วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2554

คุณค่าประวัติศาสตร์
คุณค่าประวัติศาสตร์
http://www.dailyworldtoday.com/columblank.php?colum_id=51311

         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
         ปีที่ 12 ฉบับที่ 3030 ประจำวัน ศุกร์ ที่ 8 เมษายน 2011
         โดย หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน

กรณีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นำหนังสือเสริมการพัฒนาผู้เรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม “ประวัติศาสตร์ชั้น ม.3” โดยระบุว่า มีเนื้อหาที่เขียนว่ากลุ่ม นปช. เผาบ้านเผาเมือง ทั้งที่วันนี้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีหลักฐานและผลการสอบสวนชัดเจนว่าเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ใครเป็นคนฆ่าประชาชน และเผาบ้านเผาเมือง แต่กลับนำไปเป็นหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ของนักเรียนนั้น จึงไม่ถือว่าเป็นตำราเรียน แต่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อและมอมเมาเยาวชนมากกว่า ทั้งยังถือเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์ที่น่าละอายและอัปยศอย่างยิ่ง ซึ่งไม่มีอารยประเทศใดๆกระทำ

ดังนั้น หากหนังสือดังกล่าวเป็นจริงตามที่ปรากฏเป็นข่าว รัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต้องรับผิดชอบและสั่งเก็บหนังสือเรียนดังกล่าวโดยเร็วที่สุด เพราะประวัติศาสตร์คือการศึกษาเพื่อสืบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นมาของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งจากหลักฐานที่มีบันทึกเก็บไว้ที่เป็นความจริงหรือจากประสบการณ์ของผู้รู้โดยตรง

กระบวนการศึกษาประวัติศาสตร์จึงเป็นกระบวนการศึกษาที่ให้ได้ความรู้ และคำตอบที่เชื่อถือได้อย่างแท้จริงหรือมากที่สุด ซึ่งต้องมีกระบวนการศึกษาและการใช้เหตุผลในการตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐาน และนำไปใช้อย่างถูกต้อง เพื่อประโยชน์ต่อสังคม โดยเฉพาะคนรุ่นหลังที่จะนำไปศึกษาหาความรู้

ทุกประเทศจึงให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ มีหน่วยงานหรือองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลหรือการชำระประวัติศาสตร์ให้ถูกต้องที่สุด โดยเฉพาะการนำมาเป็นตำราเรียน อย่างประเทศไทยมีหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบโดยตรงในงานด้านประวัติศาสตร์ของชาติคือ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

ข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการนำมาเป็นตำราเรียน จึงต้องเป็นข้อมูลหลักฐานที่ถูกต้องที่สุด หากเป็นข้อมูลหลักฐานที่บิดเบือนความจริง ก็ถือเป็นหนังสือโฆษณาชวนเชื่อ และเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการยัดเยียดให้เป็นตำราเรียนถือเป็นการกระทำที่ผิดอย่างยิ่ง

ดังนั้น รัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต้องรับผิดชอบในการตรวจสอบหนังสือดังกล่าวว่ามีเนื้อหาอย่างไร และผ่านการตรวจสอบจากสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ หรือคณะกรรมการที่มีการจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการหรือไม่

เพราะประวัติศาสตร์เป็นองค์ความรู้เพื่อการศึกษาที่หลากหลาย และเป็นคุณค่าทางมรดกวัฒนธรรม ไม่ใช่ใครมีอำนาจก็จะบิดเบือนประวัติศาสตร์ เพื่อผลประโยชน์ทางใดทางหนึ่งของตนและพวกพ้อง โดยไม่คำนึงความเสียหายที่จะเกิดกับประเทศชาติ
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น