ไทยกลายเป็นสังคมเหนือจริง ปัจจุบันไม่แน่ใจ-อนาคตรู้ไม่ได้? | |||
ไทยกลายเป็นสังคมเหนือจริง ปัจจุบันไม่แน่ใจ-อนาคตรู้ไม่ได้?
การแสดงความคิดเห็นของ ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ซึ่งเป็นราชบัณฑิตด้านรัฐศาสตร์ เห็นควรต้องเอามาขยายความต่อ เข้าใจว่ารังสีที่เกิดขึ้นในสังคมไทยยังคงมีคลื่นนี้ครอบงำไปอีกนาน แม้การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นก็ยังคงมีการแผ่ออกไป ซึ่งไม่มีทางหยุดง่ายๆ... ศ.ดร.ลิขิตพูดถึงในการเสวนาหัวข้อ “ปฏิรูปการเมือง” เขาตั้งประเด็นคำถามสำคัญขึ้นมาเพื่อให้ได้มีการฉุกคิดหรือถกแถลงกันต่อไป ประการแรกนั้น “ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตของประเทศไทย เพียงแต่รู้ที่มันจะเป็นเรื่องไม่ดี?” สำหรับข้อที่สองคือ “คนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้จะไปยึดหลักการอะไร? ยึดตัวบุคคลอย่างไร? ทั้งนี้ เนื่องจากเต็มไปด้วยความสับสนจนหมดสิ้น” มาถึงข้อที่สาม มันหนักกว่า 2 ข้อแรก เพราะ “คนไม่เข้าใจและไม่มีหลักยึด...หาไม่เจอมาตรฐานความถูกความผิดสำหรับประเทศนี้” ข้อนี้น่าสงสัยที่มันยังเกี่ยวพันไปถึงมาตรฐานความถูกผิดที่ขึ้นอยู่กับรวมทั้งแล้วแต่วินิจฉัยของคนดี? อันนี้ ศ.ดร.ลิขิตไม่ได้พูดไปถึงขนาดนั้น แต่ผมเห็นด้วยสำหรับความสับสนไม่เข้าใจ ตลอดจนคนไทยส่วนหนึ่งเริ่มจับมาตรฐานความถูกและผิดได้ยาก? ในทรรศนะส่วนตัวยังเป็นไปที่จะมีโอกาสหนักกว่านั้น อาจถึงขั้นไม่รู้มาตรฐานของคนดีในสังคมนี้จะเป็นอย่างไร? คำอธิบายเรื่องอุดมการณ์ชาตินิยม รักชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์ อาจบอกไม่ได้ถึงบรรทัดฐานแห่งความดีงามที่แท้จริง? เนื่องจากบานปลายจนต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับความรักเหล่านั้น รักชาติ-รักศาสนา-รักพระมหากษัตริย์ จะรักกันอย่างไร? ที่ต้องตั้งคำถามเช่นนั้นก็เห็นหลายตัวอย่าง เช่น เสียงจากเวทีประท้วงของ “ม็อบสีเหลือง” ได้โจมตี “พรรคการเมืองที่กำลังขยับฐานหัวคะแนนเพื่อหาเสียงในภาคอีสาน” บางคนจากม็อบสีเหลืองเปิดข้อมูลเกี่ยวกับกรณีซึ่งพรรคการเมืองเหล่านั้น “ได้แจกเสื้อคลุมแล้วปักข้อความ “เทิดทูนสถาบัน” ด้วยข้อความบนเสื้อแจกอย่างนั้นจึงถูกตีให้เป็นประเด็นใช้วิธีหาเสียงโดยแอบอ้างสถาบัน” คือม็อบสีเหลืองเองก็อิงมาตลอดเกี่ยวกับการพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะที่พรรคการเมืองเป้าหมายที่ถูกโจมตียังประกาศตนถึงความเทิดทูนสถาบันด้วยเหมือนกัน?...ย่อมเป็นไปได้ตั้งแต่ฝ่ายหนึ่งเทิดทูน และอีกฝ่ายต้องแอบอ้าง หรือต่างก็รักสถาบันเหมือนๆกัน เมื่อต่างรักแล้วเหตุใดมาขัดแย้งโจมตีกันอยู่ได้?... จากตัวอย่างนี้เลยเป็นความสับสนที่ต้องตั้งคำถามขึ้นมาในระหว่างกลุ่มรักชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ใครกันแน่ที่รักไปกว่ากัน? และอย่างไรจะเรียกให้เป็นมาตรฐานของความรัก...นี่เป็นเรื่องสับสนตัวอย่างเดียวเท่านั้นนะครับ? ถ้าจะพูดให้กว้างคงมีตัวอย่างที่ยกกันไม่ไหว? ศ.ดร.ลิขิตยังให้ความเห็นในข้อที่สี่...เป็นประเด็นที่คนจะรู้สึกที่ตัวเองไม่มีสมรรถนะทางการเมือง ทำอะไรก็ไม่ได้? ซ้ำด้วยข้อที่ห้า ซึ่งน่าสนใจทีเดียว “เป็นการรอให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่รู้ว่าผลของการเปลี่ยนแปลงนั้นจะดีหรือไม่ดี? เป็นสภาพเหมือนขับรถฝ่าหมอก เมื่อฝ่าหมอกไปก็ทำให้เกิดความหวั่นวิตก ถ้ามีการเลือกตั้งยังจะเกิดอะไรขึ้นภายหลังจากนั้น? ผู้ชนะเลือกตั้งจะตั้งรัฐบาลได้หรือเปล่า? ทั้งยังสงสัยสำหรับเหตุการณ์ก่อนเลือกตั้ง จะหาเสียงกันได้ไหม? กล้าไปหาเสียงไหม? หรือหาเสียงผ่านสื่อ?” ผมคงไม่เห็นด้วยกับ ศ.ดร.ลิขิตไปจนทั้งหมด แต่เรียนว่าส่วนมากก็เห็นสอดคล้องไปในทางเดียวกัน ศ.ดร.ลิขิตได้นำเสนอถึง 5 ประเด็นที่ยากแก่การปฏิเสธ ความจริงแล้วคนอื่นอาจมีประเด็นเสนอเพิ่มเติมมากกว่านั้นได้เหมือนกัน แต่คิดเพียง 5 ข้อนี้มันก็น่าปวดหัว และสะท้อนถึงความไม่แน่ใจอะไรทั้งนั้นในสังคมไทย? ถ้ามองอย่างที่ ศ.ดร.ลิขิตพูดไว้ ทั้ง 5 ข้อนี้คงโยงใยเป็นบริบทไปกับ “การเสนอให้ปิดเทอมการเมืองกับการขับเคลื่อนต่อไปของสังคมไทยเป็นเวลา 3 ปี” สังคมไทยในทรรศนะของราชบัณฑิตด้านรัฐศาสตร์สะท้อนถึงความไม่แน่ใจเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อแรงกระตุ้นที่มีฝ่ายสนับสนุนอำนาจให้ปิดเทอมใหญ่ประเทศไทยเสีย ในขณะเดียวกันเมื่อจะเกิดการเลือกตั้งก็สงสัยตั้งแต่ต้นที่จะเกิดได้ไหม? เมื่อเกิดคงไม่รู้เหมือนกันสำหรับการแก้ไข ไม่ทราบถึงอนาคตเพราะตัวแปรซึ่งจับไม่ได้และคุมไม่ได้ ล้วนต่างเป็นเงื่อนไขกับปัจจัยหลัก... อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางความหวั่นไหววิตก สงสัยคลุมเครือ ผมก็ให้ข้อสรุปประการหนึ่งเอาไว้ว่า “การเลือกตั้งเป็นการแสดงออกตามเจตนารมณ์ของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย แม้จะไม่ใช่คำตอบอะไรไปทั้งหมด แต่ถ้าไม่มีการเลือกตั้งสงสัยชาติบ้านเมืองจะยิ่งมืดมนหนักเข้าไปอีก? หลายคนคงจะมีความเห็นและคำถามแบบ ศ.ดร.ลิขิต ถ้าตราบใดยังมองไม่ทะลุไปที่ “ตัวแปรซึ่งจับไม่ได้และคุมไม่ได้” ผมว่าปัญหาจริงๆ ซึ่งทำให้สังคมไทยปัจจุบันสับสนและไม่แน่ใจในอนาคตอยู่ตรงตัวแปรนี้เอง อันมีความประสงค์จะให้ประเทศเป็นไปเช่นนั้น...เป็นตัวแปรอะไรเราก็ยังบอกไม่ได้อีกครับ?...ทุกอย่างอยู่ที่ตัวแปรนี้เอง ซึ่งต้องการให้เกิดความสับสน? | |||
http://redusala.blogspot.com |
ดาวน์โหลดคลิ๊ปคนเสื้อแดง
วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2554
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น