วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2554

ชักจะเวอร์ไปใหญ่แล้ว ไอ้วู๊ดดี้

โต้ ว.วชิรเมธี กรณีให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘วู๊ดดีัเกิดมาคุย’

โดย อติเทพ ไชยสิทธิ์ นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โดยปกตินั้นผู้เขียนไม่ได้ติดตามรายการทางโทรทัศน์ หากแต่มีโอกาสได้เห็นเรื่องนี้ เนื่องจากมิตรท่านหนึ่งได้นำข้อความมาให้ดู เป็นบทสัมภาษณ์ระหว่างคุณวู๊ดดี้ และ ว.วชิรเมธี ในรายการ ‘วู๊ดดี้เกิดมาคุย’ ขอให้ผู้อ่าน ลองอ่านอย่างละเอียด เพื่อจะได้ช่วยกันคิด ช่วยกันตั้งคำถามเกี่ยวกับเหตุและผลของศาสนาจารย์ผู้นี้ ว่าถูกต้องหรือไม่อย่างไร, ผู้เขียนขอยกข้อความมาเพียงส่วนหนึ่ง เฉพาะส่วนที่ส่งผลให้ต้องเขียนบทความนี้;
…………………………………..
วู้ดดี้ : พระบางองค์นั่งสมาธิแล้วสามารถที่จะลอยได้ หรือมนุษย์เราสามารถที่จะลอยได้ ถ้าเกิดเรานั่งสมาธิขั้นสูงๆ แล้วมันมีจริงมั้ย
ว.วชิรเมธี : ในทัศนะพระอาจารย์นี่เป็นเรื่องธรรมดามาก

เทปรายการวู๊ดดี้เกิดมาคุยตอนสัมภาษณ์ ว. วชิรเมธี ดูเทปที่เหลือทั้งหมดได้ที่ เทป 2/4เทป 3/4เทป 4/4; บทสัมภาษณ์ที่ถูกอ้างถึงในบทความมีการตัดออกจากเทปทั้ง 4 เทป แต่วู๊ดดี้ได้นำมาออกรายการในภายหลัง อ่านการถอดเทปทั้งหมดได้ที่นี่
วู้ดดี้ : การลอยตัวนี่เหรอ
ว.วชิรเมธี : เป็นเรื่องธรรมดาที่สุดและเป็นเรื่องที่ในแวดวงปฏิบัติแทบไม่พูดถึงเพราะว่ามันไม่มีราคาที่จะให้พูดถึง
วู้ดดี้ : แต่อาจารย์เชื่อว่ามี
ว.วชิรเมธี : มันเป็นเรื่องธรรมดา ทำไมเราจะทำไม่ได้ มนุษย์สมัยก่อนเขาไม่ได้เดินทางโดยเครื่องบินนะ เขาเหาะเหินเดินหาวเพราะจิตเขาวิวัฒนาการสูงสุด เขาไม่ต้องใช้วัตถุมารองรับกายเลยนะ
วู้ดดี้ : จริงเหรอฮะ
ว.วชิรเมธี : เขาเหาะไปเลย ไปไหนมาไหนเขาเหาะไป พุทธจิตมันมีอำนาจขนาดนั้น ใช่มั้ย
วู้ดดี้ : แต่ตามหลักวิทยาศาสตร์มันเป็นไปไม่ได้
ว.วชิรเมธี : แล้วคุณคิดว่าวิทยาศาสตร์เป็นใครล่ะ พอวิทยาศาสตร์บอกว่าไม่ได้ก็คือไม่ได้ใช่มั้ย วิทยาศาสตร์มันยิ่งใหญ่ขนาดนั้นเลยเหรอ
วู้ดดี้ : แต่มันไม่มีข้อพิสูจน์นี่ครับพระอาจารย์ มันไม่มีข้อพิสูจน์ เราไม่เคยเห็นใครในอดีตที่สามารถเหาะได้
ว.วชิรเมธี : สิ่งที่ยังไม่ได้พิสูจน์เราสรุปว่ามันไม่มีได้มั้ย
วู้ดดี้ : ไม่ได้
ว.วชิรเมธี : ใช่ เพราะฉะนั้นอย่างมงายในวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง
วู้ดดี้ : ผมเคยได้ยินว่าอย่างมงายในไสยศาสตร์ แต่วันนี้ท่านบอกว่าอย่างมงายในวิทยาศาสตร์
ว.วชิรเมธี : ก็มีแต่คนไทยบางคนเท่านั้นแหละที่พูดว่าถ้าพุทธอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ไม่ได้ แล้วมันจะต่ำต้อย จึงไปพยายามเอาวิทยาศาสตร์มาอธิบายพุทธศาสนาเสียใหญ่โต บางทียิ่งทำยิ่งฉุดพุทธศาสนาให้ต่ำลง เพราะวิทยาศาสตร์เพิ่งเกิดเมื่อวานนี้ ในขณะที่พุทธศาสนาเกิดมาแล้วตลอดเวลา อยู่ในโลกนี้ไม่เคยไปไหน
(เน้นข้อความโดยผู้เขียน)
…………………………………..
ส่วนที่เน้นข้อความเป็นส่วนที่ผู้เขียนให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะเมื่อได้ลองค้นในอินเทอร์เน็ท ว่าผู้คนทั่วไปให้ผลตอบรับกับการสัมภาษณ์นั้นอย่างไร ก็มีความคิดเห็นหลายอันที่พยายามจะบอกว่า สิ่งที่ ว.วชิรเมธีกล่าวถึงคือ “การถอดจิต” หรือการใช้ “กายละเอียด” ไม่ใช่การเหาะไปด้วย “กายเนื้อ” แต่ถ้าได้อ่านส่วนที่เน้นข้อความหนาดีๆ ก็จะเห็นว่าพิธีกรได้ถามซ้ำอีกครั้งหนึ่งด้วยว่า “ลอยตัวนี่เหรอ?” ซึ่งมันก็แน่ชัดแล้วว่าหมายถึงการที่กายหยาบ หรือร่างกายนี่ลอยขึ้นได้? ไม่ใช่การถอดจิตอะไรนั่นที่พยายามจะเบี่ยงเบนประเด็นเพื่อทำให้คำตอบของว. วชิรเมธีดูเข้าท่ามากขึ้น นอกจากนี้ตัวว.วชิรเมธีเองก็ยังเสริมเข้าไปอีกว่า“คนในสมัยก่อนสามารถเหาะเหินเดินหาวได้ หากว่าจิตวิวัฒนาการสูงสุด”
ผู้เขียนไม่มีปัญหา และยอมรับได้ “ระดับหนึ่ง” เกี่ยวกับการกล่าวอ้างถึงสิ่งที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ ว่ามีโอกาสเกิดขึ้นจริง เช่นเดียวกับเรื่องมนุษย์ต่างดาว หรือสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญา หากมีใครถามว่าผู้เขียนคิดว่ามีหรือไม่ คำตอบก็เช่นเดียวกันคือ “เป็นไปได้” เพราะวิทยาศาสตร์อยู่บนฐานของความ “เป็นไปได้” และความ “น่าจะเป็น” เราไม่มี “ความจริงสูงสุด” หรือ “ปรมัตสัจจะ (Absolute truth)” เรามีเพียง“ความถูกต้องเชิงสัมพัทธ์” คือความถูกต้องบนเงื่อนไข หรือกฎเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมันแตกต่างตรงที่ศาสนานั้น ถือเอาว่า “ความรู้ของตน” สิ่งที่ตน “สั่งสอน” คือ “ความจริงอันสูงสุด” หรือ “ปรมัตสัจจะ (Absolute truth)” หากแต่อะไรที่ขัดกับความจริงสูงสุดนี้ ล้วนเป็นความเข้าใจ “เป็นความรู้ที่ผิด!” (มิจฉาทิฐิ)
ผู้เขียนตอบย้ำอีกครั้งว่า “เป็นไปได้” ที่มนุษย์จะสามารถเหาะเหินเดินหาว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสมมติฐานเกี่ยวกับเรื่อง “มนุษย์เหาะเหินเดินหาว” ทุกอันจะมีความเป็นไปได้ เนื่องจากมันสามารถใช้หลัก“เหตุผลแบบย้อนแย้ง” ด้วยข้อมูลของตัวสมมติฐานนั้นเองมาหักล้าง หากว่าสมมติฐานนั้นมีข้อบกพร่อง และสิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้คือ วิทยาศาสตร์บอกเสมอว่า สิ่งที่คุณคิดมีโอกาสถูกนะ แต่ศาสนาไม่เคยให้โอกาสให้คุณได้ “ถูก” เลย หากว่าความคิดนั้นขัดแย้งกับหลักศาสนา!
นั่นหมายความว่า วิทยาศาสตร์จะบอกแก่คุณว่า …”เป็นไปได้นะที่มนุษย์จะเหาะเหินเดินหาวด้วย วิธีการวิธีใดวิธีหนึ่ง“…แต่ศาสนาจะบอกแก่คุณว่า …”มนุษย์เหาะได้นะ หากฝึกจิตถึงระดับหนึ่งแล้ว”…
นี่คือความแตกต่างที่ต้องเข้าใจให้ชัด!
สิ่งที่ ว. วชิรเมธีผิดพลาดอย่างมากในทางการให้เหตุผล แต่อาจจะเป็นเรื่องที่รับได้และน่าสรรเสริญในโลกศาสนา คือการใช้หลักเหตุผลที่ว่า “ถ้าวิทยาศาสตร์พิสูจน์เรื่องมนุษย์เหาะไม่ได้แล้ว มนุษย์เหาะได้จริงๆ”

ส่วนนี้ผู้เขียนก็ไม่ทราบว่าจะเถียงเขาได้อย่างไร เนื่องจากศาสนาก็บอกอยู่แล้วว่าสิ่งที่เขาสั่งสอนเป็นความจริงสูงสุด!

แต่สิ่งที่ผมพอจะทราบก็คือ หลักฐานอื่นใดของการเหาะได้ในมนุษย์ของศาสนาพุทธที่พอจะเชื่อถือได้ “ไม่มีเลย” ยกเว้นกับการเล่นคำในทำนอง “วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ ดังนั้นความคิดของฉันจึงเป็นจริงเสมอ” ขอให้สังเกตเถิดว่าชาวพุทธหลายๆส่วน ที่โต้แย้งเรื่องนี้ จะให้เหตุผลในทำนองนี้ทั้งสิ้น ซึ่งก็เป็นอาการอย่างหนึ่งของโรคที่ผู้เขียนขนานนามว่า “ความสามารถในการให้เหตุผลบกพร่อง”
สำหรับคำกล่าวของว.วชิรเมธีที่ว่า “วิทยาศาสตร์เพิ่งเกิดเมื่อวานนี้ ในขณะที่พุทธศาสนาเกิดมาแล้วตลอดเวลา อยู่ในโลกนี้ไม่เคยไปไหน” ช่างคล้ายคลึงกับสิ่งที่นักบวชคาร์เมอเลโญในเรื่อง ‘เทวากับซาตาน’ กล่าวว่า “Science and religion are not enemies! There are simply some things that science is just too young to understand.”

(วิทยาศาสตร์และศาสนามิใช่ศัตรูกัน หากทว่าวิทยาศาสตร์นั้นเพียงอ่อนเยาว์เกินกว่าจะเข้าใจ)

คำกล่าวนี้ล้วนเป็นเครื่องสะท้อนทัศนคติ “ความจริงของฉันสูงสุด” ได้อย่างชัดแจ้งทีเดียว ในแต่ละศาสนาต่างก็มี “อภิมหาตำนาน” หรือ “อภิมหาวาทกรรม” อยู่ด้วยกันทั้งสิ้น เพื่อปรับให้ตนเองอยู่รอดได้ในโลกปัจจุบัน ที่คนจำนวนมากเริ่มตั้งคำถามอย่างวิทยาศาสตร์ ศาสนาพุทธเองก็มีวาทกรรมที่เชื่อว่า “พระพุทธเจ้ารู้ทุกอย่างในจักรวาล และรู้ทุกอย่างมาก่อนแล้วโดยเฉพาะเรื่องที่วิทยาศาสตร์ปัจจุบันกำลังสนใจกัน” พูดง่ายๆว่า “พระพุทธเจ้ารู้หมดแล้ว” วาทกรรมพวกนี้ถูกตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือหลายต่อหลายเล่ม และถูกใจต่อ “ชนชั้นกลางทั่วไป” อย่างยิ่ง

ปัญหาของเรื่องนี้ คือการพูดข้อมูลข้างเดียว หรือไม่ก็ขาดความรู้ทางประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง นอกไปจากนี้ในรายที่โยงพุทธศาสนาว่าเหนือกว่าวิทยาศาสตร์ ก็ยังมีความเข้าใจผิดพลาดทำให้กลายเป็นการบิดเบือนทั้งวิทยาศาสตร์และศาสนา ไปพร้อมๆกัน สิ่งที่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องก็คือ ความรู้หลายๆ อย่างที่กล่าวอ้างกันว่า“พระพุทธเจ้ารู้หมดแล้ว” นั้น เป็นสิ่งที่มีแนวคิดมาก่อน หรือร่วมสมัยกับพุทธกาลอยู่แล้วทั้งสิ้น คือมีการสั่งสอน พูดคุย ถกเถียง นำเสนออยู่อย่างธรรมดามากๆ ผู้เขียนจึงต้องขอฝากในที่นี้ว่าการค้นคว้าหาความรู้ที่ถูกต้องเป็นเรื่อง สำคัญ และขาดไม่ได้
ท้ายนี้ผู้เขียนเชื่อว่าเมื่อมีคนอ่าน อาจจะมีพวกที่มาแสดงความคิดเห็นในทำนอง “คุณเคยเห็นอิเล็กตรอนไหม อะตอมเคยเห็นไหม อากาศเคยเห็นไหม แล้วคุณเชื่อได้อย่างไร” จะต้องขอตอบให้ชัดและง่ายๆว่า

วิทยาศาสตร์ คือ “การใช้ข้อจำกัดของอายตนะ ทั้ง 5 เพื่อหาความจริง” (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) ซึ่งคำว่ารูปไม่ได้แปลว่า “ต้องมองเห็น” แต่แปลว่า “สามารถวัดได้” แม้ว่าบางอย่างเช่นอะตอมเราจะเห็นได้แล้ว แต่ก็มีหลายอย่างที่เราไม่ได้เห็นโดยตรง แต่เราเห็นเพียงสมบัติ หรือข้อมูลบางอย่างที่สามารถ “วัดได้” “พิสูจน์ได้” นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะเป็นสิ่งยืนยันถึงความมีอยู่จริง หรือดำรงอยู่ของสิ่งเหล่านั้น
ท้ายที่สุดขอฝากคำกล่าวของสมณโคดมแห่งศากยบุตร ไว้เตือนใจศาสนิกทั้งหลายด้วยว่า
….” ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! คนเหล่าอื่นอาจกล่าวติเตียนเรา ติเตียนพระธรรม หรือติเตียนพระสงฆ์ ท่านทั้งหลายไม่พึงผูกอาฆาต ขุนเคืองไม่พอใจในบุคคลเหล่านั้น
เพราะถ้าท่านทั้งหลายโกรธเคืองหรือไม่พอใจในบุคคลที่กล่าวติเตียนเรา ติเตียนพระธรรม หรือติเตียนพระสงฆ์นั้น อันตรายเพราะความโกรธเคืองนั้น ก็จะพึงเป็นของท่านทั้งหลายเอง
ถ้าท่านทั้งหลายโกรธเคือง หรือไม่ใส่ใจในบุคคลที่กล่าวติเตียนเรา ติเตียนพระธรรม หรือติเตียนพระสงฆ์ จะรู้ได้ละหรือว่า คำกล่าวของคนเหล่าอื่นนั้น เป็นคำกล่าวที่ดี หรือไม่ดี?
…”ไม่ทราบพระเจ้าข้า”…
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ท่านทั้งหลาย พึงชี้แจงเรื่องที่ไม่เป็นจริง ให้เห็นว่าไม่เป็นจริง ในข้อที่คนเหล่าอื่นกล่าวติเตียนเรา ติเตียนพระธรรม หรือติเตียนพระสงฆ์ให้เขาเห็นว่า ข้อนั้นไม่จริง ข้อนั้นไม่แท้ ข้อนั้นไม่มีในพวกเราข้อนั้นไม่ปรากฎในพวกเรา ดังนี้”…..
พรหมชาลสูตร 9/3
จาก http://www.siamintelligence.com/wor_watchira_methee_debate/
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น