วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2554

ประโยชน์สุขแห่งมหาชน - ไพร่แขนขาว


ประโยชน์สุขแห่งมหาชน
โดย ไพร่แขนขาว
“ดูกรพราหมณ์ บัดนี้ เราทรงราชภาระครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขมหาชน . . .”
สำหรับข้อความข้างต้นนี้ ท่านผู้อ่านคงคุ้นเคยในเนื้อหา แต่อาจรู้สึกไม่คุ้นเคยในรูปประโยค เนื่องจากข้อความที่เราได้ยินได้ฟังกันอยู่เสมอ คือ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

แล้วข้อความใดเป็นข้อความที่ถูกต้องตามแบบพิธีกันแน่ ?

คำตอบ คือ ถูกทั้งคู่

ข้อความแรกเป็นพระปฐมบรมราชโองการของรัชกาลที่ ๗ ส่วนข้อความหลังเป็นพระปฐมบรมราชโองการของรัชกาลที่ ๙

ข้อความทั้งสองมีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก แตกต่างกันตรงที่มีการตัดคำว่า “ราชภาระ” “สม่ำเสมอ” และ “เกื้อกูล” ออกไป โดยปกติแล้วถ้อยคำที่มีความสำคัญมากๆ มักจะมีการพินิจพิเคราะห์กันมาอย่างดีแล้ว มิได้ตัดคำออกกันง่ายๆ การตัดคำใดออกนั้นอาจมีนัยว่าเนื้อหาในส่วนนั้นได้ถูกตัดออกไปด้วย หรืออาจจะถือเพียงว่าความหมายยังคงเดิมแต่ปรับถ้อยคำให้กระชับมากขึ้นก็ได้

 การตัดคำว่า “ราชภาระ” ออกไปนั้นอาจมองว่าเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยหลัง พ.ศ. ๒๔๗๕ หรือบางท่านอาจเห็นว่าเป็นการละคำเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สาระสำคัญคงเป็น “ราชภาระ” เช่นเดิมอันเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องเน้นย้ำอีก ฉะนั้นจึงสุดแท้แต่ละท่านจะพิจารณา

ส่วนการมีธรรมนั้นคงจะเข้าใจเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ คือ ต้องสม่ำเสมอ จะมีธรรมบ้างเป็นครั้งคราวก็ไม่น่าจะถูก การทำประโยชน์ก็ต้องเกื้อกูลมหาชน จะเกื้อกูลเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็ไม่น่าจะถูกเช่นกัน ดังนั้น โดยเนื้อหาแล้วต้องถือว่าการตัดคำในส่วนนี้เสมือนไม่มีการตัด ข้อความทั้งสองยุคจึงเสมอกัน ไม่มีความต่างกันแต่ประการใด

ในหนังสือ “การเสด็จขึ้นครองราชย์ : พระราชพิธี คติ ความหมาย และสัญลักษณ์แห่ง ‘สมมติเทวราช’” คุณนภาพร เล้าสินวัฒนาได้เล่าเรื่องต่อเนื่องจากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕ พระนิพนธ์ของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า ในขั้นตอนหนึ่งของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหรือพระราชพิธีเสด็จขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการนั้น พระมหาราชครูจะกราบบังคัมทูลเฉลิมพระปรามาภิไธย และกราบบังคมทูลถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เป็นภาษามคธ ตามด้วยภาษาไทย ความตอนหนึ่งว่า
“. . . ขอให้ทรงราชภาระดำรงราชสมบัติโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนสืบไป”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมีพระราชดำรัสรับว่า “ชอบแล้วพราหมณ์” ซึ่งหมายความว่า ทรงรับที่จะดำรงราชสมบัติเพื่อเกื้อกูลประโยชน์สุขแห่งมหาชนแล้ว1

ข้อเท็จจริงที่กล่าวมาข้างต้นนี้แสดงให้เห็นว่าแนวความคิดเรื่อง “ประโยชน์สุขแห่งมหาชน” นั้นอย่างน้อยก็เป็น “แบบพิธี” ที่มีมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ แล้ว แม้ว่าในช่วงแรก ข้อความดังกล่าวจะอยู่ในรูป “คำขอ” ที่พระมหาราชครูกราบบังคมทูลแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบรับ อันต่างจากสมัยรัชกาลที่ ๗ เป็นต้นมาที่วลีดังกล่าวได้ปรากฏอยู่ในพระราชดำรัสปฐมบรมราชโองการโดยตรง

อนึ่ง คุณนภาพร เล้าสินวัฒนา ยังได้ให้ข้อมูลด้วยว่ารัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า “พรรณพฤกษ์ ชลธี และสิ่งของในแผ่นดินทั่วทั้งพระราชอาณาเขตซึ่งหาผู้หวงแหนมิได้นั้น ตามแต่สมณชีพราหมณาจารย์ราษฎรจะปรารถนาเถิด”2 ซึ่งไม่ปรากฏแนวความคิดเรื่อง “ประโยชน์สุขแห่งมหาชน” แต่ประการใด

เป็นที่ทราบกันดีว่าหลัก “ประโยชน์สุขแห่งมหาชน” นั้นอยู่ในทฤษฎีจริยศาสตร์ของเจเรมี เบนเธม (Jereme Bentham) โดยเบนเธมใช้หลักดังกล่าวเป็นเกณฑ์ในการชี้ว่าอะไรคือความดี ในขณะเดียวกันเบนเธมก็เสนอให้นักนิติศาสตร์แยกกฎหมายออกจากศีลธรรม3 โดยแบ่งเป็นกฎหมายที่มีอยู่ (law as it is) กับกฎหมายที่ควรจะเป็น (law as it should be) ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้ดำเนินการปฏิรูปกฎหมายที่ไม่ดีให้หมดสิ้นไปและสร้างกฎหมายที่ดีขึ้นมา โดยใช้หลัก “ประโยชน์สุขแห่งมหาชน” เป็นเกณฑ์ในการกำหนดว่าอะไรคือกฎหมายที่ดีหรือกฎหมายที่ควรจะเป็น

เบนแธมเริ่มเสนอทฤษฎีของตนตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๗๗๖ ก่อนยุครัตนโกสินทร์เสียอีก และมีการขยายความเรื่อยมาจนเบนแธมถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. ๑๘๓๒ ซึ่งน่าจะอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๓

ทฤษฎีของเบนเธมเข้ามาเมืองไทยเมื่อใดนั้นยากที่จะทราบได้ แต่ไมเคิล ไรท เคยให้ข้อสังเกตว่า หนังสือของเบนแธมอาจเป็นหนึ่งในหนังสือที่ “อาจจะถึงพระเนตรและตั้งบนหิ้งใกล้พระหัตถ์รัชกาลที่ ๔” โดยที่พระยาสยามมานุกูลกิจ สยามมิตรมหายศ หรือที่รู้จักกันในนามท่านเซอร์จอห์น บาวริ่ง (John Bowring) ได้รับปากกับรัชกาลที่ ๔ ว่าจะส่งหนังสือจากอังกฤษ ตามแต่พระองค์จะทรงสั่ง ต่อมาบาวริ่งมีจดหมายถึงเพื่อน เขียนเชิงตลกเชิงยกย่องว่า “กษัตรย์พระองค์นี้เล่นงานให้ฉันปวดหัว พระองค์ท่านสั่งหนังสือหายากมากมายที่ฉันติดตามไม่ถนัด”4

ข้อเท็จจริงที่ไมเคิล ไรท มิได้กล่าวถึงก็คือ บาวริ่งเป็นเพื่อนสนิทต่างวัยของเบนเธม สนิทกันถึงขนาดในบั้นปลายของชีวิต เบนแธมกล่าวว่า บาวริ่ง “เป็นเพื่อนที่สนิทที่สุดที่ตนมี”5 ว่ากันว่าเบนแธมได้เสียชีวิตในอ้อมแขนของบาวริ่ง6 และที่สำคัญหลังจากเบนแธมเสียชีวิตแล้ว บาวริ่งได้เป็นบรรณาธิการรวบรวมงานเขียนส่วนหนึ่งของเบนแธม แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่างานบรรณาธิการทำได้อย่างน่าผิดหวังทั้งในทางเนื้อหาและรูปแบบก็ตาม7 เหตุดังนี้ จึงมีความเป็นไปได้อย่างมากที่บาวริ่งจะถวายหนังสือสำคัญแห่งยุคสมัยซึ่งตนเป็นบรรณาธิการแด่รัชกาลที่ ๔ หรืออย่างน้อยก็คงจะมีการสนทนาเรื่องนี้กันบ้างตามควร

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น เราไม่อาจทราบได้ว่าอิทธิพลทางความคิดของเบนแธมจะมีมากน้อยเพียงใด แต่ Walter E.J. Tips ให้ข้อมูลว่านักกฎหมายที่เป็นที่ชื่นชอบมากที่สุดของเจ้าพระยาอภัยราชา (กุสตาฟ โรแลง ยัคแมงค์) ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของรัชกาลที่ ๕ คือ เจเรมี เบนแธม โดยกล่าวถึงเบนแธมว่า
“He had made the distinction between essential characteristics of human nature, the same everywhere, and these accidental variations, which impose according to the time and the place, modifications, not in the basis of the principle but in their application . . . . He has put the figure on most of the reforms which the future shall see in operation, be it in constitutional and legislative principles of his own country, or be it in the Civil, Penal and Procedural Codes of all the civilized countries.”8
เมื่อที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของรัชกาลที่ ๕ ให้การยกย่องเบนแธมมากถึงเพียงนี้ก็น่าจะสันนิษฐานได้ว่าหลัก “ประโยชน์สุขแห่งมหาชน” และ “การปฏิรูปกฎหมาย” คงจะเจืออยู่ในคำปรึกษาต่างๆ มากบ้างน้อยบ้างตามควรแก่กรณี
ผศ.ดร.กิติศักดิ์ ปรกติ ให้ข้อสังเกตว่า อิทธิพลของเบนแธมต่อราชสำนักไทยนั้นมิใช่เรื่องที่จะเป็นไปไม่ได้ โดยชี้ให้เข้าใจว่าหลัก “ธรรมสารวินิจฉัย” ของกรมหลวงพิชิตปรีชากร (ผู้เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔ และดำรงตำแหน่งอธิบดีศาลฎีกาและเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมในสมัยรัชกาลที่ ๕) มีความคล้ายคลึงกับหลัก “ภารกิจแห่งกฎหมาย” ของเบนแธม9 แต่ ผศ.ดร.กิติศักดิ์ ปรกติ ก็มิได้กล่าวถึงหลัก “ประโยชน์สุขแห่งมหาชน” อันเป็นหัวใจของงานเขียนเกือบจะทุกชิ้นของเบนแธม แต่ประการใด

ส่วน รศ.จรัญ โฆษณานันท์ กลับเห็นว่าหลักธรรมสารวินิจฉัย “เทียบเคียงได้กับหลักกฎหมายธรรมชาติหรือกระทั่ง ‘หลักมูลฐานสัมบูรณ์สำหรับกฎหมาย’ (Absolute Jural Postulate) ตามแนวคิดของนักนิติศาสตร์ตะวันตกบางคน อาทิ โคห์เลอร์ (Joseph Kohler) หรือพาวด์ (Rosco Pound)”10 แม้จะไม่ได้กล่าวถึงเบนแธมไว้เลย แต่คำอธิบายของ รศ.จรัญ โฆษณานันท์ กลับแสดงให้เห็นว่าจุดเด่นของหลักธรรมสารวินิจฉัยอยู่ที่ “การเน้นบทบาทความสำคัญของ ‘ประชาชน’ อย่างมากๆ ทั้งในแง่ผู้รับประโยชน์ของกฎหมายที่เป็นธรรมทั้งหมด และในแง่เป็นแหล่งกำเนิดของระบบกฎหมายโดยตัวเอง”11

กฎหมายจึงมีไว้เพื่อความอยู่รอดหรือความสุขความเจริญของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นการอธิบายที่โน้มมาทางหลัก “ประโยชน์สุขแห่งมหาชน” ของเบนแธมอยู่ไม่น้อย

นอกจากนี้ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ผู้ซึ่งวงการตุลาการยกย่องให้เป็นพระบิดาแห่งกฎหมายไทยก็รับอิทธิพลในทางกฎหมายมาจากเบนแธมเช่นกัน โดยน่าจะถือเป็นเหลนศิษย์ของเบนแธมก็ว่าได้ ทั้งนี้เนื่องจากศิษย์คนหนึ่งของเบนแธม คือ จอห์น ออสติน (John Austin) ได้ตัดต่อดัดแปลงคำสอนด้านกฎหมายส่วนหนึ่งของเบนแธมไปเผยแพร่จนเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ธรรมศาสตร์สำนักวิเคราะห์” (Analytical Jurisprudence)12 แล้วกรมหลวงราชบุริดิเรกฤทธิ์ก็ทรงไปศึกษาวิชากฎหมายในช่วงที่แนวความคิดดังกล่าวกำลังเป็นที่เฟื่องฟูอยู่พอดี โดยเราพอจะเห็นร่องรอยทางความคิดในเรื่องนี้ได้จากคำสอนของพระองค์ท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสอนที่ว่า “กดหมายนั้นคือ คำสั่งทั้งหลายของผู้ปกครองว่าการแผ่นดิน ต่อราษฎรทั้งหลายเมื่อไม่ทำตามแล้ว ตามธรรมดาต้องโทษ” ซึ่งทรงอิทธิพลในวงการกฎหมายไทยเป็นอย่างมาก

น่าเสียดายที่คำสอนเรื่องนิยามกฎหมายของเบนแธมถูกเข้าใจคลาดเคลื่อน นักกฎหมายไทยส่วนใหญ่รับรู้เรื่องนี้ตามแนวคำสอนของออสติน ผ่านคำสอนของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์อีกชั้นหนึ่ง แนวคำสอนของออสตินได้ละเลยเป้าหมายหลักที่เบนแธมต้องการปฏิรูปกฎหมายให้มีความชัดเจนแน่นอนและที่สำคัญต้องสอดคล้องกับหลัก “ประโยชน์สุขแห่งมหาชน” ความเข้าใจของวงการนิติศาสตร์ไทยจึงคล้ายกับเรียนคัมภีร์เพียงบทเดียว เคล็ดวิชาที่เหลือซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญได้หายสาบสูญไป

ที่บ่นมาทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรมากไปกว่าการเกริ่นนำก่อนที่จะบ่นถึงเจเรมี เบนแธม เจ้าสำนัก “ประโยชน์สุขแห่งมหาชน” ต่อไป แต่จะเป็นเวลาใดนั้นไม่อาจกำหนดได้
Image
ตัวอย่างหนังสือที่พระยาสยามมานุกูลกิจฯ (เซอร์จอห์น บาวริ่ง) เป็นบรรณาธิการรวบรวมงานเขียนส่วนหนึ่งของเจเรมี เบนเธม ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. ๑๘๔๓ มีทั้งหมด ๑๑ เล่ม โดยได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จนน่าจะเป็นที่ยุติแล้วว่า งานบรรณาธิการทำได้ไม่ดีเอาเสียเลย อย่างไรก็ดี แม้ว่าในช่วงห้าสิบปีที่ผ่านมามีความพยายามที่จะเผยแพร่งานที่ถูกต้องของเบนแธม แต่ก็ไม่สามารถทำได้ทั้งหมด หนังสือที่พระยาสยามมานุกูลกิจฯ เป็นบรรณาธิการนี้จึงยังคงมีความสำคัญในการศึกษางานของเบนแธมต่อไป แต่ผู้อ่านพึงใช้ความระมัดระวังยิ่ง.
-----------------------------------------------------------
1. นภาพร เล้าสินวัฒนา, การเสด็จขึ้นครองราชย์ : พระราชพิธี คติ ความหมาย และสัญลักษณ์แห่ง “สมมติเทวราช” (สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส, ๒๕๔๙) น.๔๐ – ๔๑.
2. เพิ่งอ้าง, น. ๔๓.
3. ในปัจจุบัน การแยกกฎหมายออกจากศีลธรรมนั้นดูเหมือนว่าจะมีอยู่สองสกุลสำคัญ คือ “Substantive Legal Positivism” มองว่า ไม่จำเป็นต้องมีความเชื่อมโยงระหว่างกฎหมายกับศีลธรรมเสมอไป (no necessary connection) ส่วน “Methodological Legal Positivism” มองว่า ไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ ที่จำเป็นระหว่างกฎหมายกับศีลธรรม (no connection, necessary) โดย Perry คาดเดาว่าเบนแธมน่าจะอยู่ในกลุ่มแรกมากกว่า See Stephen R. Perry, “Hart’s Methodological Positivism” cited in Philip Schofield, “Jeremy Bentham and H.L.A. Hart’s ‘utilitarian tradition in jurisprudence’” (paper for laws seminar on 16 November 2010) at 6 http://www.ucl.ac.uk/laws/staff/seminars/download%20materials/Schofield%20-%20Bentham%20and%20Hart%20for%20Laws.pdf 
4. ไมเคิล ไรท, “ความทรงรู้โลกภายนอกก่อนรัชกาลที่ ๕ (๒)”, มติชนสุดสัปดาห์ ๒๘ พ.ค. – ๓ มิ.ย. ๔๗ ป. ๒๔ ฉ. ๑๒๔๑ น.๙๑.

5. Leslie Stephen, “The English Utilitarians” (1900) at note 132 – 135.

6. Alan Ruston, “Sir John Bowring” at paragraph 5 http://www25.uua.org/uuhs/duub/articles/sirjohnbowring.html 
7. See Leslie Stephen, “The English Utilitarians” (1900) at Chapter V: Bentham’s life, V: Codification, paragraph 3, notes 132 – 135 http://www.efm.bris.ac.uk/het/bentham/stephen1.htm; See also Gunhild Hoogensen, “Bentham’s International Manuscripts Versus the Published ‘Works’” (2001) 4 J. Bentham Studieshttp://www.ucl.ac.uk/Bentham-Project/publications/journals/journal_bentham_studies/journal_bentham_studies_04/G.Hoogensen_2001 

8. Walter E.J. Tips, Gustave Rolin-Jaequemyns and the Making of Modern Siam: The Diaries and Letters of King Chulalongkorn’s General Adviser (White Lotus, 1996) at 18.

9. See Kittisak Prokati, “King Rama V. and Constitutionalism in Thailand” in Pornsan Watanangura, ed., The Visit of King Chulalongkorn to Europe in 1907: Reflecting on Siamese History (Bangkok: Centre for European Studies, Chulalongkorn University, 2008) at 121 – 122.

10. จรัญ โฆษณานันท์, ปรัชญากฎหมายไทย (สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๓๘) น. ๓๘๓ – ๓๘๔.

11. เพิ่งอ้าง น. ๓๘๔ – ๓๘๕.

12. โปรดดู โสภณ รัตนากร, “Jeremy Bentham” (๒๕๑๑) ดุลพาห ป. ๑๕ ล. ๓ น. ๖๗.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น