วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2554

รัฐนาวาจะต้องไปรอด
แต่ก็มีปัญหาตามมาอีก เพราะผู้โดยสารเพียงไม่กี่คนติดยาและเมาเหล้า พูดไม่รู้เรื่อง บางคนก็ขู่จะใช้ “โนโว้ต” (no vote) บางคนก็ไม่อยากไปลงคะแนนเสียง อีกทั้งยังพยายามมอมเหล้ามอมยาผู้โดยสารคนอื่นด้วย เพราะเห็นว่าถึงเลือกกัปตันคนใหม่แล้ว รัฐนาวาก็ยังแล่นไม่ได้อยู่ดีเพราะเครื่องยนต์ของเรือมันเก่าล้าสมัย พวกนี้ต้องการที่จะระเบิดทำลายเครื่องยนต์ทิ้งอย่างเดียว


โดย พิทยา พุกกะมาน อดีตเอกอัครราชทูต
15 เมษายน 2554

การบริหารบ้านเมืองเพื่อนำไปสู่ความเจริญทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมนั้น ก็เปรียบเสมือนการเดินทางในทะเลจีนใต้ของรัฐนาวา 

ทะเลจีนใต้เป็นมหาสมุทรที่เต็มไปด้วยมรสุม เช่น ไต้ฝุ่น ฉะนั้นการเดินทางของรัฐนาวามิใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องอาศัยเรือที่ดีและทันสมัย และกัปตันเรือที่มีประสบการณ์ และความเฉลียวฉลาดที่สามารถตัดสินใจได้ทันท่วงที

การบริหารประเทศไทยก็เปรียบเสมือนรัฐนาวาที่ท่องในมหาสมุทรไปสู่จุดหมายปลายทาง คือความเจริญของประเทศและความอยู่ดีกินดีของประชาชน ซึ่งจำเป็นต้องมีเรือที่ทันสมัย มีเครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพ มีกัปตันและลูกเรือที่มีคุณภาพ มีผู้โดยสารที่คอยเอาใจใส่ และคอยให้กำลังใจแก่กัปตันและลูกเรือ

ในเชิงเปรียบเทียบ เรือหรือรัฐนาวาก็คือประเทศไทย เครื่องยนต์ก็คือระบบการปกครอง (จะเรียกว่าระบอบหรือระบบก็ช่างเถิด อย่ามาเถียงกันเลย) กัปตันก็คือนายกรัฐมนตรี ลูกเรือก็คือคณะผู้บริหารซึ่งรวมถึงพรรคการเมืองด้วย ผู้โดยสารก็คือประชาชน

ขณะนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าเรือรัฐนาวาของเรากำลังจะล่ม และดูจะไม่สามารถเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทาง (คือความเจริญของประเทศและความอยู่ดีกินดีของประชาชน)ได้ เพราะว่ากัปตันไม่ดี ลูกเรือไม่ดี และเครื่องยนต์ไม่ดีเพราะเก่าเป็นสนิม 

สิ่งที่จะต้องแก้ไขโดยด่วนก็คือเปลี่ยนกัปตัน และลูกเรือ รวมทั้งซ่อมเครื่องยนต์ขนานใหญ่แบบยกเครื่องหรือ overhaul ไปเสียเลย

แต่ปัญหาก็คือ กัปตันไม่ยอมซ่อมเครื่องยนต์ให้ทันสมัยขึ้น เพราะเขากลัวจะขับไม่เป็น การซ่อมเครื่องยนต์ก็เปรียบเสมือนกับการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง ทั้งด้านบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ รวมถึงการแก้ไขรัฐะรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย

เมื่อมีปัญหา ทางออกก็คือเปลี่ยนกัปตันและลูกเรือใหม่ การเปลี่ยนผู้นำหรือกัปตันจำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากผู้โดยสารหรือประชาชนก่อน

โดยผู้โดยสารจะต้องลงคะแนนเสียงเลือกกัปตันที่เขาไว้ใจ แต่ก็มีปัญหาตามมาอีก เพราะผู้โดยสารเพียงไม่กี่คนติดยาและเมาเหล้า พูดไม่รู้เรื่อง บางคนก็ขู่จะใช้ “โนโว๊ต” (no vote) บางคนก็ไม่อยากไปลงคะแนนเสียง อีกทั้งยังพยายามมอมเหล้ามอมยาผู้โดยสารคนอื่นด้วย

เพราะเห็นว่าถึงเลือกกัปตันคนใหม่แล้ว รัฐนาวาก็ยังแล่นไม่ได้อยู่ดีเพราะเครื่องยนต์ของเรือมันเก่าล้าสมัย พวกนี้ต้องการที่จะระเบิดทำลายเครื่องยนต์ทิ้งอย่างเดียว แต่มิได้คิดจะซ่อมแซมให้ใช้งานได้ หรือเอาเครื่องยนต์ใหม่มาแทน

ซึ่งหากเอาใจคนกลุ่มนี้แล้วรัฐนาวาก็คงจะอยู่กับที่ และอาจต้องจมสู่ก้นทะเลในที่สุด แต่เป็นเดชะบุญของรัฐนาวา ผู้โดยสารที่มีสติปัญญาส่วนใหญ่เขาต้องการเปลียนกัปตัน และซ่อมแซมเครื่องยนต์โดยให้ช่างผู้ชำนาญดำเนินการซ่อม จะเปลี่ยนเครื่องใหม่นั้นดูจะลำบากเพราะอยู่ในมหาสมุทร

แต่สิ่งที่ถูกต้องที่สุดในสภาวะคับขันก็คือ เคารพความต้องการของผู้โดยสารส่วนใหญ่ และเคารพเสียงข้างมากหรือการตัดสินใจของผู้โดยสารในการเปลี่ยนกัปตันเรือและลูกเรือ และรีบซ่อมเครื่องยนต์โดยเร็วแบบยกเครื่อง

เมื่อปฏิบัติได้ทั้งสองอย่างนี้แล้ว รัฐนาวาก็จะสามารถแล่นฝ่ามรสุมต่อไปยังจุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องมีคนใดต้องสังเวยชีวิต
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น