วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2554

พระสุริโยไทเป็นใคร? มาจากไหน ?
พระสุริโยไทเป็นใคร? มาจากไหน ?
หลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระสุริโยทัยนั้นมีที่ไป กล่าวคือ ทรงมีโอรส ธิดา และนัดดาหลายพระองค์ ที่สำคัญคือสมเด็จพระมหินทราธิราช โอรสผู้สืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา พระธิดาเช่นพระเทพกษัตรีที่พระไชยเชษฐาแห่งราชอาณาจักรลาวล้านช้างสู่ขอไปเป็นพระมเหสี พระสวัสดิราชที่ตั้งขึ้นเป็นพระวิสุทธิกษัตรี ให้เป็นมเหสีพระมหาธรรมราชาเมืองพิษณุโลก พระวิสุทธิกษัตรีมีพระราชโอรสและพระธิดาหลายพระองค์ มีพระนามเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปคือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช กับพระเอกาทศรถ ส่วนพระธิดาคือพระสุพรรณกัลยา ก็ได้รับการแพร่ขยายในสมัยปัจจุบันจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป โดยปรากฏออกมาเป็นภาพพระสิริโฉมและตำนานเรื่องราว แต่ที่มาของพระสุริโยทัยกลับไม่มีหลักฐานที่มาทางประวัติศาสตร์แม้แต่น้อย คงมีเพียงเท่าที่ได้ยกขึ้นมาวิพากษ์ที่ผ่านมาแล้วเท่านั้น อย่างไรก็ดี พระนางย่อมมิได้มาจากตระกูลไพร่พลเมืองอย่างแน่นอน แต่ควรจะอยู่ในตระกูลของชนชั้นสูงซึ่งเป็นตระกูลขุนนางเชื้อพระวงศ์ในสมัยนั้น



ในที่นี้จะเสนอภาพอย่างกว้างๆ ถึงเชื้อสายราชวงศ์ต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกรุงศรีอยุธยา ในสมัยของพระสุริโยทัยดังต่อไปนี้ ราชวงศ์ละโว้-อโยธยา คือเชื้อสายของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ที่เรียกว่าเป็นราชวงศ์ละโว้-อโยธยา นั้นเป็นเพราะเดิมจริงๆ ในเอกสารดั้งเดิมเรียกกรุงศรีอยุธยาว่า อโยธยา เพิ่งจะเปลี่ยนเป็นอยุธยาในสมัยหลัง เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ นั้น เอกสารของจีนยังเรียกกรุงศรีอยุธยาว่า หลอหู เหมือนกับที่เคยเรียกเมืองละโว้อันเป็นชื่อเดิมของเมืองลพบุรี แสดงถึงความเกี่ยวเนื่องกับเมืองละโว้มาก่อนอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเมื่อพระองค์เสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาแล้วยังตั้งพระโอรสเป็นพระราเมศวร ไปครองเมืองละโว้ในฐานะเมืองลูกหลวงอีกด้วย

อันเป็นการยืนยันความสืบเนื่องสายราชวงศ์ของพระองค์กับเมืองละโว้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยหลักฐานทางโบราณคดีที่ชัดเจนอันประกอบด้วยโบราณสถานและโบราณวัตถุศิลปะเหมือนขอมที่เมืองละโว้จังหวัดลพบุรี และที่เป็นภาพสลักทหารละโว้ที่นครวัดกัมพูชา แสดงอย่างชัดเจนว่าเมืองละโว้มีความเกี่ยวข้องกับเมืองนครธมศูนย์กลางของอาณาจักรขอมกัมพูชาเป็นอย่างมาก รวมทั้งในสมัยเมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีได้สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นแล้ว ยังได้ยกทัพไปรบกวนดินแดนขอมกัมพูชาที่เสื่อมสลายลง กษัตริย์อยุธยาในสมัยแรกๆ ต่างก็สนใจแผ่อิทธิพลไปยังดินแดนลุ่มน้ำมูลในภาคอีสาน ตลอดเรื่อยไปจนถึงเมืองนครธมแห่งกัมพูชาอยู่เสมอ

ดังนั้น จึงไม่ผิดที่จะกล่าวอย่างกว้างๆ ว่า ราชวงศ์ละโว้-อโยธยา คือร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่แสดงความเกี่ยวเนื่องทางวัฒนธรรมไปทางดินแดนภาคอีสาน ไปถึงศูนย์กลางอารยธรรมเดิมที่เมืองนครธม ราชวงศ์ละโว้-อโยธยา มีอำนาจเหนือราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ หลังจากนั้นเว้นช่วงเป็นราชวงศ์สุพรรณภูมิ หลังจากนั้นพระโอรสและพระนัดดาของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ก็กลับมาครองกรุงศรีอยุธยาต่อไปอีก ๒ พระองค์ คือสมเด็จพระราเมศวรกับสมเด็จพระรามราชา ซึ่งในที่สุดเมื่อ พ.ศ. ๑๙๕๒ สมเด็จพระนครินทราชาธิราชแห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิก็สามารถเข้ายึดครองกรุงศรีอยุธยา และปลดสมเด็จพระรามราชาออกจากราชบัลลังก์ไปไว้ที่ เมืองปทาคูจาม โดยทั่วไปไม่สนใจว่าจะมีราชวงศ์นี้เหลืออยู่ในกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อพิจารณาว่า เมื่อราชวงศ์นี้เสียอำนาจให้แก่กษัตริย์ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ๒ ครั้งนั้น เชื้อสายราชวงศ์นี้ไม่เคยถูกประหาร

ในขณะที่เมื่อมีการเปลี่ยนอำนาจโดยการแย่งชิงราชสมบัติที่มีหลายครั้งในสมัยอยุธยาตอนต้นนั้น กษัตริย์ที่เสียอำนาจจะถูกประหารชีวิตเสมอไม่ว่าจะเป็นเด็กอยู่ก็ตาม เมื่อพิจารณาว่าราชวงศ์นี้สืบมาจากเมืองละโว้ที่เชื่อมโยงไปยังเมืองขอมนครธม กับที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายตราสามดวงที่มิให้ประหารพราหมณ์ ก็อาจมองได้ว่า ราชวงศ์ละโว้-อโยธยา นั้นมาจากตระกูลพราหมณ์เชื้อสายขอมเมืองนครธมก็เป็นได้ เมื่อราชวงศ์นี้ไม่เคยถูกประหารแม้จะสูญเสียอำนาจไป ก็น่าสนใจว่ายังคงมีอยู่ในกรุงศรีอยุธยา เพราะชื่อปทาคูจามก็ยังปรากฏอยู่ในชื่อทางภูมิศาสตร์ที่กรุงศรีอยุธยา ราชวงศ์นี้น่าจะได้รับการเลี้ยงดูและทำหน้าที่ที่ปราศจากอำนาจในราชสำนัก คือหน้าที่ทางพิธีกรรมศาสนาของราชครูปุโรหิตก็ได้

ในรัชกาลก่อนสมเด็จพระมหาจักรพรรดิและพระสุริโยทัย ปรากฏเรื่องราวของขุนวรวงศาและแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ที่ขึ้นมามีอำนาจเหนือราชบัลลังก์อยุธยา เป็นเวลา ๑ ปี ๒ เดือน กับอีก ๔๒ วัน ซึ่งจากร่องรอยบางอย่างเกี่ยวกับหน้าที่ในอดีตของขุนวรวงศาธิราช (พนักงานเฝ้าหอพระ) ชื่อบ้านมหาโลกของนายจันน้องชายที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระมหาอุปราช ซึ่งเป็นชื่อบ้านแบบเขมร ทำให้เกิดแนวคิดทางประวัติศาสตร์ว่าบางทีขุนวรวงศาธิราชกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ คือเชื้อสายที่หลงเหลืออยู่และหวนกลับมาครองอำนาจกรุงศรีอยุธยาเป็นองค์สุดท้ายของราชวงศ์ละโว้-อโยธยา

พิจารณาเกี่ยวกับพระสุริโยทัย หากสมมติว่าพระสุริโยทัยทรงมีเชื้อสายพราหมณ์แห่งราชวงศ์ละโว้-อโยธยา ก็อาจจะเป็นได้ เพราะถ้าพิจารณาจากพระนามของพระนางก็เป็นพระนามเจ้านายของกัมพูชาที่มีใช้กันอยู่ในสมัยนั้น อีกทั้งเมื่อพิจารณาเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เมื่อสมเด็จพระมหินทราธิราชโอรสของพระนางได้ขึ้นเสวยราชย์แล้ว ก็ได้เสด็จไปบูรณะวัดมหาธาตุที่ลพบุรีเหมือนกับจะแสดงนัยของการมาทำนุบำรุงวัดของต้นตระกูล รวมทั้งเมื่อคิดว่าการที่พระสุริโยทัยและพระโอรสธิดาสามารถดำรงสวัสดิภาพอยู่ได้ตลอดช่วงเวลา ๑ ปี ๒ เดือน กับอีก ๔๒ วัน ที่แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์และขุนวรวงศาธิราชขึ้นมามีอำนาจอยู่นั้น ก็อาจเป็นเพราะทั้งหมดเป็นพระญาติในราชวงศ์ละโว้-อโยธยา วงศ์เดียวกันก็เป็นได้

ราชวงศ์สุพรรณภูมิ-สุโขทัย สองราชวงศ์นี้มีความเกี่ยวข้องในการเข้ามาครองอำนาจกรุงศรีอยุธยาในสมัยแรกเริ่มอย่างมาก ชื่อสุพรรณภูมินั้นคือชื่อของเมืองสุพรรณบุรีที่ปรากฏในเอกสารดั้งเดิมที่เป็นศิลาจารึก และเป็นชื่อที่ใช้สืบมาถึงสมัยอยุธยาตอนต้น หลักฐานทางโบราณคดีที่มีการขุดค้นที่เมืองสุพรรณบุรีแสดงว่า เป็นเมืองมาตั้งแต่ก่อนเวลาสถาปนากรุงศรีอยุธยา มีความสืบเนื่องต่อจากเมืองขนาดใหญ่สมัยทวารวดีที่อยู่ใกล้เคียงกัน คือเมืองอู่ทอง ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อมีการย้ายเมืองจากเมืองอู่ทองมาสุพรรณบุรีนั้น หลักฐานทางโบราณคดีได้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์กับเมืองละโว้ด้วย ขุนหลวงพ่องั่วเจ้าเมืองสุพรรณบุรีที่ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาได้กล่าวถึงการมีสายสัมพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ นั้น คือกษัตริย์สุพรรณบุรีผู้ทรงยกทัพมายังกรุงศรีอยุธยาเมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สวรรคต ได้เสวยราชสมบัติทรงพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ โดยที่สมเด็จพระราเมศวรโอรสของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ยอมหลีกทางกลับไปครองเมืองละโว้ตามเดิม จนเมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชสวรรคต ราชบัลลังก์จึงกลับมาเป็นของสมเด็จพระราเมศวรอีกครั้งหนึ่ง

ราชวงศ์สุพรรณภูมิน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับราชวงศ์สุโขทัยมาก่อน ดังปรากฏร่องรอยเป็นชื่อเมืองสุพรรณภูมิในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของสุโขทัย ที่มีเนื้อความเล่าเรื่องในสมัยพ่อขุนรามคำแหงว่า เป็นเมืองที่พ่อขุนรามคำแหงมีอำนาจซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งไปถึง ดังนั้น ก่อนที่ขุนหลวงพ่องั่วแห่งสุพรรณภูมิจะได้ราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ นั้น จึงปรากฏเรื่องในเอกสารของล้านนาเล่าเรื่องการขึ้นมาครองเมืองสองแคว (พิษณุโลก) เมืองในดินแดนสุโขทัยด้วยระยะหนึ่ง และมีเรื่องที่พระองค์ได้สมรสกับเจ้านายฝ่ายหญิงของสุโขทัยด้วย หลังจากสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ สวรรคต และราชบัลลังก์อยุธยาตกอยู่กับกษัตริย์ในราชวงศ์ละโว้-อโยธยานั้น ในช่วงเวลานั้น เมืองสุพรรณบุรีเหมือนกับจะปลีกตัวออกจากศูนย์กลางที่กรุงศรีอยุธยา หันมามีความสัมพันธ์กับแคว้นสุโขทัยแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น จนมีกำลังต่อรองเพียงพอที่จะร่วมกันยึดอำนาจกรุงศรีอยุธยามาจากสมเด็จพระรามราชาธิราชแห่งราชวงศ์ละโว้-อโยธยา และส่งพระองค์ไปไว้ที่เมืองปทาคูจาม

โดยสมเด็จพระนครินทราชาธิราชแห่งสุพรรณภูมิได้ครองกรุงศรีอยุธยา เป็นศูนย์กลางของราชอาณาจักรสยามที่รวมดินแดนสุโขทัยเข้าไว้เป็นกลุ่มเมืองเหนือ ราชวงศ์สุพรรณภูมิกับราชวงศ์สุโขทัย จึงเข้ามามีส่วนในอำนาจการปกครองอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาอย่างชัดเจนตั้งแต่บัดนั้น พัฒนาการทางด้านการปกครองในสมัยต่อมา ที่มีการปรับเปลี่ยนเพื่อดึงศูนย์อำนาจที่แยกปกครองกลุ่มเมืองเหนือ เพื่อรวมศูนย์ไว้ที่กรุงศรีอยุธยาเพียงแห่งเดียว ได้มีการดึงเชื้อพระวงศ์ของสุโขทัยเข้ามาไว้ในระบบราชการของกรุงศรีอยุธยา ทำให้ราชวงศ์สุโขทัยเข้ามามีบทบาทในกลุ่มคนชั้นสูงในราชสำนักอยุธยามากขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้นถ้าหากพิจารณว่า พระนาม "สุริโยทัย" ซึ่งแปลว่า พระอาทิตย์ขึ้น ดูละม้ายคล้ายกับคำว่าสุโขทัย ก็อาจสมมติให้เป็นว่า พระนางน่าจะมาจากราชวงศ์สุโขทัยก็เป็นไปได้ เพราะในช่วงเวลาขณะนั้นความสับสนวุ่นวายในการช่วงชิงอำนาจกันในกรุงศรีอยุธยา ก็มีราชวงศ์ของสุโขทัยเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่มากมายทีเดียว โดยเฉพาะการยึดอำนาจขจัดขุนวรวงศาธิราชกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ผู้สืบสานนโยบายรวมอำนาจศูนย์กลางต่อจากกษัตริย์พระองค์ก่อน เมื่อสามารถขจัดลงไปได้ และยกสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระราชสวามีพระสุริโยทัยขึ้นสู่ราชบัลลังก์นั้น ก็เป็นการก่อการจากขุนนางเชื้อพระวงศ์สุโขทัย ที่ต้องการทวงอำนาจอิสระในการปกครองตนเองของแคว้นสุโขทัยคืนกลับมานั่นเอง ซึ่งการทั้งนี้ก็ประสบความสำเร็จได้โดยสะดวกด้วย



ราชอาณาจักรลาวล้านช้าง เป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีวงศ์กษัตริย์ปกครองสืบเนื่องมายาวนาน โดยมากที่รับรู้กันในประวัติศาสตร์ไทยมาจากหนังสือพงศาวดารของไทยที่เขียนขึ้นสมัยหลัง สมัยที่ราชอาณาจักรลาวตกเป็นรองกรุงศรีอยุธยาทางด้านการเมืองการปกครองแล้ว ดังนั้น บันทึกในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่เกี่ยวกับลาวล้านช้างจึงมีลักษณะที่เป็นเบี้ยล่างกรุงศรีอยุธยาให้เห็นเป็นประจำ ลักษณะของการเป็นราชอาณาจักรที่มีศักดิ์ศรีเสมอกันจึงมักไม่ค่อยพบเห็นนัก นอกจากที่จำเป็นต้องปล่อยออกมาปรากฏให้เห็นไม่กี่แห่งในลักษณะนำเสนอที่ไม่เต็มใจให้ความสำคัญนัก แต่ถ้าหากพิจารณาจากมุมมองของฝ่ายลาวในเรื่องที่มีลักษณะเป็นตำนาน บรรพบุรุษของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาก็เป็นพี่น้องลำดับที่ ๕ ในบรรดาพี่น้องทั้งหลายที่เป็นลูกของขุนบูลม (หรือที่ไทยเรียกขุนบรม) โดยมีขุนลอบรรพบุรุษของกษัตริย์ลาวล้านช้างเป็นพี่คนโต อันแสดงถึงการนับญาติพี่น้องเสมอกันของบรรดารัฐทั้งหลายที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงกัน ตำนานเรื่องดังกล่าวนี้ แม็คคาร์ธี หรือพระวิภาคภูวดล นักสำรวจทำแผนที่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ยังพบว่าเป็นคำบอกเล่าที่มีอยู่ของผู้คนแถบบริเวณแม่น้ำอู แม่น้ำที่มีสาขาต้นน้ำจากที่ราบสูงเดียนเบียนฟูไหลลงแม่น้ำโขงเหนือเมืองหลวงพระบางประมาณ ๒๐ กิโลเมตร แต่เรื่องตำนานที่ว่านี้ไม่ปรากฏในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลางอันเป็นที่ตั้งของพระนครศรีอยุธยาแล้ว อาจเป็นได้ว่าเพราะบริเวณนี้ถูกกลมกลืนโดยตำนานทางศาสนาจากอินเดียมานานกว่าหนึ่งพันปีแล้ว

ความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรลาวล้านช้างกับกรุงศรีอยุธยา พบมีกล่าวอยู่ในพงศาวดารของกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โดยพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ กล่าวว่า ศักราช ๘๔๒ ชวดศก (พ.ศ. ๒๐๒๓) พญาล้านช้างถึงแก่กรรม แลพระราชทานให้อภิเษกพญาซายขาว เป็นพญาล้านช้างแทน คำว่าพญาซายขาวนี้ พงศาวดารฉบับความพิสดารกล่าวแตกต่างกันออกไป เช่น ฉบับพระราชหัตถเลขาเรียกเป็น พระยาเมืองขวา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เรียกเป็น พระยาซ้ายขวา ฯลฯ แต่พอจะประมาณได้ว่าหมายถึงเจ้าเมืองแถบด่านซ้ายในประเทศไทยถึงเมืองเชียงคานฝั่งลาว ซึ่งในช่วงเวลาประมาณนี้ ในพงศาวดารของล้านช้างกล่าวถึงกษัตริย์ลาวพระนามพระเจ้าไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้วสวรรคต และโอรสที่ครองเมืองเชียงคาน (ฝั่งลาว) เสวยราชสมบัติแทน ที่กรุงศรีอยุธยาเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแผ่นดินในลาวล้านช้าง อาจเนื่องจากความสัมพันธ์ที่พงศาวดารของล้านช้างกล่าวว่า พระเจ้าไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้วพระองค์นี้มีพระราชมารดาไปจากกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็เช่นกัน

ได้มีการร่วมมือกันกับพระไชยเชษฐา มหาราชของลาวล้านช้าง ต่อสู้กับพม่าด้วย คือหลังสงครามพม่าประชิดกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ที่กรุงศรีอยุธยาต้องถวายช้างเผือก ๔ เชือกแก่พระเจ้าบุเรงนองนั้น เพื่อเป็นการผูกสัมพันธไมตรีระหว่างกัน พระไชยเชษฐาได้สู่ขอพระเทพกษัตรี พระราชธิดาพระองค์หนึ่งของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และทางกรุงศรีอยุธยาก็พระราชทานแต่กองทัพพม่าดักชิงตัวไป รวมทั้งการทำศิลาจารึกเป็นพันธไมตรีกันระหว่างกษัตริย์อยุธยา-ล้านช้าง ไว้ที่พระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ดังนั้น ในการยกทัพมาล้อมพระนครศรีอยุธยาครั้งที่ ๓ เมื่อพระเจ้าบุเรงนองสามารถเข้าพระนครศรีอยุธยาได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด กองทัพพม่าจึงเปิดศึกกับราชอาณาจักรลาวล้านช้างต่อไป เป็นศึกติดพันต่อมาเป็นเวลานาน ในที่สุดก็สามารถปราบปรามได้ จับเชื้อพระวงศ์ขุนนางของราชอาณาจักรลาวไปไว้ที่กรุงหงสาวดีเป็นอันมาก อันเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ราชอาณาจักรลาวต้องแตกแยกและอ่อนแอลง

เมื่อเป็นเช่นนี้ หากมีผู้ใดจะสมมติพระสุริโยทัยให้ไกลออกไป เป็นเจ้าหญิงของราชอาณาจักรลาวล้านช้างก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร และมีทางที่จะเป็นไปได้อยู่ด้วยหากจะศึกษากันอย่างลงลึกต่อไป สรุป ประวัติวีรกรรมของพระสุริโยทัย ได้รับการหยิบยกขึ้นมากล่าวเน้นตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อปลุกจิตสำนึกความเป็นเอกภาพของรัฐชาติ เรื่องประเภทนี้เป็นที่นิยมกันสืบมา เพราะสามารถนำไปสร้างเป็นละคร ภาพยนตร์ เพื่อความบันเทิงของคนดู บางเรื่องอาจมีสีสันสร้างความตื่นเต้น เร้าใจ จนบางทีก็ลืมการตรวจสอบที่มาของหลักฐานถึงความถูกต้อง สาเหตุอันเป็นมูลฐานของเรื่องราว อันเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องการคำอธิบายในเชิงประวัติศาสตร์ไปเลยก็มี การสิ้นพระชนม์ของพระสุริโยทัย เมื่อได้พิจารณาหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้วน่าเชื่อว่าพระองค์มิได้สิ้นพระชนม์เพียงพระองค์เดียว แต่มีพระราชบุตรีอีกพระองค์หนึ่งได้สิ้นพระชนม ในการประกอบวีรกรรมครั้งนั้นด้วย การศึกษาในเชิงบวกในการพิจารณาเอกสารต่างๆ อันเป็นมูลฐานของเรื่องราวในที่นี้ โดยการแจกแจงให้เห็นวิธีการในการผลิตเอกสาร ผู้ผลิต ข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อดีข้อด้อยของเอกสารแต่ละฉบับ เพื่อชั่งน้ำหนักความน่าเชื่อถือของข้อมูลทางประวัติศาสตร์ก่อนที่จะนำมาเรียบเรียง น่าจะทำให้ข้อข้องใจเกี่ยวกับประวัติการมีตัวตนของพระนางลงได้

แต่ในการศึกษาประวัติศาสตร์ เรื่องการสิ้นพระชนม์ของพระสุริโยทัยก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ควรศึกษา เพราะส่วนสำคัญทางประวัติศาสตร์อันเป็นมูลฐานของเรื่องนั้น อยู่ที่สงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับพม่า สาเหตุของสงคราม ส่วนต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นราชอาณาจักรสยาม โดยมีกรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลาง ความสัมพันธ์ของส่วนประกอบเหล่านั้นที่เชื่อมโยงไปถึงสงครามคราวนี้ด้วย ล้วนเป็นเรื่องราวที่ควรได้รับการอธิบายในทางประวัติศาสตร์ ซึ่งแม้ในข้อเขียนนี้ก็ปรากฏเพียงสั้นๆ ด้วยวัตถุประสงค์ในการเขียนนั้นต้องการแสดงวิธีการในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับหลักฐานที่เป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์มากกว่าในข้อเขียนนี้ ดังนั้น จึงได้มีการนำเสนอไว้โดยสังเขป การกล่าวถึงที่มาของพระสุริโยทัย โดยการสมมติว่ามาจากสายราชวงศ์ต่างๆ ก็เป็นเพียงการสมมติ มิได้มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์อะไรมาสนับสนุน ดังนั้น แม้การสมมตินั้นจะมีความแนบเนียนน่าฟังเพียงใด ก็มิใช่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ที่นำเสนอไว้นี้ ก็เพื่อที่จะโยงให้เห็นส่วนประกอบของอำนาจต่างๆ ที่มีอยู่ภายในพระนครศรีอยุธยาโดยสังเขป ซึ่งอำนาจต่างๆ เหล่านี้ บางครั้งก็ร่วมมือกัน บางครั้งก็ขัดแย้งช่วงชิงอำนาจกันเอง รวมทั้งต้องการเสนอให้เห็นว่า กรุงศรีอยุธยากับประเทศเพื่อนบ้านนั้น นอกจากจะมีคู่ปรปักษ์คือพม่าแล้ว ก็ยังมีสัมพันธมิตรคือราชอาณาจักรลาวล้านช้าง ซึ่งด้วยการเป็นราชอาณาจักรที่พัฒนาขึ้นมามีศักดิ์ศรีเท่าๆ กัน ต่างมีความสัมพันธ์ทั้งในเชิงบวกและในเชิงลบต่อกัน อันเป็นประวัติศาสตร์ของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเดียวกันนี้

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กรมศิลปากร
ศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ 262 วันที่ 1 สิงหาคม 2544
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น