วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2554

เขียนตำราเรียนเสี้ยมความแตกแยก
เขียนตำราเรียนเสี้ยมความแตกแยก
http://www.dailyworldtoday.com/columblank.php?colum_id=51310

         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
         ปีที่ 12 ฉบับที่ 3030 ประจำวัน ศุกร์ ที่ 8 เมษายน 2011
         โดย พระพยอม กัลยาโณ


ความขัดแย้งจะจบลงไม่ได้หากแต่ละฝ่ายยังพยายามชี้ว่าใครเป็นฝ่ายผิด หากมีการเขียนเรื่องราวการชุมนุมของคนเสื้อแดงไว้ในแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ของเด็ก ม.3 ในทำนองว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเป็นฝ่ายทำร้ายบ้านเมือง รังแต่จะยิ่งทำให้เกิดความแตกแยกไม่รู้จบ

อ่านข่าวในหนังสือพิมพ์แล้วไปสะดุดเรื่องหนึ่งนอกเหนือจากเรื่องน้ำท่วม คือเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการบรรจุแบบเรียนในวิชาที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ซึ่งนำเหตุการณ์ความไม่สงบในบ้านเมืองเราเมื่อปีที่แล้วมาเขียนไว้ โดยระบุว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเป็นคนเผาบ้านเผาเมือง ก็เลยเกิดเป็นประเด็นจุดอารมณ์ฉุน จนทำให้คนเสื้อแดงออกมาแสดงความไม่พอใจ

เรื่องนี้กระทรวงศึกษาธิการคงหืดขึ้นคอที่จะหาคนเขียน หาคนรับผิดชอบที่ปล่อยให้แบบเรียนนี้ออกมาได้ เพราะวันนี้ความแตกสามัคคี ความแบ่งแยกยังไม่จบ แต่กลับมีเรื่องราวแบบนี้ออกมาซ้ำเติม จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงว่าจะเป็นชนวนที่ทำให้ความแตกแยกบานปลายไปกันใหญ่ เพียงแค่คนกลุ่มเดียวที่ต้องการอำนาจ ต้องการความเป็นใหญ่ คิดจะทำอะไรก็ทำโดยไม่สนวิธี ไม่สนว่าความขัดแย้งจะลามปามแบบไม่รู้จบ จะเป็นการสร้างความร้าวฉานให้หนักขึ้นไปอีก

สมมุติว่าลูกคนเสื้อแดงได้เรียนตำราเล่มนี้ก็จะเชื่อในสิ่งที่เขียนไว้ เด็กไม่รู้หรอกว่าคนเขียนต้องการสื่ออะไร ไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงจะบิดเบือนหรือไม่ อย่างไร เพราะข้อพิสูจน์อะไรก็ยังไม่ชัดเจน แต่ที่แน่ๆเด็กจะเชื่อในสิ่งที่ตัวเองได้เรียน และเมื่อกลับถึงบ้าน สมมุติว่าพ่อแม่เป็นคนเสื้อแดง คราวนี้ก็ต้องมาเถียงกันอีก เด็กก็สับสน ไม่รู้จะเชื่อใครดี

จริงๆแล้วเรื่องประวัติศาสตร์ของชาติมีเยอะแยะมากมายแต่ไม่นำมาให้เรียน ทำไมถึงเอาเรื่องที่เสี่ยงต่ออารมณ์ความรู้สึกของคนเราเข้ามาอีก เหมือนกับต้องการเติมน้ำมันบนกองไฟให้ลุกหนักขึ้นไป ไม่อยากให้จบสิ้นกันหรืออย่างไรถึงได้คิดแต่เรื่องการต่อความยาวสาวความยืด

คิดดีแล้วหรือที่เอาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นซึ่งยังหาข้อสรุปของสิ่งเหล่านั้นไม่ได้มาให้เด็กเรียน เพราะอาจทำให้ปัญหาลุกเป็นไฟขึ้นมาอีก และเชื่อเถอะว่าครูที่สอนวิชานี้อาจมีคนที่เป็นเสื้อแดงอยู่บ้าง ซึ่งแน่นอนปัญหาก็คงต้องเกิด เพราะครูก็ไม่รู้จะสอนในตำราหรือสอนตามความคิดของตัวเอง เนื่องจากรู้สึกว่าสิ่งที่อยู่ในตำรามันขัดแย้ง ในที่สุดก็จะเป็นเรื่องที่ยิ่งกว่าหนังสือปกขาวที่แต่ละฝ่ายจะทำออกมา
คนเสื้อแดงจะทำหนังสือโต้รัฐบาลว่าใครกันแน่ที่สั่งเผาบ้านเผาเมือง หรือบ้านเมืองของเราอย่าให้รัฐบาลมาเผา

ส่วนรัฐบาลก็มีหนังสือ “ประเทศไทยของเรา อย่าให้ใครมาเผาอีก” ก็จะกลายเป็นเรื่องยุ่งที่ไม่รู้จักจบจักสิ้น เป็นการเติมเชื้อแห่งความแตกแยก ซึ่งคนที่คิดจะเอาชนะกันบางครั้งก็ทำอะไรโดยไม่สนใจวิธีการ เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับตน แม้กระทั่งการป้อนความรู้ให้กับเด็กๆก็ไม่สนว่าจะเป็นการเพิ่มความขัดแย้งหรือไม่ และจะเป็นหอกข้างแคร่ของคนที่นำมาใช้เอง

หากคิดจะทำแบบเรียนเรื่องนี้ทั้ง 2 ฝ่ายควรมีส่วนช่วยกันทำ หาผลสรุปของเรื่องให้ตรงกันโดยไม่มีความขัดแย้ง ไม่ใช่ทำแล้วมาขัดแย้งกัน ปัญหาก็จะเกิดกับเด็ก และเมื่ออีกฝ่ายเขียนหนังสือขึ้นมาบ้าง เป็นเรื่องราวเดียวกันแต่เนื้อหามีความขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง คนอ่านคงจะมึน ปวดหัว ไม่รู้ว่าจะได้ความรู้หรือความหดหู่ ไม่รู้ว่าถูกผิดเป็นอย่างไร

เรื่องอย่างนี้คงจะเกิดผลตามมาอย่างแน่นอน อย่าคิดแต่ว่าเล่นแบบนี้แล้วจะได้เปรียบ ได้ชัยชนะเหนือฝ่ายตรงข้าม โดยไม่คำนึงถึงสมองของเด็ก

ถึงอย่างไรก็ไม่ได้หมายความว่าตำราที่แต่งกันออกมานั้นไม่ถูกต้อง หรือถูกต้องตามความเป็นจริง แต่เป็นการเขียนตำราที่ชี้โยงว่าใครผิดใครถูกโดยที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ หรือใครทำ ใครไม่ได้ทำ สิ่งเหล่านี้รังแต่จะทำให้ความแตกแยกไม่จบลงง่ายๆ

ฉะนั้นก่อนจะเขียนตำรา ออกหนังสืออะไรก็ตาม หากทำบนเงื่อนไขของความขัดแย้งแล้วควรหาผลสรุปออกมาให้ชัดเจนก่อน ต้องคิดถึงผลได้ผลเสียด้วย

อีกอย่างหากตำราใดเขียนขึ้นมาแล้วคนไม่ยอมรับ ก็คงไม่ต่างจากเชื้อราที่ใครๆก็ไม่ต้องการ ไม่มีใครอยากอ่าน เพราะไม่มีความน่าเชื่อถือ

ขณะที่งบประมาณในการจัดจ้างทั้งเรื่องการพิมพ์ การดำเนินการ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบหากตำราฉบับนั้นถูกพิสูจน์ภายหลังว่าข้อมูลมีความขัดแย้งกับความเป็นจริง และใครจะรับผิดชอบหากตำราฉบับนั้นมีส่วนทำให้เกิดความวุ่นวายไม่รู้จักจบจักสิ้น

ฉะนั้นจึงต้องคิดให้รอบคอบ คิดให้ดี อย่าได้หุนหันพลันแล่น เพราะการเขียนตำรากว่าจะได้แต่ละเล่มต้องหาข้อมูลรอบด้าน ต้องทำวิจัย ฉะนั้นเรื่องนี้ถือว่าเป็นตำราที่อาจส่อให้เกิดความขัดแย้งกันในสังคม น่าจะคิดให้ถ้วนถี่ก่อนทำออกมา อย่างที่ทราบกันว่าตำราประวัติศาสตร์หลายๆเล่มที่ทำออกมายังมีการบิดเบือนกันอย่างมากมาย บางเล่มก็วิพากษ์วิจารณ์ถึงความน่าจะเป็นกันอยู่ร่ำไป บางเล่มก็บิดเบือนจนบางฝ่ายเสียหาย ฉะนั้นหากเขียนตำราออกมาแล้วทำให้เกิดความรู้สึกขัดแย้งกันมากขึ้นก็อย่าทำจะดีกว่า

เจริญพร
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น