วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554


นิรโทษกรรมสากลจี้รัฐเว้นวรรค112เร่งแก้ไขสู่มาตรฐานสากล
ปล่อยนักโทษทางความคิดทันที
เบนจามิน ซาแวคกี ผู้แทนเอไอ-“องค์การนิรโทษกรรมสากล(เอไอ)เสนอต่อรัฐบาลไทยให้หยุดใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมฯ ไปก่อน จนกว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขที่เคารพมาตรฐานของกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้นักโทษมโนธรรมสำนึกที่ถูกจำคุกด้วยกฎหมายหมิ่นฯได้รับการปล่อยตัวโดยทันที”

ที่มา ประชาไท

หมายเหตุไทยอีนิวส์:รายงานข่าวในประชาไทดั้งเดิมชื่อ เสวนา: วิพากษ์การใช้กฎหมายหมิ่นฯ ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ




เมื่อเวลา 20.00 น.วันที่ 24 พฤษภาคม 2554 สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ถนนเพลินจิต จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “Lese Majeste: A Challenge to Thailand’s Democracy” (กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและความท้าทายต่อประชาธิปไตยไทย) โดยมีวิทยากร คือ สุลักษณ์ ศิวรักษ์, เดวิด สเตร็คฟัส นักวิชาการอเมริกันผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย”หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ในสังคมไทย, เบนจามิน ซาแวกกี นักวิจัยแอมเนสตี้ อินเตอร์แนลประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยได้รับความสนใจจากคนไทยและต่างชาติเป็นจำนวนมาก

เดวิด สเตร็คฟัส


ในการมองเรื่องภาพรวมการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้ อาจแบ่งได้เป็นสองช่วงหลักๆ คือก่อน และหลังการรัฐประหารพ.ศ. 2500 กล่าวคือ ก่อนการรัฐประหาร มีการใช้ประมวลกฎหมายอาญาปีพ.ศ. 2499 ว่าด้วย ผู้ใดที่ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการ ได้รับโทษสูงสุดเท่ากับ 7 ปี ต่อมา ในปีพ.ศ. 2519 หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็ได้มีการเพิ่มโทษสูงสุดเป็น 15 ปี และยังคงเรื่อยเท่านั้นมาจนถึงปัจจุบัน

ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ มีความพยายามเปลี่ยนแปลงในบทบัญญัติดังกล่าว ครั้งแรก คือในพ.ศ. 2550 โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พูดถึงการปรับแก้กฎหมายหมิ่นฯ ให้ครอบคลุมมากขึ้นโดยเพิ่มการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายต่อพระราชโอรส และพระราชธิดา โดยมีบทลงโทษ 1-7 ปี และต่อองคมนตรี ซึ่งมีโทษระหว่าง 6 เดือนถึง 5 ปี

ต่อมาในปีพ.ศ. 2551 ก่อนที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จะได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาล กระทรวงยุติธรรมได้เสนอร่างพระราชบัญญัติที่จะเพิ่มบทลงโทษสูงสุดเป็น 25 ปี แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ แต่ที่น่าสนใจในกรณีนี้ คือ การครอบคลุมของกฎหมายไม่ใช่จำกัดไว้เพียงแค่ กษัตริย์ ราชินี และรัชทายาท และผู้สำเร็จราชการเท่านั้น แต่มีความพยายามให้รวมถึงกษัตริย์ที่ผ่านมาในอดีต รวมถึงผู้ที่มีเชื้อสายสืบทอดมาจากกษัตริย์ด้วย แต่หลังจากนั้นมาก็ไม่มีความพยายามในการเปลี่ยนแปลงกฎหมายดังกล่าวอีก

หากมองดูที่จำนวนคดีที่เกิดขึ้นในปี 2533 ถึงปี 2548 พบว่า จำนวนคดีที่ถูกดำเนินการมีจำนวนเฉลี่ย 5-6 คดีต่อปี และต่อมาระหว่างปี 2549 ถึงปี 2553 ภายในระยะเวลาสี่ปี มีคดีที่ถูกดำเนินการทั้งหมด 397 คดี หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1,500% และในจำนวน 397 คดีนั้น มีจำนวน 213 ที่ถูกตัดสินว่าผิดจริง ในกรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ มีข้อน่าสังเกตสองประการ อย่างแรกคือ ก่อนปี 2548 อัตราการถูกตัดสินคดีว่าผิด อยู่ที่ราว 94% ฉะนั้นถ้ามีจำนวนทั้งหมด 213 คดี ราว 200 คนก็จะถูกตัดสินคดี ซึ่งส่วนใหญ่จะยอมรับสารภาพ และได้รับโทษราว 3 ปี โดยมีการขออภัยโทษในภายหลัง แต่ในช่วงระยะหลัง มีราว 40 คดีที่ปรากฏว่าผู้ต้องหาไม่ต้องการรับสารภาพ และมุ่งสู้คดีโดยไม่ยอมรับผิด ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีรูปแบบใหม่เกิดขึ้นในกลุ่มคนที่โดนคดีหมิ่นฯ ซึ่งคนจำนวนนี้พร้อมจะต่อสู้คดีโดยไม่รับสารภาพ และอาจจะได้รับโทษ 3-15 ปี

ข้อสังเกตอย่างที่สอง คือ การมีกรณีที่ยังคงค้างอยู่ในขั้นตอนของศาลฎีกา 9 คดีตั้งแต่ปี 2548

อย่างที่สามที่น่าสนใจ คือ หากเรามองดูธรรมชาติของการใช้กฎหมายนี้ในปี 2547-2548 จะพบว่าส่วนใหญ่จะถูกใช้โดยนักการเมืองเพื่อโจมตีนักการเมืองด้วยกันเอง แต่ในระยะ4-5 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในการใช้กฎหมายดังกล่าว

ที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ แน่นอนว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น มิได้มีไว้ปกป้องสถาบันกษัตริย์ ในฐานะ“สถาบัน” แต่ปกป้องในฐานะของปัจเจกบุคคล ฉะนั้น เมื่อเราลองอ่านกฎหมายดังกล่าวดูก็อาจจะพบว่าสามารถเปิดโอกาสให้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ในกรณีของคุณจักรภพ เพ็ญแข ที่มาพูดที่ FCCT เมื่อปี 2550 และพูดเรื่อง “ระบอบอุปถัมภ์” ก็ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นฯ ทั้งๆที่เป็นการวิพากษ์ในเชิงวิชาการ เช่นเดียวกับกรณีของใจ อึ๊งภากรณ์ที่เขียนหนังสือ “Coup for the Rich” ซึ่งก็เป็นการวิพากษ์เชิงวิชาการเช่นกัน แต่ก็ถูกฟ้องด้วยหมิ่นพระบรมฯ

นอกจากนี้ ในกรณีล่าสุด เช่นที่เกิดกับคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการของนิตรสารเรด พาวเวอร์ ที่พยายามวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ในเชิงหลักการ เช่นเดียวกันกับกรณีอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่ถูกเรียกไปสอบสวน กรณีอาจารย์สมศักดิ์ก็เป็นที่น่าสนใจว่าเขาจะถูกดำเนินคดีหรือไม่ และเขาจะถูกฟ้องด้วยข้อความใด หากว่าเป็นจดหมายที่เขียนถึงฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ หลักกฎหมายหมิ่นฯ ก็มิได้ครอบคลุมพระราชธิดา แต่ถ้าหากตำรวจใช้ข้อเสนอ 8 ข้อเพื่อการปฏิรูปสถาบันกษัติรย์เป็นมูลเหตุในการฟ้อง ซึ่งอาจารย์สมศักดิ์และกลุ่มนิติราษฎร์ได้นำเสนอเพื่อการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคมที่เหมาะสมนั้น ก็น่าสนใจว่าถ้าเขาถูกดำเนินคดีจริง กฎหมายฉบับนี้ต่อไปจะเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ ในช่วงปีที่ผ่านมา ก็น่าจับตาในแง่ที่ว่าสังคมไทยมีการพูดถึงกฎหมายหมิ่นฯ เปลี่ยนไป กล่าวคือ ในช่วงปี 2549 นั้น มีการจัดเวทีของ ASTV ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกๆที่มีการพูดถึงกฎหมายหมิ่นฯ มีนิตยสารฟ้าเดียวกัน และการสัมมนาไทยศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2552 ที่ล้วนพูดถึงกฎหมายตัวนี้ในเชิงการปฏิรูปกฎหมายทั้งสิ้น แต่ในสองสามเดือนที่ผ่านมานี้ เริ่มมีกลุ่มต่างๆที่พูดถึงการยกเลิกกฎหมายดังกล่าว และมองว่าเป็นปัญหาซึ่งต้องไปไกลกว่าการปฏิรูป

ยิ่งเมื่อเวลาของการเลือกตั้งใกล้เข้ามาถึง ก็อาจจะมีการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมได้ยาก หากว่ากฎหมายนี้ยังคงดำรงอยู่และถูกใช้อยู่เพื่อการขจัดศัตรูทางการเมือง



000

“องค์การนิรโทษกรรมสากล(เอไอ)เสนอต่อรัฐบาลไทยให้หยุดใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมฯ ไปก่อน จนกว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขที่เคารพมาตรฐานของกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้นักโทษมโนธรรมสำนึกที่ถูกจำคุกด้วยกฎหมายหมิ่นฯได้รับการปล่อยตัวโดยทันที”
เบนจามิน ซาแวคกี

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมองว่าการใช้กฎหมายหมิ่นฯ ในระยะหลังตั้งแต่ปลายปี 2548 เป็นการบั่นทอนเสรีภาพในการแสดงออก โดยไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในฐานะที่ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญานี้ การใช้กฎหมายดังกล่าวนับเป็นการละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศในแง่ของเสรีภาพในการแสดงออก

ในประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกนี้ ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล อนุญาตให้มีการใช้ข้อจำกัดบางส่วนได้ หากตรงกับเงื่อนไขที่เป็นไปเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง โดยต้องระบุไว้ในกฎหมาย เช่น เพื่อความมั่นคงของชาติ ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสาธารณะ และเป็นไปเพื่อศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อปกป้องชื่อเสียงของบุคคล และเอไอมีจุดยืนที่ชัดเจนต่อรัฐบาลไทยว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดสากลดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีการตีความที่ไม่ชัดเจนและกว้างเกินความเป็นจริงในแง่ของคำนิยาม การบังคับใช้ และบทลงโทษ ซึ่งเป็นการละเมิดหลักการกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ในการจะพิจารณาคดีคนใดคนหนึ่งว่าเป็นนักโทษทางการเมืองหรือไม่ เอไอจะพิจารณาที่หลักการว่าคนคนนั้นต้องถูกตัดสินว่าผิดด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมฯ เพียงอย่างเดียว และถ้าหากการกระทำที่ถูกนำมาดำเนินคดี เป็นไปอย่างสันติทั้งวิธีการและเจตจำนงค์ เราจะพิจารณาว่าเขาเป็นนักโทษมโนธรรมสำนึก ด้วย(prisoner of conscience) มีกรณีที่พูดถึงกันเยอะมากคือ กรณีของดา ตอร์ปิโด ซึ่งเอไอมองว่าเธอเป็นนักโทษการเมืองที่ถูกจำคุกด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมฯ แต่หากจะมองว่าเป็นนักโทษมโนธรรมสำนึกหรือไม่ ตรงนี้อาจยังไม่ชัดเจนเนื่องจากคำพูดที่เธอพูดบนเวทีปราศรัยในปี 2551 สามารถมองได้ว่ายั่วยุให้เกิดความรุนแรง อย่างไรก็ตาม เรามิได้บอกว่าเธอสมควรได้รับโทษนั้น แต่หากเทียบกับกรณีของจีรนุช เปรมชัยพร หากว่าเธอถูกตัดสินจำคุก เธอจะถูกพิจารณาว่าเป็นนักโทษมโนธรรมสำนึก เนื่องจากข้อหาที่ได้รับคือ การลบโพสต์ที่”จาบจ้วง”ในเว็บบอร์ดประชาไทไม่เร็วเพียงพอ ต่อกรณีของดา ตอร์ปิโด เช่นเดียวกับนักโทษการเมืองคนอื่นๆในโลก เอไอเรียกร้องให้การดำเนินคดีเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีระบวนการยุติธรรมที่เหมาะสมและโปร่งใส หรือถูกปล่อยตัว

เอไอเสนอต่อรัฐบาลไทยให้หยุดใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมฯ ไปก่อน จนกว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขที่เคารพมาตรฐานของกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้นักโทษมโนธรรมสำนึกที่ถูกจำคุกด้วยกฎหมายหมิ่นฯได้รับการปล่อยตัวโดยทันที

000

“ในการบังคับใช้ 112 ดูเผินๆอาจจะดูเหมือนกับเป็นการจงรักภักดีหรือต้องการรักษาสถาบัน แต่เมื่อลงไปดูในรายละเอียด พบว่า ผลกระทบของการบังคับใช้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมากมาย”

นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ

เนื่องจากต้นเดือนพฤษภาคมกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับคำร้องจากเครือข่ายราชการและจากภาคประชาชนในกรณีคดีของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลและสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งในประเด็นนี้ตนเองได้ร่วมประชุมและตรวจสอบไปแล้วหนึ่งครั้งในวันพุธที่ผ่านมา และอยากจะชี้แจงสองเรื่อง ก่อนอื่น กสม. ไม่ได้เป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี แต่เป็นองค์กรอิสระ โดยเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ในประเด็นแรก กสม. มีหน้าที่ในการตรวจสอบว่ามีการละเมิดสิทธิจริงหรือไม่ และสอง ในฐานะกรรมการสิทธิจะมีบทบาทในการคลี่คลายการละเมิดสิทธิของรัฐดังกล่าวได้อย่างไรบ้าง ในประเด็นการละเมิดสิทธิฯนี้ ต้องพิจารณาใน 2 ระดับ

ประเด็นแรก มองในแง่การบังคับใช้กฎหมาย 112 ซึ่งคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญและจุดอ่อนของหน่วยงานของรัฐและในการละเมิดสิทธิ ในมาตรานี้ มีปัญหาในการบังคับใช้ เนื่องจากใครก็สามารถฟ้องร้องได้ สรุปก็คือเป็นเครื่องมือในทางการเมืองของกลุ่มอำนาจในทางสังคมเพื่อกำจัดผู้มีความคิดเห็นตรงข้ามในทางการเมือง หรือแม้ในการยกสถาบันฯเพื่อสรรเสริญเยินยอเพื่อผลประโยชน์ในทางการเมืองของตนเอง ในกรณีของ อาจารย์สมศักดิ์ที่ถูกออกหมายเรียกไปสอบสวน ถือว่าส่งผลกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการ หรือคุณสมยศซึ่งถือว่าเป็นแถวหน้าในทางประชาธิปไตยที่ต้องการเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตย แต่กลับถูกจับกุม ฉะนั้นต้องตรวจสอบการจับกุมทั้งสอง ว่าเป็นวิธีทางการเมืองที่กลุ่มที่มีอำนาจในสังคมต้องการกำจัดคนที่คิดเห็นต่างหรือไม่

“การใช้มาตรการทางกฎหมาย และการบังคับใช้นี้ ทำให้เกิดการลิดรอนและละเมิดสิทธิเสรีภาพ และนั่นคือสิ่งที่ทำให้สังคมไทยตกอยู่ในความเงียบและตกอยู่ในความกลัว” จากการจัดเสวนาที่มหาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็มีความหวดกลัว ถึงกับกล่าวกับอาจารย์ผู้จัดว่า ช่วยรักษามหาวิทยาลัยด้วย ขนาดตนเองจัดเวทีที่กรรมการสิทธิฯ วันพุธที่ผ่านมาตนก็ยังถูกตักเตือนด้วยความหวังดี

“แต่ถ้าสังคมไทยตกอยู่ในความเงียบและความกลัว การละเมิดจะเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายมาก และอำนาจมืดจะเข้ามาครอบงำในสังคมไทย”

จากที่ได้เข้าไปตรวจเยี่ยมในเรือนจำกรณีคุณสมยศ และคดีอื่นๆ พบว่ามีการละเมิดสิทธิอื่นๆด้วย เช่น สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เนื่องด้วยข้อกล่าวหามาตรา 112 และเผาศาลากลางนี้มีความรุนแรง ฉะนั้นทัศนคติของกระบวนการยุติธรรมจะมองว่าห้ามประกันตัว ทั้งๆที่หลายคนเป็นผู้ที่ตื่นตัวทางการเมือง เช่นในกรณีของอากง 112 ได้รับการประกันตัวในศาลชั้นต้น แต่กลับ ไม่ได้รับการประกันตัวในศาลอุทธรณ์ ปัญหาทำให้สิทธิในการประกันตัวถูกละเมิด ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น

“ในการบังคับใช้ 112 ดูเผินๆอาจจะดูเหมือนกับเป็นการจงรักภักดีหรือต้องการรักษาสถาบัน แต่เมื่อลงไปดูในรายละเอียด พบว่า ผลกระทบของการบังคับใช้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สิทธิในการประกันตัว สิทธิในการกระบวนการยุติธรรม สิทธิในชีวิตและความปลอดภัย สิทธิในการแสดงความคิดเห็นในฐานะพลเมือง ซึ่งผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตยเป็นอันมาก”

ในประเด็นที่สอง การเพิ่มบทลงโทษจาก 7 ปี เป็นสูงสุด 15 ปีตั้งแต่ปี 2519 เป็นต้นมา สะท้อนให้เห็นถึง ปัญหาของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่อาจละเมิดพื้นที่สาธารณะของภาคสังคม

ในกรณีนี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีหน้าที่ต้องตรวจสอบและคุ้มครอง และ ได้ไปเยี่ยมคุณสมยศที่เรือนจำ และได้เชิญอ.สมศักดิ์ มาให้ข้อเท็จจริงในเรื่องการบังคับใช้ 112 นอกจากนี้ ในกระบวนการการตรวจสอบ ได้เชิญหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น DSI ตำรวจ กระทรวงยุติธรรม และกองทัพบกมาให้ข้อมูล รวมถึงขอข้อมูลในกรณีอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการใช้มาตรา 112 และประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับคุ้มครองปกป้องการละเมิดสิทธิในกรณีมาตรา 112 ซึ่งจะนำกรณีที่เกี่ยวข้องนำเสนอในเชิงนโยบายในการแก้ไขกฎหมายต่อไป เพื่อให้สอดคล้องและเป็นการประคองระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในอนาคต


000

“ในประเทศนี้ คนที่มีอำนาจ มัวทำงานแต่เรื่องของตนเอง ผู้คนไม่มีความกล้าหาญทางศีลธรรมในการบอกความจริงกับกษัตริย์”

สุลักษณ์ ศิวรักษ์


หากสถาบันกษัตริย์จะดำรงรักษาอยู่ไว้ สถาบันจะต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เช่น กรณีของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินราว 30% ในกรุงเทพฯ แต่ก็ไม่มีใครสามารถตรวจสอบเรื่องดังกล่าวได้ นอกจากนี้ยังไล่รื้อประชาชนราวกับหมาแมว เพื่อนำที่ดินไปสร้างตึกบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ และก็ไม่มีใครรู้เรื่องดังกล่าวเลย

สาเหตุที่สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) ถูกแจ้งความเนื่องจากวิจารณ์ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ และถึงแม้ว่าเขาจะเป็นมาร์กซิสต์หรือคอมมิวนิสต์อะไรก็ตามแต่ สิ่งที่สมศักดิ์เสนอนั้นสมควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง เพื่อการดำรงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์

อย่างไรก็ตาม ในประเทศนี้ คนที่มีอำนาจ มัวทำงานแต่เรื่องของตนเอง ผู้คนไม่มีความกล้าหาญทางศีลธรรมในการบอกความจริงกับกษัตริย์ หากเราดูเอกสารวิกิลีกส์ จะเห็นว่าแม้แต่อานันท์ ปันยารชุน, สุรยุทธ จุลานนท์ หรือสิทธิ เศวตศิลา ซึ่งเป็นองคมนตรี (หมายเหตุไทยอีนิวส์:ในเอกสารวิกิลีกส์กล่าวถึงเปรม ติณสูลานนท์ ไม่ใช่สุรยุทธ จุลานนท์ ตามที่สุลักษณ์พูด) ก็พูดเรื่องนี้กับทูตต่างประเทศ แต่ทำไมไม่ยอมกล้าพูดเรื่องนี้กับกษัตริย์ด้วยตนเอง

ในศาสนาพุทธ สิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตที่พึงมี คือกัลยาณมิตร คือเพื่อนที่พูดความจริงอย่างตรงไปตรงมา ผมคิดว่ากษัตริย์เราไม่มีกัลยาณมิตร เราต้องพูดความจริง เพื่อเป็นการรักษาการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์

ตอนนี้มีคนจำนวนมากขึ้นๆไม่ต้องการมีสถาบันกษัตริย์ คนที่ต้องการรักษาไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ จึงจำเป็นต้องพูดคุยเรื่องนี้อย่างเปิดเผย หากพูดตอนนี้ยังไม่ช้าเกินไป แต่ถ้าอีกในปีหรือสองปีก็อาจจะเป็นการช้าเกินไป

******
เรื่องเกี่ยวเนื่อง

-ชาวอเมริกันเชื้อสายไทยตกเป็นเหยื่อ112รายล่าสุด

-นักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น