วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2554

แม่หยัวเมือง แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ เลวจริงหรือ
ผู้ชนะคือผู้เขียนประวัติศาสตร์
ลุงคำต๋า........

     ท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นพระสนมเอกของพระไชยราชาธิราช กษัตริย์องค์ที่ 13 แห่งอยุธยา ทรงเป็นพระราชมารดาของพระยอดฟ้า กษัตริย์องค์ที่ 14 แห่งอยุธยา และทรงเป็นพระมเหสีของขุนวรวงศาธิราช กษัตริย์องค์ที่ 15 แห่งอยุธยา

     แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ เป็นเพียงพระนามที่ระบุว่าในพระราชพงศาวดารฉบับราชหัตถเลขา และ แม่ยั่วศรีสุดา ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐ และพระนาม “ศรีสุดาจันทร์” ไม่ใช่พระนามจริงของพระองค์แต่เป็นชื่อตำแหน่งสนมเอกของกษัตริย์อยุธยตามที่ปรากฏใน พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน ของกฎหมายตราสามดวงระบุว่า “นางท้าวสนมเอกทั้ง 4 คือ ท้าวสุเรนทร ท้าวศรีสุดาจันทร์ ท้าวอินทรเทวี ท้าวศรีจุฬาลักษณ์”

     พระไชยราชาธิราช ซึ่งขึ้นบัลลังก์กษัตริย์อยุธยา โดยการ “ยึดอำนาจ” จากพระรัฏฐาธิราชกุมาร กษัตริย์องค์ที่ 12 ที่มีพระชนมายุเพียง 5 พรรษา ถูกยึดอำนาจหลังการครองราชย์ได้ 5 เดือน และถูกนำตัวไปสำเร็จโทษ การยึดอำนาจครั้งนี้เป็นเพียงการเปลี่ยนสายครองราชของโอรสของพระรามาธิบดีที่ 2 เท่านั้น คือ จากสายของ “เจ้าฟ้า” (พระบรมราชาหน่อพุทธางกูร กษัตริย์องค์ที่ 11 ซึ่งมีพระโอรสคือพระรัฏฐาธิราชกุมาร กษัตริย์ที่ 12 มาเป็นสาย “โอรส” อันเกิดแต่พระสนมก็คือ พระไชยราชาธิราช)

     สมัยของพระไชยราชาธิราชเป็นยุคสมัยที่การค้ากับต่างประเทศเริ่มเฟื่องฟู ดังจะเห็นจากการการขุดคลองลัดบางกอก การมี ชาวโปรตุเกสเข้ามาเป็นทหารอาสา หรือ ทหารรักษาพระองค์ และยังเป็นยุคสมัยที่เปิดฉากสงครามครั้งแรกกับพม่าในกรณีปัญหาหัวเมืองมอญ คือศึกเชียงกราน

     การขึ้นครองราชย์ของพระยอดฟ้า ซึ้งเป็นโอรสที่เกิดแก่พระสนมเอก “ศรีสุดาจันทร์” เมื่อพระชนมายุ 11 พรรษา ในช่วงที่พระสนมเอก “ศรีสุดาจันทร์” มีสถานะเป็น “นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์”

     พระยอดฟ้า กษัตริย์ที่ยังทรงพระเยาว์ครองราชสมบัติโดยมี พระแม่เจ้าอยู่หัวศรีสุดาจันทร์ จึงได้ “ราชาภิเษกขุนวรวงศาขึ้นเป็นเจ้าพิภพ” เป็นกษัตริย์องค์ที่ 15 ของอยุธยา

     หลังขุนวรวงศาได้เป็นกษัตริย์จึงเกิดเหตุการณ์นำเอาพระยอดฟ้าที่ยังทรงพระเยาว์ไปประหารชีวิตที่วัดโคกพระยา

ขุนวรวงศาธิราชเป็นคนจากหัวเมืองฝ่ายเหนือแว่นแคว้นสุโขทัย การปรากฏตัวของขุนวรวงศาธิราชในนาม “พันบุตรศรีเทพผู้เฝ้าหอพระ(ข้างหน้า)” ในพระราชวัง และมีสื่อสัมพันธ์กับพระแม่เจ้าอยู่หัวศรีสุดาจันทร์โดยผ่านสัญลักษณ์ “เมี่ยง” และ “ดอกจำปา” กระทั่งได้รับการเปลี่ยนให้เป็น “ขุนชินราช” ตำแหน่งผู้ “รักษาหอพระข้างใน” ซึ่งการที่ “หอพระข้างใน”พระราชวังหลวงมีตำแหน่ง “ขุนชินราช” 

     ขุนวรวงศาธิราชเป็นกษัตริย์อยู่ 45 วัน หลังจากถูกยึดอำนาจ ทั้ง ขุนวรวงศาธิราช พระแม่เจ้าอยู่หัวศรีสุดาจันทร์ และพระราชนัดดาที่มีพระชนม์ 1-2 พรรษา ทั้งสามพระองค์ถูกฝ่ายยึดอำนาจ “ฆ่าแล้วเอาศพไปเสียบประจานไว้ ณ วัดแร้ง 

     ฝ่ายขุนพิเรนทรเทพและคณะผู้ยึดอำนาจได้ถวายบัลลังก์คืนแก่ “พระเทียนราชา” เชื้อพระวงศ์สุพรรณบุรี ซึ่งก็คือ พระมหาจักรพรรดิสำหรับ “พระศรีศิลป์” โอรสอีกพระองค์ของ พระแม่เจ้าอยู่หัวศรีสุดาจันทร์กับพระไชยราชาธิราชนั้นจะถูกประหารชีววิตในระยะถัดมาในข้อหาซ่องสุมคิดกบฎต่อพระมหาจักรพรรดิ (พระมหาจักรพรรดิทรงเลี้ยงพระศรีศิลป์ไว้ 13-14 ปี) จึงจบวงศ์ของพระแม่เจ้าอยู่หัวสุดาจันทร์กับพระไชยราชาธิราชและขุนวรวงศาธิราช

*****************************

ท้าวศรีสุดาจันทร์ "แม่หยัวเมือง" ใครว่าหล่อนชั่ว
คัดลอกจาก บทบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม 
ปีที่ 20 ฉบับที่ 10 , สิงหาคม 2542 โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ประวัติศาสาตร์ยุคต้นกรุงศรีอยุธยายังคลุมเครือเพราะมีหลักฐานไม่มากพอที่จะเชื่อถือได้ ดังเรื่องราวของขุนวรวงศาธิราชกับเจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ 


แรกเริ่มเดิมที พระนครศรีอยุธยายังมิได้เป็นศูนย์รวมอำนาจการปกครองแผ่นดินอย่างแท้จริง เพราะอำนาจกระจายอยู่ที่บรรดาเจ้าเมืองสำคัญ ๆ โดยเฉพาะเจ้าเมืองลูกหลวงและหลานหลวงที่กษัตริย์ทรงแต่งตั้งพรญาติพระวงศ์ไปปกครอง เมื่อสิ้นรัชกาลก็มักเกิดการแย่งชิงอำนาจกันในกลุ่มเจ้านายที่เป็นเจ้าเมืองใหญ่ ๆ เหล่านั้น ดังกรณีเจ้าอ้ายพระยากับเจ้ายี่พระยา

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991 - 2031) ทรงปฏิรูปการปกครองเสียใหม่ด้วยการดึงอำนาจการปกครองแผ่นดินมาไว้ที่ส่วนกลางคือราชธานีพระนครศรีอยุธยา โดยยกเลิกการแต่งตั้งเจ้านายและพระราชวงศ์ไปให้ไปปกครองหัวเมืองสำคัญดังแต่ก่อน แล้วตราข้อบังคับให้บรรดาเจ้านายอยู่ภายในพระนคร

ส่วนการปกครองหัวเมืองทรงแต่งตั้งให้ขุนนางจากส่วนกลางออกไปปกครอง บรรดาเจ้าเมืองเหล่านี้ไม่มีอำนาจและไม่มีสิทธิในการปกครองและบริหารอย่างเต็มที่เหมือนอย่างแต่ก่อน เพราะต้องขึ้นอยู่กับการควบคุมของเจ้าสังกัดใหญ่ที่อยู่ในเมืองหลวงซึ่งประกอบด้วยฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน

กลุ่มผู้เสียประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ได้แก่บรรดาเจ้านายที่เคยมีอำนาจการปกครองเมืองสำคัญ ๆ มาก่อน เช่นเจ้านายฝ่ายแคว้นสุโขทัย เป็นต้น ทำให้เกิดความไม่พอใจสืบเนื่องมาตลอดทุกรัชกาล

จนกระทั่งแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช (พ.ศ.2077-2098) ทรงรวบรวมบ้านเมืองให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้สำเร็จ แล้วยกเลิกให้กษัตริย์หรือเจ้านายไปครองเมืองเหนือ คือเมืองพิษณุโลก ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก เจ้านายและขุนนางจากเมืองสำคัญ ๆ ถูกเรียกตัวให้เข้าไปอยู่ในพระนครศรีอยุธยา เช่นขุนพิเรนทรเทพ ,ขุนอินทรเทพ, หมื่นราชเสน่หา และหลวงศรียศ ฯลฯ บุคคลเหล่านี่ยอมอยู่ในอำนาจของสมเด็จพระไชยราชาธิราชแต่โดยดี เพราะทรงใช้อำนาจปกครองอย่างเด็ดขาด แต่ก็มีสำนึกตลอดเวลาว่าถ้ามีโอกาสก็จะกอบกู้เกียรติยศกลับคือนสู่บ้านเมืองเดิมของตน

 ในที่สุดโอกาสนั้นก็มาถึงเมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต แล้วท้าวศรีสุดาจันทร์ เรืองอำนาจว่าราชการแผ่นดินแทนสมเด็จพระยอดฟ้าที่ยังทรงพระเยาว์ ท้าวศรีสุดาจันทร์มีเป้าหมายทางการเมืองอย่างน้อย 2 อย่างคือ สืบทอดเจตนารมณ์ของสมเด็จพระไชยราชาธิราชเรื่องการปกครองแบบรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางที่พระนครศรีอยุธยาอย่างหนึ่ง กับอีกอย่างหนึ่งคือ ฟื้นฟูราชวงศ์ละโว้-อโยธยาที่ถูกราชวงศ์สุพรรณภูมิทำลานให้มีอำนาจดังเดิม เรื่องนี้น่าจะเป็นที่รับรู้กันลึก ๆ ในแวดวงเจ้านายและขุนนางครั้งนั้น ดังนั้นเมื่อพระไชยราชาธิราชสวรรคต พระเทียรราชาจึงต้องหนีภัยการเมืองด้วยการบวชเป็นภิกษ

 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบกระเทือนจากการปกครองมากที่สุดคือกลุ่มเจ้านายเมืองเหนือที่เป็นแคว้นสุโขทัยเดิม เพราะเจ้านายเชื้อสายราชวงศ์สุโขทัยถูกลดฐานะลงเป็นเพียงขุนนางอยู่ในพระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะขุนพิเรนทรเทพที่พงศาวดารระบุว่า "บิดาเป็นพระราชวงศ์พระร่วง มารดาไซร้ได้เป็นพระราชวงศ์แห่งสมเด็จพระชัยราชาธิราช" นอกจากนั้นยังมีพระยาพิชัย พระยาสวรรคโลกรวมอยู่ด้วย และต้องไม่ลืมว่าเจ้านายที่ได้รับพระนามภายหลังว่าพระสุริโยทัยก็อยู่ในกลุ่มนี้

พงศาวดารจดไว้อีกว่าเมื่อขุนวรวงศาธิราชขึ้นเสวยราชสมบัติแล้วยังให้เกณฑ์เจ้าเมืองเหนืออีก 7 เมืองที่ยังกระด้างกระเดื่องลงมาอยู่พระนครศรีอยุธยา ก็ยิ่งเพิ่มความเจ็บแค้นให้พวกหัวเมืองเหนือมากขึ้น และเท่ากับเพิ่มกำลังให้กับฝ่ายต่อต้านท้าวศรีสุดาจันทร์

ขุนพิเรนทรเทพเชื่อสายราชวงศ์สุโขทัย กับขุนอินทรเทพเชื้อสายเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เป็นต้นคิดสำคัญที่จะกำจัดท้าวศรีสุดาจันทร์ เพราะถ้าปล่อยให้เป้าหมายทางการเมือง 2 อย่างสัมฤทธิผล ก็เป็นอันว่าต้องอยู่ภายใต้อำนาจกรุงศรีอยุธยาต่อไปไม่มีวันกลับคืนไปฟื้นฟูบ้านเมืองดิม

ท้ายที่สุดก็กำจัดท้าวศรีสุดาจันทร์กับพรรคพวกได้สำเร็จแล้วเชิญพระเทียรราชาชึ้นเสวยราชสมบัติเป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรด พงศาวดารจดว่า ขุนพิเรนทรเทพได้ความดีความชอบสูงสุดคือ ได้เกียรติและอำนาจคืนมาทั้งหมดเป็นสมเด็จพระมหาธรรมาราชาธิราช แล้วได้กลับไปครองเมืองพิษณุโลกซึ่งเป็นแว่นแค้วนสุโขทัยเดิมสมปรารถนา นอกจากนั้นยังได้รับพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระสวัสดิราชธิดาเป็นพระอัครมเหสีแล้วถวายพระนามใหม่ว่าวิสุทธิกษัตรี

 ท้าวศรีสุดาจันทร์ไม่ใช่สามัญชนคนธรรมดา ส่วนจะมีชื่อตัวว่าอะไรไม่มีหลักฐาน แต่ชื่อ ศรีสุดาจันทร์ ไม่ใช่ชื่อตัว หากเป็นชื่อตำแหน่งสนมเอกคนหนึ่ง (ในสี่คน) ของสมเด็จพระไชยราชาธิราช และเป็นตำแหน่งเฉพาะสำหรับธิดานารีที่มีเชื้อสายเจ้านายราชวงศ์ ละโว้-อโยธยาเท่านั้น แม้ว่าราชวงศ์นี้จะหมดอำนาจไปจากกรุงศรีอยุธยา แต่ชาติตระกูลที่มีเชื้อสายราชวงศ์เก่ายังมีอยู่ และยังเป็นสัญญลักษ์ของการปกครองที่สืบมาแต่ยุคก่อน ๆ

หลักแหล่งของท้าวศรีสุดาจันทร์คงอยู่ในพระนครศรีอยุธยา แต่มีเครือญาติสำคัญอยู่บริเวณลุ่มน้ำลพบุรี-ปาสัก อันเป็นบริเวณหัวใจของแคว้นละโว้มาแต่โบราณ เช่นที่เมืองลพบุรีและที่บ้านมหาโลก (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอท่าเรือ จังหวังพระนครศรีอยุธยา)

ท้าวศรีสุดาจันทร์น่าจะเป็น "ชายาคู่ทุกข์คู่ยาก" ของสมเด็จพระไชยราชาธิราช มาตั้งแต่ยังไม่ได้รับราชสมบัติ เมื่อได้ราชสมบัติแล้ว ชาติตระกูลของนางคงไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระมเหสีได้ จึงเป็นเพียงสนมเอก และสมเด็จพระไชยราชาธิราชเองก็อาจจะไม่สถาปนาเชื้อพระวงศ์ผู้ใดขึ้นเป็นพระมเหสีด้วย ฉะนั้นเมื่อพระนางมีโอรสถึง 2 องค์ คือ พระยอดฟ้า และพระศรีศิลป์ และสมเด็จพระไชยราชาธิราชได้ขึ้นครองราชย์จึงทำให้ท้าวศรีสุดาจันทร์มีตำแห่งเป็น "แม่อยู่หัว" หรือ"แม่หยัวเมือง" ด้วย

เพราะเหตุที่เป็น "ชายาคู่ทุกข์คู่ยาก" ราชสำนักกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชก็คงตกอยู่ในความควบคุมของท้าวศรีสุดาจันทร์มากพอสมควร และคงเป็นที่รับรู้กันในราชสำนักด้วยในคำให้การชาวกรุงเก่าจึงเล่าว่าพระเจ้าแผ่นดินโปรดท้าวศรีสุดาจันทร์ มีรับสั่งให้เฝ้าอยู่ข้างพระที่มิได้ขาด ราชการฝ่ายหน้าฝ่ายในต่าง ๆ ถ้าท้าวศรีสุดาจันทร์เพ็ดทูลคัดง้างอย่างไรแล้ว ก็ทรงเชื่อทั้งสิ้น

เมื่อพ่ายแพ้ทางการเมือง ท้าวศรีสุดาจันทร์ก็ถูกพงศาวดารกล่าวหาว่า คบชู้ (คือขุนวรวงศาธิราช), ฆ่าผัว (คือสมเด็จพระไชยราชาธิราชา) , ฆ่าลูก (พระยอดฟ้า) แล้วยังข้อหาอื่น ๆ อีกมาก ถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่หมดข้อกล่าวหา และยังไม่มีใครเป็นทนายแก้ข้อกล่าวหาเหล่านั้นได้ นักประวัติศาสตร์และพงศาวดารตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจึงไม่ยอมรับขุนวรวงศาธิราชอยู่ในบัญชีกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา

ข้อกล่าวหาท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นเรื่องราวเล่าขานที่รับรู้กันมาแต่เริ่มแรก มีทั้งบันทึกของชาวยุโรป และมีทั้งเอกสารพงศาวดารสยาม จึงยากที่จะปฏิเสธได้ แต่หากยอมรับข้อกล่าวหาทั้งหมดโดยไม่พิจารณาให้รอบคอบก็เท่ากับกล่าวโทษบุคคลในประวัติศาสตร์กลุ่มหนึ่งอย่างไม่เป็นธรรม และยังเท่ากับละเลยเหตุการณ์ในอดีตที่เต็มไปด้วยเลือดเนื้อ ชีวิต และวิญญาณของความขัดแย้งและการต่อสู้ทางการเมืองภายในของกลุ่มราชวงศ์ที่ปกครองอยุธยาในขณะนั้น

เมื่อกลุ่มท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นฝ่ายรับชัย ก็ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่ต้องโดนประณามหยามเหยียดจากฝ่ายมีชัยชนะ ในทางตรงกันข้าว ถ้าหากกลุ่มท้าวศรีสุดจันทร์มีชัยชนะ อีกฝ่ายหนึ่งก็จะต้องถูกประณามหยามเหยียดไม่น้อยกว่าหรืออาจจะโดนหนักกว่าก็ได้


******************************
ข้อความวินิจฉัยของ นักประวัติศาสตร์ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พิพากษาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์


ความวินิจฉัยต่อไปนี้  จะว่าเป็นข้อๆตามลำดับเลขในคำอธิบายที่กล่าวมาแล้ว

๑. วินิจฉัยเรื่องสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต  ในหนังสือพระราชพงศาวดารทุกฉบับความยุติว่า  สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จกลับจากเมืองเชียงใหม่เมื่อวันสิ้นเดือน ๔  และ(ฉบับหลวงประเสริฐว่า) สวรรคตในเดือน ๖ พิเคราะห์ดูระยะเวลากว่าเดือนหนึ่ง  เห็นว่าจะประชวรมากลางทาง  แต่เสด็จมาถึงกรุงฯแล้วจึงสวรรคต  และมีเค้าเงื่อนว่าจะได้ทรงสั่งมอบเวรราชสมบัติ  ดังจะวินิจฉัยต่อไปในข้อหน้า

๒. วินิจฉัยเรื่องพระแก้วฟ้ารับรัชทายาท พระแก้วฟ้าเป็นพระราชบุตรของสมเด็จพระไชยราชาธิราช เจ้าจอมมารดาเป็นที่ท้าวศรีสุดาจันทร์  ซึ่งในกฏหมายทำเนียบศักดินากำหนดว่าเป็นตำแหน่ง "นางท้าวพระสนมเอก"  มีในทำเนียบ ๔ คนด้วยกัน  เป็นที่ท้าวอินทรสุเรนทร์คน ๑  ท้าวศรีสุดาจันทร์คน ๑  ท้าวอินทรเทวีคน ๑  ท้าวศรีจุฬาลักษณ์คน ๑  พระสนมเอกที่บรรดาศักดิ์เป็นนางท้าวนี้  ยังมาจนในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า น้องสาวพระเพทราชาคน ๑ ได้เป็นท้าวศรีจุฬาลักษณ์  มีพระเจ้าลูกเธอพระองค์หญิงทรงพระนามว่า  พระองค์เจ้าแก้ว  สมเด็จพระเพทราชาทรงสถาปนาเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาบริรักษ์  

ข้อนี้ส่อให้เห็นว่าพระแก้วฟ้านั้น เดิมเป็นเพียงชั้นพระองค์เจ้า ด้วยเป็นลูกพระสนม  ตรงกับราชกุมารศักดิ์อันมีอยู่ในกฏมณเทียรบาลว่า
พระราชกุมารเกิดด้วยพระอัครมเหสี  เป็นพน่อพระพุทธเจ้า
พระราชกุมารเกิดด้วยแม่อยั่วเมือง  เป็นมหาอุปราช
พระราชกุมารเกิดด้วยลูกหลานหลวง  เป็นลูกเธอกินเมืองเอกโท
พระราชกุมารเกิดด้วยพระสนม  เป็นหน่อพระเยาวราช

แต่ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ  เรียกนามเจ้าจอมมารดาพระแก้วฟ้าว่า "แม่ญั่วศรีสุดาจันทร์"  และในฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตฯเรียกว่า "แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์"  อันเห็นได้ว่าเขียนพลาดมาแต่แม่อยั่วเมืองนั้นเอง  เป็นเค้าเงื่อนให้เห็นว่าเจ้าจอมมารดาของพระแก้วฟ้านั้นเดิมเป็นพระสนมเอก  แล้วได้เลื่อนขึ้นเป็นแม่อยั่วเมือง ตำแหน่งชั้นรองพระอัครมเหสีลงมา  



น่าสันนิษฐานว่า  เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงประชวรนั้น (จะเป็นในเวลาเสด็จมาในระหว่างทางก็ตามหรือเมื่อเสด็จมาถึงกรุงฯแล้วก็ตาม)  ทรงปรารภถึงการที่จะสืบสันตติวงศ์จึงทรงสถาปนาพระเจ้าลูกยาเธอ  ซึ่งมีอยู่แต่ ๒ พระองค์และยังทรงพระเยาว์อยู่ด้วยกัน  ให้เป็นพระแก้วฟ้ามหาอุปราชพระองค์ ๑  พระศรีศิลป์พระองค์ ๑  และให้เลื่อนท้าวศรีสุดาจันทร์พระสนมเอกขึ้นเป็นแม่อยั่วเมือง  ให้สมกับที่เป็นพระชนนีของพระมหาอุปราชดังนี้  ครั้นสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต  ข้าราชการทั้งปวงจึงถวายราชสมบัติแก่พระแก้วฟ้าตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระไชยราชาธิราช




ข้อวินิจฉัยของนักประวัติศาสตร์รุ่นต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พิพากษา แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์


ในพระวินิจฉัยข้อนี้ทำให้พิจารณาต่อไปได้อีกว่า  


สมเด็จพระไชยราชาธิราชไม่ได้สวรรคตในทันที (ถูกวางยาในน้ำนมในเครื่องต้น)  เพราะในขณะนั้นพระราชโอรสทั้งสองพระองค์ก็ยังทรงพระเยาว์ ไม่มีเหตุให้ต้องสถาปนาขึ้นเป็นพระแก้วฟ้าและพระศรีศิลป์  จนต้องสถาปนาท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นแม่อยั่วเมือง   สมเด็จพระไชยราชาธิราชาคงต้องประชวรมาจนทรงเห็นว่าจะไม่ได้เสด็จอยู่  จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดฯให้สถาปนาดังกล่าว

http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น