ตาสว่างบ้างเถิด บักหำ สันเสิน แก๊งส์กำหนัด | |
จดหมายเปิดผนึกถึง พ.อ. สรรเสริญ แก้วกำเนิด และกองทัพบกhttp://sewanaietv.blogspot.com/2011/04/blog-post_15.htmlจดหมายเปิดผนึกถึง พ.อ. สรรเสริญ แก้วกำเนิด และกองทัพบก : การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ไม่ใช่ ‘ความคิดประหลาด’ แต่การเชื่อในสิ่งที่ไม่สามารถตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ หรือหาข้อพิสูจน์ได้นี่ต่างหาก คือความคิดที่ประหลาดที่สุดโดย:อติเทพ ไชยสิทธิ์ภาพประกอบ : “เทพีแห่งเสรีภาพใช้คฑาแห่งเหตุผลทำลายล้างปีศาจแห่งความโง่เขลา และความลุ่มหลง” (Liberty Armed with the Sceptre of Reason Striking Down Ignorance and Fanaticism) ภาพวาดบนผืนผ้าใบ ในปี 1793 โดย ซีมง ลุยส์ บัวซอท (Simon Louis Boizot) “…การเปลี่ยนแปลงที่หนึ่งพันปีได้สะสมไว้ อาจน้อยกว่าการเปลี่ยนแปลงที่บังเกิดขึ้นในหนึ่งศตวรรษ สิ่งที่ไม่อาจเกิดได้ในศตวรรษหนึ่งที่แล้วมา อาจก่อเกิดได้ในชั่วทศวรรษของศตวรรษปัจจุบัน โอ กาลเวลาที่น่าเกรงขาม กาลเวลาที่เปิดโปงอดีต กาลเวลาที่กำความลึกลับของอนาคต และบางทีก็ชี้แนะอนาคต กาลเวลาผู้เป็นมหาครู…” แลไปข้างหน้า ภาคปฐมวัย, กุหลาย สายประดิษฐ์ ในฐานะพลเมืองของประเทศซึ่งปกครองตามระบอบประชาธิปไตย(ที่อนุญาตให้มีกษัตริย์เป็นประมุข อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ) การตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ หรือหาข้อพิสูจน์ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ไม่ใช่ ‘ความคิดประหลาด’ นี่แทบจะถือได้ว่าเป็น ‘ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ’ตามระบอบประชาธิปไตย ที่มี ‘ธรรมชาติแห่งรัฐ’คือการเปิดให้พลเมืองสามารถตรวจสอบสถาบันทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ ตามสิทธิ และเสรีภาพอันสมควร ไม่ละเมิดสิทธิ และเสรีภาพของผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลในสถาบันทางการเมือง เช่น สถาบันกษัตริย์ ย่อมต้องมีความอดทนอดกลั้นต่อการวิพากษ์วิจารณ์ให้สูงขึ้นกว่าพลเมืองธรรมดาทั่วไปเสียอีก เนื่องจากบทบาทหน้าที่ของตน ย่อมเกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมืองอย่างขาดเสียมิได้ คุณงามความดี หรือกิจกรรมสังคมสงเคราะห์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะทำมามากเพียงใด ก็ไม่สามารถนำมาเป็นเหตุผลหักล้างการวิพากษ์วิจารณ์บทบาททางการเมืองของบุคคลในสถาบันกษัตริย์ได้ เพราะย่อมไม่มีใครอยู่เลยพ้นการตรวจสอบ ด้วยเหตุผลของการทำงานหนัก หรือเป็นที่เคารพสักการะของพลเมือง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างตน สิ่งที่น่ากังขากว่าการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ก็คือความคิดและความเชื่อถือต่อสิ่งที่ไม่สามารถตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ หรือหาข้อพิสูจน์ได้นี่ต่างหาก ที่เป็น ‘ความคิดอันประหลาดที่สุด’ และความคิดประเภทที่อ้างว่าบุคคลในสถาบันกษัตริย์ทำงานหนัก แล้วย่อมอยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์นี่ต่างหาก ที่เป็นความคิดซึ่งต้องถูกท้าทายว่า ผ่านการคิดวิเคราะห์มาดีแล้วหรือไม่ ทั้งนี้ อาจจะยังไม่ต้องไปถึงคำถามที่ลึกซึ้งกว่า นั่นคือการอ้างว่าบุคคลในสถาบันกษัตริย์ทำงานหนัก อย่างนั้น อย่างนี้ – เราจะสามารถพิสูจน์ได้อย่างไร ถ้าการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ และหาข้อพิสูจน์ ยังเป็นสิ่งที่ไม่อนุญาตให้ทำได้ ในประเทศที่เรียกตัวเองว่า ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ นี้ ? หลักการ ‘อันล่วงละเมิดมิได้’ ของกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยนั้น มีรากฐานความคิดคนละชุดกับหลักการอันเดียวกันในระบอบกษัตริย์ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลักการอย่างแรกนั้น วางอยู่บนความคิดที่ว่าสถาบันกษัตริย์ย่อมต้องอยู่เหนือการเมือง กษัตริย์ไม่อาจทำผิด เนื่องเพราะกษัตริย์ไม่ได้รับอนุญาตให้กระทำสิ่งใดโดยตนเองตามลำพัง การกระทำในนามของสถาบันกษัตริย์ย่อมต้องได้รับการอนุญาตจากคณะรัฐมนตรี หรือประธานสภา เป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ กษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ดำรงอยู่ในความล่วงละเมิดมิได้ ก็เพราะความเป็นกลางทางการเมือง กษัตริย์ไม่อาจเลือกข้าง เพราะการเลือกข้างย่อมก่อให้เกิดความแตกแยก และแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในหมู่พลเมือง การกระทำใดในนามของกษัตริย์ด้วยตนเองตามลำพัง ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมให้เกิดขึ้นได้ในระบอบประชาธิปไตยที่อนุญาตให้มีกษัตริย์เป็นประมุข อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ หลักการทั้งหลายนี้ ครอบคลุมไปถึงบุคคลอื่นๆ ในสถาบันกษัตริย์ ตั้งแต่พระบรมวงศานุวงศ์ และองคมนตรี สถาบันกษัตริย์ย่อมต้องแสดงความเป็นเอกภาพของชาติ ราชบัลลังค์สถิตสถาพรอยู่ได้ ก็ด้วยการเป็นตัวแทนความรู้สึกนึกคิดของพลเมืองทั้งหลายในชาติ เมื่อบุคคลในสถาบันกษัตริย์เปิดเผยความรู้สึกนึกคิดแห่งตน ย่อมต้องเกิดความแตกต่างจากพลเมืองบางส่วนไม่มาก ก็น้อย เมื่อนั้นสถาบันกษัตริย์ย่อมไม่อาจเป็นตัวแทนความบูรณาภาพของชาติ เมื่อความรู้สึกนึกคิดส่วนตนถูกเปิดเผยออกและเป็นประโยชน์กับเฉพาะคนบางกลุ่ม ไม่ใช่ด้วยประโยชน์ของพลเมืองทุกคน หลักความหยั่งถึงมิได้และหลักความเป็นกลางทางการเมืองก็ขาดสะบั้นลง เมื่อนั้นหลักความละเมิดมิได้ของสถาบันกษัตริย์ย่อมถูกงดเว้นไปด้วย เมื่อนั้นบุคคลในสถาบันกษัตริย์ก็ไม่อาจเป็นสถาบันกษัตริย์ เพราะพวกเขาจะกลับกลายเป็นเพียง นาย ก. หรือ นาง ข. หลักการ ‘อันล่วงละเมิดมิได้’ ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับหลักการเดียวกันในระบอบประชาธิปไตย หลักการอย่างหลังนี้นั้น วางอยู่บนความคิดที่ว่า กษัตริย์เป็นฉายาของเทพเจ้าในร่างมนุษย์ ความรู้สึกนึกคิดของกษัตริย์แสดงความรู้สึกนึกคิดอย่างเดียวกันกับของเทพเจ้า ด้วยเหตุนี้กษัตริย์จึงดำรงเทวสิทธิ์แห่งสรวงสวรรค์ การตัดสินใจของกษัตริย์คือการตัดสินใจของเทพเจ้า กษัตริย์ย่อมล่วงละเมิดมิได้ เพราะการตัดสินใจของเทพเจ้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ การขัดขืนต่อเทวสิทธิ์และอำนาจของกษัตริย์ คือการขัดขืนต่อธรรมชาติและต่อเทพเจ้า ในระบอบกษัตริย์ สามัญชนผู้อยู่ใต้การปกครองมีสิ่งเดียวที่ควรจะทำ คือการไม่ตั้งคำถามต่ออำนาจ และความล่วงละเมิดมิได้นี้ สามัญชนมีหน้าที่ทำงานรับใช้กษัตริย์ ซึ่งเป็นครรลองอย่างเดียวของมนุษย์ที่ควรจะเป็น ความคิดที่จะตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ หรือหาข้อพิสูจน์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เป็น ‘ความคิดประหลาด’ และการท้าทายเทพเจ้าเช่นนี้ ย่อมสมควรได้รับโทษทัณฑ์ ด้วยเหตุนี้ สถาบันกษัตริย์ในระบอบโบราณ จึงไม่ได้ถูกเทอดทูนให้เป็นที่เคารพสักการะ และละเมิดมิได้ ด้วยเหตุของความเป็นกลางทางการเมือง แต่ด้วยเหตุแห่งชาติกำเนิด ที่เกิดมาสืบทอดสายเลือดของเทพเจ้าบนพื้นพิภพ คำถามมีแต่เพียงสั้นๆ ว่า หลักการ ‘อันล่วงละเมิดมิได้’ แบบระบอบกษัตริย์ หรือ แบบระบอบประชาธิปไตย ที่ครอบงำวิธีคิดของบุคคลากรในกองทัพ รวมทั้งสังคมไทยเองด้วย? ตกลงเราอยู่ในระบอบใด ระบอบประชาธิปไตยที่อนุญาตให้มีกษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือระบอบกษัตริย์เป็นประมุขที่มีประชาธิปไตยเป็นคำขยาย ? ไม่ใช่เหล่าพลเมืองหรอกที่จะต้องระวังรักษาคำพูดของตนมิให้กระทบกระเทือนสถาบันกษัตริย์ แต่เป็นบุคคลในสถาบันกษัตริย์เองที่จะต้องระมัดระวังการปฏิบัติตนให้ดำรงอยู่ในความเป็นกลางทางการเมือง การที่สถาบันกษัตริย์รักษาระยะห่างระหว่างตนเองกับการเมือง ย่อมเกิดผลดีกับระบอบประชาธิปไตย การแสดงความคิดเห็นส่วนตนที่กระทบกระเทือนต่อความรู้สึกนึกคิดของพลเมืองและให้ประโยชน์แก่กลุ่มก้อนทางการเมืองบางกลุ่มย่อมเป็นการปฏิบัติที่ควรถูกวิพากษ์วิจารณ์ การคิดวิเคราะห์ที่เหมาะสมในขณะนี้ และในประเทศนี้ คือการตรวจสอบการปฏิบัติตนของบุคคลในสถาบันกษัตริย์ ไม่ใช่การจับตามองพลเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ชี้หน้ากราดว่าเป็นบุคคลที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อย่างนั้น อย่างนี้ และสมควรถูกลงโทษไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง น่าประหลาดมากกว่าหรือไม่ ที่คนซึ่งมีสติสัมปชัญญะสมประกอบ และมีสติปัญญาจำนวนมากยังเห็นว่าการจับกุมคนที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์นั้น เป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย และในโลกสมัยใหม่ที่เห็นคุณค่าของสิทธิมนุษยชน มากกว่าสิทธิของอภิสิทธิ์ชน แต่อาจไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะพวกอภิสิทธิ์ชนทั้งหลาย มักสบสนระหว่าง ‘สิทธิ’ และ ‘อภิสิทธิ์’ – คนพวกนี้เชื่อใน ‘สิทธิ’ แต่เป็นสิทธิที่จะอยู่เหนือกฎหมาย, สิทธิที่จะอยู่เหนือคำวิพากษ์วิจารณ์, สิทธิที่จะแทรกแซงการเมือง และ สิทธิที่จะทำอะไรโดยไม่ผิด – เมื่อประชาชนพากันประท้วง ‘สิทธิ์อันเหนือว่าสิทธิ์’ นี้ พวกอภิสิทธิ์ชนเหล่านั้นก็พากันคิดว่าตนกำลังถูกละเมิดสิทธิ์อันมีมาแต่กำเนิดโดยชอบธรรม และพากันกอดรัดกฎหมายซึ่งปกป้องอภิสิทธิ์ของตนเอาไว้อย่างหนาแน่น ถ้าอภิสิทธิ์ชนทั้งหลาย ไม่ยอมปล่อยมือจากกฎหมายดังกล่าว ผลที่ตามมาอาจรุนแรงอย่างที่ไม่เคยคาดคิดฝันมาก่อน ท้ายที่สุด ผมขอจบจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ลง ด้วยวรรคหนึ่งจากหนังสือแลไปข้างหน้า ภาคปัจฉิมวัยของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ – “เราไม่ต้องการยิงกับใครด้วยกระสุนเหล็กและด้วยการใช้อำนาจข่มขู่ผู้อื่น แต่เราจะยิงต่อไปด้วยกระสุนแห่งถ้อยคำและเหตุผลจนกว่าเราจะล้มลงและหมดกำลัง เรายิงเพื่อความถูกต้องชอบธรรม” – แน่นอนว่าผมไม่มีอำนาจ มีเพียงแต่กระสุนแห่งถ้อยคำและเหตุผลเท่านั้น ผมจะยิงมันต่อไป เพื่อความถูกต้องชอบธรรม ผมยังมีความหวังว่า เมื่อผมล้มลง และหมดกำลัง จะยังมีพลเมืองผู้ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ ผลิตกระสุนแห่งถ้อยคำและเหตุผลนี้ต่อไป จนกว่าเราจะเห็นประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ราษฎรจงเจริญ | |
http://redusala.blogspot.com |
ดาวน์โหลดคลิ๊ปคนเสื้อแดง
วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2554
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น