมบอนกับรัฐบาล "เส้นใหญ่ผัดซีอิ๋ว" จะออกมาอย่างไร

แต่มีข้อสังเกตว่าก่อนการโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ไม่กี่วัน

มีข่าวหนาหูว่าผู้อยู่เบื้องหลังอำนาจตัวจริง สั่งเดินเกมกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยวิธีพิเศษ ตัดหน้านายกฯ อภิสิทธิ์ ที่ออกมาส่งสัญญาณร่นเวลายุบสภาเลือกตั้งใหม่ว่าไม่เกินกลางปี

เหตุเพราะผู้ถืออำนาจตัวจริงเริ่มมองเห็นว่านายกฯ อภิสิทธิ์ กำลังตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำให้กับฝ่ายตรงข้ามในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นกรณี 91 ศพเหยื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.53 การ ทุจริตคอร์รัปชั่นในรัฐบาล การตกเป็นเบี้ยล่างของกัมพูชา

แต่ละเรื่องสร้างความบอบช้ำให้กับนายอภิสิทธิ์ จนไม่อาจแน่ใจได้ว่าหากมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ตอนนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะได้กลับมาจริง

ซึ่งนั่นจะทำให้อำนาจบารมีของ "มือที่มองไม่เห็น" เกิดความคลอนแคลนตามไปด้วย จึงต้องหาทางตัดไฟแต่ต้นลม

กระแส ข่าวผู้มีอำนาจเตรียมลอยแพนายอภิสิทธิ์ ยังช่วยเสริมให้ข่าวลือเรื่องปฏิวัติที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ และพรรคเพื่อไทยปล่อยออกมา ดูมีสีสันน่าสนใจมากขึ้น

ทั้งยังนำมาสู่กระแสข่าวทางออกจากวิกฤตการเมืองอื่นๆ อย่างเช่น นายกรัฐมนตรีลาออก หรือไม่ก็ชิงประกาศยุบสภาเพื่อตัดตอนวิธีการนอกระบบ

การเตรียมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นายกฯ อภิสิทธิ์ ต้องเร่งตัดสินใจเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของตนเอง ไม่ให้บอบช้ำไปกว่านี้

ส่วนคำตอบสุดท้ายของการเปลี่ยงแปลงจะออกมาอย่างไร

ความไม่แน่นอนตรงนี้เป็นเรื่องต้องติดตามกันวันต่อวัน ห้ามกะพริบตาเด็ดขาด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น